“เพชรบุรี” เป็นเมืองที่มีประวัติยาวนานเก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย และมีความหลากหลายทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวของกษัตริย์ เพราะไม่ว่าทุกยุคทุกสมัยกษัตริย์ของไทยมักจะมาท่องเที่ยวที่เมืองเพชรบุรีเสมอ นอกจากนั้นยังเป็นที่ที่มีก่อตั้งเริ่มต้นหลายอย่างกลายเป็นรากฐานประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยจนเกิดการแพร่หลายไปทั่ว
ได้มาเยือนเพชรบุรีคราวนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานมอสโก ประเทศรัสเซีย ร่วมกันจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ “ครั้งแรกของสยามในจังหวัดเพชรบุรี” เพื่อเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์อันหลากหลายในจังหวัด ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรีมากขึ้น
โดย เอื้อมพร จิรกาลวิศัลย์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงาน มอสโก กล่าวไว้ว่า “เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศรัสเซียมีความสนใจท่องเที่ยวในเชิงทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ควบคู่กับการท่องเที่ยวธรรมชาติมากขึ้น จึงได้สำรวจเส้นทางเพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวที่จะตอบสนองนักท่องเที่ยวได้ดี จึงพบว่าจังหวัดเพชรบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม และท่องเที่ยวได้หลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเทศชาติตะวันตกมาอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นหลายอย่างที่น่าสนใจ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดท่องเที่ยวที่จะดึงความสนใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น”
ที่แรกที่จะไปเยือนนั้นคือ “วัดคุ้งตำหนัก” ตั้งอยู่ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม เป็นวัดเก่าแห่งหนี่งในเพชรบุรี และมีเรื่องเล่าตำนานที่กล่าวกันว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น บริเวณบ้านบางด้วน คุ้งน้ำบางตะบูน เคยมีพลับพลา หรือตำหนักพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จประพาสทรงเบ็ดและได้สร้างตำหนักไว้ที่วัดคุ้งตำหนัก ใกล้ปากอ่าวบางตะบูน เพราะเป็นที่ที่มีปลาชุกชุมอย่างมาก ตามที่ปรากฏไว้ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ที่กล่าวไว้ว่า “ถึงวังที่ตั้งประทับรับเสด็จ มาทรงเบ็ดปลากระโห้ไม่สังหาร ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา” ซึ่งในปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยของพระตำหนักดังกล่าว เหลือไว้เพียงเรื่องเล่าแต่กาลก่อนในอดีตเท่านั้น
ภายในวัดคุ้งตำหนักนั้น มีโบสถ์ปลูกที่เก่าแก่เป็นอย่างมาก มีการสันนิษฐานไว้ว่าโบสถ์ปลูกหลังนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งคำว่าโบสถ์ปลูกนั้น หมายถึงโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ส่วนคำเรียกว่า โบสถ์ก่อ นั้นหมายถึงโบสถ์ที่สร้างด้วยอิฐด้วยปูน โบสถ์ปลูกที่วัดคุ้งตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยไม้สักทั้งหลัง และความพิเศษของโบสถ์ปลูกนี้นั่นคือ พระประธานในโบสถ์ สร้างมาจากไม้ทองหลางที่ช่างได้แกะสลักเป็นพระพุทธรูป มีความเก่าแก่สวยงามเป็นอย่างมาก
จากนั้นเส้นทางท่องเที่ยวที่ไปเยือนต่อไปคือ “โรงเรียนอรุณประดิษฐ์” ตั้งอยู่ใน อ.เมือง เป็นโรงเรียนเก่าแก่ในจังหวัดเพชรบุรีที่มีประวัติศาสตร์สำคัญในประเทศไทย เพราะเป็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยคณะมิชชันนารีที่เดินทางมาจากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมาเผยแพร่ศาสนาและวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ให้กับชาวเพชรบุรี ซึ่งประกอบไปด้วย ศาสนาจารย์ เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ (Rev. S.G. McFarland) ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี (Rev.Daniel McGilvary) และครอบครัว โดยศาสนาจารย์ เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ ได้ลงมือก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นด้วยมือของตัวเอง โดยอาคารเรียนหลังแรกที่สร้างเสร็จนั้น เป็นอาคารเล็กๆ หลังคามุงด้วยจาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก ติดกับด้านทิศใต้ของวัดไชยสุรินทร์ ขณะนั้นเรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดทำการ ซึ่งชาวเมืองเพชรมักจะเรียกว่า “โรงเรียนฝรั่งวัดน้อย” ซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนราษฎร์สตรีแห่งแรกของเพชรบุรี และของประเทศไทย ที่สอนวิชาการทั่วไปและการเย็บปักถักร้อย ที่นี่เองจักรเย็บผ้าได้นำมาใช้เป็นครั้งแรก เพชรบุรีจึงได้ชื่อว่า “เมืองแห่งจักรเย็บผ้า” ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนกลายเป็นโรงเรียนสหศึกษาที่มีผู้ชายเข้ามาเรียนได้ด้วย ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี
จากนั้นถัดไปไม่ไกล ที่ “คริสตจักรจีนเพชรบุรี” เป็นที่อยู่ของ “ศาสนาจารย์เหล่า หยกเกีย”ศาสนาจารย์หญิงคนแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานถึง 101 ปี และได้ถวายตัวรับใช้ศาสนาคริสต์มาอย่างยาวนาน ท่านได้เข้ามาอยู่ที่เพชรบุรีในวัยสาว ตั้งแต่ปี 2490 จนมีความผูกพันในเมืองเพชรบุรีอย่างมาก ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ต่อและเผยแพร่หลักคำสอนของพระเจ้า จนกระทั่งท่านเกษียณอายุตัวเองที่ฮ่องกง จึงตั้งใจกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทยในเมืองเพชรบุรีอีกครั้ง เพื่อตอบแทนพระคุณพระเจ้า ยึดมั่นปฏิบัติตนตามหลักคำสอนในศาสนาคริสต์ และตั้งใจที่จะเผยแพร่ จนกลายเป็นที่นับถือทั่วไปแก่ศาสนิกชน และได้รับสถาปนาเป็นศาสนาจารย์หญิงคนแรกของประเทศไทยอีกด้วย
สถานที่ต่อมาที่ไปเยือนคือ “วัดกำแพงแลง” ตั้งอยู่ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง ที่วัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี แสดงถึงความเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ของเพชรบุรีในสมัยอดีต โดยที่นี่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นช่วงยุคสมัยขอมมีความรุ่งเรืองอย่างมากตามดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี วัดแห่งนี้เป็นเทวสถาน สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้เผยแผ่เข้ามาในบริเวณนี้ จึงมีการดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ภายในวัดกำแพงแลงเดิมเคยมีปรางค์ 5 องค์ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางและมีปรางค์ทิศอยู่ 4 มุมปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์ และมีการสันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เป็นต้น
วัดกำแพงแลงเป็นวัดที่เก่าและมีความสำคัญแล้วยังมี “วัดมหาธาตุวรวิหาร” ตั้งอยู่ ต.คลองกระแช อ.เมือง เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ที่สันนิษฐานไว้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอดที่สร้างตามศิลปะแบบขอม ซึ่งปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง นอกจากนั้นภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือเป็นอย่างมาก คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อทอง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนชาวเพชรบุรี
และไฮไลต์พิเศษของวัดนี้ นั่นคือการเดินชมศิลปะลายปูนปั้นชั้นครูฝีมือ ช่างสิบหมู่เมืองเพชรที่ปรากฏไว้ตามหน้าบันและฐานพระพุทธรูปภายในวัดมากมาย มีทั้งความสวยงามและเรื่องราวที่ปรากฏออกมา เช่น รูปปั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ในท่าทางแบกฐานเจดีย์ โดย อาจารย์ทองด้วง เอมโอฐ ที่ปั้นรูปปั้นอันนี้ได้มีแนวคิดไว้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นย่อมมีภาระงานหนักในการดูแลบ้านเมือง จึงเปรียบเสมือนการแบกรับของหนักดังเช่นพระเจดีย์นั่นเอง
จากนั้นสถานที่ต่อไปที่ไปเยือนนั่นคือ “ลานสุนทรภู่” ที่วัดพลับพลาชัย เป็นลานที่มีท่าน้ำที่สุนทรภู่นั้นได้มาขึ้นเรือที่ท่าน้ำแห่งนี้ โดยได้กล่าวขานถึงไว้ในนิราศเมืองเพชรที่ได้ประพันธ์ไว้ ในปัจจุบันที่ตรงนี้ได้มีการสร้างรูปปั้นอนุสาวรีย์สุนทรภู่ เพื่อยกย่องสุนทรภู่กวีเอกของไทย ที่ได้แต่งนิราศเมืองเพชรอันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายในชีวิต และเชื่อว่าเพชรบุรีนั้นเป็นบ้านเกิดของมารดาสุนทรภู่อีกด้วย
จากนั้นเดินไปไม่ไกลไปชมหม้อตาลเมืองเพชรที่เป็นเอกลักษณ์ และมีอยู่จำนวนมากมายในแม่น้ำเพชรบุรี โดย “ครูเจี๊ยบ” หรือ กิตติพงษ์ พึ่งแตง ครูสอนพลศึกษา โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฎ์วิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี ได้เล่าให้ฟังว่า โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไว้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของคนเมืองเพชรบุรีว่า ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองด้านการค้าขายมาตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นเหตุให้เริ่มที่จะค้นหาวัตถุข้าวของที่อยู่ในแม่น้ำเพื่อเก็บรักษาไว้เรียนรู้และความเป็นมาของเพชรบุรี นอกจากนั้นครูเจี๊ยบได้เจอหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญ นั่นคือเหรียญตราและคันฉ่อง ซึ่งสันนิษฐานเป็นของในสมัยราชวงศ์ถัง จึงเป็นหลักฐานแสดงว่า เมืองเพรชบุรีดั้งเดิมนั้นเป็นเมืองการท่าที่สำคัญ เรียกว่าได้ที่แห่งนี้ถือเป็น “ตะกอนอารยธรรมลุ่มแม่น้ำเพชรฯ” เลยทีเดียว
ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในเพชรบุรี ที่มีความสำคัญและมีเรื่องราวประวัติศาสตร์มากมายที่รอให้ไปเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชูโรงที่เป็นตัวเลือกท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ว่าประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่ท่องเที่ยวเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่รอให้ศึกษา และชมความสวยงามเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกต่อไป
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0-3247-1005-6
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com