“ชามกาไก่” หรือ “ชามตราไก่” ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองลำปางมาช้านาน
และถ้าอยากรู้เรื่องราวของชามตราไก่ ขอแนะนำให้มาเยือนที่ “พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวต้นกำเนิดชามตราไก่ในจังหวัดลำปาง นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ “มีชีวิต” เพราะนอกจากจะรับรู้เรื่องราวความเป็นมาของชามตราไก่แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังเป็นโรงงานผลิตถ้วยชาม ทำให้เราได้เห็นถึงขั้นตอนการผลิตชามตราไก่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายในโรงงานอีกด้วย
สำหรับพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดีนี้เพิ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เมื่อปี 2555 ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาเกียรติประวัติของนายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน หรือที่พนักงานทุกคนเรียกอย่างยกย่องว่า “อาปาอี้” (คุณพ่ออี้)ผู้ก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของจังหวัดลำปาง และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ “ชามตราไก่” รวมถึงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางด้วยเช่นกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นหลายโซนด้วยกัน ในส่วนแรกจัดแสดงประวัติของอาปาอี้ ชาวจีนแคะ ซึ่งเกิดเมื่อปี 2454 ที่ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน อันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตถ้วยชาม อาปาอี้อพยพมาจากเมืองจีนเพื่อหนีความยากแค้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มายังเวียดนาม ก่อนจะมาที่ประเทศไทยในปี 2490 โดยแรกเริ่มมาอาศัยอยู่ในจังหวัดธนบุรี (ฝั่งธนในสมัยนั้น) ก่อนจะย้ายตามเพื่อนขึ้นมาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่
อาปาอี้พบแร่ดินขาวที่ใช้ทำชามตราไก่เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งทำสวนผักอยู่ที่เชียงใหม่ และได้เห็นหินลับมีดที่ชาวบ้านนำมาขายว่าน่าจะเป็นแร่ดินขาวเหมือนอย่างที่ท่านเคยเห็นเมื่อครั้งทำเซรามิคที่ประเทศจีน เมื่อสอบถามจึงพบว่าหินลับมีดนั้นนำมาจากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ต่อมาจึงได้ออกสำรวจและทดลองนำดินมาทดลองปั้นถ้วยชาม ปรากฏว่าดินเหล่านั้นเป็นดินขาวคุณภาพดี มีเนื้อดินสวยงาม เผาอุณหภูมิไม่สามาก เหมาะสำหรับการปั้นถ้วยชาม
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของจังหวัดลำปางที่อาปาอี้กับเพื่อนๆ ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อผลิตชามไก่ส่งขายไปทั่วประเทศ แต่ต่อมาหุ้นส่วนต้องการแยกตัวไปทำธุรกิจของตัวเอง จึงได้ขายกิจการไป หลังจากนั้นต่อมาอาปาอี้จึงได้ก่อตั้งโรงงานของตนเองขึ้น เริ่มแรกชื่อโรงงานแป๊ะซิมหยู ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงงานธนบดีสกุล ผลิตถ้วยขนม ถ้วยน้ำจิ้ม โดยการผลิตแบบดั้งเดิมและเผาด้วยเตามังกร ซึ่งเป็นเตาเผาแบบโบราณ
ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มต้นของงานเซรามิคในจังหวัดลำปางไปแล้ว ต่อมาเราจึงได้รู้เรื่องราวของชามตราไก่ ที่แท้แล้วชามตราไก่นั้นมีต้นกำเนิดมาจากเมืองจีนกว่าร้อยปีมาแล้ว ซึ่งชามไก่นอกจากจะใช้กันในเมืองจีนแล้ว ยังส่งจำหน่ายแก่ชาวจีนโพ้นทะเลด้วย ดังนั้นชามไก่ส่วนหนึ่งจึงส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยด้วยเช่นกัน
และในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีผู้ผลิตชามไก่ในประเทศไทยและมีความต้องการจากตลาดมาก พ่อค้าชาวจีนจึงสั่งนำเข้าชามไก่มาจากประเทศจีน แต่ต่อมาเมื่อเกิดสงครามทำให้ชามไก่ขาดตลาด ชาวจีนซึ่งเคยทำชามไก่ในประเทศจีนและได้อพยพมาอยู่เมืองไทยจึงได้ก่อสร้างโรงงานและเตาเผาชามไก่ขึ้นที่กรุงเทพฯ บริเวณวงเวียนใหญ่ และแถบถนนเพชรบุรี แต่ชามไก่ในช่วงนั้นมีไม่มากนักเพราะยังขาดดินคุณภาพดี
