xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระธาตุนคร-พระธาตุศรีโคดตะบอง ยลสองเมืองงามริมฝั่งโขง “นครพนม-คำม่วน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระอาทิตย์ขึ้นหลังทิวเขาที่ฝั่งลาว ทิวทัศน์งดงามริมโขงที่ จ.นครพนม
“นครพนม (ไทย) - คำม่วน (ลาว)” สองเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงที่หันหน้าเข้าหากันและกัน และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน พร้อมกับมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ได้ไปเยือน แม้จะมีสายน้ำขั้นระหว่างกลาง แต่การเดินทางไปมาระหว่างสองเมืองนี้ก็ไม่เคยหยุด อีกทั้งในปัจจุบันการคมนาคมก็ยังง่ายมากขึ้น เพราะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่ง

และในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมลงพื้นที่โครงการวิจัยเส้นทาง “ล่องน้ำโขง เยือนถิ่นวิถีนครพนม - คำม่วน” ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) จัดขึ้น โดยจะเป็นการไปเที่ยวริมแม่น้ำโขงในเขตเทศบาล “จังหวัดนครพนม” และข้ามไปเที่ยวยัง “เมืองท่าแขก” อันเป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน ประเทศลาว

แต่ก่อนจะเริ่มการตะลอนเที่ยวในครั้งนี้ ก็จะขอเล่าประวัติคร่าวๆ ของทั้งสองเมืองให้ได้ฟังกันก่อน โดยเริ่มจากประวัติของ “จังหวัดนครพนม” จังหวัดแห่งนี้เป็นเมืองชายแดนริมแม่น้ำโขงที่มีทิวทัศน์อันงดงาม เมื่อครั้งอดีตอยู่ฐานะเมืองเก่าเคียงคู่อยู่กับอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ชื่อของดินแดนนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็น "มรุกขนคร" และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "นครพนม" เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ด้วย เนื่องจากมีทิวทัศน์อันงดงามจากทิวเขามากมายของฝั่งประเทศลาว

บรรยากาศยามเย็นริมฝั่งโขงเมืองนครพนม ณ “ลานพนมนาคา”
และ “เมืองท่าแขก” เมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน ประเทศลาว เมื่อครั้งอดีตเมืองแห่งนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน (พนม) และ อาณาจักรเจนฬา (เจนละ) โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า "ศรีโคตรบูร" หรือ "ศรีโคตรบอง" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองบริเวณปากห้วยศรีมังค์ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุสีโคดตะบูน จนกระทั่งในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ก็ได้กลายมาเป็นเมืองท่าสำคัญ โดยเป็นสถานที่ค้าขายของชาวต่างชาติ อาทิ ลาว ไทย จีน ญวน แขก ฝรั่ง

เริ่มต้นการตะลอนเที่ยวในครั้งนี้ ด้วยการเลาะริมฝั่งโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยจุดแรกที่แวะมาเที่ยวก็คือ “เขื่อนหน้าเมืองนครพนม” เพื่อจะมาชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงที่สามารถเห็นทัศนียภาพอันสวยงามได้อย่างกว้างไกลทั้งในยามเช้าและยามเย็น โดยในช่วงเช้าจะสามารถเห็นพระพระอาทิตย์ขึ้นหลังทิวเขาสลับซับซ้อนที่ทอดยาวอยู่ที่ฝั่งประเทศลาว และที่บริเวณเขื่อนนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของลานกิจกรรมมากมายเช่น “ลานพนมนาคา” บริเวณตลาดอินโดจีน ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายในยามเย็นของชาวเมืองนครพนม และเป็นจุดนั่งกินลมชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นในยามที่แดดร่มลมตก

“พระติ้ว-พระเทียม” พระพุทธรูปคู่แฝดอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม
หลังจากชมวิวกันแล้วก็มาเที่ยวกันต่อที่ "วัดโอกาส" หรือ “วัดศรีบัวบาน” ในชื่อเดิม เพื่อมาสักการะ “พระติ้ว-พระเทียม” พระพุทธรูปคู่แฝดอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนมมาตั้งแต่โบราณ สำหรับประวัติ พระติ้ว-พระเทียม นั้น แต่เดิมจะมีเพียงองค์พระติ้วเพียงองค์เดียว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าศรีโคตรบูร ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครอาณาจักรศรีโคตรบูร เมื่อปีพ.ศ.1238 ครั้นได้ทำการสมโภชเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแล้ว เมื่อเกิดเหตุร้ายต่างๆ ณ แห่งหนใด ก็จะมีการอัญเชิญองค์พระติ้วไปประดิษฐาน เรื่องร้ายๆ ก็จะกลายเป็นดี แต่ในเวลาต่อมาเกิดไฟไหม้หอพระวัดธาตุ บ้านสำราญ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระติ้ว พระเจ้าขัตติยะวงศาฯ จึงมีบัญชาให้ชาวบ้านหาไม้มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเหมือนองค์พระติ้วทุกประการ เพื่อมาเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแทนองค์พระติ้วที่เข้าใจว่าถูกไฟไหม้แล้ว แต่ต่อมาชาวบ้านที่หาปลาอยุ่กลางแม่น้ำโขง ได้เกิดลมพายุหมุนขึ้น และชาวบ้านได้เห็นองค์พระติ้วลอยขึ้นมา จึงได้นำไปถวายคืนพระเจ้าขัตติยะวงศาฯ พระองค์ศรัทธาเป็นอย่างยิ่งจึงได้สละทองคำหนัก30 บาท ให้ช่างบุทั่งทั้งองค์พระและจารึกอักษรที่แท่นฐานลานเงิน เพื่อบอกวันเดือนปีและนามผู้สร้าง พร้อมทั้งได้ถวายสมัญญานามพระพุทธรูปองค์เดิมว่า "พระติ้ว" และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนพระติ้วนั้นว่า "พระเทียม"

ซึ่งในกาลต่อมาราชบุตรพรหมา (พรหมาบุตรเจ้ากู่แก้ว)เจ้าครองเมืองนครบุรีศรีโคตรบูรได้อัญเชิญ พระติ้ว พระเทียม มาประดิษฐานที่วัดศรีบัวบานในปี พ.ศ. 2281 โดยองค์พระติ้วจะประดิษฐานทางซ้าย และพระเทียมจะประดิษฐานอยู่ทางด้านขวา

“พระธาตุนคร” พระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันเสาร์
และหากได้มาเที่ยวบริเวณริมฝั่งโขงของเทศบาลเมืองนครพนมแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะสักการะ “พระธาตุนคร” ณ วัดมหาธาตุ พระธาตุแห่งนี้เป็นพระธาตุองค์เดียวในเขตตัวเมืองนครพนม เป็นพระธาตุประจำของผู้ที่เกิดวันเสาร์ ภายในบรรจุพระอรหันตธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ ซึ่งมีความเชื่อว่าพระธาตุแห่งนี้มีเทวดานพเคราะห์ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ปกปักษ์รักษา เชื่อกันว่าผู้มาสักการะจะได้อานิสงส์ส่งผลให้มีบุญวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน

“โบสถ์นักบุญอันนา” โบสถ์คริสต์งดงามริมฝั่งโขง
“โบสถ์นักบุญอันนา” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ไม่ควรจะมาพลาดเมื่อได้มาเที่ยวริมฝั่งแม่โขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนมแล้ว โบสถ์แห่งนี้ เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความเก่าแก่สวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัด นครพนม สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1926 โดยบาทหลวงเอดัวร์ นำลาภ อธิการโบสถ์ โดยมีสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียล แต่ในสมัยกรณีพิพาทอินโดจีนถูกฝรั่งเศสทิ้งระเบิดถล่มเมืองนครพนม ทำให้โบสถ์พังเสียหาย ต่อมาจึงมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่เพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคริสต์ ในแต่ละชุมชนในจังหวัดนครพนมสืบต่อมาถึงใน

ทิวทัศน์บน “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3” ทอดยาวสู่ประเทศลาว
เสร็จจากการตะลอนเที่ยวลัดเลาะริมฝั่งโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนมกันแล้ว ก็ได้เวลาข้ามไปเที่ยวฝั่งเมืองท่าแขก ประเทศลาว โดยจะใช้เส้นทาง “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3” เพื่อเดินทางเยี่ยมเยื่อนเพื่อนบ้านของเราที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง สำหรับประวัติของสะพานแห่งนี้ ถุกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย ระหว่างจังหวัดนครพนม กับแขวงคำม่วน ประเทศลาว เป็นอีกหนึ่งสะพานที่มีความสวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และหากนับวันเวลาเป็นสากลแล้ว สะพานแห่งนี้ก็ได้เป็นสะพานเลข 1 เพราะเปิดเวลา 11.11 น. วันที่ 11 เดือน 11 ค.ศ. 2011 (11.11 - 11.11.11)

ความยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติสร้างไว้  “กำแพงหินยักษ์” หรือชื่อเดิม “ภูคันนา”
เมื่อข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 มาแล้วก็จะเริ่มเห็นทัศนียภาพอันงดงามของแขวงคำม่วนเด่นชัดขึ้นโดยจะเห็นเป็นทิวเขาหินปูนสลับซับ ซึ่งทัศนียภาพดังกล่าวทำให้แขวงคำม่วนถูกเรียกว่า "กุ้ยหลินเมืองลาว" ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองท่าแขก อันเป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน เราก็จะผ่านกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันน่าทึ่งนั่นก็คือ “กำแพงหินยักษ์” หรือชื่อเดิม “ภูคันนา” โดยเป็นแนวหินที่มีลักษณะสูงใหญ่ ทอดยาวหลายสิบกิโลเมตรในเส้นทางท่าแขก-เวียงจันทน์ ตั้งตระหง่านมองดูแล้วคล้ายกับกำแพงเมืองโบราณ โดยมีข้อสันนิษฐานในทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากการยกตัว ยุบตัวของเปลือกโลก และยังมีเรื่องราวของตำนานพื้นบ้านที่ได้เล่าขานต่อๆ มาไว้ว่า กำแพงหินถูกสร้างโดยยักษ์ชื่อ “อ้ายสะลึคึ” ยักษ์ผู้มีอวัยวะเพศใหญ่มโหฬาร เมื่อยักษ์สะลึคึออกเดินไปสถานที่ต่างๆ อวัยวะเพศก็จะลากกับแผ่นดินจนเกิดเป็นร่องลึกทอดยาวเป็นกำแพงและแม่น้ำโขง

