ประจวบคีรีขันธ์ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่ง จนท.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง (ชุมพร) ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างสาหร่าย พร้อมทั้งน้ำทะเลที่ชายหาดเกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย ไปตรวจสอบแล้ว เบื้องต้น พบเป็นสาหร่ายกลุ่มสีเขียวแกมน้ำเงิน ไม่มีพิษต่อคน และสัตว์
วันนี้ (24 พ.ค.) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กรณีพบสาหร่ายถูกคลื่นซัดมาติดบริเวณชายหาดเกาะทะลุ แหล่งดำน้ำที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง (ชุมพร) ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการเก็บตัวอย่างสาหร่าย และตัวอย่างน้ำทะเล
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อว่า เบื้องต้น คาดว่าสาหร่ายที่ลอยมาติดบริเวณชายหาดเกาะทะลุ น่าจะเป็นสาหร่ายชนิด Lyngbya sp ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ลอยทติดหาดบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 ครั้ง คือ ในช่วง 11 เม.ย.และ 4 พ.ค.59 ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่าง และนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิด
สำหรับคุณภาพน้ำทั่วไปจากการตรวจวัดในภาคสนาม พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลมาวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารต่อไป ซึ่งผลหากออกแล้วจะดำเนินการแจ้งให้หน่วยงาน และสื่อมวลชนทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม สาหร่ายชนิดนี้เป็นสาหร่ายกลุ่มสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue green algae) ชนิด Lyngbya sp ซึ่งเป็นสาหร่ายชนิดที่มีการสะพรั่งบริเวณชายหาดที่มีน้ำขัง ช่วงที่มีน้ำลงตอนกลางวัน แดดจัด และส่วนใหญ่พบที่หาดใกล้กับชุมชน ซึ่งยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของสาหร่ายชนิดนี้
แต่ถ้ามีการสะพรั่งมากๆ อาจมีผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดการตายของสัตว์น้ำเนื่องจากภาวะขาดออกซิเจนได้ โดยผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณที่พบสาหร่ายชนิดนี้สะพรั่งบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยพบว่าค่า ฟอสเฟตสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสะพรั่งดังกล่าวได้ที่ชายหาดเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในขณะนี้