xs
xsm
sm
md
lg

“สงกรานต์หลวงพระบาง” ชมนางสังขาร สรงน้ำพระบาง ตักบาตรพูสี...สะบายดีปีใหม่ลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสังขาร หรือนางสงกรานต์แห่งหลวงพระบาง
"สงกรานต์หลวงพระบาง" ใน สปป.ลาว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์แห่งอุษาคเนย์ที่ยังคงรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิมที่งดงามด้วยขนบธรรมเนียมและวิถีอันเรียบง่ายแต่คลาสสิกของชาวลาวไว้

เมืองหลวงพระบาง เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของ สปป.ลาว ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2538 ทุกๆ ปีในช่วงสงกรานต์ เมืองหลวงพระบางจะคึกคักมีชีวิตชีวาไปด้วยบรรยากาศของงานบุญปีใหม่ ชาวลาวที่เดินทางไปทำงานหรือไปอาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็จะพาลูกหลานกลับมาหาญาติพี่น้อง กลับมาร่วมงานบุญกันพร้อมหน้าพร้อมตา อีกทั้งบรรดานักท่องเที่ยวจากต่างแดนก็เดินทางเข้ามาร่วมสัมผัสประเพณีดีงามในเมืองหลวงพระบางเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ร่วมในขบวนแห่
ชาวเมืองออกมาร่วมสรงน้ำพระสงฆ์
สำหรับงานสงกรานต์ของชาวลาวหลวงพระบางนั้น มีวันสำคัญหลักๆ 4 วันด้วยกัน วันแรกคือ "วันสังขารล่อง" ซึ่งถือเป็นวันสิ้นปีเก่า (ปีนี้ตรงกับวันที่ 14 เมษายน) ในวันนี้ผู้คนจะออกมาจับจ่ายซื้อของเตรียมตัวทำบุญกัน อีกทั้งในวันนี้ชาวหลวงพระบางจะนิยมซื้อ "ธงรูปพระพุทธเจ้า" และ "ธงตัวเพิ่ง" ที่เป็นธงเสี่ยงทายโชคชะตาประจำปี เพื่อนำไปปักไว้บนพระธาตุทราย ที่จะก่อขึ้นบนหาดทรายริมแม่น้ำโขง ซึ่งชาวลาวเรียกประเพณีนี้ว่า "การตบพระธาตุทราย" เพื่อเป็นพุทธบุชา คล้ายกับการก่อพระเจดีย์ทรายในบ้านเรา

นอกจากนั้นก็จะมีการลอย "กระทงเสี่ยงขอ" ที่ทำจากใบตองบรรจุกล้วย อ้อย ข้าวดำ ข้าวแดง ดอกไม้ ดอกดาวเรือง ใบพลู ธูปเทียน นอกจากนี้ชาวหลวงพระบางยังตัดเล็บ ตัดผมใส่กระทง ลอยไปในแม่น้ำ โดยมีความเชื่อว่าเรื่องร้ายๆ ความทุกข์โศก และสิ่งไม่ดีต่างๆ จะลอยไปกับกระทง
ปู่เยอ ย่าเยอ สิงห์แก้วสิงห์คำ มาร่วมขบวนแห่สงกรานต์
ชาวลาวนับถือปู่เยอย่าเยอว่าเป็นดังบรรพบุรุษ
วันสำคัญต่อมาคือ "วันเนา" (ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 เมษายน) เป็นวันที่คั่นระหว่างปีเก่าและปีใหม่ ในวันนี้จะมีการ “แห่วอ” หรือแห่เกี้ยว จากวัดธาตุน้อยไปตามถนนกลางเมืองมายังวัดเชียงทอง โดยวอที่สำคัญประกอบด้วย วอท้าวกบิลพรหม วอพระสงฆ์ วอนางสังขารหรือนางสงกรานต์ การแห่วอนี้จะเริ่มในช่วงบ่าย ขบวนแห่จะนำโดย "ปู่เยอ ย่าเยอ" ซึ่งตามความเชื่อของชาวล้านช้างโบราณถือว่าปู่เยอ-ย่าเยอเป็นเทวดาอารักษ์ เป็นดังตัวแทนบรรพบรุษของชาวลาว และเป็นที่นับถืออย่างสูงของชาวลาวทั่วไป ใบหน้าของปู่เยอย่าเยอมีลักษณะกลมทำด้วยไม้ประดู่ทาสีแดง ส่วนลำตัวเป็นขนยาวรุงรังทำจากปอ อีกทั้งยังมี "สิงห์แก้วสิงห์คำ" เป็นสัตว์เลี้ยง โดยปู่เยอ ย่าเยอ และสิงห์แก้วสิงห์คำนี้จะออกมาปรากฏตัวเฉพาะในงานปีใหม่เท่านั้น
ในเช้าวันปีใหม่ ชาวเมืองยังออกมาใส่บาตรข้าวเหนียวตามปกติ
ใส่บาตรข้าวเหนียวสองข้างทางริมถนน
ส่วน “นางสังขาร” หรือ “นางสงกรานต์” นั้น ปรากฏในตำนาน “บุตรีทั้งเจ็ด” ของท้าวกะบินละพม (กบิลพรหม) ผู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ ทุกๆ ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ แล้วนำไปประดิษฐานตามเดิม จนเป็นที่มาของการประกวดนางสังขาร เพื่อคัดเลือกหญิงสาวลูกหลานของชาวเมืองหลวงพระบางมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าทำหน้าที่เพื่อสืบประเพณีอันดีงามนี้ โดยหญิงสาวเหล่านี้จะต้องเป็นลูกหลานที่เกิดและเติบโตในเมืองหลวงพระบาง อายุระหว่าง 17-22 ปี

