โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
เหมันต์ผ่านผัน
คิมหันต์มาเยือน
ทุกๆ ปีในช่วงปลายหนาว(คาบเกี่ยวไปถึงต้นร้อนในบางปี) มวลหมู่ “ดอกเสี้ยว” ที่บ้านป่าเหมี้ยง แห่งเมืองรถม้า...จ.ลำปาง จะพากันออกดอกเบ่งบานสะพรั่ง ย้อมผืนป่าดูขาวนวลสบายตา
เกิดเป็นปรากฏการณ์ลำปางขาวมากขึ้นมาในจุดที่ดอกเสี้ยวเบ่งบาน ที่ดูงดงามเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
น่าตื่นตาตื่นใจกระไรปานนั้น
ดอกเสี้ยวบานสะพรั่ง กาลครั้งนั้น...ความฝันผลิบาน
ปีนี้ลำปาง นอกจากจะได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” จากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว ทาง ททท.ยังคัดสรรให้ปรากฏการณ์ “ดอกเสี้ยวบาน” ที่บ้านป่าเหมี้ยง-ลำปาง เป็น 1 ใน 22 เส้นทางชมดอกไม้งามทั่วไทยในโครงการ “Dream Destinations 2 - กาลครั้งนั้น...ความฝันผลิบาน” อีกด้วย
โดยดอกเสี้ยวนั้น เป็นดอกไม้ป่า (วงศ์เดียวกับชงโค) จะบานในช่วงราวๆ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศปีนั้นๆ) ลักษณะของดอกเสี้ยวจะมีสีขาว มี 5 กลีบ โดยจะมีสีชมพูแต้มที่กลีบใหญ่สุด
อย่างไรก็ดีแม้ดอกเสี้ยวจะถูกยกให้เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดตากและน่าน แต่หากพูดถึงงานเทศกาลดอกเสี้ยวบานที่ขึ้นชื่อก็ต้องที่เชียงใหม่ เชียงราย และที่โดดเด่นมากก็คือที่ลำปางที่ผมเพิ่งขึ้นไปแอ่วมาล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ในช่วงที่ดอกเสี้ยวกำลังเบ่งบานงามสวยพอดี
สำหรับจุดหลักๆ ในการเที่ยวชมดอกเสี้ยวบาน เมืองลำปาง อยู่ในเส้นทาง“แจ้ซ้อน-บ้านป่าเหมี้ยง” โดยมีจุดไฮไลต์อยู่ที่บริเวณ“ลานดอกเสี้ยว” แห่งบ้านป่าเมี้ยง ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน ที่ใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลดอกเสี้ยวบานของปีนี้และปีก่อนๆ
ดอกเสี้ยวที่แจ้ซ้อนและบ้านป่าเหมี้ยงปกติจะบานช่วงปลายหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางปีอาจบานล่าช้าล่วงเข้ามาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ข้ามต่อไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม(ดังเช่นปีนี้-เนื่องจากมีฝนตกลงมาก่อนหน้านั้น)
นั่นจึงทำให้ที่ลานดอกเสี้ยว (หลังเทศกาล) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมากไปด้วยดอกเสี้ยวที่ยังคงออกดอกขาวโพลนสวยงาม ท่ามกลางความร่มรื่นแมกไม้รอบข้างและธรรมชาติแห่งผืนป่าแจ้ซ้อน
เสี้ยวบางต้นทอดกิ่งออกดอกให้เห็นกันใกล้ๆ ในระดับสายตา ให้เราได้พินิจพิจารณาว่าหน้าตารูปร่างทรวดทรงของมันเป็นเช่นใด อีกทั้งยังเป็นแบบให้ใครและใครหลายๆ คนได้เซลฟี่คู่กับดอกเสี้ยวสีขาวนวลอย่างใกล้ชิด
เสี้ยวหลายต้นออกดอกสีขาวนวลตระหง่านแทรกแซมไปในสีเขียวและสีแล้งแห่งขุนเขาป่าแจ้ซ้อน มองเห็นขาวเด่นมาแต่ไกลดูสะดุดตา
ขณะที่ต้นเสี้ยวอีกส่วนหนึ่งที่ยืนต้นตั้งสูงตระหง่านนั้นต่างก็พากันออกดอกชูช่อขาวสะพรั่งอวดโฉมความงาม เสี้ยวหลายต้นได้ยินเสียงนกร้องขับขานเสนาะหู บางต้นเจ้านกน้อยก็เคลื่อนไหวคลอเคลียร์ไปในความงามของดอกขาวดูเพลิดเพลินตา เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตามองหากันหน่อยเท่านั้น
บ้านป่าเหมี้ยง อวลเสน่ห์วิถีแห่งเมี่ยง
นอกจากความงามของดอกเสี้ยวที่ลานดอกเสี้ยวแล้ว ที่ตัวหมู่บ้านป่าเหมี้ยงเองก็ยังมีต้นเสี้ยวออกดอกเบ่งบานให้เราได้ทัศนาชื่นชมกันอีกจำนวนหนึ่ง โดยพ่อหลวง “ชาญชัย จาตุมา” ผู้ใหญ่บ้านป่าเหมี้ยงบอกกับผมว่า ในอนาคตอาจจะมีการปลูกต้นเสี้ยวในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น (กว่าที่ปลูกไปบ้างแล้วในขณะนี้) เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งจุดหลักในการชมดอกเสี้ยวคู่กับที่ลานดอกเสี้ยวที่อยู่ไกลกัน รวมถึงให้เป็นอีกหนึ่งสีสันความงามประดับหมู่บ้าน เพราะในแต่ละปีช่วงที่ดอกเสี้ยวบานจะมีคนมาเที่ยวที่บ้านป่าเหมี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ยิ่งในปีนี้เทศกาลดอกเสี้ยวบานบ้านป่าเหมี้ยงได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 22 จุดชมดอกไม้บานของไทย(Dream Destinations 2) จาก ททท. ก็ยิ่งเพิ่มความคึกคักขึ้นเป็นพิเศษ
สำหรับบ้านป่าเหมี้ยงนั้นได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอันโดดเด่นแห่งภาคเหนือ ที่นี่เด่นทั้งเรื่องท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและสุขภาพ รวมถึงมีธรรมชาติอันสวยงามให้สัมผัสกันในมิติที่หลากหลาย
