xs
xsm
sm
md
lg

ชมนานาเหรียญแปลกตา พร้อมชมเหรียญใส่ดีเอ็นเอ ที่ “พิพิธภัณฑ์เหรียญ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริเวณด้านหน้าอาคาร “พิพิธภัณฑ์เหรียญ”
เงินเท่านั้นเสกสรรให้เราได้สบาย ทุกคนเป็นใหญ่ได้ด้วยเงิน เงินๆๆ ผู้คนบูชา .... เนื้อเพลงคุ้นหูของใครหลายคน ที่ฉันร้องเพลงเงิน เงิน เงิน ให้ฟังในครั้งนี้ ก็เพราะวันนี้ฉันจะไปเที่ยวที่ “พิพิธภัณฑ์เหรียญ” พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของเมืองกรุง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเงินๆๆๆ ให้ได้รับเรียนรู้ถึงความเป็นมาของเหรียญชนิดต่างๆ หรือไม่ ที่เราใช้จ่ายเป็นเงินในชีวิตประจำวัน อีกทั้งฉันก็จะมาดูว่าที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะมีเหรียญ 10 บาทปี พ.ศ. 2533 ที่เพิ่งเป็นข่าวโด่งดังอยู่ด้วยหรือไม่

เมื่อมาถึงฉันก็มุ่งหน้าเข้าสู่อาคารสีเหลืองที่ทอดยาวอยู่ด้านหน้า เมื่อครั้งอดีตอาคารแห่งนี้เป็นอาคารสำนักงานบริหารเงินตราเดิม และถูกปรับปรุงโดยกรมธนารักษ์ เพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เหรียญ แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ของจุดกำเนิดของการใช้เหรียญ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเหรียญในปัจจุบัน
ภายใน “พิพิธภัณฑ์เหรียญ” ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกตกแต่งไว้อย่างเรียบง่ายและสวยงาม และฉันก็ไม่รอช้ารีบเดินเข้าไปติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ และทราบว่าทางพิพิธภัณฑ์เหรียญจะเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆ ทุกๆ 20 นาที รอบแรกจะเริ่มเวลา 10.00 น. และรอบสุดท้าย 17.00 น. ซึ่งในเวลาที่ฉันมาก็ตรงกับรอบ 16.20 น.
ห้องนิทรรศการ “ปฐมบทแห่งเงินตรา” ตื่นเต้นไปกับแอนิเมชัน 4ดี 360องศา
เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ให้บัตรคิวกับฉันที่จะเริ่มต้นการทัศนาในครั้งนี้ ซึ่งฉันก็มีผู้ร่วมชมคือน้องๆ นักเรียน และผู้ที่มาชมคนอื่นๆ ด้วย เมื่อได้ยินประกาศเมื่อถึงรอบในการรับชม ก่อนอื่นก็จะต้องนำบัตรคิวไปให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ผู้ที่จะพาเราไปทัศนาและอธิบายนิทรรศการต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้

หลังจากฟังคำบรรยายถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งและข้อควรปฏิบัติต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็จะพาเราไปไปสู่ห้องนิทรรศการถาวรห้องแรกที่มีชื่อว่า “ปฐมบทแห่งเงินตรา” เมื่อเข้ามาแล้วนั้นก็จะพบกับบรรยากาศที่ถูกตกแต่งให้คล้ายกับถ้ำยุคโบราณ โดยผู้เข้าชมทุกคนรวมถึงฉันก็จะไปนั่งบนกองหินตรงกลางห้อง ซึ่งห้องนี้จะเป็นการจัดแสดง จุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนในสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีการใช้สื่อกลางเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และอธิบายมาถึงการพบโลหะที่นำไปสู่การพัฒนาวัสดุที่ใช้แลกเปลี่ยน โดยจะฉายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน 4 มิติ 360 องศารอบตัว ทำเอาฉันและผู้ร่วมคณะตื่นเต้นไปตามๆ กัน
เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์กำลังอธิบายวิวัฒนาการเงินตรา
เสร็จจากการชม เจ้าหน้าที่ก็จะพาเดินมายังห้องถัดไป ที่มีชื่อว่า “เส้นทางวิวัฒนาการเงินตรา” ในห้องนี้จัดแสดงวัตถุที่ถูกนำมาเป็นสื่อกลางในการแลกซื้อสินค้าเมื่อครั้งอดีต และวิวัฒนาการจนกระทั่งมาเป็นเงินเหรียญ โดยเจ้าหน้าที่อธิบายว่า

