xs
xsm
sm
md
lg

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
วัดภูมินทร์
น่านแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็เป็นประเภทเล็กดีรสโต ที่เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจให้ชวนค้นหา โดยเฉพาะมนต์เสน่ห์ของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออก อันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ใครหลายๆคนที่เคยไปแอ่วเมืองน่านแล้วต่างตกหลุมรักเมืองนี้เข้าเต็มเปา

สำหรับตัวเมืองน่านมีพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอยู่บริเวณ“ข่วงเมือง” ซึ่งเป็นลานกว้างใจกลางเมืองที่ใช้ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้าน ว่าง่ายๆ ก็คล้ายท้องสนามหลวงในกรุงเทพฯ นั่นเอง ปัจจุบันช่วงยามเย็นแดดอ่อนๆ ชาวน่านก็จะมาเดินออกกำลังกายหรือมานั่งพูดคุยพบปะกันที่ลานข่วงเมือง

ข่วงเมือง ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองน่าน(ต.ในเมือง(ในเวียง) อ.เมือง) ถือเป็นลานสาธารณะ ลานแห่งวัฒนธรรม ซึ่งผมเรียกบริเวณนี้ว่า “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน” เพราะเป็นที่ตั้งของสามสิ่งสำคัญอันโดดเด่นคู่บ้านคู่เมืองน่าน ที่ตั้งอยู่ในสามมุม นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างสบายๆ เพราะสิ่งน่าสนใจทั้งสามนั้นอยู่ใกล้ๆกัน
ลานข่วงเมือง
วัดภูมินทร์

สิ่งสำคัญอันดับแรกในมุมแรกของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านคือ “วัดภูมินทร์” ที่ตั้งอยู่บนถนนผากลอง วัดภูมินทร์ถือเป็นวัดไฮไลท์สำคัญประจำเมืองน่าน ที่งดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งหากใครที่ไปแอ่วน่านแล้วยังไม่เคยไปเยือนวัดภูมินทร์ก็เหมือนกับยังไปไม่ถึง

วัดภูมินทร์ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์” เพราะสร้างโดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ในปี พ.ศ. 2139 ก่อนที่ภายหลังจะเรียกเพี้ยนเป็น“วัดภูมินทร์
พระประธานจตุรทิศ
วัดภูมินทร์มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันในรูปทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว เลื้อยเทินพระอุโบสถไว้บนหลังกลางลำตัว

ประติมากรรมพญานาคคู่ 2 ตนนี้ ช่างโบราณใช้ฝีมือสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เป็นนาคสะดุ้งลำตัวอวบอ้วนเพศผู้ -เพศเมียชูหัวสง่า ส่วนลำตัวดูคล้ายกำลังเลื้อยทะลุผ่านโบสถ์ หรือที่บางคนว่านาคคู่นี้กำลังใช้ลำตัวเทินโบสถ์ไว้ เพื่อคอยเป็นผู้ปกปักค้ำจุนพระพุทธศาสนา ซึ่ง อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาตินามอุโฆษยกให้นี่เป็นพญานาคที่ดูมีชีวิตและทรงพลังที่สุดในเมืองไทย
ฮูปแต้มวัดภูมินทร์
ส่วนเมื่อเดินเข้าไปข้างในโบสถ์ก็จะพบกับองค์“พระประธานจตุรทิศ” ที่เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ประทับฐานชุกชีหนึ่งเดียวกัน ณ แกนกลางโบสถ์ แต่หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 นับเป็นพระประธานที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังมีความงดงาม ลงตัวสมส่วน ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา

ภายในโบสถ์วัดภูมินทร์ยังมีงานพุทธศิลป์ในระดับมาสเตอร์พีช นั่นก็คือ “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตกรรมฝาผนัง ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน
ฮูปแต้มวัดภูมินทร์มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยการวาดภาพที่เรียบง่ายแต่ดูมีชีวิตชีวา มีความเป็นธรรมชาติ กับสัดส่วนภาพหลายๆภาพที่มีขนาดเทียบเคียงเท่ากับคนจริง ซึ่งผู้รู้ต่างเชื่อกันว่าจิตกรผู้วาดภาพน่าจะเป็น “หนานบัวผัน”ชาวไทลื้อ

เนื้อหาในภาพจิตรกรรมนั้นมุ่งนำเสนอเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชาดก และภาพวิถีชีวิตชาวน่านในยุคนั้น โดยภาพวาดสำคัญก็คือ ภาพ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ที่ถือเป็นไฮไลท์ของวัดแห่งนี้

ภาพปู่ม่าน-ย่าม่านเป็นภาพขนาดใหญ่ของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ยืนเคียงคู่กันโดยฝ่ายชายได้ใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆต่อหญิงสาว ซึ่งก็ทำให้ภาพนี้ในภายหลังได้รับการเรียกขานว่าเป็น ภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกล
ฮูปแต้มที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพชายรักชาย
ปัจจุบันภาพปู่ม่าน-ย่าม่านถือเป็นภาพสัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน ที่มีการนำภาพนี้ไปสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ประดับให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในเมืองน่าน

นอกจากนี้ภาพปู่ม่าน-ย่าม่านยังถูกนำไปต่อยอด เสริมจินตนาการ โดย “อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม” ปราญช์เมืองน่าน ได้ตีความภาพนี้แต่งเป็นคำบรรยายโรแมนติก ว่า

“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...”

คำบรรยายนี้แปลความได้ว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
วัดพระธาตุช้างค้ำ
นอกจากภาพกระซิบรักบันลือโลกแล้ว วัดภูมินทร์ยังมีงานจิตกรรมฝาผนังน่าสนใจ อาทิ ภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” ที่เป็นภาพของสาวงามกำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะดูสวยงามคลาสสิกเป็นอย่างยิ่ง ภาพวิถีชีวิตชาวน่าน ภาพชีวิตของชาวบ้าน ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ ภาพการค้าขายแลกเปลี่ยนของชาวบ้าน ภาพชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามในสมัย ร. 5 ภาพนรก ภาพเปรต และภาพสวยๆงามๆอีกหลากหลาย

รวมไปถึงภาพที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพ“ชายรักชาย” อันทำให้สาวเจ้าผู้ไม่รู้ว่าเป็นแฟนใครต้องเดินร้องไห้จากไป เพราะคนรักดันไปชอบไม้ป่าเดียวกัน ซึ่งภาพนี้ใครสนใจคงต้องไปใช้สายตาสอดส่องกันเอาเอง
เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ
วัดช้างค้ำ

สิ่งสำคัญอันดับที่สองในมุมที่สองของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน คือ“วัดช้างค้ำ” ที่ตั้งอยู่เยื้องๆกับข่วงเมืองบริเวณแยกไปแดง บนถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

วัดพระธาตุช้างค้ำ เดิมชื่อ “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่งหรือเจ้าพญาปู่แข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
วัดพระธาตุช้างค้ำโดดเด่นไปด้วยเจดีย์ทรงลังกาสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัวด้านละ 5 เชือก และมีที่มุมอีก 4 เชือก ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างเอาตัวหนุนองค์พระเจดีย์ไว้สมดังชื่อพระธาตุช้างค้ำ

ขณะที่วิหารของวัดนั้นมีขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาดใหญ่ 2 คนโอบ มีพระประธานคือ “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” ซึ่งเป็นพุทธรูปทองคำปางลีลาอันงดงามขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

สำหรับสิ่งสำคัญอันดับสุดท้ายในมุมที่สามของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน” ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมท้องถิ่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2446 เดิมเป็น “หอคำ” ที่ใช้เป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของ “เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ” เจ้าผู้ครองนครน่าน
ซุ้มลีลาวดี
ที่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์นั้นดูโดดเด่นไปด้วยกลุ่มต้นลีลาวดีหรือต้นลั่นทม ที่เป็นแถวปลูกเรียงรายไปบนเส้นทางเดินเล็กๆซึ่งยามเมื่อเดินอยู่ใต้ต้นลั่นทมที่แผ่สยายกิ่งก้านโค้งตัวเข้าหากัน มันให้บรรยากาศของการเดินอยู่ใต้ซุ้มลั่นทมที่ได้ชื่อว่าสวยงามติดอันดับต้นๆของเมืองไทยเลยทีเดียว

ส่วนถัดเข้ามาจากซุ้มลีลาวดีจะเป็นที่ตั้งของ “วัดน้อย” ณ ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่
วัดน้อย
วัดน้อยเป็นวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเมืองไทย มีขนาดกว้างเพียง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร และสูงแค่ 3.25 เมตรเท่านั้น ตัววัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน ส่วนเหตุที่วัดน้อยถูกสร้างขึ้นมาด้วยขนาดเล็กจิ๋วนั้น มีคำเล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูล ถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนวัดเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป พระองค์เข้าเฝ้ารัชการที่ 5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น
พระพุทธรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
เรามาดูสิ่งน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์กันบ้าง พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน แบ่งเป็น 2 ชั้น ที่ชั้น 1 เมื่อเดินเข้าไปก็จะพบกับโถงจัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์ วิถีชาวน่าน ชนเผ่าต่างๆ บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เครื่องมือเกษตร การแต่งกาย อาวุธ ผ้าทอ รวมถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อาทิ พิธีสืบชะตา ทาน(ตาน)ก๋วยสลาก ทานสลากภัต และการแข่งเรือ ซึ่งประเพณีแข่งเรือเมืองน่านนี่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ตรง เรือหัวนาค หางนาค ที่ในพิพิธภัณฑ์ได้นำหัวเรือ(หัวนาค)มาจัดแสดงให้ชม

ขณะที่ในส่วนของชั้น 2 หรือชั้นบนนั้นจัดแสดงศิลปวัตถุน่าสนใจหลากหลาย อาทิ พระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ พระพุทธรูปไม้เก่าแก่ ที่มีทั้งพระพุทธรูปไม้ทรงเครื่องและแบบงานศิลปะพื้นบ้าน รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยที่ค้นพบในเมืองน่าน
งาช้างดำ ของล้ำค่าคู่เมืองน่าน
นอกจากนี้ที่ชั้น 2 ยังมีสิ่งสำคัญในระดับไฮไลท์ประจำเมืองน่าน นั่นก็คือ “งาช้างดำ” ปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านอายุหลายร้อยปี ซึ่งได้รับการถวายมาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ทายาทจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยจากข้อมูลของนักวิชาการที่ศึกษาพบว่าเป็นงาช้างตันที่ถูกดึงมาทั้งยวงจากตัวช้างที่คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 60 ปี และน่าจะเป็นงาข้างซ้าย

งาช้างดำกิ่งนี้เป็นงาปลี ยาว 94 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม วัดโดยรอบตรงโคนได้ 47 เซนติเมตร ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยสลักไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" ซึ่งไม่ระบุหน่วยการชั่ง แต่จากการชั่งตามระบบปัจจุบันงากิ่งนี้หนัก 18 กิโลกรัม

งาช้างดำถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน ที่หากใครมาเยือนพิพิธภัณฑ์เมืองน่านแล้วไม่ได้ชมก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

....

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเมืองๆนี้ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองน่านยังคงความสงบงามคลาสสิกเหมือนดังหยุดเวลาไว้ ดุจดัง “เมืองเก่าที่มีชีวิต
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น