แน่นอนว่าชามตราไก่ได้ชื่อมาจากลวดลายที่วาดบนถ้วยชามเป็นรูปไก่ตัวโต มีหงอนและขนหางสวยงาม วาดด้วยมือโดยใช้พู่กันและสีเคลือบ โดยที่โรงงานธนบดีก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของชามไก่ไว้ให้เหมือนต้นฉบับชามไก่โบราณ โดยวาดเป็นรูปไก่มีขนคอและลำตัวสีส้ม หางและขาสีดำ เดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกเบญจมาศสีชมพูอมม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย มีต้นกล้วย 1 ต้น สีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา บางใบจะมีค้างคาวห้อยหัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไก่ มีดอกไม้ใบไม้เล็กๆ แต้มก้นชามด้านในเป็นรูปดอกจิก
ได้รู้เรื่องราวของชามตราไก่กันไปแล้ว คราวนี้มาดูของพิเศษในพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดีกันบ้าง ที่นี่มีชามไก่ที่เล็กที่สุดในโลก โดยเล็กกว่าเมล็ดข้าวเปลือกเสียอีก ชามไก่นี้เก็บรักษาไว้ในตู้กระจกทรงสามเหลี่ยม หากอยากเห็นชัดๆ ต้องมองผ่านกระจกขยายจึงจะเห็นลวดลายของตัวไก่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีชามไก่ทองคำ ที่ทำด้วยทองคำแท้ 100% ด้านในชามเป็นทองคำเงางาม ส่วนด้านนอกใช้น้ำทองวาดเป็นไก่ทองคำบนพื้นสีขาว กลายเป็นชามตราไก่งดงามเลอค่า มีให้ชมที่นี่ที่เดียว
ระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์ เราจะได้เห็นพนักงานในโรงงานกำลังนั่งทำงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วยวิธีแบบโบราณไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่การนำดินที่นวดแล้วมาวางในพิมพ์ แล้วใช้มือหมุนแป้นวงล้อเพื่อขึ้นรูป ตกแต่งและตัดขอบชามส่วนเกิน และอีกหลายขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นชามหนึ่งใบพร้อมเข้าเตาเผา อีกทั้งยังมีการสาธิตการปั้นชามไก่แบบปัจจุบันที่ใช้เครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรง นอกจากนั้นก็ยังจะได้ชมการวาดลวดลายไก่แต่ละตัวลงบนถ้วยชามอีกด้วย
และที่สำคัญ ยังจะได้ชม “เตามังกร” เตาเผาถ้วยชามเซรามิคแบบโบราณที่อาปาอี้สร้างขึ้นเองตั้งแต่ปี 2508 โดยใช้ประสบการณ์และความรู้ในการสร้างเตาเผาและการทำเซรามิคมาจากประเทศจีน เตาโบราณนี้มีอยู่ 2 เตาด้วยกัน ทำขึ้นจากดินจอมปลวก เผาชามไก่ได้ถึง 5,000-8,000 ใบต่อเตาเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว และกำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นเตาเผาโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดลำปาง
ที่ “พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” นี้จึงนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับชามตราไก่ และถ้วยชามเซรามิคของลำปางได้เป็นอย่างดี ถ้าใครมีโอกาสมาเยือนลำปาง ขอแนะนำว่าต้องห้ามพลาดมาลองชมกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” ตั้งอยู่ที่ ถนนวัดจองคำ ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลารอบเช้า 09.00-12.00 น.และ รอบบ่าย 13.00-17.00 น. ส่วนร้านค้าศูนย์จำหน่ายเซรามิคเปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม นักเรียนนักศึกษาบัตรราคา 30 บาท (ได้คูปองเป็นส่วนลด20 จากยอดซื้อสินค้า 200 บาท) คนไทยบัตรราคา 60 บาท (ได้คูปองส่วนลด 50 บาทจากยอดซื้อสินค้า 500 บาท) และชาวต่างชาติบัตรราคา 100 บาท (ได้คูปองเป็นส่วนลด 100 บาทจากยอดซื้อสินค้า1,000 บาท) นักบวชทุกศาสนา / เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี / ผู้สูงอายุ 60 ปี / คนพิการ เข้าฟรี สำหรับบัตรราคา 60 บาท และ 100 บาท รับคูปองส่วนลด 10 บาท เมื่อซื้อเครื่องดื่มประเภทชง
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง-งาว ถึงสี่แยกสนามบินเลี้ยวขวาไปตามถนนพระบาท ประมาณ 500 เมตรเลี้ยวซ้ายเข้าซอยพระบาท 1 ไปตามป้ายบอกทางประมาณ 500 เมตร จะถึงพิพิธภัณฑ์ สอบถามรายละเอียดโทร. 0 5435 1099 ต่อ 103 เว็บไซต์ www.dhanabadeeceramicmuseum.com หรือเฟซบุค : Dhanabadeeceramicmuseum
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง (รับผิดชอบ ลำพูน, ลำปาง) โทร.0 5422 2214
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com