xs
xsm
sm
md
lg

“จิระนันท์ พิตรปรีชา” เล่าเรื่อง “ตรัง” เมืองเก่า-เมืองเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง : จำนง ศรีนคร
ภาพ : ปกรณ์กานต์ ทยานศิลป์ / อนุเคราะห์ภาพเพิ่มเติม: จิระนันท์ พิตรปรีชา
 
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “จี๊ด-จิระนันท์ พิตรปรีชา” หลายคนคงรู้จักในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะนักกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์จากกวีนิพนธ์เรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” นักเขียน นักแปล นักกิจกรรมสาธารณะตัวยง หรือในนามมารดาของหนุ่มฮอต “แทนไท ประเสริฐกุล” และ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล”
 
 
แต่สำหรับ “คนตรัง” ล้วนภาคภูมิใจในผลิตผลลูกหลานชาวตรังคนนี้ จากเด็กผู้หญิงต่างจังหวัด ลูกสาวร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน “ร้านสิริบรรณ” ร้านเก่าแก่ริม “ถนนราชดำเนิน” ภายในตัวเมือง “ทับเที่ยง” ในวัยเด็กผ่านการปลูกฝังที่ดีจากทั้งคุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัว ให้รักการอ่าน หาความรู้ ทำกิจกรรม โดยเฉพาะการช่วยครอบครัวทำงาน นั่นคือหลังเลิกเรียน “เด็กหญิงจิระนันท์” ต้องมีหน้าที่ช่วยที่บ้านขายของ ทำให้เธอต้องพบปะผู้คน
 
สำคัญไปกว่านั้นคือ “หนังสือ” เมื่อเป็นร้านหนังสือ ทำให้เธอได้สัมผัสการอ่านอย่างจริงจังมาตั้งแต่วัยประถม
 

 
“ที่ร้านสิริบรรณ คุณตาเป็นคนสร้างเอง เราเกิดมาก็มีร้านแล้ว ที่ที่เราอยู่เป็นทั้งร้าน และที่อยู่อาศัย เป็นห้องแถวทรงยาว มีบ่อน้ำกลางบ้าน สมัยเด็กที่ถนนไทรงามคือ ซอยข้างๆ ร้านยังเป็นถนนดินแดง มีคูน้ำเต็มไปด้วยตะไคร่ มีลูกอ๊อดในคูน้ำ สองข้างทางยังเป็นที่สวน เราก็ไปวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น ยาวไปจนถึงโรงรับจำนำ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของตระกูลไทรงาม สมัยนั้นไม่วิ่งเล่นเราก็ขี่จักรยาน”
 
“จิระนันท์” บรรยายความทรงจำในวัยเด็กด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
 
ในยุคที่ “เมืองตรัง” ยังห่างไกลความเจริญ แต่เธอบอกว่าผู้คนกลับมีความสนใจในข้อมูลข่าวสาร และการอ่านหนังสือ เธอจำได้ว่าทุกๆ เดือนจะมีทนายคนหนึ่งสั่งนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษ ให้ทางร้านหามาให้เป็นประจำ ไม่รวมหนังสือแปลกๆ และหายากอื่นๆ ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างมาก สำหรับ“โลกการอ่าน” ของ “คนตรัง” แน่นอนสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเขียนและหนังสือ ถูกส่งมาได้เพียงช่องทางเดียวคือ “ทางรถไฟ” และการเดินทางของผู้คนไปยังกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน
 

 
“จำได้ว่าเราขึ้นกรุงเทพฯ ครั้งแรกในชีวิตตอน ป.5 ตอนนั้นรถไฟยังใช้ถ่าน เป็นรถจักรไอน้ำ ควันโขมง นั่งรถไฟหน้าดำมอมแมมกันเลยทีเดียว จากตรังถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางราว 24 ชั่วโมง ที่สถานีหัวลำโพง จึงต้องมีห้องให้ผู้โดยสารอาบน้ำ เพราะการเดินทาง และอีกหลายๆ อย่างไม่ใช่เรื่อง่ายในสมัยนั้น คุณยายจึงมักพูดอย่างภูมิใจเสมอๆ ว่า ดีใจที่สามารถกล้าส่งลูกหลานไปเรียนกรุงเทพฯ ได้...”
 
“ตอนเด็กๆ สิ่งสำคัญเลยที่ทำให้เราซึมซับเรื่องวรรณกรรมคือ การดูหนังที่โรงหนัง หรือวิกหนัง ไปดูที่วิกคิงส์อยู่หลังบ้าน ถ้าเป็นหนังฝรั่งดูที่วิกศรีเมือง ส่วนวิกเฉลิมตรังนานๆ ไปที บ่ายวันเสาร์หรืออาทิตย์คุณยายจะพาไปวิกคิงส์ เป็นหนังจีนชอร์บาร์เดอร์ หนังงิ้วก็มีชอบดูม่านประเพณี ซึ่งทั้งหมดมันเป็นวรรณกรรมทั้งนั้น แต่ตอนเด็กเราไม่รู้ ตอนหลังถึงได้มาอ่านหนังสือจึงรู้...”
 