พ่อหลวงชาญชัยเล่าย้อนอดีตความเป็นมาของหมู่บ้านให้ฟังว่า บ้านป่าเหมี้ยงเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี บรรพบุรุษยุคแรกเริ่มของหมู่บ้านอพยพมาจากหลายที่หลายทาง เช่น ลำปาง น่าน พะเยา เชียงใหม่ พวกเขาได้เข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือน หักล้างถางพงเพาะปลูก ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ควบคู่ไปกับการปลูกเมี่ยง (เหมี้ยง)-ทำเมี่ยง ที่ทำกันมาช้านานจนกลายเป็นชื่อหมู่บ้านและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมาจนทุกวันนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ทางการได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนขึ้นโดยครอบคลุมพื้นที่ของบ้านป่าเหมี้ยงเข้าไปด้วย (ทำให้ปัจจุบันบ้านป่าเหมี้ยงอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯแจ้ซ้อน)
นั่นจึงทำให้วิถีของชาวบ้านเปลี่ยนไป ไม่สามารถตัดไม้หักล้างถางพงทำไร่เลื่อนลอยขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ ไม่สามารถล่าสัตว์ได้ พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนวิถีมาร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่า มีการทำไร่เมี่ยงเป็นอาชีพหลัก (เฉพาะในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรไว้) รวมถึงมีการปลูกกาแฟ สมุนไพร เพาะเห็ดหอม แปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นอาชีพรอง ซึ่งนี่กลายเป็นวิถีคนกับป่า ที่ทำให้ป่าไม้ในพื้นที่ยังดำรงคงอยู่ ไม่ได้มีการแผ้วถางบุกรุกผืนป่าเพื่อปลูกข้าวโพด กะหล่ำ ยางพารา หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยว(ทำลายดิน) อื่นๆ อย่างในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผืนป่า แหล่งต้นน้ำ และระบบนิเวศของบ้านเราอยู่จนทุกวันนี้
นอกจากทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านป่าเหมี้ยงบางส่วนยังมีอาชีพเสริมด้านการท่องเที่ยว ที่ภายในหมู่บ้านมีกิจกรรมน่าสนใจให้สัมผัสกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับวิถีแห่งเมี่ยงหรือชา ที่หากใครมาเยือนบ้านป่าเหมี้ยงแล้ว ไม่ได้สัมผัสอะไรที่เกี่ยวกับเมี่ยงเลยก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง
สำหรับกิจกรรมเด่นๆ เกี่ยวกับเมี่ยงของที่นี่ก็อย่างเช่น การไปชมและร่วมเก็บใบเมี่ยง(พ.ค.-ส.ค.) การหมักเมี่ยง การทำชาใบเมี่ยง ชมเทศกาลตานเมี่ยง(ก.ย.) และชม ชอป การแปรรูปใบเมี่ยงให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์เด่นอย่างหมอนใบชา(ใบเมี่ยง) ที่มีทั้งหมอนกลม-หมอนเหลี่ยม หมอนหนุนหัว(ใบใหญ่) ใช้เป็นหมอนเพื่อสุขภาพที่จะช่วยให้นอนหลับสบาย(จากกลิ่นหอมอ่อนๆ ในใบเมี่ยง) ด้านหมอนใบเล็กนั้นใช้ดับกลิ่นอับในตู้เสื้อผ้าดีทีเดียว
บ้านป่าเหมี้ยงยังมีอีกหนึ่งผลผลิตจากเมี่ยง ที่ไหนๆ เมื่อมาถึงเรือนมาเยือนถึงถิ่นแล้วไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็การชิมเมี่ยง(หมัก) ในรูปแบบต่างๆ นำโดย ใบเมี่ยงหมัก(ของกินเล่นขึ้นชื่อของชาวเหนือ) ที่ใครจะกินเปล่าๆ กับเกลือเม็ด หรือกินแกล้มกับเครื่อง ไส้เมี่ยง อย่าง ขิงดอง มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง ก็แล้วแต่ชอบใจ
รวมถึงที่นี่ยังมีลูกอมรสชาใบเมี่ยง และอาหารจานเด็ดหนึ่งในเมนูไฮไลต์ประจำชุมชนก็คือ “ยำใบเมี่ยง” ที่นำใบเมี่ยงมายำปรุงรสกับปลากระป๋องที่หลายๆ คนที่มาเยือนต่างติดใจไปตามๆ กัน โดยเฉพาะยำรสเข้มข้นกินแกล้มกับเบียร์นี่ผมกดให้พันไลค์เลย
ในส่วนของอาหารจานเด็ดเมนูไฮไลต์คู่ชุมชน นอกจากยำใบเมี่ยงแล้วก็ยังมี “ไส้อั่วเห็ดหอม” “ไข่ป่าม” ส่วนถ้าหากใครไปในช่วงที่ดอกเสี้ยวกำลังเบ่งบานดังในช่วงนี้ก็มีทีเด็ดกับเมนู “ยำดอกเสี้ยว” และ “ดอกเสี้ยวชุบแป้งทอด” ที่มีให้กินกันเพียงปีละครั้งเฉพาะในช่วงดอกเสี้ยวบานเท่านั้น
นอกจากนี้ที่บ้านป่าเหมี้ยงยังมีจุดเด่นในเรื่องอาหารกับ “ขันโตกสุขภาพ” ที่มียำใบเมี่ยงเป็นตัวชูโรง ร่วมกับเมนูหลายหลากจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งนี่ถือเป็นแนวคิดหลักในเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชนภายใต้สโลแกน “ปรับสมดุลสุขภาพชีวิต ความท้าทายที่ได้พิชิต”
น้ำแร่ แจ้ซ้อน ออนเซนไทยชั้นเลิศ
แจ้ ขันเจื้อยแจ้ว ไก่ขาว
ซ้อน ทับขับหนาว น้ำแร่ร้อน
ลำ นำธารา กลางป่า ทัศนาจร
ปาง นี้ที่แจ้ซ้อน ลำปาง
(โดย จินตนาการ)
ในเส้นทางชมดอกเสี้ยวบาน-บ้านป่าเหมี้ยง ยังมี“อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน”เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญให้เที่ยวชม ชนิดที่ใครมาชมดอกเสี้ยวแล้วพลาดไปถือว่าน่าเสียดายแย่