“พระธาตุศรีโคดตะบอง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของแขวงคำม่วน ประเทศลาว
และหากได้มีโอกาสมาเยือนเมืองท่าแขกแล้ว ก็ไม่ควรพลาดแวะไปสักการะ “พระธาตุศรีโคดตะบอง” พระธาตุพี่น้องกับพระธาตุพนม และเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของแขวงคำม่วน พระธาตุแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระสมินทะราช หรือสุมินตตะธรรมวงศ์สาอะทิราช แห่งราชอาณาจักรศรีโคตรบอง เพื่อเป็นอนุสาวรีย์พระยาศรีโคตรบอง กษัตริย์นครศรีโคตตะบุระ เนื่องจากที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 คือ พระกะกุสันโท, พระโกนาคะมะโน, พระกัดสะโบและพระโคตะโม

“พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์” จัดแสดงประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประธานโฮจิมิน และเจ้าสุภานุวงศ์
และที่แขวงคำม่วนก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเปิดใหม่ให้ได้ไปเที่ยวชมกันด้วย ซึ่งได้แก่ “พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงประวัติความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่าง “ท่านประธานโฮจิมิน” นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม และ “เจ้าสุภานุวงศ์” ประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนแรก ที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสจนเป็นผลสำเร็จ โดยได้มีบทกลอนที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ ที่ประธานโฮจิมินได้กล่าวไว้ว่า “รักชอบกันหมายมั่น มีเขาขวางกั้นก็จะสู้ไป สองประเทศ(ลาว-เวียดนาม) ฝังความรักไว้ในใจ แม่น้ำแดงและแม่น้ำโขง แม้จะลึกเท่าไหน ก็ไม่เท่าความสัมพันธ์นี้”

ข้าวของเครื่องใช้ของ “ท่านประธานโฮจิมิน” จัดแสดงภายใน “พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์”
สำหรับบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์นั้นจะเป็นการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 และภาพในเก่าในเหตุการณ์มาจัดแสดง เพื่อให้เห็นถึงความยากลำบากของบรรพบุรุษ ในการนำพาประเทศเข้าสู่ความเป็นเอกราช และยังมีการนำข้าวของเครื่องใช้เมื่อครั้งอดีตของท่านทั้งสองมาจัดแสดงให้ชมกันอีกด้วย

บรรยากาศภายใน “เมืองท่าแขก” มีตึกสไตล์โคโลเนียลให้ชม
ปิดท้ายการตะลอนเที่ยวในครั้งนี้ ด้วยการเข้ามาชมบรรยกาศภายใน “เมืองท่าแขก” เมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน ประเทศลาว ซึ่งบรรยากาศภายในเมืองนั้น ยังมีตึกรามบ้านช่องเมื่อครั้งอดีตให้ได้ชมกัน โดยจะเป็นตึกสไตล์โคโลเนียล สถาปัตยกรรมการสร้างบ้านแบบฝรั่งผสมกับท้องถิ่นที่เป็นอาณานิคม โดยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ มักมีลักษณะเด่นในการออกแบบรูปทรงอาคาร โดยมีรูปทรงอาคารเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร เน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร มีการใช้ชุดเสาสูงเป็นแนวรับชายคากว้าง และเป็นซุ้มเพื่อเน้นบริเวณทางเข้า-ออก ชั้นบนมีระเบียงโดยรอบ

พระอาทิตย์ตกที่ฝั่งไทย ทิวทัศน์ยามเย็นริมโขง เมื่อมองจากเมืองท่าแขก ประเทศลาว
นอกจากตึกราวบ้านช่องที่สวยงามแล้ว วิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงฝั่งเมืองท่าแขกก็ยังดงามเช่นกัน แม้จะไม่มีภูเขาเหมือนมองมาจากฝั่งไทย แต่ก็มีวัดวาอารามมากมายเรียงรายริมน้ำให้ได้ชม และหากมามาชมในยามเย็น ก็จะสามารถเห็นพระอาทิตย์ดวงโตค่อยๆ ลาลับขอบฟ้าไปอย่างสวยงาม

ก่อนจะจากกันจริงๆ ตะลอนเที่ยวก็อยากจะบอกว่า จังหวัดนครพนมและแขวงคำม่วน ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่เพียงแค่นี้ พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ได้ไปเที่ยวชม และ นครพนม-คำม่วน จะตั้งอยู่เคียงคู่กันไปตราบนานเท่านาน เพื่อให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับการท่องเที่ยวสองแผ่นดินริมสองฝั่งโขง

**********************************************************************************





สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น