กลายเป็นกระแสในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อประกาศรับซื้อเหรียญ 10 บาทสองสีปี 2533 ในราคา 1 แสนบาทถูกแชร์ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ร้อนถึงกรมธนารักษ์ต้องออกมายืนยันข้อมูล กลายเป็นดรามาในวงการนักสะสมที่หลายคนสับสนกับข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย
เหรียญ 10 บาทสองสีปี 2533 มีเพียง 100 เหรียญจริงหรือ? หรือเป็นของหายากนักสะสมเล่นกันราคาสูงกว่านั้น กระแสเหรียญ 10 ปลุกให้ผู้คนหันมาสนใจวงการสะสมเหรียญกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ชวนให้สงสัยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดเหล่านี้อาจเป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งที่ให้ผลเกินคาดคิดเท่านั้น!
มหากาพย์เหรียญ 10 ปี 33
จุดเริ่มของกระแสเหรียญ 10 บาท ปี 2533 มาจากหน้าเพจร้านรับซื้อของเก่าชื่อ “ร้านปาหนัน จิวเวลรี” ซึ่งแต่เดิมนั้นมียอดไลค์อยู่เพียง 172 ไลค์เท่านั้น แต่หลังจากเพจดังกล่าวมีการลงภาพประกาศ “รับซื้อเหรียญ 10 บาท พ.ศ. 2533 ในราคา 100,000 บาท” ซึ่งได้รับการแชร์ส่งต่อกันไปมากกว่าหนึ่งหมื่นแชร์ มากกว่าโพสต์ก่อนหน้าหลายเท่าตัวด้วยกัน ยอดไลค์ในหลักร้อยต้นๆก็ขึ้นไปถึงหลักพันปลายๆ ยอดไลค์เพจพุ่งทะยานเพียง 3 วันขึ้นไปถึง 6 หมื่นไลค์
สาเหตุที่เหรียญ 10 บาทปี 2533 มีราคาซื้อที่สูงนั้นมาว่า เหรียญ 10 ปีดังกล่าวนั้นถูกผลิตเพียง 100 เหรียญสำหรับจัดแสดงโชว์ในต่างประเทศเท่านั้น ขณะที่ปีอื่นๆ มีผลิตไม่ต่ำกว่าเป็นจำนวนนับล้านเหรียญ
หลังจากประกาศออกมาและกลายเป็นกระแสจนคนพูดถึง สิ่งที่ตามมาคือการปลอมแปลงเหรียญ 10 บาทปี2537 ให้เป็นเหรียญ 10 บาทปี 2533 โดยการขูดให้หางของ 7 กลายเป็นเลข 3 เกิดเป็นภาวะที่ตลาดตื่นตัวไปด้วยของปลอมที่แพ้ระบาดขึ้นมา อีกกระแสในโลกออนไลน์ที่คนนำกรณีรับซื้อเหรียญ 10 บาทปี 2533 มาล้อเลียนเป็น “รับซื้อเหรียญ 10 บาท ทุกปีในราคา 8 บาท” ก็ยิ่งสร้างกระแสให้โหมแรงมากขึ้น
จากคนที่ไม่สนใจก็เริ่มรับรู้กระแสที่เกิดขึ้นจนสื่อหลักหันมาเล่นข่าวถึงขั้น นริศ ชัยสูตรอธิบดีกรมธนารักษ์ต้องออกโรงสยบกระแสด้วยการออกมาให้ข่าวว่า เหรียญ 10 บาทปี 2533 นั้นมีผลิตออกมา 53 ล้านเหรียญเป็นปกติ แต่ในมุมของนักสะสมนั้นก็มีการพูดกันว่า งานนี้ต้องมีคนหน้าแตกแน่ๆ
กระแสดังกล่าวทำเอาคนไทยหลายคนหันมาแคะกระปุกตรวจดูเหรียญของตัวเอง เพราะนอกจากเหรียญ 10 บาทปี 2533 แล้ว ยังมีการรับซื้อเหรียญ 1 บาทปี 2529 ในราคาเหรียญละ 80 บาทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสับสนของข้อเท็จจริงที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งในแวววงนักสะสมที่ข้อมูลเหล่านั้นกลายเป็นเท็จจากการออกมายืนยันข้อมูลของอธิบดีกรมธนารักษ์ ยังมีปรากฏภาพเหรียญ 10 บาทอีกรุ่นที่มีเลขพ.ศ. 2533 ระบุไว้และซื้อ - ขายในราคาไม่แพงอีกด้วย
