xs
xsm
sm
md
lg

“ภูลมโล” โชว์สุดท้าย...ตระการตานางพญาเสือโคร่ง(ยังคง)บานชมพูสะพรั่ง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
เส้นทางสีชมพูจากดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบาน ณ ภูลมโล
“เลย” เป็นจังหวัดที่ใครหลายๆเมื่อได้ไปเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจชนิด“รักแล้วรักเลย”

นอกจากนี้เลยยังเป็นจังหวัดที่ใครหลายๆคนมักจะ(เล่นมุข)บอกว่า ไปไม่ถึงซ้ากกก(กะ)ที เพราะไปทีไร “เลยทู้กที”

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะไปถึงหรือไปเลย สำหรับเลยปีนี้(พ.ศ.2558) นับว่ามีความพิเศษทางการท่องเที่ยวอยู่ใน 2 ประการหลักๆด้วยกัน คือหนึ่งนั้นทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ยกให้เลยเป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” กับแนวคิด“เย็นสุด...สุขที่เลย จ.เลย”
ภูลมโลกับหุบเขาสีชมพู 1 ใน 22 เส้นทางชมดอกไม้งามทั่วไทยจากโครงการ “Dream Destinations 2 กาลครั้งนั้น ความฝันผลิบาน”
ส่วนอีกหนึ่งคือทางททท. ได้คัดสรร “ภูลมโล” จ.เลย เป็น 1 ใน 22 เส้นทางชมดอกไม้งามทั่วไทยในเดือนมกราคม จากโครงการ “Dream Destinations 2 กาลครั้งนั้น ความฝันผลิบาน” กับความงามของ“ดอกนางพญาเสือโคร่ง”ที่พากันเบ่งบานเป็นสีชมพูสะพรั่ง เป็นดัง“หุบเขาสีชมพู”(สโลแกนจาก Dreamฯ 2) ดึงดูดให้ผมเดินทางกลับไปยังภูลมโลอีกครั้ง เพื่อสัมผัสในความงามของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่เบ่งบานชมพูสะพรั่ง ซึ่งแม้ว่ามันจะเลยช่วงพีคไปแล้ว(เริ่มร่วงโรยไปส่วนหนึ่ง) แต่ว่ามนต์เสน่ห์แห่งท้องทุ่งนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลก็ยังคงมีให้ยลกันอีกสักระยะ เพียงพอต่อผู้ที่จะวางแผนไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
นักท่องเที่ยวเริงร่าในบรรยากาศชมพูสะพรั่งที่แปลงชมนางพญาเสือโคร่งก้อนหินใหญ่
ภูลมโล ชื่อนี้คือ???

ภูลมโล ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก

สำหรับชื่อภูลมโล จากการที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่มีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน โดยชาวบ้านทางฝั่งเลย(บ้านกกสะทอน) บอกกับผมว่า ภูลมโล เป็นภาษาถิ่น หมายถึงภู(ยอดเขา)ที่มีลมพัดผ่านเยอะ พัดผ่านมาก โดยคำว่า“โล” ในภาษาถิ่น หมายถึง มาก หรือ เยอะ ซึ่งหากจะพูดรวมๆให้ฟังเข้าใจง่ายก็คือ “ภูลมโล เป็นภูที่มีลมแรงพัดผ่านอยู่ตลอด”(ทั้งปี)
ยอดภูลมโลยามแสงเรื่อเรืองแห่งวันใหม่จับขอบฟ้า
ขณะที่ข้อมูลจากชาวม้งในพื้นที่ฝั่งพิษณุโลก(บ้านร่องกล้า)นั้นแตกต่างออกไป โดยพวกเขาให้ข้อมูลกับผมว่า ภูลมโล มาจากชื่อที่สมัยก่อนชาวบ้านเรียกเขาลูกนี้ว่า “ภูลงรู” หรือที่ภาษาม้งเรียกว่า“ตร๊งลงรู” อันหมายถึง ภูเขาที่มีน้ำไหลลงรู ก่อนที่ภายหลังจะเรียกเพี้ยนเป็น “ภูลมโล” ซึ่งที่มาของชื่อนี้มาจากการที่ภูเขาลูกนี้(เคย)มีตาน้ำไหลหายลงไปในรู ชาวบ้านเมื่อเดินป่ามาถึงก็จะใช้ประโยชน์จากตาน้ำแห่งนี้
เส้นทางสีชมพูเดินชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูขี้เถ้า
ทั้งสองที่มาต่างก็มีเหตุผลรองรับไปกันคนละแบบ งานนี้ใครจะเชื่อข้อมูลไหนก็สุดแท้แต่ แต่ที่รู้ก็คือยามเมื่อดอกนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันเบ่งบาน ภูลมโลนั้นงามนัก งามหลาย

