xs
xsm
sm
md
lg

“สงกรานต์ต่างแดน” ประเพณีสาดน้ำ ไม่ได้มีที่เมืองไทยแห่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สงกรานต์ประเทศไทย
ตั้งแต่มีข่าวว่าที่ประเทศสิงคโปร์จะมีการจัดงานสงกรานต์ขึ้น คนไทยหลายๆ คนก็หันมาสนใจเรื่องการจัดงานสงกรานต์มากขึ้น มีหลายเสียงที่บอกว่านี่เป็นวัฒนธรรมของคนไทย อย่าให้ใครมาแย่งชิงไป และถึงแม้ว่าการสาดน้ำในงานสงกรานต์ที่สิงคโปร์จะถูกยกเลิกไป (เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำ) แต่เรื่องนี้ก็ยังถูกพูดถึงกันอยู่บ้าง

ซึ่งอันที่จริงแล้ว หากจะบอกว่า “ประเพณีสงกรานต์” เป็นของคนไทยเท่านั้น เห็นจะไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เนื่องจากสงกรานต์ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ร่วมกันในกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาทิ ลาว เขมร มอญ พม่า รวมไปถึงลังกา และสิบสองปันนาในประเทศจีนด้วย
เทศกาลโฮลิ หรือ โฮลิปูรณิมา (ภาพจาก : all-world-festivals.blogspot.com)
นอกจากจะเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ที่สืบทอดต่อๆ กันมาแล้ว หากสังเกตที่ชื่อเรียกของประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียว คนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า “สงกรานต์” ล้านนาเรียกว่า “ปี๋ใหม่เมือง” เขมรเรียกว่า “ซ็องกราน” มอญเรียกว่า “ซงกราน” พม่าเรียกว่า “ทิงยัน”

แต่วันขึ้นปีใหม่ของไทยในยุคก่อน รวมถึงเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ กลับไม่ใช่ในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) เหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในช่วงหลังจากวันลอยกระทง

เหตุที่เปลี่ยนมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ในช่วงเดือน 5 ก็เนื่องจากได้รับคติความเชื่อมาจากอินเดีย ผ่านแบบแผนของพราหมณ์-ฮินดู ที่นำเข้ามาใช้ในราชสำนักต่างๆ ในแถบอุษาคเนย์ ซึ่งสามารถสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียนั่นเอง
สีที่นำมาสาดใส่กันทำมาจากพืชสมุนไพร (ภาพจาก : tierraindia.in)
"โฮลิ" สงกรานต์อินเดีย ต้นกำเนิดสงกรานต์ไทย

สำหรับประเพณีสงกรานต์ของอินเดีย ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ไทย และสงกรานต์ในแถบอุษาคเนย์นั้น เป็นสงกรานต์ที่ใช้การสาดสี ไม่ใช่การสาดน้ำแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยประเพณีนี้ที่อินเดียมีชื่อเรียกว่า “โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา” ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ เดือนมีนาคม)

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ก้าวย่าง” ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียหมายถึงการเปลี่ยนผ่านเวลาในรอบปีจากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ฉะนั้นในหนึ่งปีจะมีสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน) ถือว่าเป็นการขึ้นปีใหม่ตามคติฮินดู (ที่นับวันตามสุริยคติ) จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์”

บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า เทศกาลโฮลิ คือการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะในการปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า “โฮลิกา” ด้วยการเผาผลาญร่างกายนางจนมอดไหม้ จึงได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการเผาสิ่งสกปรกออกจากบ้าน และโฮลิ ก็ยังมีความหมายถึงการสิ้นสุดไปของปีเก่า จากนั้นพระพรหมก็จะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเพ็ญโฮลิปูรณิมา

ดังนั้น สิ่งที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลโฮลิก็คือการนำสิ่งของสกปรกออกไปจากบ้าน ไปรวมกันไว้ แล้วทำการเผาทิ้งไป ระหว่างนั้นก็จะมีการร้องรำทำเพลงไปเรื่อย พอวันรุ่งขึ้นก็จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเราให้หมดสิ้น

เบื้องหลังของของประเพณีโฮลิ ที่ถือว่าเป็นการปัดเป่าโรคร้ายไปจากตัว ก็เนื่องจากสีที่นำมาสาดใส่กันนั้น เป็นสีที่ได้มาจากพืชพรรณและสมุนไพรตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีคราม ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย คล้ายกับการใช้ธรรมชาติบำบัด เพราะว่าในช่วงที่มีประเพณีโฮลิเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ที่อาจทำให้ไม่สบายได้ง่าย