นอกจากข้อมูลอีกด้านที่ถูกแชร์กันมากก็คือ ข้อมูลจากนักสะสมเหรียญรายหนึ่งที่เผยว่า เหรียญ10 บาทปี 2533 นั้นมีการซื้อ - ขายกันในราคาสูงกว่าหลักแสน การออกมาประกาศรับซื้อครั้งนี้อาจเป็นเพียงการกระตุ้นตลาดเพื่อปล่อยเหรียญปลอมไปให้กับมือใหม่ที่หวังรวยทางรัด พอมือใหม่รับซื้อแล้วมาขายที่ร้าน ร้านก็สามารถปฏิเสธได้โดยอ้างว่าเป็นของปลอม หลากหลายข้อมูลเหล่านี้นำพาให้เหล่าหน้าใหม่ที่พึ่งเข้ามาสนใจวงการสะสมเหรียญต่างอยู่ในความสับสน
กระทั่งท้ายที่สุดกรมธนารักษ์ก็ออกข่าวอีกครั้งโดยเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับนักสะสมว่า เหรียญ 10 บาท สองสี ปี 2533 มีผลิตเพียง 100 เหรียญนั้นเป็นเรื่องจริงพร้อมให้เหตุผลว่า แม้ปกติการผลิตเหรียญในแต่ละปีจะมีขึ้นไม่ต่ำกว่าจำนวนล้านเหรียญ ทว่าในปีดังกล่าวนั้นอาจมีการผลิตน้อยลงเพราะปีก่อนหน้ามีการผลิตเหรียญในจำนวนที่มากเกินกว่าการใช้งานแล้ว ความสับสนในการตรวจข้อมูลนั้นอาจมาจากยอดการสั่งเหรียญเปล่าในหลักล้านเหรียญมาผลิตเป็นเหรียญต่างๆ แต่ไม่แน่ว่าจะเป็นเหรียญ 10
นอกจากนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์ยังยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมหลังสอบถามจากอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ในสมัยนั้นก็พบว่า เหรียญ 10 บาทปี 2533 นั้นมีผลิตเพียง 100 เหรียญจริงๆ และผลิตขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานเหรียญกษาปณ์ในประเทศอังกฤษโดยเป็นไปเพื่อให้ทราบว่าประเทศไทยผลิตเหรียญ 10 บาทแล้ว เพราะสมัยก่อนยังมีการใช้ธนาบัตร 10 บาทกันอยู่
“คิดว่าเหรียญ 10 บาทปี 2533 คงหายากในไทย เพราะนำไปแจกในเวลานั้นเกือบหมด ส่วนใหญ่น่าจะไปอยู่ในมือนักสะสมในต่างประเทศ และก็ยังไม่แน่ใจว่าในกรมจะยังมีเหลือหรือไม่ โดยการนำเข้าเหรียญดังกล่าวในช่วงปี 2532-2533 เพื่อเตรียมพร้อมว่าไทยจะเลิกใช้แบงก์ 10 ครับ”
แต่ผลจากกระแสเหรียญสะสมก็ทำให้เหรียญ 10 บาทปี 2533 ปลอมแพร่กระจายออกไปทั่ว “ร้านปาหนัน จิวเวลรี” ต้นชนวนของกระแสทั้งหมดก็ออกประกาศยุติการรับซื้อเหรียญ 10 บาท ปี 2533 ในราคา 100,000 บาทแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ประกาศรับซื้อเหรียญของตนทำให้เกิดมิจฉาชีพขึ้น ทั้งยังทำให้คนในสังคมเดือดร้อนจากของปลอมที่แพร่ระบาด และมีผู้ครหาว่า ร้านไม่รับซื้อจริง เอาเหรียญไปให้ดูก็บอกแต่ว่าเป็นของปลอม และถูกโจมตีว่าร้านทำไปเพื่อโหมกระแสโปรโมตตัวเองเท่านั้น จึงเกิดกระแสลบเกิดขึ้น ร้านจึงยุติการรับซื้อเหรียญ 10 บาท ปี 2533 แต่ยังคงรับซื้อเหรียญ 1 บาทปี 2529 และยังรับนัดพบเพื่อดูเหรียญเช่นเดิม
การตลาดเล่นกับกระแส
ข้อสังเกตที่เป็น 1 ในข้อครหาของจุดขั่วกระแสเหรียญ 10 ปี 2533 ก็คือ สิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นเพียงการตลาดเพื่อโปรโมตร้าน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านดังกล่าวมีชื่อเสียงดังเปรี้ยงในชั่วข้ามคืน เห็นได้ชัดจากยอดไลค์หลักร้อยทะยานขึ้นสู่หลักหมื่นในเวลาเพียงไม่กี่วัน
ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูด้านการตลาดมองปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างพร้อมใจกันแชร์ส่งต่อเรื่องราวการรับซื้อเหรียญ 10 ปี 2533 ในราคา 100,000บาทว่า มาจากความที่เหรียญดูปกติธรรมดาเหมือนเหรียญที่ผู้คนใช้กันทั่วไป แต่ราคารับซื้อกลับสูงอย่างมหาศาล เหมือนเป็นเรื่องแปลกที่อยู่ใกล้ตัวจนน่าตกใจ
“มันมีความแปลกมากอยู่ เพราะดูภายนอกมันก็เหมือนเหรียญ 10 บาทธรรมดาเพียงแค่มันปี 2533 และมูลค่ามันไม่ได้ 4,000 - 5,000 บาท แต่นี่มัน 100,000 บาท และพอมีคนรับซื้อแสดงตัวอย่างจริงจัง มันเลยเป็นที่โจษจัน มันมาจากความแปลกเหมือนหมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาถึงเป็นข่าว”
เมื่อรวมกับปัจจัยที่เหรียญนั้นผลิตมาในจำนวนน้อยเพียง 100 เหรียญ และความสับสนของข้อมูลที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการซื้อขายกันจริงๆ เกิดขึ้น
“ทำไมคุณต้องมาประกาศในวงกว้าง มีไม่กี่เหรียญคุณจะประกาศเพื่ออะไร ก็ประกาศในวงการก็ได้นี่นา มันเป็นของสะสมหายากแต่มันไม่ใช่เหรียญที่สวยไง และมันก็เป็นเหรียญที่มีอยู่ในท้องตลาด มันแค่ปี 2533 เท่านั้นเอง ผู้คนก็รู้สึกว่าบ้านเรามีมั้ย ถ้ามีแล้วรวยเลยนะ ก็เกิดกระแสคนไปหาของตัวเองว่ามีเหรียญแบบนี้อยู่หรือเปล่า”
ความธรรมดาของเหรียญกลายเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนพูดถึงกันมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็มองว่า มันธรรมดาเกินกว่าราคาที่ถูกตั้งไว้จนสูงผิดปกติ จนอาจเป็นเพียงการสร้างกระแสเท่านั้น
“มันมีแค่ความหายาก แต่มันก็เป็นเหรียญธรรมดาๆ ปกติพวกนี้ที่มันดังมันต้องเป็นเหรียญที่เก่ามาก และต้องมีอะไรพิเศษ พูดง่ายๆ เหรียญที่ออกมาในช่วงเวลาพิเศษ และไม่ใช่เหรียญที่ออกมาเหมือนทั่วๆไป และเป็นของหายาก แล้วก็ราคาก็ไม่สูงเท่านี้ไง”
ดังนั้นเองเขาจึงมองว่า อาจจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างแบรนด์ให้ร้านก็ได้ ที่อาศัยกระแสตรงนี้ทำใหัตัวเองมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีตัวตนจริงรับซื้อจริง
“ของพวกนี้ร้านต้องไว้วางใจได้ เวลาซื้อพวกเก่าของอะไรพวกนี้ ร้านมีตัวตนจริงมั้ย? ของเก่าจริงมั้ย? โดยเฉพาะร้านที่อยู่ต่างจังหวัด มันไม่เหมือนในกรุงเทพฯที่มีร้านดังอยู่แล้ว นี้คือเป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างแบรนด์สร้างเรื่องขึ้นมาได้”
จากร้านไร้ชื่อกลายเป็นร้านชื่อดัง ออกทีวีหลายช่อง ลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผู้คนในเฟซบุ๊กต่างพูดถึง อีกทั้งในสังคมออนไลน์ เว็บบอร์ดพันทิป ไปจนถึงทวิตเตอร์ อาจบอกได้ว่านี่เป็นการตลาดชั้นดีที่ไม่เสียต้นทุนใดๆเลย
“เขาทำให้สรยุทธพูดถึงเขาได้น่ะ สรยุทธพูดหนึ่งนาทีมีค่า 380,000 บาทนะ สรยุทธพูดถึงร้านนี้ไปกี่นาที ยังมีข่าวต่อเนื่องอีก”
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เขาเห็นว่าแฝงเข้ามานั่นคือการปั่นตลาด ที่ในวงการเลขมงคลก็มีการปล่อยข่าวลือ เลขนี้คนนิยมเล่น มูลค่าก็เพิ่มขึ้น เหรียญดังกล่าวก็เช่นกัน
