xs
xsm
sm
md
lg

“พิพิธบางลำพู” ขุมทรัพย์ความรู้แห่งใหม่ เปิดให้ชมฟรี!!! 2 เดือนเต็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ห้องนิทรรศการหมุนเวียน “เอกบรมองค์ราชินี” ภายในพิพิธภัณฑ์
“บางลำพู” ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านการค้าเก่าแก่ทรงเสน่ห์ เป็นย่านของกินสารพัด มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คนมายาวนาน ปัจจุบันบางลำพูยังขึ้นชื่อว่าเป็นย่านที่พัก แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกันดีอีกด้วย

แต่แท้จริงแล้ว “บางลำพู” ยังมีอะไรมากมายกว่านั้น ถ้าได้มาชม “พิพิธบางลำพู” ก็จะได้รู้จักเสน่ห์ของบางลำพูอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดย “พิพิธบางลำพู” นั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่บนถนนพระอาทิตย์ ซึ่งทางกรมธนารักษ์ผู้จัดสร้างได้ฉลองการเปิดใหม่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยการเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย. 57 นี้

พิพิธบางลำพู เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งจัดทำขึ้นใหม่โดยกรมธนารักษ์ สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” หรือ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ซึ่งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุนั่นเอง
พิพิธบางลำพู เปิดให้เข้าชมฟรีสองเดือนนี้
หากย้อนเวลาไปในอดีตนานกว่านั้น พื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวังหรือพระนิเวศน์สถานของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่สมัยที่ทรงปฏิบัติราชการในกรุงธนบุรี ซึ่งขณะนั้นยังถือเป็นเขตนอกกำแพงพระนคร และเมื่อมีการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และสร้างพระนครใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสร้างแนวกำแพงพระนครผ่านกลางที่ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมใหญ่ประจำมุมพระนครทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญในการป้องกันพระนคร

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แล้ว จึงพระราชทานที่พระนิเวศน์สถานเดิมตอนในกำแพงพระนคร ให้สร้างวังแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา สมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์เล็ก เพื่อให้ทรงช่วยกำกับดูแลการรักษาพระนครทางด้านเหนือ เรียกกันว่าวังริมป้อมพระสุเมรุ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ปรากฏว่าโปรดให้ผู้ใดไปอยู่อีก ทางทายาทมอบที่ดินแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินแห่งนี้จึงอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์นับแต่นั้นมา
อาคารปูนเป็นรูปตัว L
ต่อจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์เพื่อเพื่อจัดทำเป็น “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ตามหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นต้นสายการพิมพ์ ก่อนจะโอนโรงเรียนช่างพิมพ์ฯ มาเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” รับจัดพิมพ์แบบเรียนและงานของข้าราชการ และเมื่อหมดสัญญาเช่า อาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง จนกรมธนารักษ์มีแผนจะรื้ออาคาร แต่ชาวชุมชนบางลำพูได้มองเห็นความสำคัญของตัวอาคารและประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้เลือนหายไป จึงร่วมกันต่อสู้เพื่อคัดค้านการรื้ออาคาร เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบางลำพูรรวมตัวกันเป็น “ประชาคมบางลำพู” ที่มีความเข้มแข็ง สามารถยับยั้งการรื้ออาคาร ทั้งยังช่วยกันผลักดันจนขึ้นทะเบียนอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้เป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรในปี 2544 ได้อีกด้วย