แหล่งทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

ในอดีตยุคยุคลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่สะพัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูลมโลจัดเป็นพื้นที่สีแดง(เช่นเดียวกับภูหินร่องกล้าและภูขี้เถ้าที่อยู่ติดๆกัน) ที่นี่เคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีความคิดต่าง
ผลพวงจากการเปลี่ยนไร่เลื่อนลอยมาเป็นหุบเขาสีชมพู
ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบพื้นที่ภูลมโลถูกหักล้างถางพง ทำไร่เลื่อนลอยจนกลายเป็นเขาหัวโล้น ทำให้ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า(ประกาศจัดตั้งในปี พ.ศ. 2527) ได้ทำการขอพื้นที่คืน โดยตกลงให้ผู้ที่หักล้างถางพงปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนออกจากพื้นที่

หลังจากนั้นภูลมโลได้มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย(ณ ปัจจุบัน)นับจำนวนหลายหมื่นต้น
นักท่องเที่ยวเริงร่าที่แปลงนางพญาเสือโคร่งภูขี้เถ้า
สำหรับนางพญาเสือโคร่ง เป็นไม้ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น ยามออกดอกเบ่งบานจะมีสีชมพูสวยงามดูคล้ายดอกซากุระที่ญี่ปุ่น นั่นจึงทำให้หลายๆคนนิยมเรียกดอกนางพญาเสือโคร่งว่า “ซากุระเมืองไทย” ขณะที่ชื่อภาษาถิ่นจะเรียกว่า “ซากุระดอย
ดอกนางพญาเสือโคร่งหรือที่หลายๆคนนิยมเรียกกันว่า “ซากุระเมืองไทย”
ทุกๆปีในช่วงกลางฤดูหนาวราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ต้นนางพญาเสือโคร่งที่ขึ้นอยู่ทั่วประเทศจะพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบาน โดยปีนี้ที่มีอากาศหนาวจัดและหนาวนานในหลายพื้นที่รวมถึงที่ภูลมโลก็ทำให้นางพญาเสือโคร่งที่นี่ออกดอกเบ่งบานเป็นจำนวนมากย้อมภูลมโลให้เป็นหุบเขาสีชมพูสะพรั่ง โดยปีนี้ช่วงที่ดอกนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันเบ่งบานเต็มที่บนภูลมโลคือเมื่อราวช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่มันจะค่อยๆทยอยร่วงโรยไปตามอายุขัยในราว 1-2 สัปดาห์
แม้จะผ่านพ้นช่วงพีคมาแล้ว แต่วันนี้ภูลมโลยังคงมีดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกัน
อย่างไรก็ดีแม้ว่าช่วงนี้จะไม่ใช่ช่วงพีคของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่ง แต่ภูลมโลก็ยังมีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่ยังคงบานสะพรั่งราว 60-70 % ในอีก 2-3 จุดใหญ่ๆให้ได้ทัศนากัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถชมได้ไปจนถึงราวสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.