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้ชื่อว่าเป็นออนเซนเมืองไทยชั้นเลิศ ที่นี่มีแหล่งน้ำพุร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย รวมถึงทางอุทยานฯ ยังมีมาตรฐานสูงในการบริหารจัดการ จนสามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (รางวัลกินรี) มาครองได้ 2 สมัยด้วยกัน (ปี 43 และ 56)
สำหรับไฮไลต์ไม่ควรพลาดของ อช.แจ้ซ้อน ก็คือ “น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” หรือ “บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน” ที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติมีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ แต่มีอุณหภูมิสูงไม่เบา โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 73 องศาเซลเซียส แต่ในบางจุดก็มีอุณหภูมิสูงปรี๊ดขึ้นไปเกินกว่า 80 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนมีทั้งหมดด้วยกัน 9 บ่อในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดยในบริเวณบ่อไฮไลต์หรือบ่อหลักทางอุทยานฯ ได้เข้าไปปรับแต่งภูมิทัศน์และสภาพพื้นที่ในบริเวณบ่อใหญ่ บ่อไฮไลต์ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักของอุทยานฯ ให้ดูสวยงามน่าเที่ยว น่าเดินมากยิ่งขึ้น
ที่บ่อหลักแห่งนี้ มีทั้งบ่อ แอ่ง และธารน้ำแร่ที่ไหลลัดเลาะไปตามโขดหินน้อยใหญ่ที่มีอยู่กระจัดกระจาย พร้อมกับมีทางเดินลัดเลาะไปตามสภาพพื้นที่ที่หากใครเดินไม่ระมัดระวังหรือมัวแต่เซลฟี่จนไม่มองทาง พลัดเดินตกธารน้ำร้อนไป งานนี้คงไม่ต่างจากตกกระทะทองแดง เอ๊ย!!! ไม่ใช่ คงไม่ต่างจากตกอ่างน้ำร้อนที่ถูกน้ำร้อนลวกแสบร้อนเป็นแน่
แต่หากว่าเดินชมกันอย่างระมัดระวังไปตามเส้นทางแล้ว ต้องยอมรับว่าบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนมีเสน่ห์ชวนเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามเช้าตรู่ที่ดูสวยงามไปด้วยไอ ควัน ที่พวยพุ่ง คลอเคล้าไปกับลำธารไหลเอื่อยและแสงสีทองอ่อนๆ ยามเช้าที่ช่วยขับให้ไอ ควันน้ำพุ ดูสวยงาม เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งพื้นพิภพ
นอกจากนี้ในลำธารไหลที่น้ำไหลเอื่อย บางช่วงเราจะเห็นเป็นสีเขียวมรกตจากตะไคร่ที่ขึ้นเกาะจับ บางช่วงบางจุดจะดูแปลกตาน่ายลไปด้วยเส้นสายสีขาวเล็กๆ ยาวๆ ที่เคลื่อนตัวเป็นริ้วพลิ้วไหวไปตามสายน้ำ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นสาหร่ายสีขาว แต่อันที่จริงแล้วมันคือ แบคทีเรีย Chloroflexus aurantiacus ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส และสามารถอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจนได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีในธารน้ำแร่ร้อนแห่งนี้ก็มีสาหร่ายชนิดพิเศษที่ทนทานต่อความร้อน เรียกว่า thermophilic algae ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว
นอกจากนี้ที่บ่อน้ำพุร้อนยังมีสัตว์ตัวน้อยอย่าง “จักจั่นน้ำแร่” ที่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี พวกมันจะลงมากินน้ำแร่ทั่วบริเวณของบ่อน้ำพุร้อน
ด้วยความที่น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนในบ่อหลักมีอุณหภูมิสูงมาก คนธรรมดาไม่สามารถลงแช่เท้าแช่ตัวได้(ถ้าไม่อยากสุก) ดังนั้นกิจกรรมที่เหมาะสมของที่นี่จึงเป็นการ“แช่ไข่” โดยทางอุทยานฯได้ทำแอ่งแช่ไข่ไว้ ให้นักท่องเที่ยวได้นำไข่ลงไปแช่ ไปต้ม พร้อมกับมีไข่ไก่ ไข่นกกระทา ใส่ชะลอมขายให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมแช่ไข่กันเป็นที่เพลิดเพลิน โดยไข่ไก่จะมีเวลาแช่หรือต้มนานประมาณ 17 นาที เมื่อแล้วเสร็จนำขึ้นมาจะได้ไข่ต้มที่ไข่แดงแข็งสีสวย ส่วนไข่ขาวเหลวเป็นวุ้นคล้ายไข่เต่า กินร้อนๆ แบบไข่ลวกกับซอส พริกไทย เยี่ยมทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นไข่ต้มน้ำแร่ของที่นี่ยังถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นเมนูเด็ด“ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน” ที่เป็นเมนูสัญลักษณ์เลื่องชื่อของที่นี่ โดยผู้คิดค้นสูตรเมนูเด็ดนี้ก็อาหม่อม “หม่อมราชวงศ์ถนัดศรีฯ” ยอดนักชิมชื่อก้องของไทย
แม้อุณหภูมิน้ำพุร้อนที่บ่อหลักจะร้อนระยับ แต่ว่าใกล้ๆ กันนั้นก็มี “แอ่งน้ำอุ่น” ที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำตกแจ้ซ้อนและน้ำพุร้อน เกิดเป็นแอ่งน้ำอุ่นอุณหภูมิพอเหมาะให้แช่เท้า แช่ตัว ท่ามกลางบรรยากาศแห่งธรรมชาติและขุนเขา
