xs
xsm
sm
md
lg

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัมผัสเส้นขอบฟ้าบนยอดเขาโมโกจู
“โมโกจู” อาจไม่ใช่ชื่อแหล่งท่องเที่ยวคุ้นหูนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สำหรับนักเดินป่าหรือผู้ที่รักการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ “โมโกจู” คือความใฝ่ฝัน คือจุดมุ่งหมาย คือสถานที่ที่นักนิยมไพรต้องปักหมุดไว้ว่าสักวันหนึ่งต้องเดินทางไปให้ถึง

“ตะลอนเที่ยว” กำลังพูดถึง “ยอดเขาโมโกจู” ยอดเขาที่สูงที่สุดของผืนป่าตะวันตก และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ฝั่งจังหวัดกำแพงเพชร (พื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดคือนครสวรรค์และกำแพงเพชร) แม้ความสูง 1,964 เมตร ของยอดโมโกจูจะไม่ได้สูงกว่ายอดเขาอื่นๆ ในเมืองไทย แต่การเดินป่าเพื่อพิชิตยอดเขาแห่งนี้เป็นการเดินป่าระยะไกล ด้วยระยะทางรวมไปกลับกว่า 62 กิโลเมตร ทำให้ต้องแบ่งการเดินทางออกเป็น 5 วัน 4 คืน และต้องตั้งแคมป์นอนกลางป่า อีกทั้งยังมีสภาพเส้นทางที่โหดหินติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย สิ่งเหล่านี้ที่ท้าทายให้นักเดินป่าต้องมาลองฝีเท้าดูสักครั้ง
เส้นทางเดินผ่านป่าไผ่ 16 ก.ม. แรก
ดังนั้นเมื่อทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย ชักชวนให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้พิชิตยอดเขาโมโกจู มีหรือ “ตะลอนเที่ยว” จะปฏิเสธ

16 ก.ม. แรกแห่งการเริ่มต้นสู่ “แคมป์แม่กระสา”

เช้าตรู่ของวันเดินทาง “ตะลอนเที่ยว” และคณะ มาอยู่ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บริเวณ ก.ม. 65 ของถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่และจัดการชั่งน้ำหนักข้าวของและเสบียงอาหารต่างๆ ที่จะให้ลูกหาบช่วยกันแบกไปยังแคมป์แต่ละแห่ง
รอยเท้าเสือที่พบระหว่างทาง
ในทริปนี้เราได้พี่ “อาทิตย์ แสงจันทร์” และพี่ตอน “ไหนจ้อย แซ่เติ๋น” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานฯ มารับหน้าที่เป็นทั้งผู้นำ ผู้ตาม ผู้ให้ความรู้ ผู้ดูแลทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ขอยกให้พี่ทั้งสองคนรวมถึงทีมลูกหาบเป็น “ฮีโร่” ของทริป เพราะหากไม่มีพี่ๆ เหล่านี้รับรองว่าไปไม่ถึงยอดโมโกจูแน่นอน

เสร็จเรื่องสัมภาระต่างๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้พวกเราเข้าไปฟังบรรยายสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเป็นการสรุปย่อเส้นทางที่เราจะต้องเจอตลอด 5 วัน 4 คืนนี้ ซึ่งแม้จะเตรียมใจมาแล้ว แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ที่รู้ว่าวันนี้เส้นทางที่เราจะต้องผ่านไปนั้นมีระยะทางไกลถึง 16 ก.ม. เลยทีเดียว
ถึงแคมป์แม่กระสาที่พักค้างคืนในคืนแรก
และแล้วก็ได้เวลาออกเดินทาง ไม่ว่าทางจะใกล้หรือไกล สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ก้าวแรกนี่เอง “ตะลอนเที่ยว” เริ่มออกเดินก้าวแรกด้วยจิตใจที่ฮึกเหิม เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่ชาร์จมาเต็มแล้วตั้งแต่เมื่อคืน เส้นทางในช่วงแรกก็ชวนให้ฮึกเหิมได้อยู่ เนื่องจากเป็นทางราบสลับเนินเล็กๆ ขึ้นบ้างลงบ้างสลับกันไป ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงเพราะเป็นเส้นทางถนนลูกรังที่รถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าถึงได้ สองข้างทางเป็นป่าหญ้าสลับกับป่าไผ่มีดอกไม้แปลกตาให้ชื่นชมและถ่ายรูปกันเป็นระยะๆ

