xs
xsm
sm
md
lg

สะพานไม้ท่องป่าชายเลนยาวสุดในเมืองไทย ของดีเมืองชลฯที่ถูกทอดทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลาที่ถูกทอดทิ้งปล่อยไปตามสภาพ
“ป่าชายเลน” มีความสำคัญต่อมนุษย์รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศมากมายอย่างคาดไม่ถึง ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนทั้งทางด้านป่าไม้ และด้านประมง โดยป่าชายเลนถือเป็นแหล่งอนุบาลและขยายพันธุ์สัตว์ทะเล อีกทั้งป่าชายเลนยังเป็นกำแพงธรรมชาติที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยป้องกันคลื่นและลมจากทะเลอีกด้วย
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยาวที่สุดในเมืองไทย
จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งในอดีตเคยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่มากแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นมากนัก เนื่องจากถูกทำลายจากการขยายตัวอันเนื่องมากจากการเติบโตพัฒนาเมือง อีกทั้งการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การทิ้งขยะลงทะเลโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สะพานไม้ทางเดินทอดตัวสู่ป่าชายเลนอันร่มรื่น
แต่เนื่องจากทางจังหวัดชลบุรียังเห็นความสำคัญของป่าชายเลน จึงได้ทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน และก่อตั้ง “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี” ใน อ.เมือง จ.ชลบุรี ขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าชายเลนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ให้ชาวชลบุรีและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมาสัมผัสและศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลนได้จากสถานที่จริงอย่างใกล้ชิด และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย
เส้นทางช่วงระหว่างป่าชายเลนกับท้องทะเล
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ แห่งนี้ ถือเป็นผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของ จ.ชลบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ภายในมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ที่ยาว 2,300 เมตร ซึ่งถือเป็นสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติที่สุดในประเทศไทย โดยระหว่างเส้นทางจะมีสะพานแขวน ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่สร้างขึ้นเพื่อความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถที่จะขึ้นไปยืนบนสะพานแขวนโดยจะขึ้นไปเป็นกลุ่มหรือคนเดียวก็ได้ ความสนุกสนานของสะพานแขวน อยู่ที่ตัวของสะพานที่สามารถเคลื่อนที่ไปซ้าย -ขวา ได้ตามแรงโยก และนอกจากนี้ก็ยังมีบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นระยะๆ นักท่องเที่ยวจะได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินตลอดทั้งเส้นทาง
ค้างคาวแม่ไก่จำนวนมาก
บนระยะทาง 2,300 เมตร บนสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติจะได้พบเห็นความหลากหลายของระบบนิเวศป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลนและสัตว์น้ำหลากหลายชนิด สำหรับพันธุ์ไม้ก็มีทั้งโกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว แสมดำ แสมขาว โปรงแดง โปรงขาว ลำพู ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอีกหลากหลาย ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยนางรม หอยแครง ปูก้ามดาบ ปูแสม ปลานวลจันทร์ ปลากะพงขาว ปลาจุ่มพรวด นกอีกนานาชนิด และค้างคาวแม่ไก่ ที่มีจำนวนมากและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในระยะที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถือเป็นตัวบ่งชี้ได้เห็นว่า ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากอีกแห่งหนึ่ง
ปลาจุมพรวด
สำหรับสะพานเดินศึกษาธรรมชาติแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 18 ล้านบาท โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี อีก 1.7 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบริเวณด้านหน้าให้เป็นสวนสุขภาพ และทำราวเชือกสะพานเพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี
ศาลานั่งพักที่ถูกทอดทิ้ง
อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่า สะพานไม้เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันนอกจากจะมีบางส่วนผุพังและศาลาบางส่นชำรุดแล้ว ยังดูค่อนข้างโทรม อีกทั้งยังดูขาดการดูแลเอาใจใส่ นับเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะนี่ถือเป็นอีกหนึ่งของดีเมืองชลฯ เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าน่าสนใจ ที่หากยังปล่อยให้สะพานไม้ที่ใช้ในการเดินศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ผุผังไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีการเหลียวแล ศูนย์ศึกษาธรรมชาติปาชายเลนแห่งนี้ อาจเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายของชลบุรีที่ไม่มีใครเข้ามาแวะเวียนเที่ยวชมอีกเลย

***********************************************************

“ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี การเดินทาง : จากถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาที่แยกคีรี จนถึงถนนเลียบป่าชายเลนแล้วเลี้ยวซ้าย ศูนย์ฯ อยู่ตรงข้ามกับสำนักงานป่าไม้จังหวัดชลบุรี เวลาทำการ : 08.30-18.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ถ้ามาเป็นหมู่คณะใหญ่ตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ผู้ใหญ่ราคา 5 บาท เด็กราคา 3 บาท ถ้าต้องการวิทยากรนำชมเพื่อให้ความรู้ คิดค่าวิทยากรชั่วโมงละ 100 บาท ติดต่อ : โทร. 0-3839-8268-9 (ในวันและเวลาราชการ), 08-1713-9683
สะพานไม้ชำรุดอาจเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น