บ้านร่องกล้า-ภูลมโล

ปัจจุบันภูลมโลมีเส้นทางหลักๆในการขึ้นไปเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่ง คือ เส้นทางจากบ้านกกสะทอน จ.เลย และเส้นทางจากบ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้กว่า(หากไปจากกรุงเทพฯ) และก็เป็นเส้นทางที่ผมใช้ขึ้นไปเที่ยวภูลมโลในทริปนี้ โดยเมื่อเดินทางมาถึงบ้านร่องกล้าจุดพักค้างของผมกับคณะในค่ำคืนนี้ คุณ“ณัฐวัฒน์ แซ่หว้า” หรือ “พี่เน้ง” ชาวม้งแห่งกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านร่องกล้า ที่เคยรู้จักกันเมื่อปีที่แล้วก็ได้ขันอาสามาเป็นคนนำเที่ยวภูลมโลในเส้นทางบ้านร่องกล้า-ภูลมโลอีกครั้ง
ตลาดเด็กดอยบ้านร่องกล้ากับต้นดอกกระดาษ(ประดิษฐ์)ใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับบ้านร่องกล้า ตั้งอยู่ที่ ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร ปลูกกะหล่ำปลี กาแฟ ท้อ และดอกกระดาษที่ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของหมู่บ้านแห่งนี้ โดยช่วงนี้ตรงกับช่วงที่ดอกกระดาษกำลังออกดอกบานพอดี(ดอกกระดาษบานที่บ้านร่องกล้าอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.)
แม่ค้าหน้าหวานแห่งตลาดสินค้าที่ระลึก-ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านร่องกล้า
ส่วนอาชีพเสริมก็คือประกอบธุรกิจนำเที่ยวบ้านร่องกล้า-ภูลมโล ให้เช่าที่พัก โฮมสเตย์ ขายอาหารเครื่องดื่ม ขายของที่ระลึกนำเที่ยว บริการรถเช่า(กระบะ 4x4) และอื่นๆ ซึ่งด้วยชื่อเสียงของภูลมโลที่มาแรงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้บ้านร่องกล้าได้รับอานิสงส์เติบโตขึ้นมามากพอสมควร
บรรยากาศยามเย็น ณ จุดชมวิว ภูร่องกล้า
บ้านร่องกล้ามีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณทางแยกหมู่บ้านที่มีตลาดสินค้าที่ระลึก-ผลิตภัณฑ์ชุมชน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และตลาดนัดเด็กดอยที่ด้านหน้ามีการนำดอกกระดาษมาประดับเป็น “ต้นดอกกระดาษ(ประดิษฐ์)ใหญ่ที่สุดในโลก” เพื่อให้นักท่องเที่ยวหลายๆคนถ่ายรูป(ขณะที่นักท่องเที่ยวอีกหลายๆคนก็บอกว่าไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร? สู้นำดอกกระดาษเหล่านี้ไปจัดสวนประดับให้สวยๆงามๆเป็นมุมถ่ายรูปเก๋ๆจะน่าสนใจมากกว่า)
ยามตะวันค่อยๆเหลี่ยมเขาเมื่อมองจากจุดชมวิวภูร่องกล้า
จากที่นี่(ศูนย์บริการฯ) พี่เน้งพาผมกับคณะนั่งรถกระบะโฟร์วีลที่มีการปรับแต่งเพื่อใช้บริการนั่งท่องเที่ยวขึ้นเขาปุเรงๆขึ้นไปชมวิวตามจุดหลักๆ อาทิ จุดทุ่งดอกกระดาษที่มีการปลูกดอกกระดาษเป็นทุ่งให้ถ่ายรูปสวยงาม จุดชมวิวบ้านร่องกล้าที่มองลงไปจะเห็นทิวทัศน์แห่งขุนเขา มีการปลูกพืช ปลูกกระหล่ำ พร้อมๆกับมีทุ่งดอกกระดาษเป็นฉากหน้า
ทุ่งดอกกระดาษ ณ จุดชมวิวบานร่องกล้า
ขณะจุดที่พิเศษสุดก็เห็นจะเป็นจุดชมวิว“ภูร่องกล้า” ที่อยู่ห่างจากบ้านร่องกล้าไปประมาณ 2.5 กม.(โดยเส้นทางจากบ้านร่องกล้าเมื่อรถวิ่งไปถึงจะเจอ 3 แยก แยกขวาขึ้นยอดภูลมโล แยกซ้ายไปภูร่องกล้า)

จุดชมวิวภูร่องกล้าเป็นจุดชมวิวที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน แต่ว่ามีวิวทิวทัศน์สวยงามไม่น้อย ยามเมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์ฝั่งบ้านร่องกล้ากับทัศนียภาพอันกว้างไกลของขุนเขาและเส้นขอบโค้งถนน
ทุ่งนางพญาเสือโคร่งกับแสงสียามเย็นแห่งมุมมองจุดชมวิวภูร่องกล้า
ขณะที่ในยามเย็นที่นี่คือหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีมีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆแห่งเส้นทางท่องเที่ยวภูลมโล ซึ่งช่วงนี้มีภาพพิเศษให้ชมกับแปลงดอกนางพญาเสือโคร่งผืนใหญ่ท่ามกลางม่านฉากหลังแห่งขุนเขากับพระอาทิตย์กลมโตที่ค่อยๆเคลื่อนลาลับขอบฟ้า เปลี่ยนยามเย็นเป็นรัตติกาลที่บนท้องฟ้าเต็มไปด้วยทะเลดาวพราวเกลื่อน ชนิดที่หนุ่มใจเหงาบางคนเห็นแล้วอดที่จะฮัมเพลง “คืนที่ดาวเต็มฟ้า” ของ“ปราโมทย์ วิเลปะนะ” ขึ้นมาตอกย้ำอารมณ์เดียวดาย ปิดท้ายค่ำคืนวันแรกของทริปด้วยบรรยากาศหนาวกายและ“หนาวใจ”
ดอกกระดาษอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์แห่งบ้านร่องกล้า
พิชิตยอดภูลมโล

