xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำใจให้เนปาล” ส่งผ่านความห่วงใยจากภาพถ่ายสู่แสตมป์ดวงน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายโดย วรนันท์ ชัชวาลทิพากร
“หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผมกลับมาดูรูปที่ถ่ายไว้ เราถ่ายรูปคนไว้เยอะมาก และรู้ว่าบ้านของเขาอยู่ในพื้นที่ที่ราบเป็นหน้ากลองจากแผ่นดินไหว แต่เมื่อกลับมาดูรูปถ่าย เห็นคนในรูปเขายิ้มให้เรา โบกมือให้เรา แต่เราไม่รู้เลยว่าตอนนี้เขาจะเป็นยังไงบ้าง...”

สงกรานต์ วีระพงษ์ ช่างภาพมืออาชีพของเมืองไทย กล่าวไว้ในงานเสวนา “ข้างหลังภาพความทรงจำจากเนปาล” ที่จัดขึ้นในงานเปิดตัวแสตมป์ Thailand “Post for Nepal” ที่ทางบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล
จากซ้ายไปขวา สมรภูมิ เสนคำสอน - วรนันท์ ชัชวาลทิพากร - จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ปี 2532 และสงกรานต์ วีระพงษ์
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเพียง 1 เดือน บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้จัดทริปท่องเที่ยวถ่ายรูป (Photo Trip) ขึ้นที่ประเทศเนปาล โดยได้พาผู้ชนะในกิจกรรม Canon Professional Workshop 2014 จำนวน 6 คน รวมทั้งมีช่างภาพและนักเดินทางซึ่งมาร่วมเป็นพี่เลี้ยง รวมถึงสตาฟฟ์จากแคนนอนรวมทั้งหมด 10 คน ร่วมเดินทางไปยังประเทศเนปาลพร้อมกันเมื่อวันที่ 19-23 มีนาคม 2558

ภาพความงดงาม ความทรงจำและความประทับใจยังไม่ทันจางหาย กลับได้รับข่าวร้ายว่าประเทศที่พวกเขาเพิ่งไปเยือนมาด้วยความประทับใจนั้น ถูกธรณีพิบัติภัยทำลายราบเป็นหน้ากลอง ทั้งศาสนสถาน บ้านเรือนต่างๆ ที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก ล้วนเสียหายหักพัง อีกทั้งผู้คนนับหมื่นยังต้องบาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก
ภาพถ่ายโดย วรฉัตร ลิ้มเลิศวรกิจ
วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ปี 2532 และสงกรานต์ วีระพงษ์ ช่างภาพมืออาชีพ ที่เดินทางไปร่วมโฟโต้ทริปในฐานะพี่เลี้ยง และสมรภูมิ เสนคำสอน ตัวแทนของบริษัท แคนนอน ประเทศไทย ผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปบันทึกภาพความสวยงามที่ประเทศเนปาล ก่อนจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเพียง 1 เดือน ได้มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวความประทับใจ และภาพของเนปาลที่พวกเขาได้เห็นผ่านสายตา และผ่านเลนส์กล้อง รวมถึงความใจหายหลังจากทราบข่าวภัยพิบัติให้พวกเราได้ฟังกัน

วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย ได้เดินทางไปเนปาลมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2550 และครั้งล่าสุดก็คือครั้งนี้ ความรู้สึกคือแม้จะเป็นสิบปีแต่เนปาลแทบจะไม่ค่อยเปลี่ยนไป รู้สึกประทับใจชีวิตผู้คนที่นั่นที่ยังคงมีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นมิตร สิ่งที่สำคัญกับช่างภาพเวลาถ่ายรูปอย่างหนึ่งก็คือภูมิทัศน์ วัฒนธรรม และผู้คนที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเนปาลมีครบ เวลาได้ไปถ่ายภาพที่นี่ก็จะรู้สึกประทับใจทุกครั้งว่า สถานที่แห่งนี้เหมาะจะไปถ่ายภาพมาก
ภาพถ่ายโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
ด้าน จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ปี 2532 ผู้ซึ่งเคยเดินทางไปเนปาลแล้วถึง 6 ครั้ง กล่าวว่า เนปาลคือสถานที่ที่ถือว่าเป็นสุดยอดทั้งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ และธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ ยากที่จะพบทั้งหมดนี้ได้ในที่เดียวกัน แต่เราพบได้ที่เนปาล

