xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพระเบญจภาคี ต้นกำเนิดพระดียอดปรารถนาของเหล่าเซียนพระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเบญจภาคี กลาง : พระสมเด็จวัดระฆัง ซ้ายบน : พระรอด ขวาบน : พระซุ้มกอ ซ้ายล่าง : พระนางพญา ขวาล่าง : พระผงสุพรรณ (ภาพจาก : www.stou.ac.th)
สุดยอดพระเครื่องที่ได้รับยกย่องจากเซียนพระว่าหายากและมีมูลค่าสูงยิ่ง ก็คือ “พระเบญจภาคี” หรือพระเครื่อง 5 องค์ อันได้แก่ “พระสมเด็จวัดระฆัง” “พระรอด” “พระนางพญา” “พระผงสุพรรณ” และ “พระซุ้มกอ” ซึ่งนับว่าเป็นพระเครื่องเก่าแก่ และเชื่อกันว่ามีพุทธคุณสูง จะปกป้องคุ้มภัยแก่ผู้ครอบครองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย รวมไปถึงด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย

ในวันนี้ที่จะกล่าวถึงพระเบญจภาคี ไม่ได้จะพูดถึงวิธีดูพระจริงหรือปลอม ไม่พูดถึงค่าเช่าบูชาว่าแพงระยับแค่ไหน แต่จะพาไปตามรอยพระเบญจภาคีว่ามีต้นกำเนิดที่ใด และพาไปชมวัดต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับพระเครื่องแต่ละองค์
เข้ามากราบรูปหล่อหลวงพ่อโตที่วัดระฆัง
“พระสมเด็จวัดระฆัง”

“พระสมเด็จวัดระฆัง” ถือได้ว่าเป็น “ราชาแห่งพระเครื่อง” และเป็นองค์ประธานแห่งพระเบญจภาคี พระสมเด็จวัดระฆังสร้างโดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมฺรังสี หรือ “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีผู้คนเคารพนับถือมาจนปัจจุบัน และท่านยังเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดระฆังโฆสิตาราม วัดสำคัญในฝั่งธนบุรี

กล่าวกันว่า เมื่อหลวงพ่อโตขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร เมืองซึ่งมีพระเครื่องอันมีพุทธศิลป์งดงาม ท่านสามารถอ่านศิลาจารึกที่ว่าด้วยกรรมวิธีการสร้างพระเครื่องด้วยเนื้อผงขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ โดยมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอื่นๆ อีกมากมาย นำมาสร้างเป็นพระสมเด็จ และกลายเป็นพระเครื่องล้ำค่าสุดยอดปรารถนาของนักเล่นพระทุกคน

แม้ใครไม่มีโอกาสได้เช่าบูชาพระสมเด็จวัดระฆังของแท้ แต่ก็สามารถมากราบหลวงพ่อโตผู้ที่สร้างพระสมเด็จวัดระฆังกันได้ โดยภายในวัดมีวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อโตให้พุทธศาสนิกชนมาสักการะกัน มีคนมากราบไหว้ท่านไม่ขาดสาย โดยมีเครื่องสักการะเป็นดอกไม้ มาลัยและหมากพลูต่างๆ และมาสวดมนต์ท่องคาถาชินบัญชรกัน
วัดระฆังโฆสิตาราม
นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างประธานในพระอุโบสถที่รัชกาลที่ 5 เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." เพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา และต้องไม่พลาดชม “ตำหนักจันทน์” หรือ หอพระไตรปิฎก ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง ซึ่งแต่เดิมเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 มาก่อน อีกทั้งยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
พระรอดหลวง พระพุทธรูปโบราณต้นกำเนิดพระรอด แห่งวัดมหาวัน จ.ลำพูน
พระรอดวัดมหาวัน

“พระรอด” เป็นพระเบญจภาคีอีกหนึ่งองค์ที่เชื่อกันว่าหากผู้ใดมีไว้บูชาจะรอดพ้นแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง จึงมีคนไม่น้อยอยากได้พระรอดมาไว้บูชาคู่กาย

“พระรอด” มีการขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ 5 ที่วัดมหาวัน ใน อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อพระเจดีย์ในวัดมหาวันชำรุดและพังทลายลงบางส่วน จึงพบพระพิมพ์ภายในกรุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ผู้พบในครั้งนั้นเรียกชื่อพระพิมพ์เหล่านั้นว่า “พระรอด” เพราะมีลักษณะคล้ายกับ “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่วัดมาแต่ดั้งเดิม
อุโบสถวัดมหาวัน
ส่วน “พระรอดหลวง” นั้น เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมหาวันมาช้านาน ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธสิกขิ (พระศิลาดำ) พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวันขึ้นและประดิษฐานพระศิลาดำไว้ที่นี่ ต่อมาหริภุญชัยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤๅษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้างพระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลง ชาวบ้านจึงนำพระเครื่องเหล่านี้ไปบูชาและพบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงพระรอดอันเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีนั่นเอง

ปัจจุบันหากใครอยากมากราบพระรอดหลวง อันเป็นต้นแบบของพระรอดแล้วละก็ สามารถมาได้ที่วิหารวัดมหาวัน โดยพระรอดหลวงเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก ประดิษฐานไว้เบื้องหน้าองค์พระประธานภายในวิหาร
วิหารในวัดนางพญา จ.พิษณุโลก
พระนางพญา วัดนางพญา