เช้าวันใหม่ที่ท้องฟ้ายังคงมืดมิด ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บระยับจับจิต(วัดอุณหภูมิได้ 7 องศาเซลเซียส)

ผมกับเพื่อนๆมีนัดรับตะวันกันบนยอดภูลมโลที่อยู่ห่างจากบ้านร่องกล้าไปประมาณ 6 กม. นั่งรถขึ้นไปไม่นาน แต่ว่ามันช่างหนาวทรมานน่าดู เพราะทั้งจากหนาวอากาศและหนาวลมที่พัดโชยปะทะ
รับตะวันยามเช้าผ่านยอดภูลมโล
ครั้นเมื่อถึงยังลานจอดรถตีนยอดภู พวกเราเดินขึ้นสู่ยอดเขาไปในระยะทางประมาณ 1 กม. บนเส้นทางที่ลาดชันเอาเรื่อง ก่อนจะถึงยังจุดชมวิวยอดภูลมโล ณ ระดับความสูง 1,680 เมตร บนนั้นแม้จะมีลักษณะเป็นแท่นหินเล็กๆยื่นล้ำเข้าไปในหน้าผาดูน่าหวาดเสียว แต่ว่าก็สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางม่านฉากแห่งขุนเขาได้อย่างชัดเจนสวยงาม
วิวทิวทัศน์จุดชมวิวและลานจอดรถเมื่อมองลงมาจากบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดภูลมโล
อย่างไรก็ดีใครที่จะขึ้นไปยืนถ่ายรูปชมวิวบนนี้ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าตกลงไป ทริปภูลมโล อาจจะกลายเป็นทริป“ภูลงโลง”ได้

ขณะที่ในระหว่างทางเดินขึ้นยอดภูลมโล หากมองย้อนลงมาก็จะเห็นทิวทัศน์ลานจอดรถและแนวเนินโค้งอันสวยงามของขุนเขาทางขึ้นยาวลงไปจนถึงลานจอดรถ โดยมีฉากหลังเป็นแนวทิวเขาทอดยาว
ต้นพญาเสือโคร่งเดียวดาย ณ ตุดชมวิวก้อนหินใหญ่
ส่วนที่ลานจอดรถตีนภูก็นับเป็นอีกหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดี ที่นี่จะมีคนมายืนรอชมพระอาทิตย์ขึ้นมากกว่าที่ยอดสูงสุดด้านบน เพราะไม่ต้องเดินเหนื่อย ด้านวิวนั้นก็ดูสวยงามไปอีกแบบ ยามพระอาทิตย์ขึ้นจะมียอดสูงสุดภูลมโลเป็นฉากหน้า ด้านขวาเป็นหุบเหว ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นแนวหุบเขาอันสวยงามกว้างไกล

นอกจากจุดชมวิวที่นี่แล้ว บนภูลมโลยังมีจุดชมวิวที่น่าสนใจอีก ได้แก่ที่ “ผาภูลมโล” ที่เป็นแนวผาทอดยาว มีชะง่อนหินผายื่นออกไปให้นักท่องเที่ยวไปหามุมถ่ายรูปกันหลายจุดด้วยกัน หรือที่จุดชมวิว“ก้อนหินใหญ่” ที่มีพวกมือบอนมาสลักชื่อลงบนก้อนหินไว้เพียบ บนนี้มองลงไปจะเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของหมู่บ้านในท่ามกลางหุบเขากว้างไกล ขณะที่บนถนนใกล้กับจุดชมวิวก้อนหินใหญ่ก็มี “ต้นไม้เดียวดาย” ที่เป็นต้นพญาเสือโคร่งต้นใหญ่ทอดตัวโค้งรับกับโค้งถนนดูสวยงาม จนมีคนนิยมไปถ่ายรูปคู่กับต้นไม้เดียวดายต้นนี้เป็นจำนวนมาก
ลวดลายต้นนางพญาหรือพญาเสือโคร่ง
พี่เน้งกับผมบอกว่า นี่คือต้น “พญาเสือโคร่ง” พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ตัวผู้ ไม่มีดอก ส่วนนางพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ตัวเมีย มีดอกสวยงาม ต้นไม้ทั้งคู่เป็นชนิดเดียวกัน
นกน้อยหากินในดงดอกนางพญาเสือโคร่ง
“ส่วนที่ชาวบ้านเรียกว่าพญาหรือนางพญาเสือโคร่งก็เพราะที่ลำต้นของมันจะมีลายเป็นริ้วๆดูคล้ายลายเสือโคร่ง” พี่เน้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะพาไปชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญประจำทริปกัน ณ จุดต่อไป
บรรยากาศอวลสีชมพูที่ภูลมโล
ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งบานชมพูสะพรั่งกับโค้งสุดท้ายแห่งภูลมโล