“มองว่าเนปาลคือป่าหิมพานต์ ชาวเนปาลมีวิถีชีวิตและความเชื่อที่หลากหลายมาก ตั้งแต่พุทธ ผี พราหมณ์ ฮินดู หลายๆ อย่างมาอยู่รวมกันอย่างสงบ สันติ และกลมกลืน การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ เป็นคุณสมบัติหนึ่งของมนุษยชาติที่ควรชื่นชม และยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่ตรงกัน แต่อยู่ได้โดยไม่ทะเลาะกัน เราไม่ได้ให้เครดิตแค่ลัทธิศาสนา เราให้เครดิตกับมนุษย์ด้วย ว่ามนุษย์ที่นั่นต้องมีจิตใจที่ประเสริฐและยิ่งใหญ่มาก”

“เมื่อทราบข่าวแผ่นดินไหวก็รู้สึกตกใจ ไม่ใช่เพราะที่นั่นคือเนปาล แต่เพราะมันคือภัยใกล้ตัว และมันมีความผูกพันใกล้ชิด มีเยื่อใยทางภูมิศาสตร์ชาติพันธุ์ เป็นชาวเอเชียด้วยกัน และเป็นประเทศพุทธที่ลักษณะคล้ายไทย”
ภาพถ่ายโดย สงกรานต์ วีระพงษ์
“อีกอย่างหนึ่ง นี่คือจุดรวมของสุดยอดแห่งโบราณคดี วัฒนธรรม และธรรมชาติ 2 ด้านที่หายากมากที่จะมาอยู่รวมกัน เราเห็นเมืองโบราณ 2,000 ปี รอบกาฎมันฑุ แล้วก็ไปดูยอดเขาเอเวอเรสต์ มันคือความสุดยอด 2,000 ปีนี่เรายังอยู่ที่ไหนไม่รู้ นี่คือเบื้องลึกข้างหลังภาพที่เราถ่ายมา เราเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย และเป็นคนเขียนเรื่องเดินทางด้วย ก็รู้สึกว่า เรื่องราวความขลัง สิ่งเหล่านี้มันทำให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ต้องไปแล้วไปอีก” จิระนันท์กล่าว

สงกรานต์ วีระพงษ์ ช่างภาพมืออาชีพอีกท่านหนึ่งที่ได้ร่วมเดินทางไปเนปาลเป็นครั้งแรกกล่าวถึงความประทับใจที่ได้พบว่า ที่เนปาลไม่ว่าเราจะถ่ายรูปมากี่ล้านกี่หมื่นภาพ ก็ไม่เท่ากับที่เราได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง การที่เราได้นั่งมองพระอาทิตย์ต้องแสงบนเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งพระเจ้าแท้ๆ นั้นเป็นเรื่องสุดยอดที่มนุษย์ต้องไปดูความสวยงามนั้นด้วยตาตัวเอง
ภาพถ่ายโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
“สไตล์การถ่ายภาพผมจะชอบคลุกคลีกับชุมชน ขณะที่ทุกคนเดินถ่ายภาพกันรอบๆ สถานที่สำคัญต่างๆ ผมชอบที่จะเดินเข้าบ้านคน ชอบที่จะดูวิถีชีวิต ซึ่งเขาก็ต้อนรับเราอย่างดี ไปเห็นคุณยายที่กำลังสอนลูกสาวทอผ้า เห็นคุณยายจากหน้าต่างประตูชั้นสี่ชั้นห้าที่โบกมือทักทาย มีเด็กๆ มาวิ่งเล่นล้อมรอบ”

“เมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านแล้วยังไม่ทันเปิดรูปภาพหมดทุกรูป แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น ผมเปิดดูรูปที่ถ่ายคุณยายคนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจากข่าวแผ่นดินไหวที่เห็นภาพทางอากาศเห็นตึกบริเวณนั้นราบเป็นหน้ากลอง สิ่งแรกเลยคือพูดไม่ออก ไม่รู้ว่าคุณยายเหล่านั้นจะเป็นยังไงบ้าง แต่ก็มีเคสหนึ่งที่น่ายินดี คือผมได้ถ่ายรูปเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวทิเบตอพยพ และได้ส่งภาพน้องทางอีเมลก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว และไม่ได้รับคำตอบอะไรตอบกลับมา แต่หลังจากแผ่นดินไหว ก็มีอีเมลตอบกลับมา ซึ่งทำให้ผมรู้ว่าทั้งแม่และน้องปลอดภัย ทำให้รู้สึกโล่งใจมาก”
ภาพถ่ายโดย วรฉัตร ลิ้มเลิศวรกิจ
“เวลาถ่ายภาพเราจะมีความผูกพัน คือการจะถ่ายภาพคน จะจับความรู้สึกเขาได้เราต้องพูดคุยกับเขา ทุกคนที่เนปาลน่ารักมาก ถ่ายรูปสนุกมาก หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผมกลับมาดูรูปที่ถ่ายไว้ เราถ่ายรูปคนไว้เยอะมาก และรู้ว่าบ้านของเขาอยู่ในพื้นที่ที่ราบเป็นหน้ากลองจากแผ่นดินไหว แต่เมื่อกลับมาดูรูปถ่าย เห็นคนในรูปเขายิ้มให้เรา โบกมือให้เรา แต่เราไม่รู้เลยว่าตอนนี้เขาจะเป็นยังไงบ้าง” สงกรานต์กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม สงกรานต์เชื่อว่าแม้ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น แต่เนปาลก็ยังคงเป็นเนปาลอยู่ สิ่งที่งดงามคือธรรมชาติ สิ่งที่งดงามคือเมืองเก่า ไม่ว่ามันจะหักพังไปแต่เสน่ห์ความขลังของเนปาลก็ยังอยู่ เพราะอยู่ที่ผู้คนในเมือง ส่วนธรรมชาติ โดยเฉพาะเอเวอเรสต์ก็เรียกว่าเป็นที่สุดในโลกแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากจะกลับไปอีก อยากไปดูที่ที่ตัวเองเคยเดินว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ภาพถ่ายโดย วรนันท์ ชัชวาลทิพากร
และจากความสะเทือนใจในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้จิระนันท์เกิดแรงบันดาลใจและแต่งบทกวีขึ้นมาเพื่อชาวเนปาลโดยเฉพาะ

น้ำใจให้เนปาล

“ธรณีขยับเคลื่อน สะเทือนโลกวิปโยคเนปาล สะท้านไหว
หมื่นชีวิตปลิดร่วง ร้าวดวงใจเสียงร่ำไห้ ระงมหา สุดอาดูรย์
ชะตากรรม-ธรรมชาติ เกินคาดคิด ล้านชีวิตต้องสู้ต่อแม้เสียศูนย์
จับมือร่วมรวมน้ำใจ ไทยเกื้อกูลบอกรักห่วงให้สมบูรณ์-ต้องช่วยกัน
แสตมป์ Thailand Post for Nepal
ด้วยความประทับใจที่ได้รับมาเต็มเปี่ยมจากประเทศเนปาล เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัตินี้ขึ้น บรรดาช่างภาพจึงเต็มใจที่จะร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทางหนึ่งที่พวกเขาได้รวมตัวกันช่วยเหลือชาวเนปาลก็คือภาพถ่ายที่พวกเขาทั้งสิบคนได้ถ่ายมานี้ จะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาล หลังจากบริษัทไปรณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ร่วมกับบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ร่วมกันจัดทำแสตมป์ชุด Thailand “Post for Nepal” เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในเนปาล โดยภาพทั้งหมดรวม 20 ภาพที่ช่างภาพทั้ง 10 คนคัดเลือกมา เป็นภาพถ่ายเนปาลในความทรงจำของช่างภาพรวม 10 ท่าน ทั้งภาพภูมิทัศน์ สถานที่สำคัญ และวิถีชีวิตผู้คน ที่บันทึกไว้ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเกิดเหตุธรณีพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี นำมาจัดพิมพ์แสตมป์ชุดนี้

แสตมป์ทั้ง 20 ดวงล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดเสน่ห์ของเนปาลไว้อย่างงดงาม โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 120 บาท โดยรายได้ครึ่งหนึ่งจะนำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาลผ่านสภากาชาดไทย และบนแผ่นแสตมป์ยังพิมพ์รหัสคิวอาร์ (QR Code) ให้สามารถสแกนเพื่อชมวิดีโอเบื้องหลังที่มาของภาพถ่ายดังกล่าวได้ด้วย

ใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือชาวเนปาลที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ธรณีพิโรธ สามารถช่วยเหลือได้ผ่านการซื้อแสตมป์ชุด Thailand “Post for Nepal” ได้ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน หรือสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ www.postemart.com และไลน์ stampinlove และสามารถสั่งจองได้ที่ ปณ. ทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2831-3856, 0-2573-5463, 0-2573- 5480
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น