นอกจากนั้นก็มีขบวนของพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ในเมืองหลวงพระบางให้ผู้คนได้ร่วมกันสรงน้ำ ตามมาด้วยขบวนแห่จากคุ้มบ้านและหน่วยงานต่างๆ ในเมืองหลวงพระบาง ซึ่งต่างก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองงดงามเข้ามาร่วมในขบวน
ชาวหลวงพระบางเดินขึ้นพระธาตุพูสี ระหว่างทางก็จะวางข้าวเหนียวและขนมลูกอมไว้บนเสาบันได เรียกว่าการตักบาตรพูสี
วางกรวยดอกไม้และโยนก้อนข้าวเหนียวไปที่ต้นไม้
มาถึงวันสำคัญที่สุดของประเพณีสงกรานต์ นั่นก็คือ "วันสังขารขึ้น" หรือวันขึ้นปีใหม่ (ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 เมษายน) ในตอนเช้ามืดทุกบ้านจะจุดธูปและเทียน พร้อมทั้งวางดอกไม้ตามทางขึ้นบ้าน เพื่อเป็นการเคารพเจ้าที่เจ้าทางและเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้อยู่อาศัย และนอกจากการตักบาตรข้าวเหนียวที่ทำเป็นปกติทุกเช้าแล้ว ชาวหลวงพระบางก็จะแต่งตัวสวยงาม ถือกรวยดอกไม้บายสีและขันใส่ข้าวเหนียวรวมทั้งขนมลูกอมต่างๆ พากันเดินไปยังพูสี ภูเขาใหญ่กลางเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพูสี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหลวงพระบาง โดยระหว่างที่เดินขึ้นบันไดไปยังองค์พระธาตุ ชาวหลวงพระบางก็จะหยิบข้าวเหนียวเป็นคำเล็กๆ รวมถึงขนมลูกอมวางไว้ตามหัวเสาบันไดไปตลอดทาง เรียกว่าเป็นการ “ตักบาตรพูสี” ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทำบุญทำทานให้กับวิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย รวมไปถึงเด็กน้อยชาวลาวและคนยากจนที่จะมาคอยเก็บขนมลูกอมเหล่านี้ไปด้วยเช่นกัน

ส่วนผู้ที่เดินขึ้นไปถึงพระธาตุพูสีด้านบนแล้วก็จะวางกรวยดอกไม้เพื่อเป็นการบูชาพระธาตุ บางคนจะโยนก้อนข้าวเหนียวเล็กๆ ไปที่ฐานขององค์พระธาตุเพื่อเป็นการเสี่ยงทาย แล้วจึงเข้าไหว้พระพุทธรูปในสิมด้านบน เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะกลับบ้านไปกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาญาติพี่น้องที่มารวมตัวกัน
โยนก้อนข้าวเหนียวไปที่ฐานขององค์พระธาตุเพื่อเป็นการเสี่ยงทาย
ไหว้พระพุทธรูปในสิมด้านบนพระธาตุพูสี
จากนั้นในช่วงบ่ายของวันสังขารขึ้นก็จะมีพิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือขบวนแห่นางสังขารที่จะอัญเชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมจากวัดเชียงทองไปยังวัดธาตุน้อยเพื่อสรงน้ำ โดยรูปขบวนก็จะคล้ายกับขบวนแห่วอในวันเนา ที่นำหน้าด้วยปู่เยอ ย่าเยอและสิงห์แก้วสิงห์คำ ขบวนของพระสงฆ์ในเมืองหลวงพระบาง และขบวนแห่ของชาวหลวงพระบางคุ้มบ้านต่างๆ ตามด้วยขบวนนางสังขาร โดยสองข้างทางก็จะเต็มไปด้วยผู้ชมที่ออกมายืนรอชมขบวนและชมนางสังขารกันอย่างแน่นขนัด และหลังจากขบวนผ่านไปก็จะแยกย้ายกันไปเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

