ก่อนจะมาเป็นกรุงเทพมหานครที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ พื้นที่ที่เราอยู่กันนี้ได้ผ่านเหตุการณ์และประวัติศาสตร์มามากมาย มีผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายภาษาเข้ามาตั้งรกรากอยู่รวมกัน และผสมกลมกลืนกลายเป็นคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็ยังหลงเหลือหลักฐานความเป็นมาให้เราได้เห็นอยู่บ้างในย่านเก่าแก่ต่างๆ
อย่างที่ย่าน “ท่าดินแดง” ในเขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี นั้นก็ถือว่าเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเช่นกัน เพราะมีหลักฐานการมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยพื้นที่แถบนี้เป็นจุดแวะพักสำหรับเรือสินค้าที่จะเดินทางจากปากแม่น้ำเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากการเดินทางผ่านย่านนี้ต้องใช้เวลามากตามลักษณะความคดโค้งของแม่น้ำ
มาถึงในช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ย่านนี้ก็ยังถือว่าเป็นทำเลทองของการค้าและการอุตสาหกรรมในยุคแรก เพราะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ย่านท่าดินแดงลงไปจนถึงปากน้ำนั้นเป็นที่ตั้งของโรงงานและกิจการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงสีข้าว โรงเลื่อย โกดังสินค้า หรืออู่ต่อเรือ เนื่องมาจากทำเลที่ตั้งเหมาะสมกับการขนส่งสินค้าทางน้ำ
ส่วนการค้าขายนั้น ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในย่านนี้ส่วนมากจะเป็นชาวจีน และชาวมุสลิมจาแหลมมลายู แต่ภายหลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงเปิดทำการค้ากับชาวตะวันตก ก็ทำให้มีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากในบริเวณนี้มากขึ้น
ปัจจุบันนี้ “ท่าดินแดง” ก็ยังคงเป็นย่านค้าขายที่สำคัญอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะเป็นจุดเชื่อมต่อจากย่านชุมชนชาวจีนเก่าแก่อย่างเยาวราช และย่านการค้าอย่างสำเพ็ง-พาหุรัด โดยจะเชื่อมต่อกันบริเวณท่าเรือท่าดินแดง ที่มีบริการเรือข้ามฟากระหว่างท่าเรือราชวงศ์-ท่าเรือท่าดินแดง หากมานั่งสังเกตการณ์ จะเห็นว่ามีผู้คนใช้บริการเรือข้ามฟากอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน
หากออกมาจากท่าเรือแล้วตรงมาที่ถนนท่าดินแดง ทางขวามือจะเห็น ศาลพระศิวะ ตั้งเด่นเป็นสง่า ให้ผู้คนได้เข้าไปสักการะกัน ซึ่งเมื่อได้สักการะองค์พระศิวะแล้ว ก็สามารถเดินเล่นเลียบเรื่อยไปตามทางเดินริมถนน โดยตลอดระยะทางก็จะมีร้านค้าร้านอาหารตั้งอยู่เรียงราย
เดินตรงมาอีกหน่อยก็จะเห็น ศาลเจ้าซำไนเก็ง อันเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2390 โดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ เมื่อเดินเข้าไปด้านในศาลเจ้า จะเห็นองค์ประธานด้านในคือ เทพซำไนเซียนเนี้ย 3 องค์ ประกอบด้วย หลิน (แซ่ลิ้ม) เซียนเนี้ย, เฉิน (แซ่ตั้ง) เซียนเนี้ย และหลี่ (แซ่ลี้) เซียนเนี้ย นอกจากนี้ยังมีเทพองค์สำคัญที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือประดิษฐานอยู่ภายในอีกด้วย
อย่างที่บอกไว้ว่าย่านท่าดินแดงยังคงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่ค้าขายมาอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ก็ยังจะเห็นได้ว่าตลอดสองข้างทางริมถนนท่าดินแดงจะมีร้านค้าเปิดขายอยู่ โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีอาหารอร่อยๆ น่าลิ้มลอง และมีร้านอาหารที่เป็นตำนานอยู่หลายร้าน (คลิก!! อ่านเรื่องกินในย่านท่าดินแดง)
นอกจากนี้ที่ย่านท่าดินแดงก็ยังมี ตลาดสดท่าดินแดง ที่เปิดขายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป ซึ่งภายในตลาดก็ยังมี ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ตั้งอยู่ด้วย โดยเป็นที่เคารพสักการะของพ่อค้าแม่ค้า และชาวบ้านในย่านท่าดินแดงแห่งนี้
เดินสำรวจในบริเวณท่าดินแดงแล้วจะเห็นว่ามีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่รวมกัน ทำมาหากินร่วมกันอย่างสงบสุข ที่สำคัญ “ท่าดินแดง” ยังเป็นพื้นที่ค้าขายที่เดินทางได้สะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ มีทั้งของใช้และของกินอย่างครบครัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางมาที่ “ท่าดินแดง” ทางเรือ สามารถโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าเรือราชวงศ์ จากนั้นขึ้นเรือข้ามฟากมายังฝั่งท่าดินแดงได้เลย ส่วนรถประจำทาง จะมีสาย 20 วิ่งเข้ามาที่ถนนท่าดินแดง มาสุดที่ท่าน้ำท่าดินแดง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com