“ทำไมแต่ละท้องที่จะมีการใช้สิ่งของในการแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมือนกัน โดยส่วนมากก็จะใช้วัตถุที่หาได้ในท้องถิ่นของตัวเอง และนำมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ชาวเกาะทะเลใต้จะใช้ “เงินขนนก” ชาวอินเดียนแดงในอเมิรกาเหนือจะใช้ “เข็มขัดเปลือกหอย” ในการนำมาแลกเปลี่ยนหรือทำสัญญาค้าขาย จนมีการนำโลหะมาทำให้เกิดเป็นมูลค่า และพัฒนาเรื่อยมา จนกลายเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในปัจจุบัน”
“หอยเบี้ย” เงินตราสากลในยุคโบราณ
ที่โดดเด่นที่สุดในห้องนิทรรศการห้องนี้ ก็คงจะเป็น “หอยเบี้ย” เงินตราสากลในยุคโบราณ ที่ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันอย่างแพร่หลายในชายฝั่งทวีปอเมริกา อินโด - แปซิฟิก จนถึงแอฟริกา รวมถึงในประเทศไทย โดยพบว่ามีการซื้อขายโดยใช้หอยเบี้ยมามากกว่า 4 พันปี ซึ่งเจ้าหอยชนิดนี้ชั้นได้อ่านจากป้ายอธิบายที่เขียนไว้ว่า หอยเบี้ยนั้นเป็นเปลือกหอยทะเลชนิดกาบเดี่ยวที่ประกบเข้าหากันบริเวณกึ่งกลาง ด้านบนโปร่งโค้งด้านล่างแบน มีมากกว่า 200 ชนิด พบบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำอุ่นในส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนใหญ่พบมากในหมู่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเปลือกหอยที่สำคัญเมื่อครั้งยุคโบราณ และยิ่งระยะทางห่างจากแหล่งผลิตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้มูลค่าของหอยเบี้ยแพงมากขึ้นเท่านั้น
“เงินก้อนหิน” เงินขนาดใหญ่มหึมา
ที่ฉันสะดุดตามากที่สุดก็คือ “เงินก้อนหิน” เงินโบราณขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีลักษณะเป็นก้อนหินแบนกลมเจาะรูตรงกลาง โดยเป็นเงินโบราณของชาวเกาะแยปในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ชาวเกาะแห่งนี้ใช้เงินก้อนหินในการสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ที่แปลกก็คือหินที่นำมาทำเป็นเงินนั้น คือหินปูนที่ไม่มีอยู่บนเกาะ แต่ชาวเกาะได้นำหินชนิดนี้มาจากเกาะปาเลาที่อยู่ไกลกว่า 400 ไมล์ทะเล ระยะอันห่างไกลจึงทำให้หินเกิดเป็นมูลค่าและถูกใช้เป็นวัตถุแลกเปลี่ยนของผู้คนบนเกาะ
บรรยากาศภายใน “ห้องนิทรรศการหมุนเวียน”
เมื่อได้รับรู้เรื่องราวของวิวัฒนาการของเงินมาแล้ว ก็มาทัศนาต่อในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียน ที่ได้จัดแสดงโดยแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อาทิ ส่วนจัดแสดง “เงินตรา นักเดินทางแห่งสุวรรณภูมิ” ที่ได้จัดแสดงเหรียญเงินในสมัยฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัยให้ได้ชม เหรียญเหล่านี้เป็นเหรียญที่ปรากฎในพื้นที่ของประเทศไทยเมื่อครั้งยังเป็นอาณาจักรโบราณ
เงินพดด้วง 2 ตำลึง เท่ากับสมาร์ทโพน 1 เครื่อง
ส่วนจัดแสดง “เงินพดด้วง” ที่ได้จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการในการใช้เงินพดด้วงเงินตราของประเทศไทยเมื่อครั้งอดีต ที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในแลกเปลี่ยนมาอย่างเวลายาวนาน ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเงินพดด้วงนั้น ทำจากเงินบริสุทธิ์ตามน้ำหนักพิกัดของราคา โดยจะมีลักษณะคล้ายลูกปืนโบราณ ปลายทั้งสองข้างจะงอเข้าหากัน และมีตราประทับ 2 ดวง คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล และฉันก็ยังรู้อีกว่า สมาร์ทโฟนที่ผู้คนนิยมใช้ในปัจจุบันเทียบกับเงินพดด้วงเท่ากับ 2 ตำลึง
เด็กๆ ให้ความสนใจเหรียญของชาติต่างๆ ในส่วน “นิทรรศการเหรียญนานาชาติ”
ส่วนจัดแสดงที่เด็กๆ เพื่อนร่วมทัศนาในรอบนี้ของฉันชอบกันนั้น ก็คือส่วนจัดแสดง “เหรียญนานาชาติ” ที่นำเหรียญมูลค่าต่างๆ ของนานาประเทศมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญจากประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ โดยเหรียญของแต่ละประเทศนั้น ก็มีจะเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกันออกไป รูปร่างลักษณะแปลกตา ซึ่งน่าสนใจจนทำเอาเด็กๆ ตื่นเต้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เหรียญมูลค่าต่างๆ ของสหราชอาณาจักร
เหรียญบรรจุรหัสพันธุกรรม ที่ส่วน “นิทรรศการเหรียญโดดเด่นด้านนวัตกรรม”
สำหรับฉัน ฉันชอบในส่วนจัดแสดง “เหรียญที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม” ซึ่งได้มีการนำเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นด้วยนวัตกรรมยุคโลกาภิวัตน์ จากหลายๆ มาจัดแสดงให้ได้ชม เช่น เหรียญมูลค่า 2,000 ฟรังก์ จากประเทศสาธารณรัฐคองโก ซึ่งเป็นเหรียญแรกของโลกที่มีการสกัดดีเอ็นเอต้นแบบ เอามาเก็บไว้ในเหรียญ โดยได้บรรจุอยู่ในขวดแก้วขนาดเล็ก ดีเอ็นเอได้มาจาก “เจ้าอเบย์” เสือชีตาห์ประจำสวนสัตว์บรุนส์วิดส์ ซึ่งหน้าตาของเจ้าเสือก็ได้สลักไว้บนเหรียญให้ได้เห็น และดีเอ็นเอก็คือเส้นสีฟ้าๆ ในขวดแก้วภายในเหรียญ ทำเอาชั้นทึ่งไปเลยทีเดียวกับนวัตกรรมการผลิตเหรียญในยุคนี้
1 ใน 8 เหรียญย้อมสีจากประเทศเบลารุส สวยงามสดใส
และที่ฉันชอบที่สุดก็คงจะเป็นเหรียญย้อมสีจากประเทศเบลารุส แต่ละเหรียญมีมูลค่า 10 รูเบิล โดยเป็นเหรียญย้อมสีรูปสลักดอกไม้นานาพรรณ จำนวน 8 เหรียญ ซึ่งดูแล้วสีสันสดใส จนฉันอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้างเวลาใช้เงินคงสดใสน่าดู
ห้องนิทรรศการ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ประติรูปเหรียญกษาปณ์ไทย”
เสร็จจากการชมในส่วนนิทรรศการหมุนเวียนแล้ว ฉันก็ไม่พลาดที่จะมาชมห้องนิทรรศการ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ปฏิรูปเหรียญกษาปณ์ไทย” โดยจัดแสดงถึงเรื่องราวการปฏิรูปเงินตราในรัชสมัยของพระองค์ ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สั่งเครื่องทำเหรียญกษาปณ์เข้ามา เพื่อทดแทนการผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคน ที่ไม่สามารถจะผลิตได้ทันความต้องการ
 
