xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งปีมีครั้ง...สรงน้ำ "พระบาง" พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบางออกจากหอพระบางเพื่อนำขึ้นประดิษฐานบนวอ
วันนี้ (17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวหลวงพระบางจะอัญเชิญพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกันเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ โดยได้มีพิธีอัญเชิญพระบางออกจากหอพระบาง บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางในเวลาเช้า ก่อนจะอัญเชิญขึ้นวอ และเข้าขบวนแห่ โดยมีพระสงฆ์เดินนำขบวน ตามด้วยประชาชนชาวหลวงพระบางทั้งเด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่ที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองที่เข้าร่วมในขบวนพร้อมพานดอกไม้บูชาพระ
ขบวนพระสงฆ์เดินนำหน้าวอพระบาง
ขบวนแห่มุ่งหน้าไปยังวัดใหม่สุวันนะพูมารามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอพระบางมากนัก จากนั้นจึงอัญเชิญพระบางเข้าประดิษฐานในปะรำพิธีด้านหน้าพระอุโบสถ มีพิธีทางสงฆ์ ก่อนที่ "ปู่เยอ-ย่าเยอ" ที่เป็นดังเทวดาอารักษ์ เป็นดังตัวแทนบรรพบรุษของชาวลาว และเป็นที่นับถืออย่างสูงของชาวลาวทั่วไป จะขึ้นสรงน้ำพระบางก่อนเป็นคู่แรก ตามด้วยบุคคลสำคัญและนางสังขารทั้งเจ็ด จากนั้นจึงให้ประชาชนขึ้นสรงน้ำพระกันได้ และพระบางจะประดิษฐานให้ประชาชนได้สรงน้ำที่วัดใหม่สุวันนะพูมาราม 3 วันด้วยกัน
เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณหอพระบาง
พระบางเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง เป็นพระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย มีความสูง 1.14 ม. มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย มีพุทธลักษณะคือประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้นทั้งสองข้าง นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียรและพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง
พระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง
ตำนานเล่าว่า ในสมัยเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมแผ่นดินลาวให้เป็นปึกแผ่น พระองค์ได้นำพุทธศาสนาจากเขมรเข้ามาเผยแผ่ยังดินแดนล้านช้าง พร้อมอาราธนาพระมหาปาสมันต์เถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในนครอินทปัตถ์มายังล้านช้างด้วย พร้อมกันนั้นได้นำ "พระบาง" พระพุทธรูปประทับยืน ศิลปะเเบบหลังบายนของเขมรมาด้วย แต่เดิมพระบางประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำ ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเชียงทองในสมัยพระเจ้าวิชุลราช และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงทอง เป็นเมืองหลวงพระบางตามชื่อนามพระพุทธรูปที่เป็นศรีแก่เมือง
ชาวเมืองหลวงพระบางแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองร่วมในขบวนแห่พระบาง
พระบางได้ย้ายมาประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ย้ายเมืองหลวงของล้านช้างมายังนครจันทบุรี (เวียงจันทน์) และได้นำพระบาง รวมทั้งพระแก้วมรกต พระแทรกคำ พระบุษยรัตน์ มายังเวียงจันทน์ และประดิษฐานที่เวียงจันทน์เรื่อยมา ก่อนที่กองทัพสยามในสมัยกรุงธนบุรีจะนำกองทัพมายึดอาณาจักรล้านช้างในปี 2322 และได้นำพระบาง พระแก้วมรกต และพระพุทธรูปสำคัญลงไปยังธนบุรีด้วย ต่อมาภายหลังในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 จึงได้พระราชทานพระบางให้แก่เจ้านันทเสนเจ้านครเวียงจันทน์นำกลับไปประดิษฐานที่เวียงจันทน์ดังเดิม
อัญเชิญพระบางมาประดิษฐานไว้ที่วัดใหม่สุวันนะพูมารามให้ประชาชนสรงน้ำ
จนกระทั่งในปี 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ ในครั้งนั้นกองทัพสยามได้ปราบทำลายนครเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบ และได้เข้าไปปกครองดินแดนของล้านช้างเวียงจันทน์และจำปาสักเองทั้งหมด หลังจากศึกครั้งนั้นได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากเวียงจันทร์จำนวนหลายองค์มาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง รวมถึงพระบางด้วยเช่นกัน โดยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบางให้ประดิษฐานอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสหรือวัดสามปลื้ม จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์พระราชทานพระบางกลับคืนให้ล้านช้างอีกครั้ง และพระบางก็ได้ประดิษฐานคู่เมืองหลวงพระบางอีกครั้งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปู่เยอย่าเยอเป็นคู่แรกที่ได้สรงน้ำพระบาง
และเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีอัญเชิญพระบางที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางมาประดิษฐานยัง "หอพระบาง" ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จ หลังใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี โดยหอพระบางหลังใหม่ที่ประดิษฐานพระบางนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง สถาปัตยกรรมเป็นงานช่างหลวงพระบาง หลังคาแอ่นโค้งซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า 17 ช่อ (เท่าพระอุโบสถวัดเชียงทอง) มีการตกแต่งด้วยกระจกสีทั้งด้านนอกและภายใน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

งดงามอย่างลาว ชมภาพ "นางสังขาร" และขบวนแห่วอแห่งหลวงพระบาง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น