ในวันนี้ นอกจากจะสามารถเก็บอาคารเก่าที่มีเรื่องราวให้คงอยู่ต่อไปได้แล้ว ยังจะมีผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอาคารเหล่านี้กันมากขึ้น เพราะทางกรมธนารักษ์ได้เปลี่ยนอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาให้เป็น “พิพิธบางลำพู” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเล่าเรื่องราวของชาวบางลำพู โดยเพิ่งเปิดให้เข้าชมฟรีกันไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการออกแบบพื้นที่ภายในแบบ “ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็ก พร้อมจัดทำอักษรเบรลล์เพื่อบรรยายรายละเอียดของส่วนจัดแสดงให้แก่ผู้พิการทางสายตา และอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศด้วยการจัดทำบรรยายเสียงข้อมูล 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส
อาคารไม้สองชั้นอยู่ริมคลองบางลำพู
ก่อนจะเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์ ขอพาไปชมอาคารเก่าซึ่งเป็นอาคารดั้งเดิมของโรงพิมพ์คุรุสภากันก่อน อาคาร 2 หลังถูกปรับปรุงให้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการ โดยอาคารด้านหน้าที่อยู่ติดกับถนนพระสุเมรุเป็นตึกปูนแบบบาวเฮาส์ หรือ International Style รูปทรงตัว L ที่เป็นฝีมือคนไทยหลังแรกๆ ส่วนอาคารที่อยู่ด้านหลังติดกับคลองบางลำพูเป็นอาคารไม้สองชั้น ซึ่งเดิมเคยใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ทราบเรื่องราวของตัวอาคารที่น่าสนใจกันไปแล้ว คราวนี้ก็มาเริ่มชมด้านในกันเลยดีกว่า ทั้งนี้การจัดแสดงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามอาคาร 2 หลัง เริ่มจากอาคารปูนรูปตัว L กันก่อน โดยอาคารนี้บริเวณชั้น 1 สามารถเดินชมได้อย่างอิสระ ในห้องแรกจัดเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน “เอกบรมองค์ราชินี” จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคล 82 พรรษา ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถก็เนื่องจากอาคารหลังนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2475 ซึ่งเป็นปีประสูติของพระองค์นั่นเอง
แนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้น
ห้องนิทรรศการถัดมา คือ “ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ที่ทำให้เห็นความเป็นมาของเมื่อแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กลางห้องมีแนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้น ทำให้ทราบเรื่องราวของ “กำแพงป้องธานี” เกี่ยวกับการสร้างกำแพงพระนครและเกร็ดความรู้เรื่องการหล่ออิฐด้วยเทคนิคช่างโบราณ มีกำแพงเมืองแล้วก็ต้องมี “คูคลองล่องลำนำ” คูเมืองรอบพระนคร และคลองสำคัญต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทำให้เกิดย่านชุมชนย่านการค้าต่างๆ ขึ้น

“ประตูคู่วิถี” บทบาทของประตูเมืองที่มีส่วนสำคัญกับความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต มีทั้งประวัติความเป็นมา ชื่อและตำแหน่งประตูเมือง ทั้งประตูวังหน้าและประตูวังหลวง อีกทั้งยังมี “ป้อมปกนครา” ซึ่งเป็นเรื่องของป้อมเก่าแก่ทั้ง 14 ป้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อมเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ “ป้อมพระสุเมรุ” คู่ย่านบางลำพูนั่นเอง
บนชั้นสองเป็นห้องนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์
ขึ้นไปชั้นบนกันบ้าง ทั้งชั้นสองนี้เป็นห้องนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน ทั้งทรัพย์สินมีค่าที่สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ ที่ดิน หรือเหรียญกษาปณ์ ได้เห็นขั้นตอนกว่าจะมาเป็นเหรียญกษาปณ์ใช้หมุนเวียนในท้องตลาดได้นั้นต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้าง รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสรรดูแลที่ราชพัสดุอีกด้วย

