ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมประมงยก “ปลาพวง” เป็นสัตว์น้ำประจำจังหวัดโคราช สุดทึ่งคุณประโยชน์ช่วยรักษาระบบนิเวศ กำจัดหอยเชอรี่ให้เกษตรกร เผยคุณสมบัติพิเศษมีฟันแข็งแรงอยู่ในลำคอ ด้านประมงจังหวัดเร่งส่งเสริมเพิ่มจำนวนหลังสูญพันธุ์จากแม่น้ำมูลไปกว่า 50 ปี ระบุเนื้อปลารสชาติดีเลิศเตรียมดันเป็นอาหารหรู หนุนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ชี้ราคาแพงหากินได้ยาก
วันนี้ (2 ก.ค.) นายสมพร บุญกุล ประมงจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า กรมประมงได้คัดเลือกปลาพวง หรือปลาบ้า หรืออีกชื่อหนึ่งคือปลาโพง เป็นสัตว์น้ำประจำจังหวัดนครราชสีมา โดยเป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาวค่อนข้างกลม หัวโต นัยน์ตาค่อนข้างโต ปากกว้างมีหนวดสั้นๆ อยู่ 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นเงามัน ครีบหลังอยู่ตรงข้ามกับครีบท้อง ครีบหางเว้าลึก ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนของหลังสีเทาปนดำ ท้องสีขาวจางๆ ครีบหางสีชมพู ครีบอื่นๆ สีแดงจางๆ
ปลาพวงเป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูงทำให้ได้ชื่อว่าเป็นพวง อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำไหลหรือน้ำนิ่งตามลำห้วย หนอง คลอง บึง รวมทั้งลำธารในป่าดงดิบ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ต่างๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน่าน แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ปราดเปรียวว่องไว มีฤดูสืบพันธุ์ วางไข่ระหว่างเดือน พ.ค.- ก.ย. โดยมีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ไข่มีลักษณะครึ่งลอยครึ่งจม ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 15-18 ชม.ที่อุณหภูมิของน้ำ 17 องศาเซลเซียส
สำหรับปลาพวงใช้ประกอบอาหารรสเลิศหลายชนิด เช่น ต้มยำ นึ่ง ต้มเค็ม ลาบ และมีคุณประโยชน์ในการปรับสมดุลธรรมชาติในระบบนิเวศ เช่น กำจัดหอยเชอรี่ กำจัดพืชผัก ผลไม้ ที่ตกลงน้ำ โดยปลาพวงได้สูญพันธุ์ไปจากจังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2508
นายสมพรกล่าวอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่มักจะไม่นิยมรับประทานเนื้อปลาชนิดนี้เนื่องจากปลาในธรรมชาติเมื่อนำมารับประทานแล้วจะมีอาการมึนหัวหรือเมา หรือบางคนบอกเป็นบ้า จึงเรียกปลาชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ปลาไอ้บ้า” เนื่องจากปลาพวงชอบกินเมล็ดกระเบาและเมล็ดลำโพง โดยกระเบาเป็นผลไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ใกล้ริมฝั่งน้ำสูงประมาณ 10-20 เมตร ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลม ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีสารพิษอยู่ในเมล็ด
ส่วนลำโพง เป็นพืชล้มลุกมีพิษชนิดหนึ่ง เป็นพืชจำพวกมะเขือ ลำโพงมีพิษทุกส่วน มีมากสุดในเมล็ด พิษจะออกฤทธิ์อ่อนช้าๆ ในระบบทางเดินอาหาร จากนั้นระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น มีอาการเคลิบเคลิ้มเป็นสุข เพ้อคลั่งมีอาการประสานหลอน ซึ่งปลาพวงจะมีความพิเศษกว่าปลาชนิดอื่นๆ คือ มีฟันที่แข็งแรงอยู่ในช่องคอ สามารถขบหรือบดอาหารที่เข็งๆ ได้ เช่น เมล็ดกระเบา เมล็ดลำโพง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปลาพวงไม่ได้ชอบกินเฉพาะเมล็ดกระเบาและลำโพง แต่ยังชอบกินหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 และกินหอยเชอรี่ แก้ปัญหาเรื่องการระบาดของหอยเชอรี่ ช่วยรักษาระบบนิเวศได้ หากปลาไม่ไปกินเมล็ดพืช 2 ชนิดนี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องคนกินเนื้อปลาจะเมา ฉะนั้นทางประมงจึงส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาพวงเพื่อนำมาขึ้นโต๊ะอาหาร เพราะมีรสชาติดีและมีราคาสูงเป็นปลาเศรษฐกิจได้ แต่อาจใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปลานิล หรือปลาชนิดอื่นประมาณ 2-3 เดือนแต่ก็คุ้ม
“ขณะนี้ประมงจังหวัดนครราชสีมาสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวแล้วมากกว่า 3,000 ตัว และทำโครงการปลาบ้าคืนถิ่นลำน้ำมูล และขณะนี้ประมงจังหวัดนครราชสีมากำลังรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเลี้ยงปลาชนิดดังกล่าวให้มากขึ้น โดยได้ถวายพันธุ์ปลาให้วัดต่างๆ นำไปเลี้ยงขยายพันธุ์” นายสมพรกล่าวในตอนท้าย