โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ท่ามกลางกระแส “ตุ๊กตาลูกเทพ” ที่โด่งดังกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ทริปนี้ฉันจึงขอร่วมเกาะกระแส ด้วยการพาไปชมตุ๊กตา(จริงๆ)ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยฝีมือขั้นเทพอันสวยงามประณีตวิจิตร จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลในระดับโลกที่ “บางกอกดอลล์”กัน
“บางกอกดอลล์” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา” สถานที่ท่องเที่ยวที่เพื่อนๆ นักตะลอนเที่ยวเมืองกรุงพูกถึงอยู่บ่อยๆ โดยเป็นแหล่งจัดแสดงตุ๊กตานานาชนิด หลากหลายรูปแบบให้ได้ชม ซึ่งฉันได้ยินมาอีกว่าภายในพิพิธภัณฑ์ได้รับการปรับปรุงใหม่ และฉันอยากกระซิบบอกว่าที่เที่ยวแห่งนี้เปิดให้ชม ฟรี! ด้วยนะ
สำหรับความเป็นมาของ “บางกอกดอลล์” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา” นั้น ฉันก็ขอเล่าคร่าวๆ ให้ได้ฟังก่อนว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตุ๊กตาที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน โดยตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 85 ซอยแยกรัชฏภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) ถนนราชปรารภ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ถูกก่อตั้งโดย คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 หลังจากที่ท่านได้ไปเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาจากโรงเรียนโอซาวาดอลล์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และท่านก็ได้กลับมาใช้วิชาการประดิษฐ์ตุ๊กตา พร้อมบรรจงสรรค์สร้างอย่างสวยงามสมจริง และผสมผสานความลงตัวในแบบสากลหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำความเป็นไทยมาอยู่บนตัวตุ๊กตา จนได้ตุ๊กตาแบบไทยที่สวยงามมีเอกลักษณ์
และตุ๊กตาแบบไทยที่สวยงามมีเอกลักษณ์ของบางกอกดอลล์นั้น ก็เคยได้นำไปเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2521 ที่ประเทศโปแลนด์ จนเป็นที่รู้จักกันดีของนานาชาติ ตลอดจนนักสะสมตุ๊กตาทั้งหลาย จนถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และกรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย
เมื่อฉันเดินทางมาถึง ฉันก็ไม่ขอเสียมารยาท ร้องเรียกเจ้าของบ้านก่อน เพราะสถานที่จัดแสดงตุ๊กตานั้นตั้งอยู่ในบริเวณบ้าน ของคุณหญิงทองก้อน ซึ่งคุณอาภัสสร์ จันทวิมล ผู้เป็นลูกชาย เจ้าของคนปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา เป็นผู้ออกมาต้อนรับอย่างยิ้มแย้ม และอนุญาตให้ฉันได้เข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา ก่อนจะเข้าไปชมคุณอาภัสสร์ ก็ได้ให้คำอธิบายว่ามุมไหนเป็นโซนอะไร ซึ่งแต่ละโซนก็จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับประวัติและที่มาของตุ๊กมาอธิบายไว้ให้ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กับการเดินชม
ซึ่งคุณอาภัสสร์ ก็ยังได้บอกให้ฉันฟังอีกว่า "พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตาแห่งนี้ พึ่งได้รับการปรับโฉมใหม่ จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ที่ได้มาทำการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการจัดแสดงตุ๊กตาภายในพิพิธภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ภายใต้โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5"
หลังจากได้ฟังคำอธิบายของคุณอาภัสสร์ เสร็จแล้วฉันก็ขอตัวเดินเข้ามาชมภายในพิพิธภัณฑ์ โดยพื้นที่ภายในนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องใหญ่ โดยภายในแต่ละห้องก็จะมีการจัดแสดงตุ๊กตานานาชนิดไว้เป็นมุมต่างๆ ให้ได้ชม เริ่มต้นจากบริเวณทางเข้าในห้องแรก ฉันได้พบกับมุม “ตุ๊กตาชุดวิถีชีวิตไทย” ที่จัดแสดงตุ๊กตาขนาดเล็กน่ารัก ที่มีอิริยาบถแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ผ่านตุ๊กตาตัวน้อย
