xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อไล่ที่ในกัมพูชาหวังศาลอาญาระหว่างประเทศเข้าสืบสวนคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิที่ดินและนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาเดินขบวนในกรุงพนมเปญ วันที่ 6 ต.ค. เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก นักเคลื่อนไหวระบุว่า ข้อขัดแย้งที่ดินเป็นประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เร่งด่วนที่สุดของประเทศและการประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปีก่อน การบังคับไล่ที่ในทั่วประเทศทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่อาศัย ก่อให้เกิดการประท้วงและการปะทะรุนแรงระหว่างชาวบ้านและกองกำลังรักษาความปลอดภัยติดอาวุธ.-- Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>

เอเอฟพี - เหยื่อการแย่งยึดที่ดินโดยชนชั้นปกครองของกัมพูชา ได้เรียกร้องศาลอาญาระหว่างประเทศให้เข้าตรวจสอบการขับไล่มวลชนที่เป็นเหตุอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ข้อความที่ระบุอยู่ในคำร้องที่จะยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ระบุว่า ชาวกัมพูชาหลายแสนคนได้รับผลกระทบจากส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบต่อประชาชนพลเรือนตามนโยบายรัฐ

“ชนชั้นปกครองได้ยึดที่ดิน และจัดสรรปันส่วนพื้นที่หลายล้านไร่ไปจากชาวกัมพูชาที่ยากจน เพื่อนำใช้ประโยชน์ หรือเก็งกำไรโดยบรรดาสมาชิกในกลุ่มผู้ปกครองและนักลงทุนต่างชาติ” ส่วนหนึ่งของคำร้องที่จะยื่นในนามของเหยื่อโดยทนายความริชาร์ด โรเจอร์

กลุ่มช่วยเหลือคาดการณ์ว่า มีประชาชนราว 770,000 คน หรือ 6% ของประชากรกัมพูชา ถูกขับไล่ ตั้งแต่ปี 2543 และรวมกับอีก 20,000 คน ที่ถูกขับไล่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557

ที่ดินถูกยึดไปอย่างน้อย 25 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของที่ดินทั้งหมดของประเทศ มักนำไปทำเป็นสวนยาง หรือไร่อ้อย

“ใครก็ตามที่ต่อต้านจะถูกยิง ข่มขืน หรือถูกดำเนินคดี มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬาร ทั้งหมดนี้เพื่อบรรดาชนชั้นปกครองกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ และผูกขาดอำนาจ” โรเจอร์ กล่าว และว่า บรรดาเหยื่อการแย่งยึดที่ดินนั้นมีทั้งถูกส่งไปยังที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รู้จะไปที่ใด

โรเจอร์ ระบุว่า ขณะที่ชาติตะวันตกพยายามที่จะตั้งเงื่อนไขความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่จีนกลับเพิ่มความช่วยเหลือให้ทุนโดยไม่ตั้งคำถาม

หนังสือร้องเรียนระบุ ชนชั้นปกครองได้ปราบปรามการต่อต้านด้วยการโจมตีแกนนำประชาสังคม พระสงฆ์ ผู้สื่อข่าว ทนายความ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ชุมนุมประท้วง และข้อกล่าวหายังรวมทั้งคดีฆาตกรรมที่มีแรงจูงใจทางการเมืองกว่า 300 คดี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990

“มีเหตุที่น่าเชื่อว่า สมาชิกของชนชั้นปกครองได้กระทำ ช่วยเหลือ สนับสนุน สั่งการ และหรือปลุกปั่นการก่ออาชญากรรมของการบังคับถ่ายโอน สังหาร จำคุกอย่างผิดกฎหมาย และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ”

ทุกคนสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ และสำนักงานจะเป็นผู้ตัดสินใจว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะรับประกันการสอบสวนอย่างเป็นทางการได้

กัมพูชา ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมของศาลที่ระบุให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจในการตัดสินคดีต่อการกระทำทางอาญาที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี 2545

“หมู่บ้านทั้งหมดถูกเผาเหลือแต่ซาก ทรัพย์สินถูกขโมย หรือโดนทำลายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกรัฐ ผู้เห็นต่างหรือต่อต้านถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายโดยนักสังหารมืออาชีพ หรือถูกจำคุกในข้อหาปลอม” คำร้องระบุ
<br><FONT color=#000033>ผู้ชุมนุมตะโกนร้องคำประท้วงด้านหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงพมเปญ วันที่ 6 ต.ค..-- Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>
ในเดือน ม.ค.2552 เกิดเหตุขับไล่ที่เพื่อเปิดทางให้แก่โครงการพัฒนาที่ดินในกรุงพนมเปญ ตำรวจพร้อมอาวุธปืน กระบองเหล็ก และไฟฟ้า ท่อนไม้ แก๊สน้ำตา และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าบังคับให้ชาวบ้านกว่า 400 ครอบครัวต้องย้ายออก

นักสังคมสงเคราะห์ และเหยื่อไล่ที่คนหนึ่ง กล่าวว่า การขับไล่ที่เกิดขึ้นเลวร้ายยิ่งกว่าสมัยพลพต ในช่วงเขมรแดง ประชาชนถูกบังคับให้อพยพออกจากกรุงพนมเปญ แต่พวกเขาไม่ได้ทำลายบ้านเรือน และยกให้ที่ดินทั้งหมดให้แก่ใคร

เอกสารสิทธิที่ดินยังคงเป็นประเด็นคลุมเครือในกัมพูชาที่สิทธิความเป็นเจ้าของของเอกชนถูกยกเลิกลงในช่วงการปกครองของเขมรแดง และเอกสารทางกฎหมายจำนวนมากสูญหายไป

คำร้องระบุว่า ระบบยุติธรรมของกัมพูชาไม่ดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาใดๆ กรณีนี้จึงขึ้นอยู่กับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี

แต่ภัยคุกคามจากการสืบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจกระตุ้นให้รัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือติดตามดำเนินการต่ออาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา ก่อนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้าแทรกแซง.
กำลังโหลดความคิดเห็น