“จำได้ว่าคุณยายจะซื้อตั๋วหนึ่งใบ ส่วนหลานๆ อีกสามคนก็จูงกันไปไม่ต้องเสียเงิน แล้วเวลาไปเดินเล่นกับยายก็คือ เดินไปตามถนนไทรงามไปถึงโรงรับจำนำ มันจะมีสวนอยู่ทางขวามือเรา หลังโรงรับจำนำเป็นของตระกูลไทรงาม ลงไปจะมีบ่อน้ำ มีอะไรต่ออะไร ถ้าคนเดี๋ยวนี้จะนึกภาพไม่ออกแล้ว”
 
ร้านสิริบรรณ ถนนราชดำเนิน เมืองทับเที่ยง จ.ตรัง
 
เธอเล่าว่า สิ่งทันสมัยของเมืองตรังในยุคนั้นที่นำมาสู่จุดเปลี่ยนเรื่องการสื่อสารคือ ทีวีขาวดำ สมัยนั้นต้องรับสัญญาณจากมาเลเซีย แม้แต่ช่อง 4 บางขุนพรมของไทยในตอนนั้นก็ยังมาไม่ถึงตรัง คนตรังจะดูทีวีได้เฉพาะช่องหาดใหญ่กับช่องมาเลเซีย กระทั่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นทำให้ตรังและภาคใต้เข้าใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนปัจจุบันดูละครเรื่องเดียวกัน ชอบพระเอกคนเดียวกัน
 
“ความทรงจำ” ของ “จิระนันท์” บนถนนราชดำเนิน “เมืองทับเที่ยง” ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะความทรงจำในส่วนสำคัญคือ ต้นทุนจากความคิด ชีวิต และตัวตนที่เธอได้จากเมืองเล็กๆ แห่งนี้
 
“บ้านที่ตรังมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะเราในเรื่องความคิด โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไปจนถึงวรรณกรรม ที่บ้านคือ ร้านสิริบรรณ เป็นทั้งร้านขายหนังสือ เครื่องเขียน และที่พักอาศัย เลิกเรียนมาเราก็ต้องมาช่วยขายของ ความที่บ้านเป็นร้านหนังสือ เราจึงได้อ่านเยอะมากมาตั้งแต่ยังไม่เข้า มศ.1 เราเลือกอ่านหนังสือปกแข็ง ชอบหยิบวรรณกรรมแปลมาอ่าน ไปจนถึงแนวประวัติศาสตร์ อย่างพระราชนิพนธ์ ร.6 พงศาวดารจีน และที่จดจำได้แม่นคือ ตั้งแต่ยังเล็กๆ ก่อนนอนคุณยายจะอ่านรามเกียรติ์เป็นตอนๆ ให้ฟังก่อนนอน...”
 
“เมื่ออ่านมาก็เริ่มอยากเป็นนักเขียน ตอนนั้นคุณแม่ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อโอลิมเปียให้ เราก็หัดเขียน หัดพิมพ์ เริ่มที่กวีนิพนธ์ ตอน มศ.2 ก็ไปขอครูทำวารสาร เอาบทกวีมาลง ได้เป็นบรรณาธิการครั้งแรกในชีวิต พอเขียนบทกวีได้ ครูเห็นแวว เลยให้ส่งบทกวีไปลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนัง หนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์ ของ คุณสุรินทร์ มาศดิตถ์...”
 
“ทั้งหมดคือ ความรักในความรู้ ที่บ้านที่ตรังสอนเรา จนเราได้มาตรงนี้  เรามีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นนักคิดนักเขียนอย่าง อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง มี คุณสุประวัต ใจสมุทร เป็นทนายความ”
 
หอนาฬิกาเมืองตรัง
 
สำหรับเมืองตรัง เมืองเล็กๆ ของเราในวันนี้ คุณจิระนันท์ ให้แง่คิดในฐานะคนทำงานสาธารณะ โดยเฉพาะงานส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมมาแล้วหลายแห่งว่า
 
“ปัจจุบัน ทั้งการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว มันเป็นปัญหาทั่วประเทศ เราเผลอคิดไปว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยว ต้องโปรโมตเรียกจุดขายกันอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่หลายที่ทำเหมือนกันในเรื่องของการจัดงาน จัดอีเวนต์ โดยที่ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงพื้นฐานดั้งเดิมที่มีอยู่...”
 
“อย่างหลายจังหวัดมุ่งแต่จัดงาน สร้างเทศกาลสารพัด แต่ลืมไปว่าธรรมชาติที่มีอยู่แล้วอย่างไรก็ขายไม่หมด บางทีเราอาจไม่ต้องจัดงานมากมาย เพราะนักท่องเที่ยวในยุคนี้เที่ยวเองเยอะขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่ไปกันแบบรถทัวร์...”
 
“แล้วที่พบมาคือ นักท่องเที่ยวที่เขาเที่ยวเอง เขามีกำลังจ่าย เพราะเขามาจากเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เขาหนีความอึกทึก หนีอาหารฟาสฟูดมา เขามาหาของจริง ของแท้ แบบออริจินัล หาความเงียบสงบบรรยากาศธรรมชาติ คือ ไม่ต้องไปปรุงแต่งมาก เพียงแต่อำนวยก็พอ”
 
เหล่านี้เป็นซอกมุมเล็กๆ ในลิ้นชักแห่งความทรงจำของ “กวีซีไรต์ชาวตรัง” ที่ชื่อ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” เกี่ยวกับ บ้านเก่า-เมืองเกิด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น