ประเพณีโฮลิในอินเดีย เชื่อกันว่ามีมาอย่างยาวนานมากแล้ว จนกระทั่งความเชื่อนี้เข้ามาเผยแพร่ในแถบอุษาคเนย์ ก็ถูกเปลี่ยนจากการสาดสีเป็นการสาดน้ำแทน เนื่องจากในช่วงเดือนห้าเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากที่สุดของปี การสาดน้ำนั้นก็เป็นไปเพื่อการคลายร้อน และเป็นการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง
สงกรานต์ลาว
สงกรานต์อุษาคเนย์

เนื่องจากได้รับคติความเชื่อจากอินเดียมาเหมือนกัน จึงมีประเพณีสงกรานต์ที่มีความคล้ายคลึงกันมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เริ่มจาก “สงกรานต์ลาว” ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) โดยส่วนใหญ่จะจัดระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี

“สงกรานต์ลาว” จะแบ่งการจัดงานหลักๆ ออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ถือเป็นวันแห่งครอบครัว เพราะญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่งนางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวอีกด้วย

สำหรับประเพณีสงกรานต์ลาวอันโด่งดังนั้นก็คืองาน"สงกรานต์หลวงพะบาง" ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาสัมผัสกับงานสงกรานต์ที่เมืองนี้กันเป็นจำนวนมาก
สงกรานต์พม่า (ภาพ : AFP)
“สงกรานต์พม่า” จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย แต่เป็นเดือน 1 ของพม่า ที่เรียกว่า “เดือนดะกู” (ช่วงมีนาคม-เมษายน) ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ในภาษาพม่า สงกรานต์มีชื่อเรียกว่า เหย่บะแวด่อ (คำว่า เหย่ แปลว่า "พิธีน้ำ" ส่วน บะแวด่อ แปลว่า “เทศกาล”) ปัจจุบัน รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี

ประชาชนชาวพม่าเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีการเล่นสาดน้ำตลอดทั้ง 5 วัน นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นช่วงมงคล จึงนิยมเจ้าวัดเข้าวา รักษาศีล สรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส และสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชายและจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว ดังนั้นในช่วงหลังสงกรานต์ จะพบเห็นขบวนแห่ลูกแก้วและลูกหญิงไปตามท้องถนนและรอบลานพระเจดีย์ ตามวัดต่างๆ จึงมีสามเณรบวชใหม่อยู่กันเต็มแทบทุกวัด
สงกรานต์กัมพูชา (ภาพ : Wikipedia.org)
“สงกรานต์กัมพูชา” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเช่นกัน โดยจะตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย เรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน

เทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะมีกิจกรรมคล้ายๆ กับไทย คือ มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน โดยจะแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย ในช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่างๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล
สงกรานต์สิบสองปันนา (ภาพ : tourtooktee.com)
“สงกรานต์สิบสองปันนา” สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใจ้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล “พัวสุ่ยเจี๋ย” โดยจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน

กิจกรรมหลักๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ การแข่งขันเรือมังกร อันเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ มีการร้องรำทำเพลงต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกันในเหล่าชาวเมือง รวมถึงผู้ที่ผ่านไปผ่านมาด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว
Wet Monday (ภาพ : PetroZadorozhnyy)
"Wet Monday" สงกรานต์หลังวันอีสเตอร์

นอกจากงานสงกรานต์จะจัดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีประเทศในแถบยุโรป ที่มีประเพณีสาดน้ำคล้ายๆ กับในบ้านเราเช่นกัน ประเพณีมีชื่อเรียกว่า “Wet Monday” เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นในแถบยุโรปกลาง โดยเฉพาะในโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน

ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยจะใช้น้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง เดิมนั้นประเพณี Wet Monday จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิง โดยผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้านจะถูกรุมสาดน้ำจนเปียกปอนมากที่สุด

ปัจจุบันนี้ หากพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ หรือ Water Festival คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงสงกรานต์ที่ประเทศไทยเป็นที่แรก เนื่องจากมีการโปรโมทกันมากมาย และพยายามยกระดับให้เป็นงานอีเวนท์ระดับโลก จนคนไทยหลายๆ คน ลืมไปแล้วว่า “สงกรานต์” เป็นประเพณีร่วมกันของคนที่มีนับถือพระพุทธศาสนา และอาศัยอยู่ในแถบอาเซียนเช่นเดียวกัน การจะไปทึกทักว่าสงกรานต์เป็นของประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก ความเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ต่างหาก ที่จะช่วยให้เราและเพื่อนบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น