ส่วนใครที่อยากจะแช่น้ำแร่ๆ ชิลๆ สุดฟินให้หนำใจก็ต้องที่ “ห้องอาบน้ำแร่” ซึ่งใช้น้ำแร่ที่ต่อตรงมาจากบ่อน้ำร้อน มีทั้งห้องอาบแบบแช่รวม (แยกชาย-หญิง) ทั้งห้องในร่ม กลางแจ้ง และห้องอาบน้ำแร่แบบเป็นหลังๆ กับอ่างอาบน้ำส่วนตัว ที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากสัมผัสน้ำแร่กันแบบถึงเนื้อถึงหนังชนิดสามารถเปลือยกายนอนแช่น้ำแร่ได้อย่างเพลิดเพลิน แบบออนเซนของญี่ปุ่นยังไงยังงั้น
อย่างไรก็ดีแม้น้ำแร่แจ้ซ้อน จะมีคุณประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าสบายตัว ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี รวมถึงช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน แต่หากว่าแช่น้ำแร่นานเกินไปก็จะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายได้
ดังนั้นจึงควรแช่ในเวลาที่เหมาะสม 10-15 นาที(ต่อการลง 1 ครั้ง) ตามที่ทางอุทยานฯ ได้ติดป้ายกำกับไว้ ซึ่งพลังจากธรรมชาติของน้ำแร่จะช่วยไปเติมให้เรามีพลังในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
บทส่งท้าย
จากความงามดอกเสี้ยว บ้านป่าเหมี้ยง แจ้ซ้อน ที่ผมเล่ามานั้น ถือเป็นเพียงบางส่วนแห่งมนต์เสน่ห์ของลำปาง เมืองต้องห้าม...พลาด เท่านั้น เพราะเมืองนี้ยังมีอะไรให้เที่ยวให้ค้นหากันอีกเยอะ
แต่ทว่า...โชคร้ายที่บรรยากาศทางการท่องเที่ยวของลำปาง และอีกหลายจังหวัดของภาคเหนือในช่วงนี้ได้ถูก “บั่นทอน” โดยวิกฤตหมอกควันพิษจาก “ไฟป่า” ซึ่งในช่วงที่ผมขึ้นไปแอ่วแจ้ซ้อน บ้านป่าเหมี้ยง นั้นโชคดีที่พบเจอเพียงหมอกควันรางๆ ประปราย ไม่หนักหน่วงจนถึงกับเที่ยวไม่ได้
อย่างไรก็ดีจากการสอบถามจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ช่วงนี้ต้องทำหน้าที่มาคอยดับไฟป่ากันอย่างเหน็ดเหนื่อย ได้ความว่า โอกาสเกิดขึ้นเองของไฟป่าตามธรรมชาติในบ้านเรานั้นมีน้อยมาก แต่ไฟป่าที่เกิดขึ้นจนเป็นวิกฤตทางภาคเหนืออยู่ในขณะนี้ล้วนเกิดจากการ “เผาป่า” โดยน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น
เมื่อคนเผาป่าจนลุกลามเป็นไฟป่าลุกลามเป็นวิกฤตหมอกควัน มันส่งผลกระทบ ผลเสียตามมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ มลภาวะ สุขภาพร่างกาย ปัญหาด้านคมนาคมการขึ้น-ลง ของเครื่องบิน และปัญหาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมาด้วย
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทางภาครัฐจะต้องหยิบปัญหา “ไฟป่า”, “การเผาป่า” ขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และลงมือแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วน
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
*****************************************
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ที่ ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร นอกจากน้ำพุร้อนแล้ว ภายใน อช.แจ้ซ้อนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแจ้ซ้อน น้ำตกแม่มอญ น้ำตกแม่ขุน น้ำตกแม่เปียก ถ้ำผางาม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อุทยานฯ แจ้ซ้อน โทร.0-5438-0000, 08-9851-3355
บ้านป่าเหมี้ยง เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ เดินทางจากตัวเมืองลำปางมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และจากอุทยานฯ ไปอีก 16 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยางลัดเลาะภูเขา และสามารถเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ผ่านบ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ไปยังบ้านป่าเหมี้ยง แต่สภาพเส้นทางค่อนข้างชัน บ้านป่าเหมี้ยงมีที่พักแบบโฮมสเตย์บริการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 30 คน
นอกจากวิถีแห่งเมี่ยง ผลิตภัณฑ์ และอาหารการกินแล้ว ตามที่กล่าวมาในบทความแล้ว บ้านป่าเหมี้ยง ยังมีสิ่งน่าสนใจและกิจกรรมให้ชวนเที่ยวชมอีก อย่างเช่น จุดชมวิวดอยกิ่วฝิ่น, เส้นทางศึกษาธรรมชาติ, เทศกาลสงกรานต์ เลี้ยงผีปู่ย่า, ชมการตีผึ้ง ตีหลัง จักตอก(มี.ค.) โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อบต.แจ้ซ้อน โทร. 0-5426-3235
สำหรับดอกเสี้ยวปีนี้ คาดว่าจะบานไปอีกอีกสักระยะราว 1-2 สัปดาห์ โดยผู้ที่สนใจไปเที่ยวชมดอกเสี้ยวควรสอบถามข้อมูลจากพื้นที่ก่อน
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และแหล่งท่องเที่ยวในลำปางเชื่อมโยงกับ อช.แจ้ซ้อนและบ้านป่าเหมี้ยง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (ดูแลพื้นที่ จ.เชียงใหม่, ลำพูน และลำปาง) โทร. 0-5324-8604, 0-5324-8607, 0-5330-2500
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com