ในพิพิธบางลำพูส่วนนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ แต่ก็เป็นเพียง intro เท่านั้น หากอยากจะลงลึกไปถึงความเป็น “บางลำพู” ก็ขอเชิญมาที่อาคารไม้ด้านหลังบนชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนของนิทรรศการถาวรชุมชนบางลำพู โดยในโซนนี้จะมีเจ้าหน้าที่พาชมเป็นรอบๆ พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ที่มีอดีตยาวนานอย่างย่านบางลำพู
จัดแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณวัตถุมีค่า
เริ่มต้นกับภาพยนตร์สั้นๆ “สีสันบางลำพู” บอกเล่าถึงบางลำพูที่คนทั่วไปรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของกินอร่อย สวนสาธารณะของชาวพระนคร รวมไปถึงแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน จากนั้นประตูอัตโนมัติจะเปิดออกไปสู่ห้อง “เบาะแสจากริมคลอง” กลับไปยังดงลำพูในอดีตผ่านภาพยนตร์ที่ฉายลงบนผนังและพื้นผิวน้ำที่จำลองเป็นคลองบางลำพู ให้เห็นผู้คนหลากเชื้อชาติที่อาศัยร่วมกันในย่านบางลำพู ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีน ผู้คนหลากเชื้อชาตินี้เองที่จะเป็นผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่การขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายอาณาเขตพระนคร ก่อเกิดชุมชนหลากเชื้อชาติและการคมนาคมริมน้ำ จนกระทั่งเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามา เกิดการสร้างถนน ผู้คนหันมาใช้การคมนาคมทางบก วิถีชีวิตของคนที่บางลำพูจึงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
หุ่นเด็กน้อยยืนส่องลอดรั้วสังกะสีเพื่อชมลิเก
เข้ามาสู่ห้องจัดแสดงถัดไป “พระนครเซ็นเตอร์” เข้ามาในห้องนี้จะเห็นรถรางสีเหลืองคันใหญ่จอดรอผู้โดยสาร ทั้งยังเห็นเด็กน้อยยืนส่องแอบดูอะไรสักอย่างผ่านรูรั้วสังกะสี จนต้องไปส่องดูบ้างจึงรู้ว่าหลังรั้วสังกะสีนี้มีลิเกกำลังแสดงอยู่นี่เอง เด็กๆ สมัยนั้นไม่มีสตางค์มากพอจะซื้อตั๋วไปดูลิเกข้างใน ขอดูผ่านรูแบบนี้ก็สนุกได้ตามประสาเด็ก

