xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวนอกกรอบ ไหว้พระนอกกำแพงสี่มุมเมืองสุโขทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธสิริมารวิชัย
มาเยือนเมืองเก่าสุโขทัยก็หลายครั้ง ได้เที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมาก็หลายหน “ตะลอนเที่ยว” เพิ่งรู้ตัวก็ครั้งนี้ว่ายังเที่ยวชมแหล่งมรดกโลกของเราไม่ทั่ว เพราะปกติแล้วเมื่อมาเยือนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทีไร ก็มักจะมุ่งหน้าไปชมวัดไฮไลต์ในกำแพงเมืองอย่างเช่นวัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย หรือวัดสระศรี แต่มาครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัยว่า โบราณสถานภายนอกกำแพงเมืองยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันตั้งอยู่รายรอบกำแพงเมืองด้านนอกทั้งสี่ทิศ ถ้าไปเยือนก็จะได้ชมของดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก และได้มาไหว้พระกันทั้งสี่มุมเมืองเลยทีเดียว

เส้นทางเที่ยวนอกกรอบ(กำแพงเมือง) ในครั้งนี้ แต่ละวัดค่อนข้างจะอยู่ไกลกันสักหน่อย จะขับรถเที่ยวก็สะดวกดี แต่สำหรับใครที่เป็นขาแรง อยากจะปั่นจักรยานเที่ยวชมก็สามารถทำได้เช่นกัน ปั่นไปพักไปชมโบราณสถานแบบชิลล์ๆ แถมได้ออกกำลังอีกด้วย
จิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงและพระราชินี
“ตะลอนเที่ยว” เริ่มต้นเส้นทางไหว้พระสี่มุมเมืองกันทางด้านทิศเหนือ ที่ “หอพระพุทธสิริมารวิชัย” ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธสิริมารวิชัย พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยที่เก่าแก่ แต่เดิมชาวสุโขทัยเรียกท่านว่า “หลวงพ่องาม” หรือ “หลวงพ่อสุโขทัย” แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดใหม่ ในเมืองเก่าสุโขทัย ก่อนจะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดราชธานี แต่ต่อมาในปี 2511 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้หักพังเสียหายเป็นชิ้นๆ จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ในเมืองเก่าสุโขทัย

ต่อมาทางกรมศิลปากร ธนาคารไทยพาณิชย์ และจังหวัดสุโขทัยจึงได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมหลวงพ่องามขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างหอพระที่ประดิษฐานให้แก่พระพุทธรูป เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ชันษา ในวันที่ 12 ส.ค. 2535 และเป็นที่น่ายินดียิ่งของชาวสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธสิริมารวิชัย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2535 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของพระพุทธรูป ว่า “พระพุทธสิริมารวิชัย” ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารด้วยสิริ
หอพระพุทธสิริมารวิชัยที่สร้างขึ้นตามแบบสุโขทัย
ในวันนี้ชาวสุโขทัยจึงได้พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกลับคืนมาเป็นมิ่งขวัญอีกครั้ง อีกทั้งใครที่ได้มากราบองค์พระพุทธสิริมารวิชัย ก็ยังจะได้ชื่นชมกับสถาปัตยกรรมอันงดงามของหอพระพุทธรูปแห่งนี้ที่สร้างขึ้นตามแบบสุโขทัย ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนลงบนผืนผ้าใบแล้วนำไปติดบนผนังซึ่งเป็นเทคนิคสมัยใหม่ที่ทำให้รูปเขียนคงทน ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านั้นมีทั้งเรื่องราวพุทธประวัติตอนมารวิชัย มีภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย ทั้งด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนั้นยังมีภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พระพุทธสิริมารวิชัยอีกด้วย
พระปรางค์ของวัดพระพายหลวง
ฝั่งตรงข้ามกับหอพระพุทธสิริมารวิชัย เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ คือ “วัดพระพายหลวง” วัดแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญและเก่าที่สุดแห่งหนึ่ง มีปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง 3 องค์ เป็นศิลปะในยุคเดียวกับศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่เดิมเป็นเทวสถาน เนื่องจากพบชิ้นส่วนของเทวรูปและฐานศิวลึงค์ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบพระพุทธรูปแกะหินสลัก ปางนาคปรก และตรงด้านหน้าพระวิหารยังพบพระพุทธรูปสลักหินองค์ใหญ่ปางสมาธิ ส่วนด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน
พระอจนะ แห่งวัดศรีชุม
อีกหนึ่งวัดนอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด ก็คือ “วัดศรีชุม” เป็นที่ประดิษฐาน “พระอจนะ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่สูงถึง 15 ม. ที่ได้รับฉายาว่า “พระพูดได้” พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงสี่เหลี่ยมที่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้วเหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแข็งแรง แต่ภายในผนังทางด้านใต้มีช่องที่ให้คนสามารถเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ จนถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะและสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้
มณฑปพระอจนะที่หลังคาพังทลายลงมา
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานพระพูดได้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระนเรศวรได้มาประชุมทัพเพื่อจะยกไปปราบเมืองสวรรคโลก ท่านต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร ดังนั้นจึงได้มีพิธีเสี่ยงทายกับพระพุทธรูป โดยได้เสี่ยงทายว่า การรบครั้งนี้หากจะได้ชัยชนะกลับมาก็ขอให้พระอจนะที่วัดศรีชุมแห่งนี้จงกล่าวตอบ และพระอจนะก็ได้กล่าวตอบมาจริงๆ ทำให้ทหารต่างมีกำลังใจในการสู้รบ