เหมันต์ผ่านผัน
คิมหันต์มาเยือน
ทุกๆ ปีในช่วงปลายหนาว(คาบเกี่ยวไปถึงต้นร้อนในบางปี) มวลหมู่ “ดอกเสี้ยว” ที่บ้านป่าเหมี้ยง แห่งเมืองรถม้า...จ.ลำปาง จะพากันออกดอกเบ่งบานสะพรั่ง ย้อมผืนป่าดูขาวนวลสบายตา
เกิดเป็นปรากฏการณ์ลำปางขาวมากขึ้นมาในจุดที่ดอกเสี้ยวเบ่งบาน ที่ดูงดงามเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
น่าตื่นตาตื่นใจกระไรปานนั้น
ดอกเสี้ยวบานสะพรั่ง กาลครั้งนั้น...ความฝันผลิบาน
ปีนี้ลำปาง นอกจากจะได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” จากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว ทาง ททท.ยังคัดสรรให้ปรากฏการณ์ “ดอกเสี้ยวบาน” ที่บ้านป่าเหมี้ยง-ลำปาง เป็น 1 ใน 22 เส้นทางชมดอกไม้งามทั่วไทยในโครงการ “Dream Destinations 2 - กาลครั้งนั้น...ความฝันผลิบาน” อีกด้วย
โดยดอกเสี้ยวนั้น เป็นดอกไม้ป่า (วงศ์เดียวกับชงโค) จะบานในช่วงราวๆ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศปีนั้นๆ) ลักษณะของดอกเสี้ยวจะมีสีขาว มี 5 กลีบ โดยจะมีสีชมพูแต้มที่กลีบใหญ่สุด
อย่างไรก็ดีแม้ดอกเสี้ยวจะถูกยกให้เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดตากและน่าน แต่หากพูดถึงงานเทศกาลดอกเสี้ยวบานที่ขึ้นชื่อก็ต้องที่เชียงใหม่ เชียงราย และที่โดดเด่นมากก็คือที่ลำปางที่ผมเพิ่งขึ้นไปแอ่วมาล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ในช่วงที่ดอกเสี้ยวกำลังเบ่งบานงามสวยพอดี
สำหรับจุดหลักๆ ในการเที่ยวชมดอกเสี้ยวบาน เมืองลำปาง อยู่ในเส้นทาง“แจ้ซ้อน-บ้านป่าเหมี้ยง” โดยมีจุดไฮไลต์อยู่ที่บริเวณ“ลานดอกเสี้ยว” แห่งบ้านป่าเมี้ยง ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน ที่ใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลดอกเสี้ยวบานของปีนี้และปีก่อนๆ
ดอกเสี้ยวที่แจ้ซ้อนและบ้านป่าเหมี้ยงปกติจะบานช่วงปลายหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางปีอาจบานล่าช้าล่วงเข้ามาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ข้ามต่อไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม(ดังเช่นปีนี้-เนื่องจากมีฝนตกลงมาก่อนหน้านั้น)
นั่นจึงทำให้ที่ลานดอกเสี้ยว (หลังเทศกาล) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมากไปด้วยดอกเสี้ยวที่ยังคงออกดอกขาวโพลนสวยงาม ท่ามกลางความร่มรื่นแมกไม้รอบข้างและธรรมชาติแห่งผืนป่าแจ้ซ้อน
เสี้ยวบางต้นทอดกิ่งออกดอกให้เห็นกันใกล้ๆ ในระดับสายตา ให้เราได้พินิจพิจารณาว่าหน้าตารูปร่างทรวดทรงของมันเป็นเช่นใด อีกทั้งยังเป็นแบบให้ใครและใครหลายๆ คนได้เซลฟี่คู่กับดอกเสี้ยวสีขาวนวลอย่างใกล้ชิด
เสี้ยวหลายต้นออกดอกสีขาวนวลตระหง่านแทรกแซมไปในสีเขียวและสีแล้งแห่งขุนเขาป่าแจ้ซ้อน มองเห็นขาวเด่นมาแต่ไกลดูสะดุดตา
ขณะที่ต้นเสี้ยวอีกส่วนหนึ่งที่ยืนต้นตั้งสูงตระหง่านนั้นต่างก็พากันออกดอกชูช่อขาวสะพรั่งอวดโฉมความงาม เสี้ยวหลายต้นได้ยินเสียงนกร้องขับขานเสนาะหู บางต้นเจ้านกน้อยก็เคลื่อนไหวคลอเคลียร์ไปในความงามของดอกขาวดูเพลิดเพลินตา เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตามองหากันหน่อยเท่านั้น
บ้านป่าเหมี้ยง อวลเสน่ห์วิถีแห่งเมี่ยง
นอกจากความงามของดอกเสี้ยวที่ลานดอกเสี้ยวแล้ว ที่ตัวหมู่บ้านป่าเหมี้ยงเองก็ยังมีต้นเสี้ยวออกดอกเบ่งบานให้เราได้ทัศนาชื่นชมกันอีกจำนวนหนึ่ง โดยพ่อหลวง “ชาญชัย จาตุมา” ผู้ใหญ่บ้านป่าเหมี้ยงบอกกับผมว่า ในอนาคตอาจจะมีการปลูกต้นเสี้ยวในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น (กว่าที่ปลูกไปบ้างแล้วในขณะนี้) เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งจุดหลักในการชมดอกเสี้ยวคู่กับที่ลานดอกเสี้ยวที่อยู่ไกลกัน รวมถึงให้เป็นอีกหนึ่งสีสันความงามประดับหมู่บ้าน เพราะในแต่ละปีช่วงที่ดอกเสี้ยวบานจะมีคนมาเที่ยวที่บ้านป่าเหมี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ยิ่งในปีนี้เทศกาลดอกเสี้ยวบานบ้านป่าเหมี้ยงได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 22 จุดชมดอกไม้บานของไทย(Dream Destinations 2) จาก ททท. ก็ยิ่งเพิ่มความคึกคักขึ้นเป็นพิเศษ
สำหรับบ้านป่าเหมี้ยงนั้นได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอันโดดเด่นแห่งภาคเหนือ ที่นี่เด่นทั้งเรื่องท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและสุขภาพ รวมถึงมีธรรมชาติอันสวยงามให้สัมผัสกันในมิติที่หลากหลาย