ด้วยความที่เป็นถนนลูกรังนี่เอง ทางอุทยานฯ จึงมีโครงการว่าในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป อาจจะลดระยะการเดินทางลง จาก 5 วัน 4 คืน เหลือ 3 วัน 2 คืน โดยให้รถโฟร์วีลเข้าไปส่งถึงแคมป์แรก ซึ่งทางหนึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว อีกทางหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสบียงและกำลังพลให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์หรือหาไม้หอม ได้ประโยชน์ทั้งการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์
คลองแม่กระสาด้านหลังแคมป์ น้ำใสเย็นเฉียบ
แต่ในวันนี้ที่ยังไม่เปิดให้รถเข้า “ตะลอนเที่ยว” ก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินกันต่อไป ซึ่งก็เดินชิลล์ๆ มาได้ไม่เท่าไร ป่าแม่วงก์ก็ส่งด่านทดสอบความอึดของเราเป็นด่านแรกด้วย “มอขี้แตก” ซึ่งเป็นเนินขึ้นเขาชัน ยาวหลายกิโลเมตรที่ต้องใช้พลังไม่น้อยในการขึ้นแต่ละเนินสมชื่อมอขี้แตก เราใช้เวลาในการเดินบ้าง พักบ้าง บ่นบ้าง กว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงพ้นมอขี้แตกมาได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ถึงครึ่งของระยะทางที่เราต้องเดินในวันนี้

พ้นจากมอขี้แตกมาสภาพป่าเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าโปร่ง ก็เริ่มเป็นป่าไผ่หนาแน่นขึ้น พร้อมกับมีลำห้วยเล็กๆ ให้เดินข้ามเล่นๆ เย็นๆ เท้า ริมลำห้วยแรกที่เราข้ามผ่านมาเป็นจุดแวะพักกินข้าวกลางวันของเรา กินอิ่มแล้วก็ไปตักน้ำใส่ขวดพลาสติกตุนไว้สำหรับเส้นทางที่เหลือ พร้อมกับวักน้ำเย็นเจี๊ยบนั้นล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นเตรียมลุยต่อกับเส้นทางที่เหลือ
เต็นท์พักแรมที่แคมป์แม่กระสา
ได้ข้าวกลางวันเข้าไปถ่วงท้องแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ก้มหน้าก้มตาเดิน จะเจอเนินสูงหรือทางชันก็ไม่บ่นให้เสียพลังงาน เพราะถึงจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ายังไงก็ต้องเดินต่ออยู่ดีถ้ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง และขณะก้มหน้าก้มตาเดินนั่นเองก็ได้พบว่ากำลังเดินตามรอยเท้าเสือตัวหนึ่ง ซึ่งพี่อาทิตย์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกว่าเป็นรอยเท้าของลูกเสือที่เดินผ่านมาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์แล้ว “ตะลอนเที่ยว” ทึ่งไม่น้อย เพราะระยะทางที่เดินมานั้นจะว่าไปก็ยังไม่ถึงครึ่งทางดี กลับพบเจอรอยเท้าเสือเสียแล้ว

เดินข้ามห้วยมาไม่รู้กี่ห้วย เดินขึ้นลงเนินมาไม่รู้กี่เนิน ตอนนี้ “ตะลอนเที่ยว” เดาไม่ถูกว่าเดินมาไกลเท่าไร และยังเหลือระยะทางอีกไกลแค่ไหน รู้แต่ว่าร่างกายเริ่มรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าขาทั้งสองข้างจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ เพราะมันยังคงก้าวเดินไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ การหยุดพักกลับจะทำให้ระบบอัตโนมัตินั้นรวนเสียเปล่าๆ “ตะลอนเที่ยว” จึงใช้วิธีเดินช้าๆ และหายใจลึกๆ ให้ร่างกายสดชื่นขึ้นเพื่อพักเหนื่อยแทนการหยุดเดินหรือนั่งพัก
เดินทางข้ามคลองแม่กระสาในการเดินทางวันที่สอง
ดังนั้น ในไม่ช้าเมื่อก้มหน้าก้มตาเดินมาได้อีกพักใหญ่ แคมป์แม่กระสาก็ปรากฏขึ้นสู่สายตาจนได้ เป็นอันว่าภารกิจแรกในการเดิน 16 ก.ม. ของเราสิ้นสุดลงแล้วโดยใช้เวลาไป 6 ช.ม. ด้วยกัน แต่ภาระประจำวันของเรายังไม่จบ เพราะคลองแม่กระสาที่ไหลรินอยู่ด้านหลังแคมป์นั้นชวนให้เราลงไปแช่ผ่อนคลายเสียเหลือเกิน แต่กว่าจะลงแช่ได้ก็ต้องทำใจอยู่นานเพราะน้ำเย็นเจี๊ยบไปถึงขั้วหัวใจ ยืนทำใจในน้ำอยู่นานจนขาเริ่มชา “ตะลอนเที่ยว” จึงค่อยๆ หย่อนตัวลงในน้ำทีละส่วนๆ กว่าจะแช่ได้ทั้งตัวก็กินเวลานานโข แต่เมื่อร่างกายปรับอุณหภูมิได้ก็เริ่มสบายตัว สายน้ำเย็นจากธรรมชาติที่ต้นไม้และผืนดินร่วมกันสร้างขึ้นนี้ช่วยผ่อนคลายร่างกายที่เมื่อยล้าจากการเดินทาง และช่วยเรียกความสดชื่นเหมือนใหม่ให้พวกเราได้เป็นอย่างดี
แวะระหว่างทางริมคลองแม่กี
เมื่ออาบน้ำกันเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าเต็นท์ถูกกางอย่างเป็นระเบียบโดยลูกหาบ อาหารก็ทำเสร็จเรียบร้อยด้วยฝีมือพี่ตอนและพี่อาทิตย์ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกพวกเขาว่าเป็นเหล่าฮีโร่แล้วจะให้เรียกว่าอะไรกันเล่า

10 ก.ม. ชิลล์ๆ เย็นฉ่ำที่ “น้ำตกแม่รีวา”

ในวันที่ 2 ของการเดินทาง เราเก็บข้าวเก็บของจากแคมป์แม่กระสาแบบสบายๆ เตรียมตัวเดินทางต่อไปยัง “แคมป์แม่เรวา” ที่ห่างออกไปเพียง 4 ก.ม. เส้นทางในวันนี้เป็นทางราบแบบชิลล์ๆ ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนจากการเดินทางไกล(มาก)เมื่อวานนี้ และเป็นการอุ่นเครื่องเบาๆ สำหรับเส้นทางโหดๆ ที่รอเราอยู่ในการเดินทางวันพรุ่งนี้
พี่อาทิตย์และพี่ตอน เจ้าหน้าที่อุทยานที่เป็นฮีโร่ของทริปนี้
ในเส้นทาง 4 ก.ม. นี้ เราเดินข้ามคลองแม่กระสา ข้ามคลองแม่กี ผ่านป่าไผ่และบริเวณที่เป็นหมู่บ้านเก่าของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพย้ายออกไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ยังคงเห็นร่องรอยของเสาเรือนอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ยังไม่ทันถึงเที่ยงวันเราก็เดินเท้ามาถึงแคมป์แม่เรวากันแล้ว บริเวณแคมป์แห่งนี้เป็นลานกว้างใต้ร่มเงาของป่าไผ่ ใต้ซุ้มกอไผ่มีองค์พระพุทธรูปซึ่งพระธุดงค์รูปหนึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ส่วนด้านหลังแคมป์เป็นคลองแม่เรวาอันร่มรื่นที่เราจะใช้ดื่ม กิน และอาบกัน

ในช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวกลางวันกันเรียบร้อย เราออกเดินทางระยะสั้นๆ ไปเที่ยว “น้ำตกแม่รีวา” หรือน้ำตกแม่เรวา ระยะทางไปกลับรวมประมาณ 6 ก.ม. ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง น้ำตกแม่รีวาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 5 ชั้น ความสูงประมาณ 100 เมตร ไหลเป็นสายขาวยาวไขว้สลับเป็นรูปตัว S ตกลงมายังแอ่งกว้างขวางที่เบื้องล่าง น้ำตกนี้เป็นต้นน้ำของคลองแม่เรวา ซึ่งไหลผ่านไปยังบริเวณแคมป์ที่พักของเรา และคลองแม่เรวานี้ก็ไหลต่อไปเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่วงก์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวนครสวรรค์อีกด้วย
สายน้ำไหลจากน้ำตกแม่รีวา หรือแม่เรวา
ถ่ายรูปและสัมผัสความฉ่ำเย็นของน้ำตกแม่เรวากันไปแล้ว เราเดินเท้ากลับไปยังแคมป์แม่เรวา กลับไปอาบน้ำเย็นสดชื่นของคลองแม่เรวา เตรียมหุงหาอาหาร กินข้าวและนอนเอาแรง เพราะหนทางของวันพรุ่งนี้ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการเดินป่าในคราวนี้ไม่ได้ชิลล์เหมือนที่ผ่านๆ มาสักนิดเดียว

8 ก.ม. นรก + 1 ก.ม. สวรรค์ สู่ยอด “โมโกจู”

เช้านี้เรารีบกินข้าวเช้าและเก็บข้าวของออกเดินทางกันแต่เช้า เพราะในวันนี้เป็นวันที่เราจะเดินเท้าขึ้นสู่ยอดโมโกจูซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ระดับความสูง 1,964 เมตร แม้ระยะทางจากแคมป์แม่เรวาไปยังแคมป์ตีนดอยจะห่างกันเพียง 8 ก.ม. แต่ถือเป็น “8 กิโลนรก” ที่ทำเอาหลายคนท้อได้ง่ายๆ นั่นก็เพราะกว่า 80% เป็นทางชันขึ้นเขา ชันมากชันน้อยสลับกันเป็นช่วงๆ
ทางชันในเส้นทาง 8 กิโลนรก
เพียงแค่ก้าวแรกที่มุ่งหน้าออกจากแคมป์ก็ดูเหมือนว่า “ตะลอนเที่ยว” ก็เจอทางขึ้นเนินทันทีทันใด หากได้เดินวอร์มทางราบก่อนสักหน่อยแล้วค่อยมาเจอทางชันก็คงพอมีเวลาทำใจ แต่เมื่อมาเจอเนินตั้งแต่ก้าวแรกแถมเป็นเนินยาวหลายร้อยเมตรเช่นนี้เลยทำให้รู้สึกเหนื่อยเหมือนจะขาดใจ หัวใจเต้นแรงราวกับใครมาตีกลองอยู่ในหู แต่ถึงอย่างไรก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินต่อไปเพราะรู้ว่านี่เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น แต่เมื่อเดินไปสักพักก็ดูเหมือนกล้ามเนื้อขาและน่องจะเริ่มปรับตัวยอมรับแรงเสียดทานที่เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหยุดแวะพักบ่อยขึ้นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

สองข้างทางยังคงเป็นป่าไผ่ แน่นอนว่าระหว่างทางยังคงมีสิ่งน่าสนใจที่พี่อาทิตย์ชี้ชวนให้ดู อย่างเช่น กลิ่นสเปรย์ของเสือที่ฉีดทิ้งไว้ที่ต้นไม้เพื่อแสดงอาณาเขต ร่องรอยของมูลสัตว์ หรือรอยเท้าสัตว์ที่ทิ้งรอยไว้ให้เราดู และถือโอกาสดูนานๆ เพื่อพักเหนื่อยไปด้วย
หักงวงไอยรา ทางชันช่วงสุดท้ายก่อนถึงแคมป์ตีนดอย
ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าผ่านไป เรายังคงไต่ระดับความสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อขาที่เกร็งในทุกๆ ก้าวทำให้ต้องหยุดพักเป็นระยะ เมื่อเจอทางราบแม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เราก็จะร้องบอกกันอย่างดีใจ ยิ่งถ้าเจอทางลาดลงก็ยิ่งดีใจเพราะจะได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปด้วยในตัว

เราเดินบ้างพักบ้างจนมาถึงบริเวณที่เรียกว่า “มอยาว” เป็นเนินยาวที่ “ตะลอนเที่ยว” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ายาวแค่ไหน รู้แต่ว่าเนินที่ทั้งยาวทั้งชันนี้ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด และหลังจากผ่านมอยาวมาได้ก็มาเจอกับเนิน 45 องศาที่ชันจนต้องเกาะปีนป่ายพาตัวเองขึ้นมาได้ทีละขั้น ตอนนี้เราเริ่มรู้ซึ้งถึงความโหดหินของโมโกจู เริ่มถามตัวเองว่าทำไมถึงต้องมาทนเหนื่อยขนาดนี้ แต่เป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าอย่างไรก็ต้องไปให้ถึงจุดหมายเพื่อพิชิตยอดเขาและเพื่อพิชิตใจของตัวเอง ดังนั้นแม้ร่างกายจะเหนื่อยล้า แต่ใจยังคงสั่งให้ค่อยๆ ก้าวต่อไปทีละก้าว ไม่มีทางยอมแพ้กลางทางแน่นอน
แสงสีทองส่องเป็นลำลงมายังแคมป์พักแรม
จนได้เวลาราวๆ เที่ยง ก่อนที่จะหมดแรงไปมากกว่านี้ เราก็เดินเหนื่อยหอบลิ้นห้อยมาถึงบริเวณที่เรียกว่าคลองหนึ่งซึ่งเป็นหุบเขามีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่าน มาถึงตรงนี้ก็ถือว่ามาได้ครึ่งทางแล้ว เราพักกินข้าวกลางวันที่เตรียมมากันบริเวณนี้เพื่อเติมพลังสู้กับทางชันที่เหลือต่อไป

