หากได้ติดตามข่าวคราวในโลกโซเชียลมีเดียช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็จะได้เห็นภาพ “ปลานกแก้ว” สีสันสวยงามแต่อยู่ในสภาพที่ตายแล้ว นำมาวางขายอยู่บนแผงในซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังหลายแห่ง ซึ่งต่อมา ได้มีกระแสรณรงค์ให้เลิกกิน-เลิกขายปลานกแก้ว เนื่องจากเป็นการทำลายระบบนิเวศปะการัง
เดิมนั้น “ปลานกแก้ว” เป็นที่นิยมกินกันในหมู่ชาวจีน โดยเฉพาะในภัตตาคารที่ฮ่องกงและไต้หวัน ถือว่าเป็นปลาที่มีราคาสูงชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยก็มีการบริโภคกันอยู่บ้าง แต่มาในช่วงหลังนี้เริ่มมีการวางขายในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังพบว่ามีการวางขายอย่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีกระแสการรณรงค์ให้หยุดการกิน-การขายปลานกแก้ว
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายว่า ปลานกแก้วมีความสำคัญต่อระบบนิเวศตามแนวปะการังอย่างมาก เพราะปกติปลานกแก้วจะชอบกินสาหร่ายและซากปะการังเป็นอาหาร ซึ่งช่วยลดจำนวนของสาหร่ายไม่ให้ปกคลุมปะการังและแย่งปะการังสังเคราะห์แสง จนปะการังอาจตายได้ อีกทั้งยังช่วยเปิดพื้นที่ตามแนวปะการัง เนื่องจากเวลาเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิใต้ท้องทะเลเกิน 30.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ปะการังผิดปกติ เกิดเป็นปะการังฟอกขาว หากบริเวณแนวปะการังตรงนั้นมีปลานกแก้วอาศัยอยู่ ก็จะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้นถึง 6 เท่า เนื่องจากปลานกแก้วจะกัดกินซากปะการังเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับตัวอ่อนของปะการังได้ลงไปสู่พื้นดิน และเจริญเติบโตเป็นปะการังใหม่ ส่วนขี้ปลานกแก้วจะมีลักษณะเป็นทรายขาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนดินทรายให้กับปะการังและพืชอื่นๆ ใต้ท้องทะเล
ภายหลังจากมีการรณรงค์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายองค์กร และประชาชนทั่วไป ให้ห้างสรรพสินค้าหยุดนำปลานกแก้วมาจำหน่าย ก็เริ่มมีบางแห่งชี้แจงว่ามีนโยบายไม่จำหน่ายปลานกแก้วแล้ว โดย เทสโก้ โลตัส ทำหนังสือผู้บริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส มิได้จำหน่ายปลานกแก้วแก่ผู้บริโภค และทางบริษัทฯ มีนโยบายที่จะไม่จำหน่ายปลานกแก้วเพื่อการบริโภคอีกต่อไป
ทั้งนี้ “ปลานกแก้ว” อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีฟันคล้ายจะงอยปากนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก โดยปลานกแก้วถือเป็นปลาที่มีประโยชน์ต่อการรักษาสมดุลของแนวปะการัง และยังเป็นตัวช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com