แม้ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลจะเลยช่วงพีคหรือช่วงบานเต็มที่ไปแล้ว แต่ว่าดอกนางพญาเสือโคร่งที่นี่ไม่ได้บานพร้อมกันทีเดียวหากแต่จะทยอยกันบานเป็นแปลงๆไป ดังนั้นบนภูลมโลในวันนี้หลังผ่านจุดพีคยังคงมีจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันอยู่ 2 จุดหลัก ได้แก่ ที่แปลงก้อนหินใหญ่(คนละที่กับจุดชมวิวก้อนหินใหญ่) ที่มีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันเกือบเต็มแปลงควบคู่ไปกับก้อนหินใหญ่ 2 จุดเป็นพร็อพถ่ายรูปที่มีคนแวะเวียนไปโพสต์ท่าถ่ายรูปคู่กันระหว่างก้อนหินกับฉากสีชมพูของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งกันไม่ได้ขาด
เก็บภาพความประทับใจในบรรยากาศชมพูสะพรั่ง
ขณะที่จุดชมที่เป็นไฮไลท์ที่ถือเป็นแปลงสุดท้ายแห่งฤดูกาลนี้ ก็คือที่“ภูขี้เถ้า”แนวเขาที่อยู่ห่างจากยอดภูลมโลไปประมาณ 4 กม.(ห่างจากบ้านร่องกล้าไปประมาณ 11 กม.)

ที่ภูขี้เถ้าในช่วงเวลานี้ยังคงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งสีชมพู แปลงดอกนางพญาเสือโคร่งหรือแปลงซากุระเมืองไทยที่นี่มีให้ชมกันมากถึง 3-4 แปลงติดๆกัน แถมมีมากมายหลายมุมให้เลือกชมเลือกถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นมุมบนยอดเขาที่มองลงไปเห็นทุ่งสีชมพูในเบื้องล่าง หรือมุมที่มองย้อนสวยขึ้นมาเห็นทุ่งพราวชมพูออกดอกสะพรั่งตามไหล่เขา
ความงาม 2 แห่งดอกนางพญาเสือโคร่งริมทางที่นักท่องเที่ยวบันทึกไว้
หรือมุมใต้ต้นดอกนางพญาเสือโคร่งที่มีความโรแมนติกสวยงามไม่เบา มีทั้งเป็นซุ้ม เป็นโค้ง และเป็นกลุ่มใหญ่ให้ไปนั่งโพสต์ท่าเซลฟี่กันตามความพอใจ หรือในทุ่งดอกสีชมพูที่บานเด่นอยู่ในดงเฟิร์นสีเขียว หรือหากใครจะแหงนเงยหน้ามองขึ้นไปก็จะพบกับดอกซากุระเมืองไทยสีชมพูตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสดใส ซึ่งนี่ถือเป็นดังโชว์สุดท้ายที่เกิดจากธรรมชาติสรรค์สร้างแห่งภูลมโล ก่อนที่มันจะค่อยๆร่วงโรยไปตามอายุขัย รอเวลาออกดอกผลิบานอีกทีในฤดูกาลหน้า(ปีหน้า)

ทิ้งบรรยากาศแห่งความสวยงามโรแมนติกของหุบเขาสีชมพูไว้ให้กล่าวขานถึง ท่ามกลางกระแสธารแห่งการท่องเที่ยวที่มาแรงของภูลมโลที่น่าเป็นที่จับตายิ่งว่า
นักท่องเที่ยวเริงร่าในบรรยากาศชมพูสะพรั่งที่แปลงชมนางพญาเสือโคร่งก้อนหินใหญ่
หลังจากวันนี้ที่ภูลมโลมีชื่อเสียงโด่งดังฮอตฮิตติดลมบนแล้ว ทางผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้านชาวชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จะมีแผนบริหารจัดการ รับมือ และป้องกันความเปลี่ยนแปลงที่จะถาโถมเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้อย่างไร???

