ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในโครงการ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผักเชียงดาเป็นไม้เลื้อย เถาแก่มีสีน้ำตาลใบสีเขียวแก่ รูปร่างใบแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น รีขาว รีสั้น หรือเป็นรูปหัวใจ เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี สามารถแตกยอดไม้ตลอดปี ชาวเหนือนิยมนำมากินสดเคียงกับน้ำพริก ผัด หรือแกง เป็นผักที่มีรสชาติขมและหวานกำลังดี
จากผลงานวิจัยพบว่า ทางเภสัชวิทยาพบว่าผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยผู้ที่ทดลองดื่มชาผักเชียงดาภายใน 15 นาทีพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจากตอนที่ยังไม่ได้ดื่ม และจากผลการวิจัยยังพบว่าผักเชียงดามีวิตามินซีสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ และจากผลการวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่าผักเชียงดาที่ปลูกบนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแดงจะมีปริมาณสารออกฤทธิ์สูงกว่าการปลูกผักเชียงดาในพื้นที่อื่นๆ
ปัจจุบันด้วยคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายของผักเชียงดาได้ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาผักเชียงดา โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ ของ “นางมุทิตา สุวรรณคำซาว” ซึ่งเป็นการร่วมกันปลูกพืชผักเชียงดาปลอดสารพิษและนำมาแปรรูปจำหน่ายในรูปแบบของชาสมุนไพร โดยกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูลงานวิจัยที่ใช้สนับสนุนความรู้ด้านการเพาะปลูก ไปจนถึงการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้ชาสมุนไพรที่มีคุณภาพสูง ในระดับที่สามารถส่งออกต่างประเทศ รวมไปถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. ซึ่งออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในปี 2557 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรผักเชียงดาได้รับการยอมรับมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ
นางมุทิตาเล่าว่า เนื่องจากสินค้าของเราเริ่มได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น จึงได้มีแนวคิดในการที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้น จากเดิมที่ขายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง จึงได้ลงทะเบียนเข้าเป็นกลุ่มสินค้าโอทอป แต่การที่จะเข้ากลุ่มสินค้าโอทอปได้นั้น จำเป็นที่จะต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเสียก่อน จึงได้ไปดำเนินการขอเครื่องหมายกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ แต่เนื่องจากในช่วงแรกผักเชียงดายังไม่มีอยู่ในระบบของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
ทางกลุ่มจึงไปปรึกษากับทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม อำเภอแม่แตง ทางเจ้าหน้าที่ช่วย และส่งเรื่องชี้แจงไปทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และให้เราเข้าไปชี้แจง สุดท้ายสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจังหวัดได้มอบเครื่องหมาย มผช.แก่ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรผักเชียงดาแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์
ทั้งนี้ เครื่องหมาย มผช.ช่วยให้กลุ่มฯ สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ผักเชียงดาไปยังต่างประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น และมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศในแถบ AEC ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไน พม่า และลาว ฯลฯ ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ครั้งละ 100 กิโลกรัมต่อเดือน (ในรูปของชาสมุนไพรแห้ง) ซึ่งลูกค้าจะนำไปบรรจุ และตีตรายี่ห้อของเขาเอง โดยราคาส่งออกต่างประเทศอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,500 บาท (ผักเชียงดาสด 7 กิโลกรัม ได้ชาสมุนไพรแห้ง 1 กิโลกรัม) ทางกลุ่มฯ มีสมาชิกที่ปลูกผักเชียงดาในขณะนี้จำนวน 80 ราย พื้นที่ปลูก 200 ไร่
ส่วนกำลังการผลิตของโรงงานอยู่ที่วันละ 500-800 ซอง ราคาผักเชียงดาสดที่กลุ่มรับซื้อจากสมาชิกอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท จากเดิมที่่ไม่ได้มีการขยายตลาด หรือการผลิตชาสมุนไพร ราคาผักเชียงดาสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท เดิมชาวบ้านจะซื้อไปปรุงเป็นอาหาร ผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านปลูกง่าย ไม่ต้องการน้ำมาก อายุยืนเป็น 100 ปี สามารถปลูกแบบออร์แกนิกได้เพราะไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนเหมือนผักอื่นๆ ส่วนการเพาะขยายพันธุ์ใช้การปักตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด
สำหรับการแปรรูปผักเชียงดาของทางกลุ่มฯ จะทำออกมาในหลายรูปแบบได้แก่ ชาสมุนไพรผักเชียงดา คัดเลือกเฉพาะสามใบคู่แรกมาทำเป็นชา โดยผ่านกระบวนการผลิตตากแดดด้วยพลังแสงอาทิตย์ เลือกเฉพาะใบชาที่ได้คุณภาพ ก่อนนำไปเข้าเครื่องคั่ว และบด ก่อนนำมาบรรจุเป็นซอง และผลิตเป็นแคปซูล ผู้ซื้อเพียงแค่นำซองใส่ลงในน้ำดื่มได้เลย 1 ซอง ซึ่งชา 1 ซองชงน้ำดื่มได้ถึง 1 ลิตร (แต่เนื่องจากรสชาติของสมุนไพรผักเชียงดามีรสชาติออกขม และกลิ่นไม่หอม ทางผู้ผลิตจึงได้นำมะรุม ใบเตย และตะไคร้ มาเป็นส่วนผสมอยู่ในซองชาด้วย) และนอกจากชา ส่วนอื่นๆ ที่คัดทิ้งก็นำมาตากแห้งผ่านกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน แต่นำมาใช้เป็นไส้หมอน เพราะการนอนดมสมุนไพรผักเชียงดา ช่วยแก้อาการภูมิแพ้ได้
นางมุทิตาเล่าว่า ในสมัยเด็กร่างกายอ่อนแอ ครั้งหนึ่งมีอาการไข้สูงและเกิดอาการชัก อา ซึ่งเป็นหมอยาสมุนไพรพื้นบ้าน ได้นำผักเชียงดา 9 ใบ แช่น้ำข้าว ทุบรวมกัน แล้วนำมาเช็ดตัว พอกใบบนศีรษะ ช่วยให้อาการไข้ทุเลาลง และหายเป็นปกติ พอโตขึ้นก็ไม่ได้มีโอกาสนำมาใช้ จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 40 ปีเริ่มมีอาการปวดหัวและเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไปหาหมอไม่หาย จึงได้นึกถึงอา และวิธีการรักษาโดยใช้สมุนไพร จึงได้ทดลองนำผักเชียงดามาตากแห้งเป็นสมุนไพร และคั่วให้หอมก่อนนำมาชงดื่มเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่าอาการปวดเมื่อยหายไป ก็ได้ทำแจกจ่ายญาติ และคนรู้จัก ก่อนจะมารวมกลุ่มทำจำหน่ายปัจจุบัน
โทร. 08-6670-9269, 09-0994-2443
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *