xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.สั่งตั้งกก.ไตรภาคี แก้ปัญหาประมง”โพงพาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10มิ.ย.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาสั่งให้ กรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดสุมทรสงคราม จัดตั้งคณะกรรมการสามฝ่าย (ไตรภาคี) เพื่อแก้ไขปัญหา หรือเยียวยาความเดือดร้อนจากการต้องเลิกอาชีพประมงโพงพางให้กับประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงโพงพางในเขต จ.สมุทรสงคราม ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นางทัดทรวง พิกุลทอง กับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำการประมงโดยเครื่องมือโพงพาง ในแม่น้ำแม่กลอง และคลองสาขาสายต่างๆ ในพื้นที่ ต .ยี่สาร อ.อัมพวา และ ต.นางตะเคียน ต.บ้านปรก ต.แม่กลอง อ .เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ยื่นฟ้องกรมประมง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สั่งเพิกถอนประกาศจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ให้ทำการรื้อถอนเครื่องมือโพงพาง ที่ไม่ได้รับอนุญาตในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ภายใน 30 วัน โดยเหตุที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ตั้งคณะกรรมการสามฝ่าย ระบุว่า
การที่ผู้ว่าฯสมุทรสงครามได้ออกประกาศให้มีการรื้อถอนเครื่องมือโพงพาง ของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวของกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้ปฏิบัติกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ ที่อ้างว่าการทำประมงโพงพาง เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางท้องถิ่น เห็นว่า การรวมกล่มเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น ต้องเป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วมมากกว่า ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของโพงพาง พบว่า มีการปักหลักติดตั้งต่อเนื่องตลอดแนวคลอง วางสลับตำแหน่งแบบฟันปลาฝั่งซ้าย และขวา ของแม่น้ำคลอง เป็นการดักสัตว์น้ำที่มาตามกระแสน้ำโดยไม่เลือกชนิด ประเภท ขนาด ทำให้น่าเชื่อว่า เป็นเครื่องมือประเภททำลายพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งยังพบว่า เป็นการจำกัดสิทธิผู้ทำอาชีพประมงประเภทอื่น กีดขวางการสัญจรทางน้ำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมาหลายรายแล้ว การรวมกลุ่มของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล และยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 บัญญัติรับรองไว้
อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินกำหนดในการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 56 ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) (Thai Water Partnership Thailand) ได้จัดเวทีสัมมนา เรื่อง สิทธิชุมชน กฎหมาย และการจัดการทรัพยากรประมงพื้นบ้าน ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน โดยมีข้อสรุปให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสามฝ่าย (ไตรภาคี) ซึ่งถือเป็นข้อสัญญาพันธะผูกพันหรือสัญญาประชาคม ที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีต่อประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงโพงพาง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่วันเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หรือหาแนวทางช่วยเหลือผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า และประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงโพงพางให้เป็นรูปธรรมตามที่มีการสัญญาไว้ในการสัมมนาในวันเวลาดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น