พ่อหลวงชาญชัยเล่าย้อนอดีตความเป็นมาของหมู่บ้านให้ฟังว่า บ้านป่าเหมี้ยงเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี บรรพบุรุษยุคแรกเริ่มของหมู่บ้านอพยพมาจากหลายที่หลายทาง เช่น ลำปาง น่าน พะเยา เชียงใหม่ พวกเขาได้เข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือน หักล้างถางพงเพาะปลูก ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ควบคู่ไปกับการปลูกเมี่ยง (เหมี้ยง)-ทำเมี่ยง ที่ทำกันมาช้านานจนกลายเป็นชื่อหมู่บ้านและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมาจนทุกวันนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ทางการได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนขึ้นโดยครอบคลุมพื้นที่ของบ้านป่าเหมี้ยงเข้าไปด้วย (ทำให้ปัจจุบันบ้านป่าเหมี้ยงอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯแจ้ซ้อน)
นั่นจึงทำให้วิถีของชาวบ้านเปลี่ยนไป ไม่สามารถตัดไม้หักล้างถางพงทำไร่เลื่อนลอยขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ ไม่สามารถล่าสัตว์ได้ พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนวิถีมาร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่า มีการทำไร่เมี่ยงเป็นอาชีพหลัก (เฉพาะในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรไว้) รวมถึงมีการปลูกกาแฟ สมุนไพร เพาะเห็ดหอม แปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นอาชีพรอง ซึ่งนี่กลายเป็นวิถีคนกับป่า ที่ทำให้ป่าไม้ในพื้นที่ยังดำรงคงอยู่ ไม่ได้มีการแผ้วถางบุกรุกผืนป่าเพื่อปลูกข้าวโพด กะหล่ำ ยางพารา หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยว(ทำลายดิน) อื่นๆ อย่างในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผืนป่า แหล่งต้นน้ำ และระบบนิเวศของบ้านเราอยู่จนทุกวันนี้
นอกจากทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านป่าเหมี้ยงบางส่วนยังมีอาชีพเสริมด้านการท่องเที่ยว ที่ภายในหมู่บ้านมีกิจกรรมน่าสนใจให้สัมผัสกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับวิถีแห่งเมี่ยงหรือชา ที่หากใครมาเยือนบ้านป่าเหมี้ยงแล้ว ไม่ได้สัมผัสอะไรที่เกี่ยวกับเมี่ยงเลยก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง
สำหรับกิจกรรมเด่นๆ เกี่ยวกับเมี่ยงของที่นี่ก็อย่างเช่น การไปชมและร่วมเก็บใบเมี่ยง(พ.ค.-ส.ค.) การหมักเมี่ยง การทำชาใบเมี่ยง ชมเทศกาลตานเมี่ยง(ก.ย.) และชม ชอป การแปรรูปใบเมี่ยงให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์เด่นอย่างหมอนใบชา(ใบเมี่ยง) ที่มีทั้งหมอนกลม-หมอนเหลี่ยม หมอนหนุนหัว(ใบใหญ่) ใช้เป็นหมอนเพื่อสุขภาพที่จะช่วยให้นอนหลับสบาย(จากกลิ่นหอมอ่อนๆ ในใบเมี่ยง) ด้านหมอนใบเล็กนั้นใช้ดับกลิ่นอับในตู้เสื้อผ้าดีทีเดียว
บ้านป่าเหมี้ยงยังมีอีกหนึ่งผลผลิตจากเมี่ยง ที่ไหนๆ เมื่อมาถึงเรือนมาเยือนถึงถิ่นแล้วไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็การชิมเมี่ยง(หมัก) ในรูปแบบต่างๆ นำโดย ใบเมี่ยงหมัก(ของกินเล่นขึ้นชื่อของชาวเหนือ) ที่ใครจะกินเปล่าๆ กับเกลือเม็ด หรือกินแกล้มกับเครื่อง ไส้เมี่ยง อย่าง ขิงดอง มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง ก็แล้วแต่ชอบใจ
รวมถึงที่นี่ยังมีลูกอมรสชาใบเมี่ยง และอาหารจานเด็ดหนึ่งในเมนูไฮไลต์ประจำชุมชนก็คือ “ยำใบเมี่ยง” ที่นำใบเมี่ยงมายำปรุงรสกับปลากระป๋องที่หลายๆ คนที่มาเยือนต่างติดใจไปตามๆ กัน โดยเฉพาะยำรสเข้มข้นกินแกล้มกับเบียร์นี่ผมกดให้พันไลค์เลย
ในส่วนของอาหารจานเด็ดเมนูไฮไลต์คู่ชุมชน นอกจากยำใบเมี่ยงแล้วก็ยังมี “ไส้อั่วเห็ดหอม” “ไข่ป่าม” ส่วนถ้าหากใครไปในช่วงที่ดอกเสี้ยวกำลังเบ่งบานดังในช่วงนี้ก็มีทีเด็ดกับเมนู “ยำดอกเสี้ยว” และ “ดอกเสี้ยวชุบแป้งทอด” ที่มีให้กินกันเพียงปีละครั้งเฉพาะในช่วงดอกเสี้ยวบานเท่านั้น
นอกจากนี้ที่บ้านป่าเหมี้ยงยังมีจุดเด่นในเรื่องอาหารกับ “ขันโตกสุขภาพ” ที่มียำใบเมี่ยงเป็นตัวชูโรง ร่วมกับเมนูหลายหลากจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งนี่ถือเป็นแนวคิดหลักในเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชนภายใต้สโลแกน “ปรับสมดุลสุขภาพชีวิต ความท้าทายที่ได้พิชิต”
น้ำแร่ แจ้ซ้อน ออนเซนไทยชั้นเลิศ
แจ้ ขันเจื้อยแจ้ว ไก่ขาว
ซ้อน ทับขับหนาว น้ำแร่ร้อน
ลำ นำธารา กลางป่า ทัศนาจร
ปาง นี้ที่แจ้ซ้อน ลำปาง
(โดย จินตนาการ)
ในเส้นทางชมดอกเสี้ยวบาน-บ้านป่าเหมี้ยง ยังมี“อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน”เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญให้เที่ยวชม ชนิดที่ใครมาชมดอกเสี้ยวแล้วพลาดไปถือว่าน่าเสียดายแย่
