“การถ่ายภาพ”อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไปสำหรับคนสายตาปกติหรือคนสายตาดี แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา หรือคนตาบอดนั้น การถ่ายภาพคงเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ไกลตัว เพราะการที่ผู้พิการทางสายตาจะหยิบ-จับกล้องถ่ายรูปมาถ่ายภาพสิ่งต่างๆ อย่างที่ดวงตาเห็นเหมือนเฉกเช่นคนสายตาปกตินั้น แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้
แต่สำหรับคนสายตาปกติอย่างเรานั้น ถ้าบอกว่าคนตาบอดถ่ายภาพได้ คงจะเป็นเรื่องแปลก และดูไม่น่าจะเป็นไปได้มากนัก ด้วยเหตุผลที่เรามักคิดว่า คนตาบอดมองไม่เห็น จะถ่ายภาพได้อย่างไร จะมองเห็นวัตถุที่อยู่เบื้องหน้า หรือเรียนรู้องค์ประกอบต่างๆ ของกล้องและภาพนั้นได้อย่างไร? ด้วยความสงสัยทั้งหมดทั้งมวล จึงทำให้เราได้ไปสัมผัสกับการเป็นครูอาสาในโครงการ “สอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ”
สำหรับ “โครงการสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ” เป็นโครงการที่มีอาสาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม Pict4all (Pic For All) ชุมชนคนรักการถ่ายภาพ ที่ไม่ได้มุ่งหวังความสุขจากกิจกรรมถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างรอยยิ้ม ความชุ่มชื่นใจให้กับสังคม โดย “พี่ฉุน” หรือ “นพดล ปัญญาวุฒิไกร” ผู้ริเริ่มโครงการ “สอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ” ได้บอกถึงที่มาของโครงการให้ฟังคร่าวๆ ว่า โครงการสอนคนตาบอดถ่ายภาพเป็นโครงการที่ยังไม่เคยมีใครทำในเมืองไทย เพราะแม้แต่ต่างประเทศเองก็มีคนทำขึ้นมาน้อยมาก เท่าที่ค้นข้อมูลดู มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้ทำโครงการนี้ออกมา ซึ่งประเทศแรกรู้สึกว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่สองคือประเทศอิสราเอล ส่วนประเทศที่สามตนไม่แน่ใจว่าเป็นประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยเรานั้นถือเป็นประเทศที่สี่ในโลกที่ทำ
เมื่อย้อนกลับไปก่อนการเริ่มต้นทำโครงการนี้ขึ้นมา พี่ฉุนเล่าว่า “ทุกครั้งที่ผมพยายามบอกถึงโครงการนี้ให้เพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ฟัง ผมมักจะได้คำถามสะท้อนกลับมาหาผมทุกครั้งว่า “คนตาบอดจะถ่ายรูปได้ยังไง” และยิ่งผมอธิบายทุกคนก็ดูเหมือนว่ามันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ผมจึงใช้วิธีปิดตาให้ตัวเองเป็นเหมือนคนตาบอด โดยใช้เวลาสามวันกับการเป็นคนตาบอดเดินถ่ายรูป จากการเคยมองเห็นทุกอย่าง มาลองปิดตาเป็นคนตาบอด มองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากความมืด ยอมรับว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลก ในสามวันนั้นผมได้สัมผัสอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ทั้งความกลัว ความไม่เคยชิน แต่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้เมื่อตอนที่เรามองไม่เห็นคือ “น้ำเสียง” ”