มาถึงอีกหนึ่งวันสำคัญวันที่ 4 ของสงกรานต์หลวงพระบาง คือ “วันสรงน้ำพระบาง” (ปีนี้ตรงกับวันที่ 17 เมษายน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวหลวงพระบางตั้งตาคอย เนื่องจากวันนี้จะมีการแห่อัญเชิญ “พระบาง” พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางที่ปกติแล้วจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบางออกมาประดิษฐานไว้ที่วัดใหม่สุวันนะพูมารามซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก เพื่อให้ชาวเมืองได้สรงน้ำกันเป็นเวลา 3 วัน
ชาวเมืองร่วมกันอัญเชิญพระบางจากพิพิธภัณฑ์ไปยังวัดใหม่สุวันนะพูมาราม
ขบวนแห่ยิ่งใหญ่และเปี่ยมไปด้วยศรัทธา
ในวันนี้จะมีการทำพิธีกันตั้งแต่เช้าที่หอพระบางในพิพิธภัณฑ์ โดยมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในการอัญเชิญพระบางขึ้นบนราชรถ ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนขบวนมายังวัดใหม่ฯ ภาพของชาวหลวงพระบางทั้งข้าราชการและประชาชนทั่วไปหลายร้อยคนที่แต่งกายแบบพื้นเมืองงดงาม ถือกรวยดอกไม้บายศรีเข้าร่วมในขบวนแห่ โดยมีราชรถที่ประดิษฐานพระบางอยู่กลางขบวนนั้นน่าประทับใจยิ่งนัก

เมื่อขบวนแห่พระบางเดินทางมาถึงวัดใหม่ฯ ก็จะมีพิธีอัญเชิญพระบางขึ้นประดิษฐานที่นี่ ตามด้วยพิธีสงฆ์ต่างๆ จากนั้นปู่เยอ-ย่าเยอ ซึ่งมารออยู่ที่วัดแล้วจะเป็นคู่แรกที่จะขึ้นไปสรงน้ำพระบาง ตามด้วยพระสงฆ์ พราหมณ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบไหว้ และขึ้นไปสรงน้ำพระบางโดยผ่านรางรดสรงกันได้ตลอดทั้ง 3 วัน (อัญเชิญพระบางกลับสู่หอพระบางวันที่ 20 เม.ย.)
ประชาชนมีโอกาสได้ชมและสรงน้ำพระบางอย่างใกล้ชิดปีละครั้ง
ประชาชนมากราบไหว้และสรงน้ำพระบางตลอดทั้งวัน
น้ำอบน้ำหอมลอยดอกไม้ที่ผ่านการรดสรงองค์พระบางแล้วนั้น จะไหลมาตามท่อที่ต่อยาวออกมาด้านหลังปะรำพิธี น้ำสรงนี้ถือเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่ชาวเมืองจะมารองบรรจุใส่ขวดหรือขันและนำไปปะพรมเป็นสิริมงคลต่อไป

เรียกได้ว่าหากอยากจะมาร่วมงานสงกรานต์ปีใหม่หลวงพระบางแบบครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ควรพลาดพิธีทั้ง 4 วันนี้ที่เป็นดังไฮไลต์ของงาน และสำหรับคนที่อยากมาสนุกสนานกับการสาดน้ำสงกรานต์ที่หลวงพระบางก็ไม่ต้องห่วง เพราะหลังจากงานพิธีของแต่ละวันจบลง ชาวหลวงพระบางและนักท่องเที่ยวต่างก็เล่นสาดน้ำกันแบบสุดเหวี่ยงไม่แพ้ที่เมืองไทยเช่นกัน
ชาวลาวแต่งตัวสวยงามเตรียมขันน้ำอบน้ำหอมมาสรงน้ำพระบาง
กำลังโหลดความคิดเห็น