“แต่ท้ายที่สุดร้านก็มีชื่อเสียง ผมว่ามันคือกลยุทธ์ทางการตลาดของเขานะ เป็นการฉวยโอกาสที่ได้ผลด้วย ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เสียหายอะไรนะ เพราะก็ไม่ได้หลอกลวง ถ้ามีของจริงเขาอาจจะซื้อก็ได้ เพียงแต่ตอนนี้มันไม่มีของจริง แต่นั่นแหละ ถ้ามีของจริงเขาก็อาจจะไม่ซื้อ เราจะรู้ได้ยังไง ถ้าของจริงมาเขาบอกว่าของปลอมก็ได้ จริงๆคือเขาไม่ต้องการซื้อ เขาหวังผลอย่างอื่นมากกว่า”
ใครได้-ใครเสีย
หลังจากทุกอย่างคลี่คลายลง กระแสเริ่มสร่างซา ธันยวัชร์ นักการตลาดคนเดิมมองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้วงการสะสมเหรียญตื่นตัวมากขึ้น ทว่าเติบโตขึ้นหรือเปล่า อาจจะไม่ส่งผลอะไรมากมายนัก เพราะนักสะสมเหรียญตัวจริง คงไม่ได้เกิดจากเพียงข่าวตามกระแสเท่านั้น
“นักสะสมเหรียญเขาต้องสนใจ ต้องรักจริงๆ ไม่ได้มีข่าวมาแล้วมาสะสม ดังนั้นจากข่าวนี้ผลต่อวงการมันก็อาจจะมีแต่ไม่มากนัก หน้าใหม่ที่จะมาเป็นนักสะสมก็อาจจะไม่มี คงเป็นไปตามเดิม ตามคนที่เขารักชอบอยู่แล้ว”
โดยหลักการตลาดของสิ่งของสะสมทั่วไปนั้นมักจะเกิดจากใจรักก่อนเสมอ เมื่อสะสมไว้มากเข้าการนำออกขายก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะบุคคล บางคนรักมากเก็บหมดเก็บต้องครบก็จะซื้ออย่างเดียวไม่ขาย ขณะที่บางคนซื้อไว้เพราะชอบแต่พอเห็นราคาขึ้นมีกำไรก็อาจขายเพื่อผลในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
“แต่แรกเริ่มโดยมากแล้วมาจากใจรักครับ ไม่ว่าจะสะสมปืน นาฬิกา เหรียญหรือแสตมป์ และมันเป็นไปตามธรรมชาติ คนธรรมดาซื้อเพราะสวย ไม่แพงมาก ชอบรัก แล้วเหรียญพวกนี้ไม่ได้ใช้แม้จะใช้ได้ และวันดีคืนดี ราคามันสูงขึ้น คนก็เริ่มเห็นช่องทางและอาจเลือกสะสมในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเป็นการลงทุนเก็งกำไร”
เมื่อมองในมุมของสังคมที่วิ่งไปตามกระแสที่เกิดขึ้น เขาอธิบายว่า ยุคโซเชียลมีเดียทำให้เหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ รวมทั้งข่าวซึ่งเขาเผยว่า อะไรที่สุดขั้วก็พร้อมจะเป็นข่าวได้ทั้งนั้น
“ตอนนี้ข่าวมันไม่ได้มาจากนักข่าวอย่างเดียว คนธรรมดาก็สามารถสร้างข่าวได้ถ้าเรื่องนั้นน่าสนใจและสุดขั่วจริงๆ อย่างประกาศขายหมาราคา 40 ล้าน ซื้อปลาราคา 20 ล้าน มันสุดขั่วมากก็จะทำให้คนสนใจได้ และสื่อหลักเดี๋ยวนี้ก็หาข่าวจากออนไลน์ มันก็ช่วยกระพือข่าวให้โหมขึ้นไปอีก”
บทเรียนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เขาเห็นว่า สื่อหลักอาจต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข่าวจริงหรือเต้าขึ้นมาเพื่อหวังผลบางอย่าง
“พอข่าวมันเกิดจากบุคคลธรรมดาได้มันก็เป็นช่องทาง เพราะพอข่าวมันเกิดจากบริษัทที่ทำการค้าผลประโยชน์มันเกิดกับบริษัทที่ทำการค้าหรือพูดง่ายๆ ร้านนี้มันก็ได้ประโยชน์ที่สามารถใช้ให้สรยุทธพูดถึงได้ นักข่าวทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ตเหมือนทำงานให้เขาไปแล้วน่ะ”
เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754