ในขณะนั้นอากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ พร้อมกับที่หมอกเริ่มไหลปะทะมาร่างเป็นระยะๆ ตามแรงลม “ตะลอนเที่ยว” นึกถึงคำว่า “โมโกจู” ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า “คล้ายว่าฝนจะตก” คนตั้งชื่อคงได้เห็นบรรยากาศบริเวณยอดเขาที่มีไอหมอกปกคลุมครึ้มอยู่ตลอดเวลาเหมือนว่าฝนจะตกนั่นเอง
ทิวทัศน์อันงดงามในระดับความสูง 1,964 ม.
สภาพเส้นทางยังคงสูงชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคลองหนึ่ง เราเดินมาถึงคลองสองซึ่งเป็นลำห้วยแห่งสุดท้ายที่เราจะได้เจอก่อนเดินทางสู่แคมป์ตีนดอยและยอดเขาโมโกจู ทุกคนต่างเอาขวดน้ำออกมาเติมให้เต็มเพื่อเก็บไว้ดื่มกินแก้กระหาย และจากคลองสองอีกไม่ไกลนักเราก็จะเดินทางไปถึงยังแคมป์ตีนดอยกันแล้ว แต่เส้นทางจากคลองสองไปนี่สิที่โหดหินที่สุดก็ว่าได้ พี่อาทิตย์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เรียกเนินจากคลองสองที่จะขึ้นไปยังแคมป์ตีนดอยว่า “หักงวงไอยรา” เรียกว่าช้างยังยอมแพ้เพราะเนินชันบางช่วงอาจชันได้ถึง 70 องศา ดีว่ามีต้นไม้ให้เกาะเกี่ยวเหนี่ยวตัวเองขึ้นไปได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปนัก จนในที่สุดต่างคนต่างก็ลากสังขารเพลียๆ มาจนถึงแคมป์ตีนดอย สถานที่กางเต็นท์ของเราในคืนที่ 3 นี้กันจนได้ ใช้เวลารวมตั้งแต่ออกเดินทางจนมาถึงแคมป์ราว 8 ชั่วโมงด้วยกัน

แม้จะอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ขาลาก” แต่ภารกิจของเราในวันนี้ก็ยังไม่จบ เพราะจุดมุ่งหมายในการเดินทางของเราอยู่ที่การขึ้นไปยังยอดโมโกจู ที่ต้องเดินจากแคมป์ตีนดอยขึ้นไปอีกราว 1 ก.ม. แต่สภาพอากาศขณะนั้นเต็มไปด้วยหมอกหนาจนหลายคนเริ่มถอดใจในความหวังที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกในเย็นวันนั้น
ทะเลหมอกอลังการในยามเย็น
แต่ธรรมชาติก็ทำให้เราได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่และสัจธรรมของโลกที่ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เพราะเมื่อเราเริ่มเดินออกจากแคมป์ตีนดอยก็ปรากฏว่าสายลมแรงได้พัดเอาเมฆหมอกที่ปกคลุมยอดเขาให้จางหายไป แสงแดดสีทองส่องผ่านไอหมอกลอดทะลุร่มไม้เห็นเป็นลำแสงอันงดงาม เราต่างหันไปยิ้มให้กันอย่างดีใจที่ท้องฟ้าเป็นใจ

และเมื่อเดินพ้นร่มไม้ออกสู่ที่โล่งบนยอดเขา ภาพที่ปรากฏสู่สายตาก็ยิ่งตอกย้ำความยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติ ทิวทัศน์เบื้องล่างใต้เท้าของเราถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกหนาเป็นปุย มองเห็นทะเลหมอกสีขาวสุดลูกหูลูกตาไปจนจรดขอบฟ้ากว้างไกล ส่วนเบื้องบนดวงอาทิตย์ยังคงสาดแสงส่องผ่านท้องฟ้าสีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกเหมือนเราเดินทะลุจากโลกเบื้องล่างขึ้นมาสู่สวรรค์เบื้องบน ยิ่งนึกถึงเส้นทางทรหด “8 กิโลนรก” ที่เราต่างอดทนเดินทางขึ้นมาด้วยแล้ว บนยอดเขาโมโกจูนั้นก็ยิ่งสวยงามราวกับสวรรค์ที่เทวดาปัดเป่าเมฆหมอกให้เราได้ขึ้นมายลความงามกันแบบเต็มๆ ตา
 บรรยากาศของหินเรือใบในยามเช้าตรู่
ณ ยอดเขานี้เองที่มี “หินเรือใบ” สัญลักษณ์ของโมโกจูรอเราอยู่ หินเรือใบที่ว่านี้แท้จริงก็เป็นหินธรรมดาๆ ที่ตั้งเด่นอยู่บนยอดโมโกจู ตัวฐานของหินเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมียอดด้านบนเป็นทรงแหลมพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ดูไปก็คล้ายใบเรือ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของยอดเขาโมโกจูที่ใครๆ ก็ต้องมาถ่ายรูปคู่กับหินธรรมดาที่ไม่ธรรมดาก้อนนี้ หรือหากใครใจกล้าจะปีนขึ้นไปทำเท่แอ็คท่าถ่ายรูปบนหินเรือใบก็ได้เช่นกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าลื่นตกลงไปก็ไม่เหลือ

ลาแล้วโมโกจู

เช้ามืดวันนี้เราขึ้นไปเยือนยอดเขาโมโกจูอีกครั้งเพื่อรอชมแสงแรกของวัน และสภาพอากาศเช้านี้ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง จากที่เมื่อเย็นวานได้ชมทะเลหมอกอลังการกันไปแล้ว วันนี้โมโกจูต้อนรับเราด้วยอากาศแจ่มใส แสงแรกของวันปรากฏขึ้นตรงเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและแต่งแต้มให้ทั่วทั้งทิวเขากลายเป็นสีทอง และทำให้ “ตะลอนเที่ยว” มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างที่เมื่อวานถูกหมอกปกคลุมจนหมด แต่ในวันนี้ได้เห็นวิวแบบ 360 องศา มองเห็นภูเขาน้อยใหญ่ทอดตัวไล่เรียงกันไปตลอดแนว เห็นพื้นที่ป่าทั้งฝั่งของ อช.แม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ผืนป่าเขียวขจีเบื้องล่างไม่มีริ้วรอยเว้าแหว่งของการตัดไม้ทำลายป่าจึงมองดูคล้ายทะเลบร็อคโคลี่ไล่เฉดสีเขียวกันไปจนทั่วบริเวณ
แสงสีทองส่องไปทั่วทั้งยอดโมโกจู
เช้าวันนี้แม้หินเรือใบก็ดูสดชื่นไปตามสภาพอากาศ “ตะลอนเที่ยว” จึงอดใจหายไม่ได้เมื่อจะต้องลาจากยอดโมโกจูลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง เลยต้องขอเก็บภาพความประทับใจนี้ผ่านสายตาและผ่านเลนส์จนพอใจ ก่อนเดินลงก็ไม่ลืมที่จะกราบพระพุทธชินราชจำลององค์เล็กๆ ที่มีผู้ศรัทธานำขึ้นมาประดิษฐานไว้บนยอดเขา ในใจไม่ได้อธิษฐานขอสิ่งใดนอกเสียจากขอให้ป่าอันอุดมสมบูรณ์นี้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และหากมีโอกาสก็ขอให้ได้มาเยือนยอดเขาโมโกจูอีกครั้งหนึ่งก็พอ

ในที่สุดจุดมุ่งหมายหลักของทริปนี้ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเกินคาด “ตะลอนเที่ยว” ได้ชมความงามบนยอดโมโกจูในบรรยากาศที่งดงามหลากหลาย และจุดมุ่งหมายต่อจากนี้ก็คือการเดินกลับตามเส้นทางเดิม แต่จะเดินรวดเดียวเพื่อมาพักแรมในคืนที่ 4 ที่แคมป์แม่กระสาซึ่งเป็นแคมป์พักค้างคืนในวันแรก รวมระยะทาง 12 ก.ม.
ชื่นชมบรรยากาศแบบ 360 องศาบนหินเรือใบ
8 กิโลนรกในขาขึ้นเป็นอย่างไร ขาลงกลับทรมานยิ่งกว่า แม้จะทำเวลาได้เร็วขึ้นเพราะเป็นทางลงเขา แต่หัวเข่าและต้นขาที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกตลอดเวลานั้นก็เจ็บปวดจนไม่สามารถไปเร็วได้อย่างใจ ไหนจะความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดสี่วันก็มาออกอาการซ้ำในวันนี้ ต่างคนก็พยายามหาท่าเดินลงที่เจ็บปวดน้อยที่สุด บ้างก็เดินเอียงข้างค่อยๆ สไลด์ขาลงเพื่อให้เข่าได้พัก บ้างใช้ไม้เท้ารับน้ำหนักแทนขา แต่บางคนอาการหนักหน่อยถึงกับเข่าล็อค ต้องประคับประคองกันเดินไปเป็นพักๆ อย่างน่าสงสาร แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราก็มาถึงแคมป์แม่เรวาอย่างปลอดภัยในเวลาราวสี่โมงเย็น ได้เล่นน้ำในคลองแม่กระสาเป็นการส่งท้ายอีกครั้งก่อนจะลาโมโกจูและแม่วงก์กันในวันพรุ่งนี้

และแล้ว 16 ก.ม.สุดท้ายของการเดินทางก็ค่อยๆ ผ่านใต้เท้าของเราไปทีละก้าวๆ ตลอด 5 วัน 4 คืน ที่ผ่านมาธรรมชาติได้สร้างความประทับใจอย่างมากมายให้กับ “ตะลอนเที่ยว” ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าใน อช.แม่วงก์ กับร่องรอยที่พบเจอตลอดเส้นทาง ความยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นในทุกๆ วัน รวมไปถึงน้ำใจและมิตรภาพของเพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือกันเหมือนเพื่อนสนิท สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ออกเดินทางก็คงไม่ได้พบเจอ และหากไม่ได้เดินทางมาที่ “โมโกจู” ก็จะไม่รู้สึกถึงความประทับใจมากเท่านี้อย่างแน่นอน
พระพุทธชินราชองค์จำลองประดิษฐานบนยอดเขาโมโกจู
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ 558,750 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ภายในอุทยานฯ นอกจากยอดเขาโมโกจูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแม่กระสา น้ำตกแม่กี จุดชมวิวมออีหืด แก่งลานนกยูง กิจกรรมล่องแก่ง ปั่นจักรยาน และช่องเย็น สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

การเดินป่าในเส้นทางพิชิตยอดเขาโมโกจูจะเปิดให้เดินทางได้เฉพาะเดือน พ.ย.-ก.พ. โดยทางอุทยานจะเป็นผู้กำหนดช่วงวันในการเดินป่า และกิจกรรมเดินป่าระยะไกล โดยในปีนี้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้กำหนดกิจกรรมการเดินป่าระยะไกล มีจุดหมายปลายทางตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้แก่ ยอดเขาโมโกจู และน้ำตกแม่รีวา โดยใช้เวลาเดินเท้าไปกลับ 4 คืน 5 วัน ราคา 12,000 บาท/กลุ่ม (ไม่รวมค่าลูกหาบและค่าเสบียง) และรับจำนวน 2 กลุ่ม/ทริป/สัปดาห์

ผู้ที่สนใจกิจกรรมเดินป่าระยะไกล สามารถดูรายละเอียดได้ที่ เฟซบุค : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ www.facebook.com/maewong.np  พร้อมทั้งสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการขออนุญาตร่วมกิจกรรมการเดินป่าระยะไกลประจำปี 2557-2558 ได้ในเพจเฟซบุค หรือต้องการสอบถามรายละเอียดได้ทางเพจเฟซบุค หรือที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 09 0457 9291 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป
ผืนป่าเบื้องล่างไล่เฉดสีเขียวราวกับบร็อคโคลี่
ส่วนเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องระวังเป็นพิเศษก็คือเรื่องของตัวคุ่นและเห็บลมที่จะพบมากในวันที่ 3-4 ดังนั้นจึงควรเตรียมยาทา สเปรย์กันแมลงไปป้องกัน(สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง) และควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวปกคลุมให้มิดชิด

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เชื่อมโยงกับอุทยานฯแม่วงก์ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น