ตราด - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ห้องจุลมณี 3 โรงแรมเคพี แกรนด์ อ.เมือง จ.จันทบุรี นายเกรียงเดช เข็มทอง ผู้วาราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี มี นางกาญจนวดี มณีรัตน์ ผู้ตรวจราชการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประชาชนในพื้นทีร่วมโครงการ
สำหรับการจัดโครงการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ มีความสำคัญระดับหนึ่งของประเทศไทย สภาพเป็นป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง ประชาชนประกอบอาชีพทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ที่ผ่านมา ประสบปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน และเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
โดยเฉพาะในหมู่ที่ 12, 14 และ 16 ซึ่งจากผลการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2552 ได้ทำโครงการศึกษาวางผังแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และวางผังท่าเรือเพื่อรองรับการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งด้านตะวันออก พบว่า บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างมาก ระยะทางที่ถูกกัดเซาะ 2.17 กิโลเมตร มีอัตราการกัดเซาะ 3.31 เมตรต่อปี ระหว่างปี 2554-2551 สูญเสียพื้นที่ชายฝั่งไป 28.31 ไร่
จากการจัดลำดับคิดเป็นระดับความรุนแรงขั้นวิกฤต มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง และจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 เห็นชอบกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ 2554-2559 ได้บรรลุแผนงานศึกษาออกแบบจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและก่อสร้างในพื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์
ดังนั้น วันนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักการจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและพื้นที่ชายฝั่งทะเล จึงเห็นสมควรให้มีการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้างที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สังคมในพื้นที่ และประเทศชาติโดยรวมต่อไป