“ประเพณีบุญข้าวประดับดิน” เป็นหนึ่งในประเพณี ฮีตสิบสองของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยบุญข้าวประดับดิน เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 13-14 ค่ำ เดือนเก้า ของทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11-12 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ความพิเศษของประเพณีบุญข้าวประดับดินของชาวผู้ไท ในหมู่บ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นั้น ได้แฝงประเพณี “บุญพวงมาลัย” ที่มี “มาลัยไม้ไผ่” งานหัตถกรรมของหมู่บ้านอันวิจิตร เพื่อเอาไว้ถวายเป็นพุทธบูชา ในงานประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้
“งานบุญพวงมาลัย” ของชาวผู้ไทในหมู่บ้านกุดหว้า ถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่มี “มาลัยไม้ไผ่” เป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อกันมา โดยปราชญ์ชาวบ้าน นายสมหวัง บุตรสุริย์ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2456 มีพ่อค้าจากเมืองเวย์ อ.เรณูศวร จ.นครพนม ได้มาพักที่วัดกกต้องกุดหว้า ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางใจของชาวผู้ไทในหมู่บ้านกุดหว้า โดยตั้งใจที่จะมาทำบุญ แต่ไม่ได้เตรียมสิ่งของทำบุญมาด้วย เมื่อมองไปรอบๆ วัด เห็นไม้ไผ่ไร่มีจำนวนมาก จึงได้นำไม้ไผ่มาสานคล้ายกับพวงดอกไม้นำมาถวายแทน เมื่อชาวบ้านกุดหว้าเห็นว่าแปลกใหม่ และมีความสวยงาม จึงได้ลองทำตามแล้วนำมาถวายวัดจนกลายเป็นงานประเพณีบุญพวงมาลัยที่สืบทอดต่อกันมา
“มาลัยไม้ไผ่” เป็นงานหัตถกรรมที่มีขั้นตอนการทำประณีตเป็นอย่างมาก โดยทำมาจากไผ่ไร่ที่ตัดทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จากนั้นนำมาตัดท่อนให้เป็นซีกๆ เหลาให้บาง ความกว้างความยาวจะขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละดอก โดย 1 ดอกจะใช้ไม้ไผ่ที่เหลาแล้วจำนวน 6 ชิ้น นำมาหักสลับฟันปลา แบ่งระยะให้สวยงาม พร้อมผ่าหน้ากว้างออกเป็นซีกเล็กๆ จากนั้นนำแต่ละชิ้นมาประกบเข้าคู่โดยคลี่ซี่ไม้ไผ่ที่ผ่าไว้แล้วประกบเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก หลังประกบเข้าคู่ 3 คู่แล้วจึงเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้ก้านไม้ไผ่ร้อยเป็นดอก ผูกยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ใช้แขวนปัจจัยต่างๆ ในการทำบุญพวงมาลัย
เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดงาน คณะกรรมการหมู่บ้านจะนำมาลัยไม้ไผ่มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านเพื่อใช้เป็นเครื่องผูกร้อยพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาล หรือสิ่งของอุปโภคบริโภค พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เป็นเครื่องไทยธรรม แล้วนำไปประกอบพิธีแห่มาลัยไม้ไผ่รอบโบสถ์ ก่อนจะนำมาแขวนไว้รวมกันที่โครงเหล็ก ที่เรียกว่า “ต้นกัลปพฤกษ์” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จะเห็นได้ว่าแต่ละคนจะถวายสิ่งของที่แตกต่างกันออกไป เพราะชาวกุดหว้ามีความเชื่อว่า หากแขวนถวายสิ่งใดเป็นปรารถนา จะได้สิ่งนั้นตามต้องการ จะเห็นได้ว่าส่วนมากจะแขวนพืชพรรณผลไม้ ก็เพื่อปรารถนาพืชพรรณให้อุดมสมบูรณ์ตามต้องการนั่นเอง
นอกจากมาลัยไม้ไผ่ที่ใช้ประกอบพิธีในงานบุญพวงมาลัยแล้ว ชาวผู้ไทกุดหว้า ยังมีการประดิษฐ์มาลัยวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นการนำเทคนิคการทำมาลัยไม้ไผ่นำมาประยุกต์และประกอบให้เป็นรูปทรงต่างๆ ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง และจัดประกวดตามโอกาสต่างๆ มาลัยไม้ไผ่จึงเป็นเอกลักษณ์งานหัตถกรรมฝีมือของชาวผู้ไทกุดหว้า ที่สะท้อนถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสืบสานคุณค่าของภูมิปัญญาในอีสานที่สืบทอดต่อกันมาได้เป็นอย่างดี
งานบุญพวงมาลัยจัดขึ้นในงานประเพณีบุญข้าวประดับดินแล้ว นอกจากนั้นงานบุญพวงมาลัย ยังจัดในงาน “ประเพณีบุญข้าวสาก” หนึ่งในประเพณี ฮีตสิบสองของชาวอีสาน ที่จะจัดขึ้นในแรม 14 -15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันที่ 26-27 กันยายน 2558 นี้ ที่วัดกกต้องกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสงานประเพณีบุญพวงมัยแล้ว ยังชมสาธิตและการประดิษฐ์มาลัยไม้ไผ่ด้วยตนเองกับช่างฝีมือของชุมชน เพื่อร่วมทำบุญร้อยปัจจัยใส่มาลัยไม้ไผ่ และสัมผัสบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ประเพณีของชาวบ้านกุดหว้าได้เป็นอย่างดี
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลกุดหว้า โทร. 0-4313-3732 และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น (รับผิดชอบพื้นที่ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) โทร. 0-4322-7714-5
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com