xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่โรงเรียนไทย ครู-นักเรียน ปลูกผักอินทรีย์ กินดีเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เด็กนักเรียนโรงเรัยนประถมนนทรี ช่วยกันปลูกผักไว้กินเอง
ครู-นักเรียน โรงเรียนประถมนนทรี ย่านคลองเตย ปลูกผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์หลากหลายชนิดไว้กินเอง ประหยัด ปลอดสาร ปลอดภัย ได้สุขภาพ วาดฝันอยากให้แปลงผักหลังครัวโรงเรียนเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ ทดลองปลูกผักของเด็กๆ รวมถึงเป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อการพึ่งพาตัวเองของโรงเรียน

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลกแต่มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมถึงการสุ่มตรวจพืชผักในท้องตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็พบสารเคมีตกค้างในผักอย่างน่าตกใจ ประเทศไทยยังมีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรอันตรายที่ทั่วโลกห้ามใช้

ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้คนรักสุขภาพ และตระหนักถึงสารพิษตกค้างทั้งในร่างกาย และสิ่งแวดล้อม หันมาให้การสนับสนุนวิถีเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเข้าถึงอาหารอินทรีย์นับว่า ยังมีข้อจำกัดอยู่มากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ไม่มีพื้นที่เพาะปลูก หรือไม่มีเวลา ต้องหาซื้ออาหารราคาถูก เด็กนักเรียนในโรงเรียนในสังกัดของรัฐ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แม้ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวัน แต่ด้วยงบประมาณเพียงมื้อละ 20 บาทต่อหัว ก็ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงอาหารอินทรีย์
ดวงแด สายุปถัมภ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ บ.สวนเงินมีมา
สวนเงินมีมา” ผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือก ด้วยกลไกการเชื่อมโยงจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเชื่อมโยงผลผลิตอินทรีย์ ไปสู่ผู้บริโภคในวงกว้าง ภายใต้แนวคิด “อาหารอินทรีย์สำหรับทุกคน” Organic Food for All จึงได้ร่วมกับโรงเรียนประถมนนทรี โรงเรียนชุมชนย่านคลองเตย กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “พืชผักสวนครัวรอบรั้วโรงเรียน

“เริ่มจากการที่เราได้เชื่อมโยงผัก จากแปลงเกษตรอินทรีย์ เข้าสู่ครัวโรงเรียน ด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ทางโรงเรียนสามารถจ่ายได้ ในแต่ละวันจะมีผักจากมูลนิธิเอ็มโอเอไทย และสลันดาฟาร์ม ซึ่งถือว่า เป็นผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นพันธมิตรกับทางโครงการฯ และยินดีเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนพื้นฐานได้รับประทานผักอินทรีย์” นายดวงแด สายุปถัมภ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ กล่าว
ช่วยกันปลูกผักคนละไม้คนละมือ
ทุกวันอังคาร จะมีการส่งผักเข้าสู่ครัวโรงเรียนประถมนนทรี วันละ 20 กิโลกรัม มีผักหมุนเวียนกันไปหลายชนิด เช่น แตงกวา ผักบุ้ง มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน 500 คน รวมทั้งครู และเจ้าหน้าที่โรงเรียนอีกราว 30 คน

“อยากให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และมองว่า เป็นไปได้ ถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูล ผักอินทรีย์ที่เราเห็นว่า มีราคาสูงกว่าผักทั่วไปตามท้องตลาดถึง 30-40% ก็สามารถทำให้เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ของเราได้กินของดีได้” อ.สุภาวดี อึ้งพานิช ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมนนทรี แสดงความรู้สึก เมื่อเห็นว่า เด็กๆ ในการดูแล 500 ชีวิต จะได้รับประทานอาหารปลอดภัย ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย
เด็กๆกินผักที่ปลูกเอง ปลอดสาร ปลอดภัย
“ผักที่ชอบ กะเพรา คะน้า มะเขือยาว” ด.ช. ภานุวัฒน์ ทองมีกล่าว

“หนูชอบทานผักกะหล่ำปลีมาก…ค่ะ” ด.ญ.พัชภรณ์ ดวงแก้วกล่าว

ไม่เพียงแต่การส่งเสริมให้เด็กไทย รับประทานผักผลไม้ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน คือวันละ 400 กรัมเท่านั้น แต่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัย ปราศจากสารเคมีตกค้างด้วย และนี่ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพคนกิน แต่การบริโภคผลผลิตอินทรีย์ ยังหมายถึงการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ ที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง และส่งผลดีต่อระบบนิเวศน์ ผืนดิน ผืนน้ำ และอากาศ ที่ปราศจากสารพิษตกค้างอีกด้วย
เด็กๆโรงเรียนนี้นอกจากจะได้กินผักปลอดสารแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผักเองกับมือด้วย
นอกจากการนำพาพืชผักอินทรีย์ สู่ครัวโรงเรียนแล้ว ทางโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกฯ ยังได้ชวนคุณครูโรงเรียนประถมนนทรี ไปเรียนรู้การทำสวนผักในเมือง ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง “บ้านเจ้าชายผัก” โดยมี คุณนคร ลิมปคุปตถาวร (ปรินซ์) เป็นผู้ให้ถ่ายทอดความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณครู เพื่อให้เห็นแบบอย่าง และความเป็นไปได้ ที่จะทำพื้นที่ว่างภายในโรงเรียน ให้เป็นสวนผัก

“เราหวังว่า พื้นที่สวนผักในโรงเรียน วันหนึ่งข้างหน้านอกจากจะทำให้เรามีพืชผักเป็นอาหารในโรงเรียนแล้ว ก็อาจจะมีเหลือเผื่อขาย แจกจ่ายให้แก่คนในชุมชนด้วย” อ.สุภาวดี วาดฝันให้แปลงผักหลังครัวโรงเรียน จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ ทดลองปลูกผักของเด็กๆ แล้ว ยังจะเป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อการพึ่งพาตัวเองของโรงเรียนด้วย

*********************************************




*********************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น