xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยม“บ้านร่องกล้า” ตามล่าซากุระเมืองไทยที่ “ภูลมโล”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ภูลมโลจากพื้นที่สีแดงสู่แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรง
ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน

ไม่ว่าเมืองนี้หรือเมืองไหน

หากผู้ปกครองบ้านเมืองประพฤติชั่วช้า กดขี่ข่มเหง บ้าอำนาจ เป็นเผด็จการ ทรราช ใช้อำนาจในทางมิชอบ ทำร้ายทำลายผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ย่อมทำให้ประชาชนผู้ทนไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้

ในเมืองไทยเราหากย้อนอดีตไปเมื่อราว 40 ปีที่แล้วก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น(และดูเหมือนจะเดินมาแนวเดียวกับในยุคนี้ พ.ศ.นี้) โดย“ภูลมโล”คือหนึ่งในพื้นที่ที่(เคย)เป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐบาลกับผู้ที่มีความคิดต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) รวมไปถึงชาวบ้านธรรมดาที่ถูกรัฐบาลในยุคนั้นป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ทิวทัศน์ขุนเขาบนมุมมองจากยอดภูลมโล
ครั้นเมื่อเหตุการณ์สู้รบสงบลง ภูลมโล(และพื้นที่ใกล้เคียง)ได้ถูกหักล้างถางพง ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ จนมีสภาพกลายเป็นเขาหัวโล้นโกร๋นเตียน

จากนั้นหลังมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ทางอุทยานฯได้ทำการขอคืนพื้นที่ โดยตกลงให้ชาวม้งปลูกพืชไร่ไปกับต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันภูลมโลกลายเป็นแหล่งปลูก“นางพญาเสือโคร่ง”แหล่งใหญ่อันดับต้นๆของเมืองไทยมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ มีต้นนางพญาเสือโคร่งหลายหมื่นต้น(เดิมมีนับแสนก่อนส่วนหนึ่งจะตายไป)
ปัจจุบันภูลมโลคือแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งแห่งใหญ่ของเมืองไทย(ภาพจากแฟ้ม)
สำหรับนางพญาเสือโคร่ง เป็นต้นไม้ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น ดอกนางพญาเสือโคร่งยามเบ่งบานจะมีสีชมพูสวยงามดูคล้ายดอกซากุระที่ญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้มันจึงได้รับฉายาว่าดอก“ซากุระเมืองไทย

ยามเมื่อต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอก มันจะทิ้งใบผลิดอกเบ่งบานให้สีชมพูเต็มต้น ย้อมภูลมโลจากพื้นที่สีแดงในอดีตให้กลายเป็นขุนเขาสีชมพูอันสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ

1…

ปกติช่วงเวลาผลิดอกเบ่งบานของดอกนางพญาเสือโคร่งจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม(บวก-ลบ ประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ) แต่ปีนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งในหลายพื้นที่ได้ผลิบานก่อนเวลา(ปกติ) ไม่ว่าจะเป็นที่ ภูทับเบิก ภูหินร่องกล้า ดอยอ่างขาง รวมไปถึง“ภูลมโล” แหล่งเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งน้องใหม่มาแรงแห่งยุคนี้ พ.ศ.นี้
เส้นทางบนยอดภูลมโล
ภูลมโล ตั้งอยู่ใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มียอดสูง 1,680 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนนั้นมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

ภูลมโลเป็นภูเขาที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย การขึ้นไปเที่ยวชมบนยอดภูนั้นสามารถขึ้นได้ทั้ง 3 จังหวัด โดยเส้นทางขึ้นที่ใกล้ที่สุดก็คือขึ้นทาง “หมู่บ้านร่องกล้า” ทางฝั่งจังหวัดพิษณุโลก

บ้านร่องกล้า เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่ที่ ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย ในยุคสงครามทางความคิดต่างหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่สีแดง ชาวบ้านส่วนหนึ่งเคยเป็นมวลชนแนวร่วมของ พคท. ที่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐเพื่อความเป็นธรรม
ทิวทัศน์บ้านร่องกล้า
มาวันนี้เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น บ้านร่องกล้านอกจากจะเป็นชุมชนเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นหมู่บ้านที่เริ่มเปิดตัวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน พาไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งช่วงหน้าหนาวที่ดอกซากุระเมืองไทยผลิบานคงไม่มีที่ไหนฮอตเท่ากับภูลมโลอีกแล้ว

2…

หลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานพิษณุโลก ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าดอกนางพญาเสือโคร่งที่ ภูลมโล ในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้เริ่มผลิดอกทยอยกันเบ่งบาน ตัวผมที่ใจอยู่ราชดำเนินแต่มีโปรแกรมต้องไปทำสารคดีแถวพิษณุโลก เพชรบูรณ์ จึงขอแวะขึ้นไปตามล่าหา(ดอก)นางพญาเสือโคร่งบนยอดภูลมโลว่าจะเบ่งบานมากน้อยแค่ไหน
ณัฐวัฒน์ แซ่หว้า ผู้นำชมภูลมโล
สำหรับการขึ้นยอดภูลมโลในทริปนี้ผมใช้เส้นทางบ้านร่องกล้าโดยไปเปลี่ยนถ่ายใช้บริการรถกระบะ 4x4 ของชาวบ้านที่นั่น

งานนี้ผมโชคดีที่ได้ คุณ“ณัฐวัฒน์ แซ่หว้า” หรือ “พี่เน้ง” ชาวม้งแห่งกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านร่องกล้า มาเป็นคนพาเที่ยวชม โดยจากจุดเปลี่ยนถ่ายรถ พี่เน้งพาไปยืนชมทิวทัศน์ขุนเขาและแปลกเกษตรของหมู่บ้านที่จุดชมวิวบ้านร่องกล้า พร้อมกับเล่าถึงพืชผลงการเกษตรหลักของหมู่บ้านว่า ประกอบไปด้วย กะหล่ำปลี กาแฟ ท้อ และดอกกระดาษที่ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของหมู่บานแห่งนี้ ซึ่งนี้เริ่มมีออกดอกให้เห็นกันพอสมควรแต่ยังไม่มากหนัก เพราะยังไม่ถึงช่วงออกดอกของมันที่อยู่ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.พ.
ดอกกระดาษอีกหนึ่งสีสันแห่งบ้านร่องกล้า
จากนั้นเราพากันนั่งรถต่อไปขึ้นสู่ยอดภูลมโล ระหว่างนี้พี่เน้งได้เล่าถึงที่มาของชื่อภูลมโลว่า เขาลูกนี้มีตาน้ำไหลหายลงไปในรู ชาวบ้านเมื่อเดินป่ามาจะใช้ประโยชน์ไปตักน้ำจากตาน้ำที่นี่ สมัยก่อนชาวบ้านจึงเรียกเขาลูกนี้ว่า“ภูลงรู” หรือ “ตร๊งลงรู” ในภาษาม้งที่หมายถึง ภูเขาที่มีน้ำไหลลงรู แต่ต่อมาตอนหลังเรียกเพี้ยนจากภูลงรูเป็น “ภูลมโล”

นี่เป็นที่มาของชื่อภูลมโลจากฟากฝั่งของชาวม้งที่บ้านร่องกล้า ขณะที่ทางฝั่ง “บ้านกกสะทอน” อ.ด่านซ้าย จ.เลย นั้นมีข้อมูลที่แตกต่างกันไป กล่าวคือคำว่า ภูลมโล เป็นภาษาถิ่น(ทางฝั่งเลย) หมายถึงภูเขาที่มีลมพัดผ่านเยอะ หรือ ภูเขาที่มีลมแรงพัดผ่านตลอดทั้งปี (โล เป็นภาษาถิ่น หมายถึงมาก หรือเยอะ)

งานนี้ใครจะเชื่อข้อมูลไหนก็สุดแท้แต่ แต่ที่รู้ก็คือบนยอดภูลมโลนั้นวิวงามแต้ๆ
ยามเย็นเมื่อมองลงมาจากยอดภูลมโล
3...

จากหมู่บ้านรองกล้าสู่ยอดภูลมโลมีระยะทาง(ถนนลูกรัง)ประมาณ 6 กิโลเมตร ถ้าไม่แวะจุดไหนจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แต่ถ้าแวะก็บวกเวลาเพิ่มไปขึ้นอยู่กับว่าแวะนานไหร่

หลังพี่เน้งพานั่งรถปุเลงๆไปบนถนนลูกรังที่มีกระเด้งกระดอน โขยกกันในบางช่วง เราก็มาถึงยังแนวสันส่วนยอดของภูลมโล บนนี้มีจุดชมวิวให้เลือกแวะชม แวะถ่ายรูปกันหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นที่ “ผาภูลมโล” ที่เป็นชะง่อนหินยื่นแหลมออกไปจากหน้าผาให้นั่ง-ยืน แอ๊คท่ากันหลายจุดด้วยกัน
มุมมองยามตะวันใกล้ลาลับจากยอดภูลมโล
จากหน้าผาจุดนี้หากมองไปทางขวาจะเห็นภูหมันขาว ที่มีระดับความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถือเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาแห่งนี้ ส่วนถ้ามองไปทางซ้ายจะพบกับยอดภูลมโลตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่า