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้ชื่อว่าเป็นออนเซนเมืองไทยชั้นเลิศ ที่นี่มีแหล่งน้ำพุร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย รวมถึงทางอุทยานฯ ยังมีมาตรฐานสูงในการบริหารจัดการ จนสามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (รางวัลกินรี) มาครองได้ 2 สมัยด้วยกัน (ปี 43 และ 56)
สำหรับไฮไลต์ไม่ควรพลาดของ อช.แจ้ซ้อน ก็คือ “น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” หรือ “บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน” ที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติมีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ แต่มีอุณหภูมิสูงไม่เบา โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 73 องศาเซลเซียส แต่ในบางจุดก็มีอุณหภูมิสูงปรี๊ดขึ้นไปเกินกว่า 80 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนมีทั้งหมดด้วยกัน 9 บ่อในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดยในบริเวณบ่อไฮไลต์หรือบ่อหลักทางอุทยานฯ ได้เข้าไปปรับแต่งภูมิทัศน์และสภาพพื้นที่ในบริเวณบ่อใหญ่ บ่อไฮไลต์ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักของอุทยานฯ ให้ดูสวยงามน่าเที่ยว น่าเดินมากยิ่งขึ้น
ที่บ่อหลักแห่งนี้ มีทั้งบ่อ แอ่ง และธารน้ำแร่ที่ไหลลัดเลาะไปตามโขดหินน้อยใหญ่ที่มีอยู่กระจัดกระจาย พร้อมกับมีทางเดินลัดเลาะไปตามสภาพพื้นที่ที่หากใครเดินไม่ระมัดระวังหรือมัวแต่เซลฟี่จนไม่มองทาง พลัดเดินตกธารน้ำร้อนไป งานนี้คงไม่ต่างจากตกกระทะทองแดง เอ๊ย!!! ไม่ใช่ คงไม่ต่างจากตกอ่างน้ำร้อนที่ถูกน้ำร้อนลวกแสบร้อนเป็นแน่
แต่หากว่าเดินชมกันอย่างระมัดระวังไปตามเส้นทางแล้ว ต้องยอมรับว่าบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนมีเสน่ห์ชวนเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามเช้าตรู่ที่ดูสวยงามไปด้วยไอ ควัน ที่พวยพุ่ง คลอเคล้าไปกับลำธารไหลเอื่อยและแสงสีทองอ่อนๆ ยามเช้าที่ช่วยขับให้ไอ ควันน้ำพุ ดูสวยงาม เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งพื้นพิภพ
นอกจากนี้ในลำธารไหลที่น้ำไหลเอื่อย บางช่วงเราจะเห็นเป็นสีเขียวมรกตจากตะไคร่ที่ขึ้นเกาะจับ บางช่วงบางจุดจะดูแปลกตาน่ายลไปด้วยเส้นสายสีขาวเล็กๆ ยาวๆ ที่เคลื่อนตัวเป็นริ้วพลิ้วไหวไปตามสายน้ำ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นสาหร่ายสีขาว แต่อันที่จริงแล้วมันคือ แบคทีเรีย Chloroflexus aurantiacus ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส และสามารถอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจนได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีในธารน้ำแร่ร้อนแห่งนี้ก็มีสาหร่ายชนิดพิเศษที่ทนทานต่อความร้อน เรียกว่า thermophilic algae ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว
นอกจากนี้ที่บ่อน้ำพุร้อนยังมีสัตว์ตัวน้อยอย่าง “จักจั่นน้ำแร่” ที่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี พวกมันจะลงมากินน้ำแร่ทั่วบริเวณของบ่อน้ำพุร้อน
ด้วยความที่น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนในบ่อหลักมีอุณหภูมิสูงมาก คนธรรมดาไม่สามารถลงแช่เท้าแช่ตัวได้(ถ้าไม่อยากสุก) ดังนั้นกิจกรรมที่เหมาะสมของที่นี่จึงเป็นการ“แช่ไข่” โดยทางอุทยานฯได้ทำแอ่งแช่ไข่ไว้ ให้นักท่องเที่ยวได้นำไข่ลงไปแช่ ไปต้ม พร้อมกับมีไข่ไก่ ไข่นกกระทา ใส่ชะลอมขายให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมแช่ไข่กันเป็นที่เพลิดเพลิน โดยไข่ไก่จะมีเวลาแช่หรือต้มนานประมาณ 17 นาที เมื่อแล้วเสร็จนำขึ้นมาจะได้ไข่ต้มที่ไข่แดงแข็งสีสวย ส่วนไข่ขาวเหลวเป็นวุ้นคล้ายไข่เต่า กินร้อนๆ แบบไข่ลวกกับซอส พริกไทย เยี่ยมทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นไข่ต้มน้ำแร่ของที่นี่ยังถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นเมนูเด็ด“ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน” ที่เป็นเมนูสัญลักษณ์เลื่องชื่อของที่นี่ โดยผู้คิดค้นสูตรเมนูเด็ดนี้ก็อาหม่อม “หม่อมราชวงศ์ถนัดศรีฯ” ยอดนักชิมชื่อก้องของไทย
แม้อุณหภูมิน้ำพุร้อนที่บ่อหลักจะร้อนระยับ แต่ว่าใกล้ๆ กันนั้นก็มี “แอ่งน้ำอุ่น” ที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำตกแจ้ซ้อนและน้ำพุร้อน เกิดเป็นแอ่งน้ำอุ่นอุณหภูมิพอเหมาะให้แช่เท้า แช่ตัว ท่ามกลางบรรยากาศแห่งธรรมชาติและขุนเขา