ทั้งรถรางและวิกลิเกล้วนเป็นตัวแทนของย่านบางลำพูในอดีต ซึ่งสมัยก่อนต้องถือว่าย่านนี้เป็นศูนย์รวมความเจริญทั้งหลาย มีจุดตัดรถรางอยู่ในบริเวณนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมมหรสพความบันเทิงที่เฟื่องฟูที่สุดในพระนคร มีทั้งโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โรงลิเกหอมหวน ห้าง ต.เง็กชวน ถนนสิบสามห้าง รวมไปถึงร้านรวงมีชื่อต่างๆ ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ กล่าวได้ว่าบางลำพูเป็นเหมือนสยามเซ็นเตอร์ในสมัยนั้นก็ว่าได้
บางลำพูเคยเป็นจุดตัดของรถรางหลายสาย
จำลองบรรยากาศร้านกาแฟเก่ามาให้ชม
ในห้องนี้ยังรวบรวมเอาร้านค้าเก่าแก่ในย่านบางลำพูมาจัดแสดงให้ชมกันด้วย อาทิ ร้านกาแฟในบรรยากาศเก่าๆ ที่ด้านบนจัดเป็นโรงเตี๊ยมเล็กๆ ร้านรองเท้าแก้วฟ้า ร้านรองเท้าสั่งตัดที่ผลิตรองเท้าอย่างประณีตเป็นที่นิยมมากในอดีต ร้านเสื้อนพรัตน์ ที่ขายชุดนักเรียนและเสื้อผ้ามาก่อนจะเปลี่ยนเป็นร้านอาหารครัวนพรัตน์ (ปิดตัวแล้ว) รวมไปถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งฮั่วเส็ง ห้างเล็กๆ คู่ย่านบางลำพูที่มีชื่อเสียงในเรื่องการขายอุปกรณ์งานฝีมือที่หลากหลายและครบครันมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ร้านรองเท้าแก้วฟ้าที่เคยโด่งดังในอดีต
แต่การจะเข้าถึงในวิถีชีวิตความเป็นบางลำพูจริงๆ นั้นจะต้องเข้าไปสัมผัสในชุมชนจึงจะดีที่สุด ในห้องจัดแสดง “ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า” จะพาผู้เข้าชมได้ใกล้ชิดและซึมซับกับวิถีชุมชน รู้จักของดีย่านบางลำพูที่ซุกซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอยต่างๆ ที่คนภายนอกอาจไม่เคยรู้ เช่น การปักชุดโขนของ “ชุมชนตรอกเขียนนิวาส-ตรอกไก่แจ้” “บ้านดุริยประณีต” ในชุมชนวัดสังเวชวรวิหารที่มีการสืบทอดการเรียนดนตรีไทยไว้จนปัจจุบัน เครื่องถมของชุมชนบ้านพานถม การตีทองคำเปลวและทำธงของชุมชนวัดบวรรังสี การแทงหยวกของชุมชนวัดใหม่อมตรส การทำข้าวต้มน้ำวุ้นและใบลานของชุมชนวัดสามพระยา (คลิกอ่าน "ข้าวต้มน้ำวุ้น" ชุมชนวัดสามพระยา ของกินอร่อยระดับตำนานคู่ย่านบางลำพู) คนที่ชอบการท่องเที่ยววิถีชีวิตต้องไม่พลาดโซนนี้เด็ดขาด เพราะสามารถนำเป็นข้อมูลไปเดินท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในสถานที่จริงต่อได้
ห้องจัดแสดง “ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า” มีของดีจากหลายชุมชนมาจัดแสดงไว้
ต้นลำพูจำลองที่ใช้กิ่งก้านจริงของต้นลำพูร้อยปีที่ยังคงเหลืออยู่มาประกอบ
เมื่อพูดถึงบางลำพู หลายคนอาจจะนึกถึงต้นลำพูร้อยปีที่เคยอยู่ในสวนสันติชัยปราการ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่และเป็นที่มาของชื่อบางลำพูที่เห็นได้ชัดเจน แม้ต้นลำพูร้อยปีจะตายเพราะน้ำท่วมและถูกตัดลำต้นทิ้งโดยที่คนในชุมชนบางลำพูไม่ทราบเรื่องเมื่อหลายปีก่อน (คลิกอ่าน บางลำพู...ในวันที่ไม่มีต้นลำพู) แต่ในวันนี้ ต้นลำพูได้เกิดใหม่อยู่ภายใน “พิพิธบางลำพู” แห่งนี้ ในห้องจัดแสดง “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” ซึ่งภายในจะมีต้นลำพูจำลองขนาดใหญ่ มีแสงสว่างวิบวับจากหิ่งห้อย และกิ่งหนึ่งของต้นลำพูจำลองนี้เป็นกิ่งต้นลำพูของจริงจากชิ้นส่วนของต้นลำพูร้อยปีที่ยังคงหลงเหลือไว้ให้เป็นที่ระลึก

