xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่องวิถีชีวิตผู้คนผ่าน 2 พิพิธภัณฑ์ ณ มหาสารคาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เรือนเกย” เรือนอีสานภายใน “พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”
การเดินทางออกไปท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ไม่เพียงแต่จะได้พักผ่อน และซึมซับบรรยากาศแต่ละสถานที่เท่านั้น แต่การท่องเที่ยวในเชิงศิลปะ วัฒนธรรม เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม
“มหาสารคาม” เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองแห่งนี้นอกจากจะมีความโดดเด่นในเรื่องของเอกลักษณ์ วัฒนธรรมแล้ว ยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ไว้ภายในเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของเมืองอีกด้วย
แบบจำลองบ้านในรูปทรงสมัยก่อน ในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม
“พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม” ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะหนองข่า ถนนสายมหาสารคาม - กาฬสินธุ์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงถึงการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามตั้งแต่อดีต โดยมีแก่นของเรื่อง (Theme) คือ "เมืองซ้อนชนบท" ภายในแบ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็น 5 ยุคด้วยกัน ได้แก่ 1. ยุคก่อนตั้งเมืองมหาสารคาม 2. ยุคเจ้าเมืองท้องถิ่น 3. ยุคปกครองโดยข้าราชการ 4. ยุคขยายตัวทางการศึกษา 5. ยุคธุรกิจฟองสบู่ ซึ่งภายในมีการเล่าเรื่องราวตั้งแต่ก่อนประวัติศาาตร์มาถึงยุคสร้างบ้านเมือง มีการจำลองบ้านเมืองในอดีต อาทิ “ศาลผีปู่ตา”
การจำลองศาล “ผีปู่ตา”
เนื่องจากในอดีตเมื่อมีการอพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ชาวบ้านจะต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งใกล้กับชุมชน ให้เป็นที่สถิตของ “ผีปู่ตา” ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองดูแลลูกหลาน เมื่อใดที่มีเหตุหรือต้องการขวัญกำลังใจ ชาวบ้านก็จะมาบ๋า หรือบนบานให้ผีปู่ตาช่วยเหลือ หรือบันดาลใจให้สมปรารถนา โดยมีเฒ่าจ้ำ หรือกะจ้ำ เป็นตัวแทนในการสื่อสารกับผีปู่ตา ทุกปีเมื่อถึงเดือนอ้าย เดือนยี่ หรือเดือนหก ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงบวงสรวงผีปู่ตา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผีปู่ตานอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจและคติความเชื่อแล้ว ยังทำหน้าที่ปกปักรักษาชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย นับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของเมืองมหาสารคามได้เป็นอย่างดี
แบบภาพวาดจำลองชีวิตในอดีตของเมืองมหาสารคาม
นอกจากนี้แล้ว เทศบาลเมืองมหาสารคามได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น การจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาเพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาท้องถิ่น การจัดนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมตามฤดูกาล การพัฒนารูปแบบการจัดแสดงในนิทรรศการทั้งในด้านการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดทำคลังพิพิธภัณฑ์และศูนย์เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมข้อมูลและวัตถุที่สามารถสืบค้นเรื่องราวของชาวมหาสารคามได้อีกด้วย
เรือนประยุกต์หลังเล็ก ภายในถูกจัดเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ
ไม่ได้มีแต่พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามเท่านั้น ที่อำเภอกันทรวิชัย ยังมี “พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมได้ด้วย ภายในแบ่งออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1. เรื่องเล่าของเรา เรื่องเล่าของมหาวิทยาลัย 2. ประวัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 3. ภูมิปัญญาชาวลุ่มแม่น้ำชี 4. เรือนอีสาน 5. รู้จักอีสานผ่านความรู้ ความคิดของผู้คน ซึ่งจุดที่น่าสนใจเด่นๆ ของที่นี่ก็คือ “เรือนอีสาน” ที่มีอยู่ด้วยกันถึง 6 เรือน ภายในถูกจัดเป็นนิทรรศการ การจำลองที่อยู่อาศัย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับเรือนอีสาน รวมไปถึงบ้านเรือนในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
ภายในนิทรรศการ “เรื่องเล่าของเรา เล่าเรื่องมหาวิทยาลัย”
1. “เรือนประยุกต์หลังใหญ่” เป็นรูปแบบเรือนที่มีการประยุกต์ทั้งด้านโครงสร้างและวัสดุแต่ยังคงรักษารูปแบบและภาพลักษณ์ของเรือนอีสานแบบดั้งเดิม ภายในประกอบด้วยห้องประชุมคลังและห้องปฏิบัติการคลินิกพิพิธภัณฑ์ คลังเอกสาร จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำนักงานโครงการฯ 2. “เรือนประยุกต์หลังเล็ก” เป็นเรือนประยุกต์ขนาดเล็ก ชั้นบนเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ “เรื่องเล่าของเรา เล่าเรื่องมหาวิทยาลัย” ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน 3.“เรือนโข่ง” เรือนโข่ง เป็นเรือนหลังเล็กที่มีโครงสร้างเฉพาะ แต่สร้างติดกับชานของเรือนใหญ่ (เรือนนอน) ไว้เมื่อต้องการแยกเรือนก็สามารถรื้อถอนไปสร้างเป็นเรือนหลังใหม่ได้โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างของเรือนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน
เรือนตูบต่อเล้า เป็นสถานที่เก็บผลผลิตการเกษตรและที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหม่
4. “เรือนเกย” เป็นรูปแบบเรือนในวิถีชีวิตของชาวอีสานที่มีการต่อเกย (ชาน) ออกมาจากเรือนใหญ่ (เรือนนอน) เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งเป็นเรือนไฟ (ครัว) สถานที่พักผ่อน รับประทานอาหาร ต้อนรับแขก และประกอบพิธีหรือกิจกรรมในวิถีชีวิตของชาวอีสาน ด้านล่างของเรือนใช้เป็นสถานที่เก็บวัสดุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิต บางครั้งอาจใช้เป็นคอกสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ วัว ควาย เป็นต้น 5. “ตูบต่อเล้า” เล้าข้าว (ยุ้งข้าว) เป็นสถานที่เก็บข้าวเปลือก และผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตและคอกสัตว์เลี้ยง ตูบต่อเล้า เป็นเรือนชั่วคราวที่ยื่นออกมาจากเล้าข้าวเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหม่ที่แยกเรือนออกจากเรือนของพ่อแม่แต่ยังไม่มีกำลังที่จะสร้างเรือนใหม่หรือถ้าไม่มีผู้อาศัยก็ใช้เป็นสถานที่เก็บวัสดุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ 6. “เรือนผู้ไท” เป็นรูปแบบเรือนของ "ชาวผู้ไท" ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือนโข่ง ต่างกันที่ "ขื่อและคาน" ของเรือนหลังเล็กจะฝากยึดติดกับโครงสร้างของเรือนใหญ่ ภายในเรือนผู้ไท เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ "ภูมิปัญญาชาวลุ่มน้ำชี"
เรือนโข่ง ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
และนี่ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังมีการบอกเล่าเรื่องราวถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตได้เป็นอย่างดี หากใครมีโอกาสมาเยือนเมืองมหาสารคาม ลองมาศึกษาความเป็นมาของเมือง เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนอีสานผ่านพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม : ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะหนองข่า ถนนสายมหาสารคาม - กาฬสินธุ์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เปิดจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : ตั้งอยู่ที่ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เปิดจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น