ส่วนใครที่อยากจะแช่น้ำแร่ๆ ชิลๆ สุดฟินให้หนำใจก็ต้องที่ “ห้องอาบน้ำแร่” ซึ่งใช้น้ำแร่ที่ต่อตรงมาจากบ่อน้ำร้อน มีทั้งห้องอาบแบบแช่รวม (แยกชาย-หญิง) ทั้งห้องในร่ม กลางแจ้ง และห้องอาบน้ำแร่แบบเป็นหลังๆ กับอ่างอาบน้ำส่วนตัว ที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากสัมผัสน้ำแร่กันแบบถึงเนื้อถึงหนังชนิดสามารถเปลือยกายนอนแช่น้ำแร่ได้อย่างเพลิดเพลิน แบบออนเซนของญี่ปุ่นยังไงยังงั้น
อย่างไรก็ดีแม้น้ำแร่แจ้ซ้อน จะมีคุณประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าสบายตัว ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี รวมถึงช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน แต่หากว่าแช่น้ำแร่นานเกินไปก็จะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายได้
ดังนั้นจึงควรแช่ในเวลาที่เหมาะสม 10-15 นาที(ต่อการลง 1 ครั้ง) ตามที่ทางอุทยานฯ ได้ติดป้ายกำกับไว้ ซึ่งพลังจากธรรมชาติของน้ำแร่จะช่วยไปเติมให้เรามีพลังในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
บทส่งท้าย
จากความงามดอกเสี้ยว บ้านป่าเหมี้ยง แจ้ซ้อน ที่ผมเล่ามานั้น ถือเป็นเพียงบางส่วนแห่งมนต์เสน่ห์ของลำปาง เมืองต้องห้าม...พลาด เท่านั้น เพราะเมืองนี้ยังมีอะไรให้เที่ยวให้ค้นหากันอีกเยอะ
แต่ทว่า...โชคร้ายที่บรรยากาศทางการท่องเที่ยวของลำปาง และอีกหลายจังหวัดของภาคเหนือในช่วงนี้ได้ถูก “บั่นทอน” โดยวิกฤตหมอกควันพิษจาก “ไฟป่า” ซึ่งในช่วงที่ผมขึ้นไปแอ่วแจ้ซ้อน บ้านป่าเหมี้ยง นั้นโชคดีที่พบเจอเพียงหมอกควันรางๆ ประปราย ไม่หนักหน่วงจนถึงกับเที่ยวไม่ได้
อย่างไรก็ดีจากการสอบถามจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ช่วงนี้ต้องทำหน้าที่มาคอยดับไฟป่ากันอย่างเหน็ดเหนื่อย ได้ความว่า โอกาสเกิดขึ้นเองของไฟป่าตามธรรมชาติในบ้านเรานั้นมีน้อยมาก แต่ไฟป่าที่เกิดขึ้นจนเป็นวิกฤตทางภาคเหนืออยู่ในขณะนี้ล้วนเกิดจากการ “เผาป่า” โดยน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น
เมื่อคนเผาป่าจนลุกลามเป็นไฟป่าลุกลามเป็นวิกฤตหมอกควัน มันส่งผลกระทบ ผลเสียตามมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ มลภาวะ สุขภาพร่างกาย ปัญหาด้านคมนาคมการขึ้น-ลง ของเครื่องบิน และปัญหาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมาด้วย
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทางภาครัฐจะต้องหยิบปัญหา “ไฟป่า”, “การเผาป่า” ขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และลงมือแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วน
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
*****************************************
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ที่ ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร นอกจากน้ำพุร้อนแล้ว ภายใน อช.แจ้ซ้อนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแจ้ซ้อน น้ำตกแม่มอญ น้ำตกแม่ขุน น้ำตกแม่เปียก ถ้ำผางาม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อุทยานฯ แจ้ซ้อน โทร.0-5438-0000, 08-9851-3355
บ้านป่าเหมี้ยง เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ เดินทางจากตัวเมืองลำปางมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และจากอุทยานฯ ไปอีก 16 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยางลัดเลาะภูเขา และสามารถเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ผ่านบ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ไปยังบ้านป่าเหมี้ยง แต่สภาพเส้นทางค่อนข้างชัน บ้านป่าเหมี้ยงมีที่พักแบบโฮมสเตย์บริการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 30 คน
นอกจากวิถีแห่งเมี่ยง ผลิตภัณฑ์ และอาหารการกินแล้ว ตามที่กล่าวมาในบทความแล้ว บ้านป่าเหมี้ยง ยังมีสิ่งน่าสนใจและกิจกรรมให้ชวนเที่ยวชมอีก อย่างเช่น จุดชมวิวดอยกิ่วฝิ่น, เส้นทางศึกษาธรรมชาติ, เทศกาลสงกรานต์ เลี้ยงผีปู่ย่า, ชมการตีผึ้ง ตีหลัง จักตอก(มี.ค.) โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อบต.แจ้ซ้อน โทร. 0-5426-3235
สำหรับดอกเสี้ยวปีนี้ คาดว่าจะบานไปอีกอีกสักระยะราว 1-2 สัปดาห์ โดยผู้ที่สนใจไปเที่ยวชมดอกเสี้ยวควรสอบถามข้อมูลจากพื้นที่ก่อน
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และแหล่งท่องเที่ยวในลำปางเชื่อมโยงกับ อช.แจ้ซ้อนและบ้านป่าเหมี้ยง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (ดูแลพื้นที่ จ.เชียงใหม่, ลำพูน และลำปาง) โทร. 0-5324-8604, 0-5324-8607, 0-5330-2500
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com