เหตุที่พระอจนะพูดได้นั้นเกิดจากกุศโลบายของพระนเรศวร ที่ได้ส่งคนขึ้นไปอยู่ด้านหลังเศียรพระตามช่องทางเดินในกำแพงที่ได้กล่าวไปแล้ว และพูดตอบคำถามแทน เพื่อเป็นการปลุกปลอบขวัญทหารให้ฮึกเหิม จนกลายเป็นคำร่ำลือว่าพระอจนะแห่งวัดศรีชุมนี้พูดได้นั่นเอง (คลิกอ่านเรื่องวัดศรีชุมเพิ่มเติมได้ที่ “วัดศรีชุม”สุโขทัย น่าทึ่งพระพุทธรูปพูดได้ คุณยายพูดโดน...“การโกง มันบาป”)
วัดช้างล้อม นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันออก
คราวนี้ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางเวียนขวาต่อมายังด้านนอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันออกที่ “วัดช้างล้อม” ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ประกอบด้วยเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ ที่ฐานมีช้างปูนปั้นครึ่งตัวอยู่โดยรอบฐานเจดีย์จำนวน 36 เชือก มีระเบียงและเสาเป็นศิลารอบเจดีย์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีวิหารและเจดีย์รายด้านข้างวิหาร 8 องค์ นอกจากนั้นที่วัดนี้ยังพบศิลาจารึกวัดช้างล้อม พ.ศ.1927 เป็นจารึกอักษรไทยสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องราวการออกบวชของพนมไสดำและการสร้างวัตถุในศาสนา
วัดเชตุพน ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถคือ นั่ง นอน ยืน เดิน
วนขวาต่อมาทางทิศใต้ มีสองวัดน่าสนใจนอกกำแพงเมืองที่อยากแนะนำให้ไปชม นั่นก็คือ “วัดเชตุพน” และ “วัดเจดีย์สี่ห้อง” ที่มีศิลปกรรมงดงามน่าชมไม่แพ้กัน “วัดเชตุพน” มีศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปจตุรมุขที่สร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถคือ นั่ง นอน ยืน เดิน สร้างอยู่โดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา อันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าชมภายในวัดคือกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขที่สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้
วัดเจดีย์สี่ห้อง
ส่วน “วัดเจดีย์สี่ห้อง” ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนน ห่างออกไปจากวัดเชตุพนประมาณ 100 เมตร ก็เป็นโบราณสถานที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน ภายในวัดมีซากวิหาร เจดีย์ประธาน และเจดีย์รายต่างๆ องค์เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลมที่ได้รับการบูรณะ ส่วนยอดเจดีย์ได้หักพังลงมา โดยยังคงเห็นส่วนของปล้องไฉนตกอยู่ที่ฐานเจดีย์
ภาพปูนปั้นประดับที่ฐานเจดีย์ประธาน วัดเจดีย์สี่ห้อง
ของดีของวัดเจดีย์สี่ห้องที่สำคัญและยังคงหลงเหลือให้ชมก็คือที่ฐานเจดีย์ประธาน ซึ่งมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบเป็นรูปบุคคล ทั้งบุรุษและสตรี ซึ่งสวมอาภารณ์และเครื่องประดับต่างๆ กัน ในมือยังถือภาชนะซึ่งมีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมา แสดงถึงความเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์

รูปบุคคลต่างๆ นี้จะสังเกตเห็นว่าบริเวณศีรษะจะมีร่องรอยนาคหลายเศียรแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง แปลความหมายได้ว่าเป็นมนุษย์นาคซึ่งเป็นเทพในโลกบาดาลตามแบบอย่างคติที่นิยมในลังกา นอกจากนั้นยังมีปูนปั้นรูปช้างและรูปสิงห์ประดับอยู่คู่รูปบุคคลอีกด้วย
เส้นทางเดินขึ้นสู่วัดสะพานหิน
และแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็มาถึงยังวัดสุดท้ายนอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตก ที่ “วัดสะพานหิน” วัดนี้ต้องใช้กำลังและแรงขากันสักนิด เพราะตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาที่ความสูงประมาณ 200 เมตร มีเส้นทางเดินขึ้นสู่โบราณสถานปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร ด้านบนมี “พระอัฏฐารศ” พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร ประดิษฐานภายในพระวิหารที่ปัจจุบันหักพังเหลือเพียงเสาและพื้น พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวถึงเบื้องตะวันตกของสุโขทัยว่า “...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน...” และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ รูจาครี เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันพระ ข้างขึ้นและข้างแรม 15 ค่ำ
พระอัฏฐารศ วัดสะพานหิน
“ตะลอนเที่ยว” มาสุโขทัยครั้งนี้ได้เที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ในมุมมองใหม่ๆ แต่ยังคงเสน่ห์ของโบราณสถานอันทรงคุณค่าอยู่เช่นเดิม

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยได้ที่ ททท.สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย-กำแพงเพชร) โทร.0 5561 6228-9 หรือเฟสบุ๊ค www.facebook.com/tatsukhothaifanpage

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“วัดศรีชุม”สุโขทัย น่าทึ่งพระพุทธรูปพูดได้ คุณยายพูดโดน...“การโกง มันบาป”/ปิ่น บุตรี
“ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย” อร่อยต้นตำรับเมืองพระร่วง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น