สำหรับบนยอดภูลมโลนั้นถือเป็นจุดชมวิวชั้นเยี่ยม มีทางเดินเขาขึ้นไปประมาณ 1 กม. แต่ว่าเดินเหนื่อยเอาเรื่อง บนนั้นมีชะง่อนหินเล็กๆเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนจุดชมพระอาทิตย์ตกจะอยู่บนเส้นทางเดินขึ้น ซึ่งเมื่อมองลงมาเบื้องล่างจะพบกับทิวทัศน์ความงดงามของแนวยอดภูลมโลและเทือกเขาอื่นๆ
ต้นนางพญาเสือโคร่งที่เริ่มทยอยกันออกดอกรับลมหนาว
บนภูลมโลยังมีจุดชมวิวก้อนหินใหญ่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ ที่นี่เราสามารถปีนขึ้นไปยืนชมวิวบนก้อนหินลูกยักษ์ที่ตั้งอยู่อย่างเหมาะเหม็งให้มองลงไปเห็นทิวทัศน์ของขุนเขาและหมู่บ้านที่อยู่เบื้องล่าง โดยที่ใกล้ๆกันจะมีมุมเหงาๆของต้นพญาเสือโคร่ง กับแนวถนนบนยอดภูลมโลที่ทอดตัวโค้งรับกันอย่างน่าชม

“ต้นพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ตัวผู้ ไม่มีดอก ส่วนนางพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ตัวเมีย มีดอกสวยงาม ทั้งคู่เป็นชนิดเดียวกัน” พี่เน้งบอกกับผม ก่อนจะพาไปไล่ล่าหาดอกนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกกันไปทั่วบนแนวสันยอดภูลมโล
ปีนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งบานเร็วกว่าปกติ
“ปีนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งบานเร็วมาก เร็วกว่าปกติร่วม 2 เดือนทีเดียว และคาดว่าจะบานเต็มที่ในช่วงต้นถึงกลางเดือนธันวาคม แต่ขออย่างเดียวคือฝนอย่าตกเท่านั้น เพราะถ้าฝนผิดฤดูตกลงมา ดอกของมันจะร่วง และจะผลิใบขึ้นมาแทนอย่างในปีที่แล้ว”

พี่เน้งบอกกับผม ก่อนพาเดินชมดอกซากุระเมืองไทย ที่แม้ในช่วงที่ไปดอกซากุระจะเริ่มทยอยบานกันแบบประปรายราว 5-10 % แต่นี่ก็ถือเป็นโลกสีชมพูน้อยๆ ซึ่งอีกไม่นานราวกลางเดือน ธ.ค. จะกลายเป็นโลกสีชมพูที่สะพรั่งพราวเต็มขุนเขา
คาดว่าปีนี้ราวกลาง ธ.ค. ดอกนางพญาเสือโคร่งจะเบ่งบานเต็มต้น(ภาพจากแฟ้ม)
อย่างไรก็ดีเหตุที่ดอกนางพญาเสือโคร่งปีนี้บานเร็วกว่าปกตินั้น มีคนให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป

บ้างก็ว่าเป็นเพราะปีนี้ฤดูหนาวมาเร็ว

บ้างก็ว่ามันอั้นมาจากครั้งที่แล้ว เพราะครั้งที่แล้วออกดอกบานไม่มาก

ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมฟังแล้วสนใจยิ่งก็คือ ข้อสันนิษฐานที่ว่า

หรือเป็นเพราะธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างต่อมนุษย์

*****************************************
ลีลานางพญาเสือโคร่ง
ภูลมโลนอกจากมีไฮไลต์คือดอกนางพญาเสือโคร่งในช่วงหน้าหนาวแล้ว ยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์อีกหลากหลาย ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่เด่นๆก็เช่น ภูร่องกล้า ภูทับเบิก อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ลานหินปุ่ม ลานหินแตก ผาชูธง น้ำตกหมันแดง เป็นต้น

ทั้งนี้การขึ้นภูลมโลในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดทางบ้านร่องกล้า ฝั่ง จ.พิษณุโลก โดยกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องกล้า ได้มีรถกระบะ 4x4 ไว้บริการเปลี่ยนถ่ายในราคา 600 บาทต่อคัน ไม่เกิน 6 คน แต่หากเกิน 6 คน จะคิดเพิ่มอีกคนละ 100 บาท
ลีลาซากุระเมืองไทย
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พี่เน้ง 08-9959-5808 พี่ป๋อ 08-7838-0195 อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 0-5535-6607 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชื่อมโยงกับภูลมโล บ้านร่องกล้า อช.ภูหินร่องกล้า รวมไปถึงที่พัก ร้านอาหาร การเดินทางได้ที่ ททท.สำนักงานพิษณุโลก 0-5525-2742-3
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น