จากปกติแล้วเวลาเราคุยกับใครเราจะสามารถสื่อสารหรือวิเคราะห์อารมณ์ ความรู้สึกของคนอื่นได้ด้วยสีหน้า และแววตา เพราะแววตาสามารถบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นรู้สึกหรือคิดอะไร แต่เมื่อลองมาปิดตาเป็นคนตาบอด เมื่อมองไม่เห็น ไม่สามารถสื่อสารด้วยแววตาได้ สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ถึงตัวตนของคนอื่นก็คือ “น้ำเสียง”
"เพราะตอนที่เราเป็นคนตาดี เราจะสังเกตโดยรวม โดยที่เราไม่เคยได้ตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง พอปิดตาเป็นคนตาบอดทำให้ผมเข้าใจว่า อายตนะ (ประสาทสัมผัส) มีความสำคัญมาก เพราะตาเรานำทุกอย่าง เมื่อตาเห็น ใจก็คิดทันที แต่เมื่อลองปิดตาลง ไปพูดคุยกับชาวบ้าน หรือคนอื่นที่เค้าคิดว่าเราเป็นคนตาบอดจริงๆ น้ำเสียงที่ได้ยินมันสามารถบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และอะไรหลายๆ ได้อย่างชัดเจน"
"ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมมีความสุขในการถ่ายภาพมาก เพราะไม่ได้ถ่ายด้วยความอยาก ตอนปกติตาเห็นภาพสวยก็ถ่าย พอถ่ายไม่ดีก็กลับแก้มือใหม่ได้ แต่พอเรามาเป็นคนตาบอด เราไม่รู้ว่าสวยหรือไม่สวย ถ่ายเพื่อบันทึก เวลาปิดตาถ่ายภาพ เพื่อนที่ไปด้วยกันก็ต้องบรรยายให้ฟัง ไม่ก็ลองไปลูบคลำสิ่งของข้างหน้า เพื่อจะได้รู้ว่าวัตถุแค่นี้เราควรกะระยะอย่างไร"
เมื่อรู้แล้วว่าจะสอนคนตาบอดถ่ายภาพได้อย่างไร เขาจึงนำวิธีการและเทคนิคการถ่ายรูปมาสอนครูอาสา และเริ่มต้นด้วยการไปสอนเด็กถ่ายภาพที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ ครั้งแรกที่ไปสอนเด็กตาบอดถ่ายภาพ พวกเด็กๆ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะถ่ายภาพได้อย่างไร เมื่อภาพถ่ายออกมาแล้วใช้ได้ จึงทำให้เด็กๆ ไม่กลัวต่อการใช้กล้อง ไม่ได้มองว่ากล้องเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะถึงแม้ว่าพวกเค้าจะมองไม่เห็นเหมือนสายตาปกติ แต่พวกเค้าก็สามารถถ่ายภาพบอกเล่าเรื่องราว หรืออยากถ่ายอะไรที่พวกเค้าอยากจะถ่ายได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนเวลาถ่ายภาพออกมาแต่ละภาพ เค้าก็จะมีเรื่องราวในภาพของเค้า ว่าถ่ายเพราะอะไร ทำไมถึงต้องเป็นภาพนี้
“อย่างตอนที่ผมตั้งโจทย์ให้เด็กๆ ว่าให้ถ่ายภาพนุ่มนิ่ม เด็กๆ เค้าก็จะจินตนาการในแบบของเค้าเองว่านุ่มนิ่มคืออะไร เด็กบางคนถ่ายรูปก้อนเมฆมาทั้งๆ ที่เค้าไม่เคยเห็น เค้าก็มาบอกผมว่านี่แหละคือนุ่มนิ่ม บางคนถ่ายรูปหน้าท้อง(พุง)คน เพราะเค้าจับดูแล้วมันนุ่มนิ่ม บางคนก็ถ่ายรูปริสต์แบนด์(Wristband) ที่เค้าใส่อยู่ที่ข้อมือ เพราะเค้ารู้สึกว่าเวลาจับแล้วมันนุ่มนิ่ม” นพดลกล่าว
หัวข้อล่าสุดในการถ่ายภาพของเด็กๆ ก็คือ “รูปที่มีทุกบ้าน” ซึ่งเราจะพาเด็กๆ ที่เรียนถ่ายภาพแล้วออกไปถ่ายนอกพื้นที่ อาจเป็นชุมชน หรือตลาดต่างๆ ก็จะปล่อยให้เด็กได้ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ถามชาวบ้านว่ารูปที่มีทุกบ้านคืออะไร ชาวบ้านก็จะบอกเล่าเรื่องราว หรือพูดถึงรูปในหลวงที่มีอยู่ทุกบ้าน ทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสจากน้ำเสียงถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อในหลวง ทำให้พวกเค้าเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นรูปที่มีทุกบ้าน และให้พวกเค้าถ่ายภาพรูปที่มีทุกบ้านกลับมา
