โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ฉันเคยมีโอกาสมาชมการจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ของ “ชุมชนเจริญชัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่าร้อยปี ในครั้งนั้นหลังจากพระอาทิตย์ได้ลาลับขอบฟ้า และพระจันทร์ดวงโตได้ลอยขึ้นมาทอแสงนวลเด่นบนฟากฟ้า ฉันก็ได้มาถึงที่ชุมชนเจริญชัยพอดี ในวันนั้นเป็นวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งฉันได้พบกับโต๊ะไหว้พระจันทร์อันยิ่งใหญ่อลังการงดงามตามประเพณี และบรรยากาศการไหว้พระจันทร์ของคนในชุมชนที่คึกคักมองแล้วหลงรักขึ้นมาในทันที
แต่เนื่องจากฉันมาในช่วงกลางคืน เลยอดเห็นบรรยากาศวิถีชีวิตของย่านการค้า ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้าที่เก่าแก่ สินค้าประเพณีในความเชื่อชาวจีน ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร ในปีนี้ฉันจึงได้ตัดสินใจกลับมาเยือนที่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อที่จะได้เห็นบรรยากาศการค้าขายว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับชุมชนเจริญชัยนั้น จะตั้งอยู่ที่ ตรอกเจริญไชย 1 (เจริญกรุง 23) ถนนเจริญกรุง ใกล้ๆ กับ "วัดกมลาวาส" หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “วัดเล่งเน่ยยี่” เป็นชุมชนของชาวจีนแต้จิ๋วที่มีประวัติความเป็นมายาวนานร้อยกว่าปี ก้าวแรกที่ฉันได้เข้ามาในชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง ก็รู้สึกว่าบรรยากาศที่นี่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหนๆ บรรยากาศตึกรามบ้านช่องยังเป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
และในเดือนกันยายนนี้ ก็ยังเป็นช่วง "เทศกาลไหว้พระจันทร์" ฉันจึงได้มีโอกาสชมอุปกรณ์สำหรับไหว้พระจันทร์ ที่ตั้งขายตามร้านต่างๆ ตลอดสองฝากฝั่งในตรอกแห่งนี้ ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นสวยๆ งามๆ ทั้งนั้น สมกับที่เป็นย่านการค้าด้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมสำคัญชองชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองกรุง
ฉันก็พอจะรู้มาว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคมตามปฏิทินสากล โดยเป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีมานับพันปี จะจัดขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว โดยจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ซึ่งจะมีการตั้งโต๊ะไหว้อย่างสวยงามอลังการ เพื่อไหว้ “ฉางเอ๋อ" นางฟ้าแห่งดวงจันทร์ หรือ “เจ้าแม่กวนอิม” ตามความเชื่อของชาวจีน
และด้วยความอยากรู้ของฉัน ว่าในปีนี้จะมีการจัดงานไหว้พระจันทร์อีกหรือไม่ และก็อยากรู้ว่าการจัดโต๊ะไหว้ต้องมีอะไรบ้าง ฉันจึงได้เข้าไปถาม คุณพี่เพ็ญ พนักงานขายร้าน “ตั้ง เคี้ยว มิ้น” หนึ่งในร้านขายอุปกรณ์สำหรับประกอบพิธีกรรมแบบจีนของย่านชุมชนเจริญชัยแห่งนี้ และได้รับคำตอบอย่างเต็มใจว่า
“ในปีนี้จะมีการจัดงานในวันที่ 27 กันยายน ซึ่งทางชุมชนก็ได้ทีการร่วมกันจัดงาน เพื่อสืบสานประเพณีนี้มาแล้วกว่า 5ปี สำหรับโต๊ะไหว้นั้น เครื่องไหว้ที่สำคัญก็คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” รองลงมาก็คือผลไม้ชื่อมงคล ขนมหวานอาหารเจ ดอกไม้นานาชนิด และเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้หญิง เช่น แป้ง กระจก เครื่องสำอาง ในส่วนอุปกรณ์พิธีกรรมก็จะมี เนี้ยเต้ง หรือ วังเจ้าแม่ , ม่านเจ้าแม่ , ชุดเจ้าแม่ , โป๊ยเซียนเตี๋ย กระดาษเงินกระดาษทองลวดลายโป๊ยเซียน , กิมก่ง หรือ โคมคู่”
ซึ่งแต่ละอย่างนั้นก็มีสื่อแทนความหมายในด้านมงคลทั้งนั้น ฉันยังมีโอกาสได้เข้าไปวิธีการทำวังเจ้าแม่ ที่จะเห็นได้ในช่วงนี้เพียงเท่านั้น แต่ละอันมีความอลังการสวยงามอย่างมาก มีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ มีราคาตังแต่หลักหลายร้อยจนถึงหลักหลายพันบาท ฉันนึกในใจว่าการมาเที่ยวครั้งนี้คุ้มค่าจริงๆ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ มาเยี่ยมเยือนชุมชนเจริญไชยทั้งที ก็ห้ามพลาดที่จะไปชม “พิพิธภัณฑ์ฃบ้านเก่า เล่าเรื่อง” โดยจะตั้งอยู่ที่ห้องที่ 32 ที่บ้านหลังนี้เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นที่พักของคณะงิ้วจีน ซึ่งในปัจจุบันที่ชั้นสองของบ้านได้กลายมาเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชุมชนเจริญชัย และยังมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคณะงิ้วจีน ชุดแต่งงานของหญิงชาวจีนแบบดั่งเดิม อุปกรณ์เครื่องใช้สมัยก่อน ภาพบรรยากาศเก่าๆ ให้ได้ชมกันอีกด้วย
อีกทั้งที่ชุมชนแห่งนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของร้าน “บะหมี่จับกัง” ร้านบะหมี่ชื่อดังที่ใครๆ ก็พูดถึง ร้านนี้มีเมนูบะหมี่แสนอร่อยให้ได้แวะลองลิ้มชิมรส เปิดขายทุกวันเวลา 8-.00 - 19.00 น. หยุดกลางเดือนและปลายเดือน ใครห่วงเรื่องปากท้องก็ไม่ต้องกังวลต่อไปแล้วเมื่อมาเที่ยวย่านแห่งนี้
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทุกอย่างอย่างสมหวังดั่งตั้งใจ ฉันก็ขอบอกเลยว่า ชุมชนเจริญไชยเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่ามาเดินเที่ยวอย่างมาก นอกจากจะได้เห็นบรรยากาศแบบเก่าๆ มีเอกลักษณ์ ที่พบเห็นได้ยากแล้วในเมืองกรุง อีกทั้งยังได้ความรู้มากมายในเรื่องเทศกาลแบบจีนอีกด้วย และผู้คนในชุมชนก็ยังน่ารักยิ้มแย้มแจ่มใสแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือน แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ต้องลองมาด้วยตัวเองแล้วจะติดใจแบบฉันนะขอบอก
*******
ชุมชนเจริญชัยนั้น จะตั้งอยู่ที่ ตรอกเจริญไชย 1 (เจริญกรุง 23) ถนนเจริญกรุง ฝั่งเดียวกับ “วัดกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 53 ,73
* * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com