เพราะถ้าต่างคนต่างกอบโกยภูลมโลอาจอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าทุกคนจริงใจภูลมโลอาจมีอนาคตที่สดใสจะยั่งยืน

ขณะที่ทางฝั่งนักท่องเที่ยวนั้นก็เช่นกัน ต้องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก เคารพสถานที่ ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด โดยเฉพาะทิ้งในแปลงทุ่งดอกไม้ที่ไม่มีคนดูแล และไม่ไปทำลายหรือเด็ดดอกไม้ลงมาเพียงเพื่อจะได้ถ่ายรูปคู่กับดอกไม้อย่างใกล้ชิดหรือแอบเด็ดขโมยกลับบ้าน การกระทำแบบนี้มันหมดยุคสมัยไปนานแล้ว ซึ่งหากใครขืนยังแอบทำ บางทีอาจถูกแอบถ่ายคลิปแชร์ในโลกออนไลน์จนโด่งดังกลายเป็น “เน็ตไอเดี้ยง” แข่งกับ“เน็ตไอดอล”ก็เป็นได้

***********************************************************************************
อีกหนึ่งมุมใต้ร่มไม้สีชมพู
ภูลมโล ตั้งอยู่ใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เดิมสามารถขึ้นไปนอนเต็นท์บนภูลมโล ณ จุดกางเต็นท์ใกล้ๆกับยอดภูได้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวทิ้งไว้ ทำให้ปัจจุบันอุทยานฯภูหินร่องกล้า ห้ามกางเต็นท์บนนั้น

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกพักได้จากชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ถ้าขึ้นทางฝั่งกกสะทอน สามารถหาที่พักแบบโฮมสเตย์ได้ที่ชุมชนกกสะทอน หรือพักที่ อ.ด่านซ้าย หรือ อ.ภูเรือ ส่วนถ้าขึ้นทางฝั่งบ้านร่องกล้า สามารถพักค้างแบบโฮมสเตย์หรือกางเต็นท์ได้ที่ชุมชนบ้านร่องกล้า หรือพักที่บ้านพักหรือกางเต็นท์ได้ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
บรรยากาศครอบครัว ณ แปลงชมดอกไม้ก้อนหินใหญ่
ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลและที่อื่นๆจะมีฤดูการบานอยู่ในช่วง ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี(แต่บางปีก็มีเริ่มบานตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.) โดยปีนี้ทุ่งนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลได้เบ่งบานเต็มที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ ณ วันนี้ภูลมโลยังคงมีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งชมกันอยู่ในปริมาณที่มากพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะสามารถชมได้ไปจนถึงราวสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. แต่หากใครจะไปชมควรสอบถามข้อมูลจากพื้นที่ก่อนเพื่อความแน่นอน

สำหรับเส้นทางขึ้นไปชมทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งบนยอดภูลมโล เป็นเส้นทางดินแดง ถนนมีหลุมร่องไม่ควรนำรถเก๋งขึ้นไป ควรใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งมีให้บริการทั้งที่ชุมชนกกสะทอนและที่ชุมชนบ้านร่องกล้า โดยที่บ้านร่องกล้าที่เป็นเส้นทางใกล้กว่าคิดค่าบริการอยู่ที่ หากนักท่องเที่ยวไม่เกิน 6 คน คิดราคา 600 บาทต่อคัน หากเกิน 6 คนคิดเพิ่มอีกคนละ 100 บาท ส่วนที่กกสะทอนซึ่งเป็นเส้นทางไกลกว่า คิดราคา ไม่เกิน 5 คน คันละ 1,500 บาท 5 คนขึ้นไป -10 คน คันละ 2,000 บาท
เดินเดียวดายใต้เงาไม้สีชมพู
สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ที่จะขึ้นทางฝั่งเลย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812,0-4281-1405 หรือที่ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน โทร. 08-8439-5725

ส่วนนักท่องเที่ยวผู้ที่จะขึ้นทางฝั่งพิษณุโลก เพชรบูรณ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานพิษณุโลก โทร. 0-5525-2742-3 หรือที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร. 0-5535-6607 กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องกล้า โทร. 08-9959-5808, 08-7838-0195




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น