สำหรับการสอนเด็กตาบอดถ่ายภาพนั้น เหล่าครูอาสาต้องเรียนรู้เทคนิคและวิธีการสอนก่อนที่จะได้สอนเด็กตาบอดด้วยตัวเอง โดยเริ่มแรกจะต้องนำผ้าดำมาปิดตาทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนตาบอด ไม่สามารถมองเห็นอะไร ให้ใช้มือสัมผัสและใช้หูในการฟัง ซึ่งสิ่งแรกที่ครูอาสาจะได้เรียนรู้ก็คือ “กล้อง” โดยทางกลุ่มจะให้กล้องมาคนละหนึ่งตัว (ซึ่งกล้องทุกตัวที่ใช้ จะต้องเป็นเลนส์ 28 มม. เพราะถ้าใช้เลนส์ 35 มม. จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาได้ระยะไม่เหมือนกัน เพราะช่วงองศาต่างกัน จึงเลือกใช้เลนส์ 28 มม. เพราะมีระยะที่ดีกว่า) ให้ลองจับว่าถ้าเราเป็นคนตาบอดแล้ว เราจะสามารถถอดแบตเตอรี่และการ์ดหน่วยความจำได้แบบเด็กๆ
ตรงจุดนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงพอปิดตา มองไม่เห็น ก็ทำเอาครูอาสามือใหม่มึนไปได้เหมือนกัน หลายคนสามารถถอดแบตเตอรี่และการ์ดหน่วยความจำออกมาได้ แต่ไม่สามารถใส่กลับเข้าไปได้ ซึ่งจะต่างกับเด็กๆ ผู้พิการทางสายตาตรงที่พวกเค้าจะคอยจับๆ คลำๆ และสังเกตตอนถอดออกมาว่าขั้วแบตฯ หรือขั้วการ์ดฯ อยู่ด้านไหน เมื่อถอดออกมาแล้ว เด็กๆ จะสามารถใส่กลับเข้าไปได้อย่างง่ายดาย ผิดกับคนสายตาปกติที่ปิดตา จะไม่สามารถใส่กลับเข้าไปได้ เพราะเราไม่ได้มีการสังเกต
ในส่วนของการถือกล้อง เพื่อให้ภาพถ่ายออกมาเป็นแนวตรงนั้น จะใช้วิธีให้วางขอบกล้องด้านบนวางไว้บนหัวคิ้วทั้งสองด้าน เนื่องจากคิ้วจะเป็นแนวระนาบ และให้ส่วนของปลายจมูกแตะไว้ที่หน้าจอ LCD หากจะถ่ายภาพแนวตั้ง ก็ให้ตั้งกล้องแนวนอนระนาบกับคิ้ว จากนั้นให้ใช้มือหมุนกล้องตามเข็มนาฬิกา กล้องก็จะมาอยู่ในแนวตั้ง ซึ่งส่วนสำคัญในการถ่ายภาพของผู้พิการทางสายตาคือ ต้องใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของมือทั้งสองข้างจับไว้ให้มั่น เพราะแรงกดชัตเตอร์ของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ถ้าหากไม่จับให้แน่นจะทำให้ภาพเอียงได้ ในการสอนเด็กๆ นั้นก็ต้องค่อยๆ สอน โดยที่ต้องไม่ยัดเยียดหรือบังคับเด็กว่าต้องทำอย่างนี้ เราเพียงแค่บอกหลักการและสอนเค้า แล้วให้เขาเลือกระยะให้เหมาะกับตัวเค้าเอง
สำหรับการถ่ายภาพบุคคลจะใช้วิธีจับบริเวณหัวไหล่เพื่อวัดระดับความสูง คนตาบอดจะรู้ได้ว่าผู้ถูกถ่ายภาพจะอยู่ในท่ายืนหรือท่านั้งก็จากการวัดระดับหัวไหล่ และก่อนการถ่ายภาพใครนั้น จะมีการสอนให้ขออนุญาติสัมผัสตัวผู้ถูกถ่ายภาพ โดยจะให้ผู้ถูกถ่ายภาพจับมือเด็กแล้วนำไปแตะที่หัวไหล่ของตน เพื่อไม่เป็นการล่วงเกินในกรณีที่ผู้ถูกถ่ายภาพเป็นผู้หญิง จากนั้นจะนับก้าวให้ได้ระยะการถ่ายที่เหมาะสม เพราะเด็กๆ จะไม่เข้าใจถ้าเราบอกระยะเป็นฟุตหรือเป็นเมตร ต้องให้นับก้าว และเด็กแต่ละคนก็จะมีระยะการก้าวที่ไม่เท่ากัน ก็ต้องปรับตามความเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการถ่ายภาพจำนวน 1-2 คน จะนับระยะห่างประมาณ 3-4 ก้าว เมื่อมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นก็จะนับเพิ่มคนละ 1 ก้าว
