xs
xsm
sm
md
lg

“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีรถไฟตลาดพลู
การเป็นย่านเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว ทำให้ย่านนั้นมีประวัติศาสตร์ มีสถานที่ที่มีความสำคัญ และกลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายรุ่น เหมือนอย่างที่ “ย่านตลาดพลู” เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“ตลาดพลู” มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ซึ่งพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงแห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แต่เมื่อมีการย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร ก็มีชาวจีนบางส่วนย้ายบ้านไปอยู่แถวย่านสำเพ็ง และมีชาวมุสลิมเข้ามาอยู่แทนที่

จากนั้น ชาวมุสลิมก็เริ่มทำสวนพลูขึ้นในพื้นที่แถบนี้ และมีการขยับขยายมาปลูกสวนพลูกันทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนอย่างแพร่หลาย จนพื้นที่แถบนี้กลายเป็นตลาดซื้อขายพลูขึ้นมา และเกิดชุมชนที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “ตลาดพลู” มานับแต่บัดนั้น
ขบวนรถไฟที่เข้าจอดที่สถานีตลาดพลู
ตลาดพลูในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท ฝั่งธนบุรี มีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นย่านเก่าแก่ เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นตลาด มีวัดวาอาราม เป็นสถานีรถไฟ และที่สำคัญ เป็นแหล่งของอร่อยที่หลายๆ คนรู้จักกันดี นั่นก็คือ กุยช่ายตลาดพลู (คลิก!! อ่านเรื่องกินย่านตลาดพลู)

พูดถึงเรื่องการเป็นสถานีรถไฟ ในปัจจุบันนี้ “สถานีรถไฟตลาดพลู” ก็ยังถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟสายแม่กลอง ที่ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ที่เป็นต้นทางไม่มากนัก ทุกวันนี้ยังมีขบวนรถไฟที่ขนส่งทั้งคนและสิ่งของผ่านเข้าออกอยู่ทุกวัน ตัวสถานีจึงยังพอมองเห็นความคึกคักอยู่เสมอ

และใกล้ๆ กับตัวสถานีรถไฟ ทั้งบริเวณริมทางรถไฟ และริมถนน ก็ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอร่อยๆ อีกหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง อาหารตามสั่ง ร้านขนมหวาน เป็นต้น โดยเฉพาะร้านขายกุยช่ายเจ้าดัง ที่คนซื้อต้องมายืนรอต่อแถว ก็อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนี่เอง
ริมถนนในย่านตลาดพลูมีร้านอาหารตั้งขายอยู่มากมาย
นอกจากสถานีรถไฟตลาดพลูแล้ว บริเวณนี้ก็ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง แต่ที่ใกล้ๆ กันนั้นก็คือวัด ที่ตั้งอยู่เรียงกันถึง 3 วัด เริ่มจาก “วัดราชคฤห์วรวิหาร” หรือวัดบางยี่เรือใน หรือบางคนจะเรียกว่าวัดบางยี่เรือมอญ นั่นก็เพราะวัดแห่งนี้ถูกสร้างโดยนายกองมอญในสมัยอยุธยา ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระยาสีหราชเดโช หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พระยาพิชัยดาบหัก นั่นเอง

มาถึงวัดราชคฤห์ ต้องมาสักการะ “พระพุทธรูปนอนหงาย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนอนหงาย พระเศียรหนุนพระเขนย พระกรทั้งสองข้างแนบพระองค์ หลับพระเนตร และมีพระมหากัสสัปปะนั่งพนมมืออยู่ที่พระบาท ซึ่งตามพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ศิษยานุศิษย์ก็ได้นำพระสรีระของพระองค์มาถวายพระเพลิง แต่พระสรีระของพระองค์ไม่ยอมติดไฟ เนื่องจากพระองค์ต้องการจะรอให้พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงเสียก่อน
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ประดิษฐานในวัดราชคฤห์
ส่วนบริเวณกลางวัดจะมีเจดีย์สององค์ องค์แรกคือ “พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก” ที่ตามประวัติศาสตร์นั้นท่านได้ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินไปด้วย ส่วนเจดีย์ใกล้ๆ กันนั้น คือ “เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ” โดยพระบรมสารีริกธาตุนี้อัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย

นอกจากนั้น หากใครเคยนั่งรถผ่านวัดราชคฤห์บนถนนเทอดไท ก็คงจะเห็นสิ่งก่อสร้างที่ลักษณะคล้ายภูเขาตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด สิ่งก่อสร้างที่ว่านั้น ที่จริงแล้วเรียกว่า “เขามอ” หรือภูเขาจำลองที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน และบนยอดเขามอนั้นก็มีพระมณฑป ซึ่งภายในมีพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ สามารถขึ้นไปกราบไหว้ด้านบนได้
พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก และ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
จากวัดราชคฤห์ เดินตรงไปผ่านตลาด ก็จะเป็น “วัดจันทารามวรวิหาร” ชื่อเดิมคือวัดบางยี่เรือกลาง หรือ วัดกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่าง 2 วัด คือวัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือใน) และ วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือนอก)

วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมายาวนานเกินกว่าร้อยปี พระอุโบสถสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2517 ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบจีน เป็นเครื่องสูงของจีนที่เขียนขึ้นอย่างประณีต
พระประธานในพระอุโบสถ วัดจันทาราม หรือ วัดกลาง
อีกวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กันก็คือ “วัดอินทารามวรวิหาร” หรือวัดบางยี่เรือนอก วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่และถือว่ามีความสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงธนบุรี โดยหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่จะทรงบูรณะวัดแห่งนี้เท่านั้น พระองค์ยังทรงเสด็จมาประกอบพระราชกุศล และปฏิบัติกรรมฐานอยู่เสมอๆ โดยยังมีพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัดด้วย

เมื่อเดินเข้าไปภายในวัดแล้วก็จะเห็นพระอุโบสถหลังใหญ่ เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธชินวร พระประธานสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถ ก็จะมีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินในท่าประทับนั่ง มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา
พระอุโบสถ วัดอินทาราม
เดินมาด้านหลังวัดที่ติดกับคลอง จะพบกับ “พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี” เป็นเจดีย์สององค์ที่ตั้งอยู่เคียงกันเป็นสีทองอร่าม ด้านหลังคือพระอุโบสถหลังเก่า ภายในมีพระประธานซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้นบรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไว้ด้วย

ส่วนด้านข้างกันก็มี “วิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยด้านหน้าวิหารมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระแสงดาบชูขึ้นฟ้า ลักษณะเดียวกับพระบรมรูปตรงวงเวียนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนภายในพระวิหาร มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ และยังมีแท่นพระบรรทมไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระราชอาสน์สำหรับประทับแรมทรงศีลและทรงกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และยังมีพระบรมรูปจำลองขณะที่พระองค์กำลังทรงกรรมฐานอยู่ด้วย
พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระอัครมเหสี
หลายคนอาจจะรู้จักย่านตลาดพลูเพราะมีอาหารอร่อย หลายคนเคยมายืนรอต่อคิวซื้อกุยช่ายเจ้าดัง แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักย่านนี้ ขอแนะนำให้ลองมาเดินเล่น แวะไหว้พระทำบุญ เดินตลาด รวมถึงหาซื้อของอร่อยกลับไปกินที่บ้านด้วย จะได้มาสัมผัสและทำความรู้จักกับย่านตลาดพลูแห่งนี้แบบเข้าถึง
ภายในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทางมาย่านตลาดพลู สามารถใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีตลาดพลู แล้วต่อรถกระป๋องมาลงที่ตลาดพลูได้ ส่วนรถโดยสารประจำทางมีสาย 4, 9, 43, 111, 175
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น