เสร็จจากการชมแล้วหากใครกำลังมองหาของที่ระลึก ทางพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีห้องจำหน่ายที่ระลึกให้ได้เลือกชมเลือกซื้อกันได้อีกด้วย และที่ฉันอยากจะขอย้ำว่า พิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้ได้เปิดให้เข้าชมฟรี! จนถึงวันที่ 30 กันยายนปีนี้ หากใครสนใจแล้วก็อย่ารอช้าที่จะมาเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กัน ที่ที่จะทำให้คุณรู้ถึงประวัติความเป็นมาของเหรียญที่ถูกใช้เป็นเงินในปัจจุบัน
สินค้าที่ระลึก มีให้ชมให้เลือกซื้อ ที่ “ห้องจำหน่ายของที่ระลึก”
**********************************************************************************************************************

พิพิธภัณฑ์เหรียญ ตั้งอยู่ที่ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม อยู่ใกล้กับวัดชนะสงครามและตรอกข้าวสาร
การเดินทาง รถโดยสารประจำทางสาย 3,6,15,32,33,54,56,64,65 รถยนต์ส่วนตัวสามารถนำมาจอดไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี

พิพิธภัณฑ์เหรียญ เปิดให้บริการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) เปิดให้เข้าชมเป็นรอบทุกๆ 20 นาที รอบแรกเวลา 11.00 น. รอบสุดท้าย 17.00 น. ราคาบริการ 50 บาท (ทั้งชาวไทยและต่างชาติ) เด็กสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร, นักศึกษาในเครื่องแบบไม่เกินระดับปริญาตรี, ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีเข้าชมฟรี พระภิกษุ-สามเณร แสดงบัตรเข้าชมฟรี

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมพิพิธภัณฑ์เหรียญ โทร.0-2282-0818-19

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น