เดินถัดมาเล็กน้อย ฉันก็ได้เจอกับตู้กระจกใบใหญ่ ซึ่งภายในจัดแสดง เหล่าตุ๊กตารุ่นแรกของพิพิธภัณฑ์ เมื่อนับเวลาแล้วก็มีอายุอานามหลายสิบปีแล้ว ซึ่งภายในตู้ก็ยังมีขั้นตอนการผลิตตุ๊กตาให้ได้ชมกันอีกด้วย หลังจากทำความเข้าใจกับขั้นตอนการประดิษฐ์ตุ๊กตาแล้ว หันหลังมาก็จะพบกับตู้กระจกบานใหญ่ทอดยาว จากมุมหนึ่งของห้องไปสุ่อีกมุมหนึ่งของห้อง ภายในนั้นเป็นที่จัดแสดงเหล่า "ตุ๊กตานานาชาติ" ที่คุณหญิงทองก้อน ได้รวบรวมมาเมื่อครั้งได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายในตู้นี้มีตุ๊กตาเกือบ 400 กว่าตัว ซึ่งแต่ละตัวก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามในแบบประเทศของตัวเอง ซึ่งฉันก็ชอบตุ๊กตาที่มาจากประเทศจีน ที่แต่งองค์ทรงเครื่องแบบจัดเต็ม มองแล้วได้เห็นวัฒนธรรมจีนออกมาจากตัวตุ๊กตา
นอกจากในตู้บานใหญ่แล้ว ก็ยังมีตู้กระจกอื่นๆ ที่จัดแสดงตุ๊กตาจากนานาชาติให้ได้ชมกันอีก อาทิ ตุ๊กตาจากประเทศโปแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ฝั่งเอเชียก็มีจากทางประเทศจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ให้ได้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน มองดูแล้วก็ทำให้ฉันคิดถึงตุ๊กตาช้างน้อยตัวแรกของฉัน
เมื่อชมตุ๊กตาในทุกๆ มุมของห้องแรกเสร็จแล้ว ฉันก็เดินต่อเข้ามาที่ห้องจัดแสดงที่ 2 ในห้องนี้ส่วนมากจะจัดแสดงตุ๊กตาที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นตุ๊กตาในแบบไทยๆ และในห้องนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของตู้จัดแสดงตุ๊กตาชุดไฮไลต์ของทางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ “ตุ๊กตาชุดยกทัพ” โดยเป็นตุ๊กตาที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ประดิษฐ์ขึ้น ด้วยการนำเรื่องราวในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มาเล่าเรื่องราวระหว่างทัพอันยิ่งใหญ่สองทัพระหว่างทัพพระรามและทัพทศกัณฐ์ เมื่อฉันได้ชมแล้วก็รู้สึกว่าตุ๊กตาแต่ละตัวนั้นสวยงามอย่างมาก และสื่อให้เห็นถึงความยิ้งใหญ่ของกองทัพในเรื่องรามเกียรติ์ได้จริงๆ
ฉันจะขอบอกไว้ด้วยว่าตุ๊กตาชุดยกทัพชุดนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากงานประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2521 ที่ประเทศโปแลนด์ มาแล้วด้วย ช่างเป็นรางวัลที่เหมาะสมจริงๆ และภายในห้องที่ 2 ก็ยังมีตุ๊กตาไทย ตุ๊กตาการละเล่น ตุ๊กตาในท่ารำ และตุ๊กตาในวรรณคดีต่างๆ จัดแสดงให้ได้ชมกันด้วย โดยแต่ละตัวนั้นต่างๆ แสดงท่วงท่าและสวมชุดได้อย่างสวยงาม ฉันเดินชมแล้วเพลินตาจริงๆ
และถัดมาที่ห้องที่ 3 จะเป็นห้องประดิษฐ์ตุ๊กตา ในห้องนี้ก็จะมีพี่ๆ พนักงานของบางกอกดอลล์นั่งทำตุ๊กตาให้ได้ชม และพี่ๆ พนักงานก็ยังยินดีอธิบายวิธีการทำให้ฉันได้เข้าใจอีกด้วย สำหรับการทำตุ๊กตานั้นจะเริ่มจากการเย็บชิ้นส่วนเล็กๆ ก่อน เช่น แขน หัว ขา โดยมีผ้าเป็นวัสดุ ต่อมานำมาเย็บเข้าด้วยกันจนเป็นตัวตุ๊กตา และนำมาสวมชุดที่ต้องการ แล้วนำมาตกแต่งให้สวยงาม พูดเหมือนจะง่ายแต่มาดูจริงๆ แล้วไม่ง่ายเลย และใครที่ต้องการจะซื้อตุ๊กตากลับไปเป็นที่ระลึกหรือไปฝากคนที่บ้าน ทางบางกอกดอลล์ก็มีจำหน่ายด้วยนะ แต่ละตัวสวยๆ ทั้งนั้น
หลังจากได้ชมอย่างเพลิดเพลินแล้ว ฉันก็ไม่ลืมที่จะเดินไปขอบคุณ คุณอาภัสสร์เจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตาแห่งนี้ที่ได้เอื้อเฟื้อให้แนได้เข้ามาชมเหล่าตุ๊กตามากมายแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ฉันจึงอยากจะบอกว่า บางกอกดอล์ พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ที่สามารถชมตุ๊กตาน่ารัก ไปพร้อมๆ กับการได้ชมวัฒนธรรมทั้งไทยและนานาชาติ ใครที่ชื่นชอบตะลุยเที่ยวในเมืองกรุงแล้วก็ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด
******************************************************************************************************
บางกอกดอลล์ พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-เสาร์ เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2245-3008, 0-2245-4532 หรือทาง www.bangkokdolls.com
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง สาย 13, 14, 54, 62, 63, 72, 73, 74, ปอ.13, ปอ.15, ปอ.62, ปอ.72, ปอ.73, ปอ.พ 20 หรือจะใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีพญาไทเดินมาทางออกที่ 4
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com