เมื่อได้ระยะห่างที่เหมาะสมแล้ว ผู้พิการทางสายตาจะขอเสียงจากผู้ถูกถ่ายภาพ เพื่อเป็นการปรับทิศทางและตำแหน่งให้แม่นยำ จากนั้นจึงนับ 1 2 3 เพื่อบันทึกภาพ ในกรณีที่ถ่ายเป็นภาพหมู่ ยกตัวอย่างเช่นถ่ายภาพคน 5 คน ผู้พิการทางสายตาจะต้องจับไหล่ไปทีละคนๆ จนครบ 5 คน แล้วย้อนกลับมาที่คนที่ยืนตรงกลาง ซึ่งเป็นคนที่สาม เพราะเป็นระยะตรงกลาง จากนั้นจึงถอยหลังนับก้าวตามจำนวนคน จะทำให้ภาพที่ออกมานั้นอยู่ในจุดที่พอดี
หลังจากเรียนรู้วิธีถ่ายภาพแล้ว เราเริ่มจับคู่กับน้องผู้พิการทางสายตา โดยแรกเริ่มจะสอนให้น้องได้สัมผัสกล้องเพื่อความคุ้นเคยก่อน จากนั้นจึงสอนการวัดระยะบุคคลโดยการแตะหัวไหล่ และการก้าวถอยหลัง การวางตำแหน่งของกล้อง การส่งเสียงตามลำดับ เมื่อน้องๆ ได้ลองถ่ายภาพแรกทำให้เราถึงกับอึ้งไปทันที เพราะภาพที่น้องถ่ายออกมาอยู่ในตำแหน่งที่พอดี หัวผู้ถูกถ่ายอยู่ในกรอบรูป แตกต่างจากตอนที่ครูอาสาลองปิดตาถ่ายครั้งแรก นั่นจึงสามารถบอกได้ว่าทฤษฎีการถ่ายภาพนี้ใช้ได้ และพวกเด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
“น้องฮอน” หนึ่งในผู้พิการทางสายตาที่ได้เข้าร่วมโครงการ บอกถึงความรู้สึกที่ได้ลองถ่ายภาพกับเราว่า นี่เป็นการถ่ายภาพครั้งแรก พอได้ลองจับกล้อง แล้วลองถ่ายทำให้รู้สึกสนุก เพราะได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำให้รู้สึกว่าถึงตนจะไม่สามารถมองเห็นเหมือนกับคนทั่วไป แต่ตนก็สามารถถ่ายภาพออกมาได้เหมือนกัน ทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเอง และยังรู้สึกว่าตนไม่ได้ด้อยไปกว่าคนสายตาดีเลย เพราะอะไรที่คนสายตาดีทำได้ ตนก็สามารถทำได้เหมือนกัน
บางคนอาจสงสัยว่าผู้พิการทางสายตา หรือคนตาบอดต้องการถ่ายภาพไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ภาพเหล่านั้นพวกเขาเองก็ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเห็นผลงานของตัวเอง แต่ในทุกๆ ภาพที่ถ่ายออกมา มีความพยายาม มีความทรงจำ และมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ภายใน แม้ว่าตัวเองจะมองไม่เห็น แต่ก็สามารถนำผลงานไปบอกเล่าเรื่องราวให้คนที่บ้านได้ร่วมชื่นชมและภาคภูมิใจ และยังถือเป็นผลงานที่แสดงถึงศักยภาพของผู้พิการทางสายตาในการทำสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ให้ "เป็นไปได้" และเป็นไปได้ดีเสียด้วย
มาถึงตรงนี้คำว่า “มองไม่เห็น” มิอาจเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายภาพได้อีกต่อไป เพราะคนมองไม่เห็นนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าคนมองเห็นปกติ และถึงแม้ว่าภาพที่ถ่ายออกมาอาจไม่ได้สวยสดงดงามเหมือนกับช่างภาพมือโปร แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากผู้พิการทางสายตาก็คือ ในภาพแต่ละใบ พวกเค้าใช้ “ใจ” ในการถ่าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://blindphotographer-thailand.blogspot.com/ หรือ https://www.facebook.com/groups/blindphotographer.thailand/ (กลุ่มสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com