เมืองพิษณุโลก มีพระพุทธชินราชแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และมี “พระนางพญา” เป็นพระเครื่องอันโด่งดังและเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีที่มีที่มาจากเมืองพิษณุโลก เชื่อว่ามีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย
พระพุทธชินราชจำลองในวิหารวัดนางพญา
พระนางพญามีต้นกำเนิดที่ “วัดนางพญา” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลกนัก ในอดีตวัดนางพญาเคยมีพื้นที่ติดต่อกับวัดราชบูรณะ เป็นวัดพี่วัดน้อง ใช้อุโบสถหลังเดียวกัน แต่ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนพิษณุโลก-หล่มสัก วัดทั้งสองจึงแยกกันอยู่คนละฝั่งถนน และเชื่อกันว่าผู้ที่สร้างพระนางพญาขึ้นก็คือพระวิสุทธิกษัตรี มเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กษัตริย์ในสมัยอยุธยานั่นเอง

ในปี 2444 รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง จึงสร้างปะรำพิธีรับเสด็จที่วัดนางพญา เมื่อคนงานขุดหลุมจึงพบพระเครื่องจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “พระนางพญา” และไม่เพียงที่วัดนางพญาเท่านั้นที่พบพระนางพญา แต่ที่วัดราชบูรณะและตามกรุต่างๆ ก็พบพระนางพญาด้วยเช่นกัน
อุโบสถและวิหารหลวงวัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก
ปัจจุบันคนที่มาเมืองพิษณุโลกมักจะมากราบพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพียงวัดเดียว แต่หากมีโอกาสได้เดินชมวัดนางพญา และวัดราชบูรณะ จะพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก โดยภายในวัดนางพญาจะมีอุโบสถและวิหารหลังเดียวกัน ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 2 องค์ตั้งอยู่คู่กัน

ส่วนวัดราชบูรณะมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ อุโบสถ วิหารหลวง และเจดีย์หลวง อุโบสถและวิหารเป็นทรงโรงศิลปะสมัยสุโขทัย พระประธานในอุโบสถและวิหารหลวงมีรูปแบบศิลปะสุโขทัยตอนปลาย ส่วนเจดีย์หลวงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีเจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก
พระปรางค์หลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองสุุพรรณบุรี ต้นกำเนิดพระผงสุพรรณ
พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองสุพรรณ เป็นต้นกำเนิดของ “พระผงสุพรรณ” หนึ่งในพระเบญจภาคีเลื่องชื่อ ปรากฏหลักฐานว่าพระผงสุพรรณนี้ขุดพบที่พระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อปี 2456 โดยท่านพระยาสุนทรบุรี เจ้าเมืองสุพรรณในขณะนั้นสั่งให้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการ เพราะมีคนร้ายเข้ามาลักลอบขุดพระปรางค์อยู่บ่อยครั้ง และขโมยพระเครื่อง พระบูชา พระทองคำไปไม่น้อย รวมไปถึงแผ่นจารึกลานทองหลายแผ่น

การเปิดกรุอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น ได้พระเครื่องมากมายไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้ ทั้งพระผงสุพรรณและพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อาทิ พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน ตลอดจนพระเนื้อชินต่างๆ

หากใครอยากไปชมองค์พระปรางค์ที่เคยบรรจุพระผงสุพรรณก็สามารถเดินทางมาได้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี และเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณฯ องค์พระปรางค์เชื่อว่าน่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะเป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา นอกจากนั้นที่วัดยังมีวิหารพระผงสุพรรณ ที่ภายในวิหารมีพระประธานคือพระผงสุพรรณขนาดใหญ่ที่ทำจำลองขึ้นให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปไหว้พระปิดทองกันได้ด้วย
พระบรมธาตุนครชุม จ.กำแพงเพชร ถิ่นกำเนิดพระซุ้มกอ
พระซุ้มกอ กำแพงเพชร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สองว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” แสดงให้เห็นว่า พระพิมพ์หรือพระเครื่องที่เมืองกำแพงเพชรนั้นมีอยู่มากมายมาช้านานแล้ว โดยพระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชรมีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะที่เกิดจากประติมากรรมของช่างสกุลกำแพงเพชร

สำหรับพระซุ้มกออันเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีนั้น เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เสด็จมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร ราวปี 2392 ได้ค้นพบพระเครื่องที่วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นพระซุ้มกอจำนวนมาก และพบจารึกลานเงินกล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง พบคาถาและวิธีการในการสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าหลวงพ่อโตนำไปสร้างสมเด็จวัดระฆังอันศักดิ์สิทธิ์

พระซุ้มกออยู่ในกรุทุ่งเศรษฐี ซึ่งกรุพระที่อยู่ในตระกูลทุ่งเศรษฐีมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลาง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี เป็นต้น และพระเครื่องในตระกูลนี้ ได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ ก็ได้รับเกียรติจากวงการพระเครื่องให้บรรจุอยู่ในชุดเบญจภาคีด้วย

ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมอันเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับพระซุ้มกอนี้ตั้งอยู่ใน อ.เมือง แต่เดิมครั้งกรุงสุโขทัยนั้นเป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ตั้งเรียงกันสามองค์ อยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์กลางของพระเจดีย์นั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ อยู่ภายในภาชนะเงินรูปสำเภา แต่ปัจจุบันมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์ทรงมอญซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นภายหลัง เป็นวัดสำคัญของเมืองกำแพงเพชรที่ไม่ควรพลาดชมอีกแห่งหนึ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น