เสน่ห์อย่างหนึ่งของการออกไปท่องเที่ยวก็คือ การได้ใช้เวลาสัมผัสกับบรรยากาศรอบๆ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น ได้ใช้เวลาซึมซับความสุขรอบๆ กายอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรีบเร่ง และหากพูดถึงเมืองที่เรียบง่าย สงบ และยังงดงามกับวิถีชีวิตไม่เร่งร้อน ก็คงหนีไม่พ้นเมือง “น่าน”
นอกจากความสวยงามของธรรมชาติที่มีทั้งป่าเขา ต้นไม้ สายน้ำ “น่าน” ก็ยังเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยวัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะในตัวเมือง ที่มีวัดสวยๆ อยู่เรียงรายกันตลอดทาง
เริ่มต้นที่ “วัดภูมินทร์” เป็นที่ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว
ในพระอุโบสถ ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก อันมีชื่อเสียงโด่งดัง ใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ถือเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนวัดแห่งนี้
บริเวณข่วงเมืองน่าน ในมุมหนึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคนน่าน ฟากหนึ่งก็เป็นสถานที่ตั้งของวัดภูมินทร์ ข้ามไปอีกฝั่งก็เป็น “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อพระเจ้าหลวง” ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ส่วนด้านข้างพระวิหารเป็น “หอพระไตรปิฎก” ที่มีสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวิหารหลวง ปัจจุบัน ภายในหอพระไตรปิฎกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงามนามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี”
ไม่ไกลจากวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารมากนัก ก็มีอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาด นั่นคือ “วัดมิ่งเมือง” วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านขนาดสูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง นอกจากนั้นความงามโดดเด่นของวัดมิ่งเมืองยังอยู่ที่ลวดลายปูนปั้นสีขาวของพระอุโบสถซึ่งมองเผินๆ อาจคล้ายกับวัดร่องขุ่น แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป โดยเป็นงานฝีมือตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจ
ออกมานอกข่วงเมืองน่านกันสักนิด วัดแห่งนี้ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงหากได้มาเยือนเมืองน่าน นั่นคือ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น มีข้อมูลระบุว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ. 1891-1901
วัดพระธาตุแช่แห้ง มีองค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ (กระต่าย) ที่บุทองจังโก้ดูเหลืองอร่ามสมส่วนงดงาม ด้านข้างขององค์พระธาตุ(อยู่ทางขวาเมื่อเดินเข้าไป) เป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา ส่วนด้านหน้าวิหาร ตรงหัวบันไดทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ประดับยืนเฝ้าอยู่ ซึ่งรูปพญานาค 8 ตัว ปั้นเป็นพญานาคเกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมสุดคลาสสิกของวัดแห่งนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ในวัดพระธาตุแช่แห้งยังมี องค์พระนอน พระเจ้าทันใจ องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รวมไปถึงบันไดนาคตัวยาวตรงปากทางขึ้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจให้ได้สัมผัสทัศนาในความงามกันอย่างจุใจ
ใกล้ๆ กับตัวเมืองน่าน ก็ยังมีวัดงามที่ตั้งอยู่บนเขา “วัดพระธาตุเขาน้อย” ด้านบนมีพระธาตุศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากมีชัยภูมิอยู่บนยอดเขา ทางวัดจึงทำจุดชมวิวตัวเมืองน่านไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมบรรยากาศของเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขา บริเวณจุดชมวิวนี้เป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางตัวเมืองน่านเหมือนจะคอยปกป้องบ้านเมือง ที่วัดแห่งนี้จึงมีผู้คนมาไหว้พระและชมวิวกันไม่ขาดสาย
นอกจากวัดแล้ว ที่เมืองน่านแห่งนี้ก็ยังขึ้นชื่อในเรื่องศิลปะต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต เครื่องใช้ไม้สอย ซึ่งต่างก็งดงามตรึงใจ อย่างที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย ชาวน่านจะเรียกบ้านหลังใหญ่ว่า โฮง ไม่เรียกว่า คุ้ม เหมือนชาวเชียงใหม่) เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันแบบฟรีๆ เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือน ถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ ส่วนบริเวณด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้ายให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้อีกด้วย
ส่วนที่ “หอศิลป์ริมน่าน” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองน่านออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมศิลปะและวัฒนธรรมของเมืองน่าน ก่อตั้งและดำเนินการโดยศิลปินชาวน่าน วินัย ปราบริปู ภายในพื้นที่หอศิลป์มีอาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ที่ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการ ชั้น 2 จัดแสดงผลงาน และที่พักอาศัยของ อ.วินัย ส่วนอีกอาคารหนึ่งเป็นห้องแสดงภาพที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้แสดงภาพมาก่อนได้นำภาพมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา และศิลปินเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนทำศิลปะด้วย
ไหนๆ ก็ออกมานอกเมืองกันแล้ว ก็มาชื่นชมธรรมชาติอันเขียวขจีกันต่อที่ “อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” มาสัมผัสกับธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็น ชมวิวทิวทัศน์และพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว, ชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกยามเย็นที่ลานดูดาว และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ การมาชม “ดอกชมพูภูคา” ดอกไม้หายากที่ปัจจุบันมีรายงานว่าพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ
มาปิดท้ายกันที่ “บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา” อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ที่วันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือโบราณเอาไว้ โดยเฉพาะที่ “บ้านบ่อหลวง” ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ การทำเกลือ และจุดชอปเกลือภูเขาที่ผลิตจากแหล่งกันแบบสดใหม่
เกลือที่บ้านบ่อเกลือเป็นเกลือสินเธาว์ไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล ก่อนนำมาใช้หรือนำออกขายชาวบ้านจะต้องเดิมไอโอดีนก่อน ซึ่งนอกจากกระบวนการทำเกลือแบบโบราณที่เราจะได้สัมผัสจากชาวบ้านที่นี่แล้ว เรายังจะได้เห็นประเพณีความเชื่อ ข้อปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการทำเกลือ ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกลือที่นี่ยังดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
มาท่องเที่ยวที่ จ.น่าน แห่งนี้ นอกจากจะเพลิดเพลินใจไปกับความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ แล้วยังได้อิ่มใจกับการทำบุญอย่างเต็มที่ ใครได้มาเที่ยวที่นี่แล้ว ก็ต้องหลงรักความเนิบช้าของเมืองนี้ไม่มากก็น้อย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางสู่ จ.น่าน สามารถเดินทางได้ทั้งรถส่วนตัว รถขนส่งสาธารณะ และทางเครื่องบิน โดยมีสายการบินแอร์เอเชีย บินตรงจาก กทม. (สนามบินดอนเมือง) - น่าน (สนามบินน่านนคร) ทุกวัน วันละ 2 เที่ยวบิน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.airasia.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com