มาปิดท้ายในที่ห้องจัดแสดงสุดท้าย “มิ่งขวัญบางลำพู” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบางลำพูประชานาถ ศูนย์รวมจิตใจที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานให้ชาวชุมชนบางลำพู แต่การอัญเชิญองค์พระพุทธรูปมาประดิษฐานจะกระทำกันในวันที่ 8 ส.ค. ดังนั้นใครที่ไปชมพิพิธบางลำพูก่อนวันที่ 8 ก็จะได้เห็นเพียงฐานพระเท่านั้น แต่ทั้งนี้ สำหรับใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บางลำพู ด้วยการชมการอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถมาประดิษฐานที่พิพิธบางลำพู ก็สามารถร่วมขบวนอัญเชิญจากวัดบวรนิเวศสู่พิพิธบางลำพูได้ และยังสามารถมาร่วมงานมหรสพเฉลิมฉลองในวันที่ 6-7 ส.ค. ได้ด้วย (คลิกอ่าน ครั้งแรกและครั้งเดียว!! เชิญร่วมพิธีอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถสู่ “พิพิธบางลำพู”)
ห้องเรียนจำลองของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช
ยังไม่หมดแค่นั้น ที่ชั้นล่างของอาคารไม้ยังจัดเป็นห้องนิทรรศการ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทยและการพิมพ์ระบบตัวเรียง ที่มีการเรียนการสอนกันในโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ที่ยังคงเป็นการพิมพ์ระบบตัวเรียงหรือ “เล็ตเตอร์เพรส” โดยผู้ชมจะได้รับความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเรียงตัวตะกั่วเพื่อให้เกิดเป็นแม่พิมพ์ ก่อนที่จะเรียนรู้ถึงรูปแบบของเครื่องพิมพ์ขั้นตอนการพิมพ์ และยังเข้าใจถึงการพับซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการเย็บหนังสือ ความสนุกอยู่ตรงที่ผู้เข้าชมสามารถใช้เครื่องพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสนี้พิมพ์โปสการ์ดด้วยตนเองและส่งผ่านความประทับใจนี้ผ่านไปรษณีย์ได้อีกด้วย

อีกทั้งชั้น 1 นี้ยังจัดทำเป็น "ห้องสมุดชุมชนบางลำพู" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือหายากและข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางลำพูที่เยอะที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ดังนั้น ใครที่เคยมีความผูกพันกับบางลำพู ไม่ว่าจะสมัยเด็ก สมัยเป็นนักเรียนเคยมาซื้อชุดนักเรียนที่บางลำพู สมัยยังสาวเคยมาเดินห้างนิวเวิลด์ ห้างแก้วฟ้า สมัยวัยรุ่นเคยมาเดินถนนคนเดินพระอาทิตย์ หรือจะเป็นคนเพศไหน สมัยไหนก็ตาม ถ้าอยากสนุกสนานกับเรื่องราวน่ารู้และน่ารักของย่านบางลำพู ก็ขอเชิญมาที่ “พิพิธบางลำพู” ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ความรู้แห่งใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะของชุมชนบางลำพูเท่านั้น หากแต่เป็นขุมทรัพย์ความรู้ของทุกคนที่สนใจ
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

“พิพิธบางลำพู” ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลา 10.00-18.00 น. โดยไม่มีวันหยุด และเข้าชมฟรีเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย. 57 และหลังจากนั้นจะเปิดเฉพาะวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์) 10.00-18.00 น. และมีค่าเข้าชม 100 บาท ทั้งนี้จะเปิดเข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 30 นาที โดยเข้าชมรอบแรกเวลา 10.00 น. และเข้าชมรอบสุดท้ายเวลา 16.00 น. ทั้งนี้ผู้ชมสามารถเดินดูห้องจัดแสดงชั่วคราว (ชั้น 1 อาคารปูน) ได้ตามอัธยาศัยโดยไม่จำกัดเวลาภายในวันที่ระบุในบัตรเข้าชม ยกเว้นส่วนนิทรรศการถาวร (อาคารไม้ และชั้น 2 อาคารปูน) ซึ่งทางอาคารจำเป็นต้องสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมเฉพาะรอบเวลาที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชมเท่านั้น

การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 524 ผ่าน และสามารถมาทางเรือด่วนเจ้าพระยา โดยขึ้นที่ท่าพระอาทิตย์ได้ สอบถามโทร.0 2629 1850 หรือดูรายละเอียดที่ www.facebook.com/pipitbanglamphu


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง


"ข้าวต้มน้ำวุ้น" ชุมชนวัดสามพระยา ของกินอร่อยระดับตำนานคู่ย่านบางลำพู
บางลำพู...ในวันที่ไม่มีต้นลำพู
ครั้งแรกและครั้งเดียว!! เชิญร่วมพิธีอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถสู่ “พิพิธบางลำพู”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น