xs
xsm
sm
md
lg

โครงการตำบลเงินล้านผุดบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ จ้างแรงงานสะพัดวันละ 300 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านยินดีโครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรกรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จากงบประมาณตำบลละ 1 ล้านบาทชาวบ้านบริหารจัดการกันเองอย่างโปร่งใส ระบุเพิ่งเป็นโครงการรัฐบาลที่เข้าถึงชุมชน ชาวบ้านได้ผลประโยชน์จริง

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่วัดอ่างคำวราราม บ้านอ่างคำ หมู่ 7 ต.สะอาดไชยศรี อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ นายวิโรจน์ อินสว่าง นายอำเภอดอนจาน พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอดอนจาน เกษตรตำบลสะอาดไชยศรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้า กิจกรรมการจัดสร้างระบบประปาหมู่บ้านบาดาล พลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาก่อสร้างและดำเนินการ 33 วัน ที่กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ โดยมีนายนาวา ท่าไคร้กลาง เกษตรตำบลสะอาดไชยศรี เป็นผู้ควบคุมและติดตามการดำเนินการ

นายนาวา ท่าไคร้กลาง เกษตรตำบลสะอาดไชยศรี อ.ดอนจาน กล่าวว่า สำหรับมติของชุมชนโดยการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน 8 หมู่บ้านได้มีมติที่จะสร้างระบบประปาหมู่บ้านบาดาลจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมาทุกปีเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝน ไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน

โดยงบประมาณตำบลละ 1 ล้านบาท ได้แบ่งสัดส่วนออกเป็น 70:30 เป็นค่าแรงงาน 300,000 บาท มีผู้ใช้แรงงานจำนวน 959 ราย เป็นค่าแรงงานวันละ 300 บาท เฉลี่ย 3-5 วัน หรือประมาณ 900-1,500 บาทต่อคน และค่าช่างฝีมือ 495 บาท ซึ่งมี 2 คน ที่เหลือเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ 700,000 บาท

โดยระบบประปาหมู่บ้านบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ 150 ราย พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง 100 ไร่ ในฤดูฝนอีก 500 ไร่ นอกจากจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวบ้านแล้ว นายประพาส บุญสุข เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังกำชับให้คุมเข้มการดำเนินการที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบทางราชการ และให้ติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดด้วย

นายคำปุ่น นามเกตุ อายุ 75 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านสายป่าแดง ต.สะอาดไชยศรี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 75 ปีก็เพิ่งได้เจอโครงการนี้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเข้าถึงจริงๆ นอกจากนี้ยังได้บริหารเงินล้านที่ไม่มีรัฐบาลยุคไหนทำมาก่อนชาวบ้านบริหารจัดการเอง มาตรฐานการก่อสร้างหรือการดำเนินการโครงการอื่นๆ ก็ควบคุมกันเองมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ อย่างแบบกำหนดฝังท่อส่งน้ำยาว 4,000 เมตร ลึก 30 ซม. แต่ชาวบ้านก็ขุดลึก 50 ซม.

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหารถไถเหยียบเสียหาย ทุกกระบวนการชาวบ้านตรวจสอบกันเองค่อยว่ากล่าวกันไปใครๆ ก็อยากให้มันออกมาดีต่างคนต่างช่วยงานจึงบรรลุผลสำเร็จ โดยมีส่วนราชการมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกเชื่อว่าชาวบ้านน่าจะต่อยอดจากในการทำเรื่องเบิกจ่ายค่าแรง การจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง

“โครงการนี้ได้มาก ได้ทั้งเงินจากการทำงานในหมู่บ้าน ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน อยากจะขอบคุณรัฐบาลมากที่นำโครงการดีๆ มาสู่ชาวบ้านจริงๆ” นายคำปุ่นกล่าว

สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับงบประมาณตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชนตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้ง 18 อำเภอมี 118 ตำบล ได้รับงบประมาณรวมเป็นเงินกว่า 117 ล้านบาท โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ, โครงการฟื้นฟูพื้นที่เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร, โครงการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต, สร้างลานตากผลผลิตทางการเกษตร, การปลูกผักปลอดสารพิษ และกลุ่มอาชีพต่างๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น