xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกปัดอู่ทอง” ยอดของดีแห่งสยาม ความงามเหนือกาลเวลา/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ลูกปัดอู่ทองหนึ่งในศิลปวัตถุล้ำค่าแห่งสยามประเทศ
“...ข้าพเจ้าไม่เคยพบบรรดาลูกปัดที่มีสีเฉพาะถิ่นในที่อื่นๆ มากมายเท่าในเขตปริมณฑลของเมืองอู่ทอง...”

บางส่วนจากบทความ “อู่ทอง กับลูกปัดอู่ทอง สองที่สุดของเมืองไทย” ในหนังสือ “อู่ทองหลักฐานพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัด” โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีนามอุโฆษ ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของ “ลูกปัดอู่ทอง” ที่ถือเป็นหนึ่งในศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าแห่งสยามประเทศ
ลูกปัดคือหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นเมืองท่าโบราณของอู่ทอง
ย้อนรอยลูกปัดอู่ทอง

เมืองโบราณอู่ทอง” ที่ปัจจุบันอยู่ใน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นเมืองสำคัญแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งการเป็นเมืองท่า เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า การคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค“ทวารวดี”(ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) เมืองอู่ทองเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

สำหรับโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความเป็นเมืองท่าโบราณของอู่ทองที่มีการสร้างความสัมพันธ์ ติดต่อ เชื่อมโยง กับอาณาจักรสำคัญภายนอก เช่น อินเดีย โรมัน อาหรับ ก็คือ “ลูกปัด”ชนิดต่างๆที่มีการค้นพบเป็นจำนวนมากในเมืองอู่ทองและบริเวณใกล้เคียง

ลูกปัดโบราณเหล่านั้นเดินทางผ่านมาทางชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอู่ทอง ก่อนจะเดินทางผ่านกาลเวลากลายเป็นลูกปัดอู่ทองมรดกทรงคุณค่าของเมืองไทย โดยหลังมีการขุดค้นพบลูกปัดอู่ทอง(จากการบุกเบิกของอ.ชิน อยู่ดี)และถูกเปิดตัวให้โลกรู้จัก ชื่อเสียงของลูกปัดอู่ทองก็โด่งดังไปไกล โดยเฉพาะในช่วงประมาณ พ.ศ. 2510 หรือ เกือบ 50 ปีที่แล้ว

ยุคนั้นในพื้นที่อำเภออู่ทองมีการพบลูกปัดเยอะมากและสามารถพบได้ไม่ยาก บางจุดแค่ฝนตกชะหน้าดินก็สามารถพบลูกปัดได้แล้ว นั่นจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นลูกปัดขึ้นในอู่ทอง ทั้งชาวบ้านในพื้นที่และคนต่างถิ่นต่างแห่กันขุดค้นหาลูกปัดกันเป็นจำนวนมากอย่างกับมีเทศกาลสำคัญ
ความหลากหลายของลูกปัดอู่ทอง
มนต์เสน่ห์แห่งลูกปัดอู่ทอง

นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดในเมืองไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดอู่ทองผ่านบทความ “ลูกปัดอู่ทอง(เท่าที่สืบค้นได้ใน พ.ศ.นี้)กับข้อเสนอเพื่อการพัฒนาที่อู่ทอง”ในหนังสือ “อู่ทองหลักฐานพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัด” สรุปความได้ว่า

...ลูกปัดอู่ทอง เป็นลูกปัดเก่าแก่ที่ถูกค้นพบในเมืองโบราณอู่ทองและปริมณฑลราว 20-30 กิโลเมตร มีการสืบเนื่องต่อกันมาอย่างน้อย 3 ยุค คือ ยุคเหล็ก ฟูนัน และทวารวดี กินระยะเวลาประมาณ 1,500 - 2,000 ปี ตั้งแต่ต้นพุทธกาลเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว โดยลูกปัดอู่ทอง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆได้แก่

1. ลูกปัดที่ทำจากดินเผา กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย เช่น หอยมือเสือ หอยสังข์ ลูกปัดกลุ่มนี้พบเห็นได้น้อยมาก
ลูกปัดชวาวุ้น
2. ลูกปัดที่ทำจากหินชนิดต่างๆ มีทั้งหินสีมีค่า อาทิ คาร์เนเลียน อะเกต หินแก้วผลึก หินเขี้ยวหนุมาน(ควอตซ์) และลูกปัดที่ทำจากหินสีเขียวชนิดต่างๆหรือที่นิยมเรียกว่าหยก ลูกปัดกลุ่มนี้มีหลายรูปทรง มีทั้งแบบเรียบ สีเดียว และผสมสี รวมไปถึงลูกปัดหินเนื้อใสที่เรียกว่า “ลูกปัดทวารวดีวุ้น” หรือ “ลูกปัดชวาวุ้น”

3. ลูกปัดที่ทำจากแก้ว มีทั้งลูกปัดแก้วสีเดียวหรือที่นิยมเรียกกันว่า“ลูกปัดอินโดแปซิฟิก” ลูกปัดแก้วอำพัน ลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดแก้วลายแถบหรือที่นิยมเรียกว่า “สแลน” เป็นต้น

4. ลูกปัดที่ทำจากโลหะ ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดที่ทำจากทองคำ...
เจ๊กัลยา แห่งร้านกัลยาในตลาดอู่ทอง
นอกจากนี้ลูกปัดอู่ทองยังได้ชื่อว่าเป็นยอดของลูกปัดในเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในผู้หลงใหลลูกปัดอู่ทองและได้เก็บสะสมลูกปัดไว้เป็นจำนวนมากอย่าง “กัลยารัตน์ ศักดิ์ขจรภพ” หรือเจ๊กัลยา แห่งร้านกัลยาในตลาดอู่ทองได้พูดถึงจุดเด่นและเสน่ห์ของลูกปัดอู่ทองว่า ลูกปัดอู่ทองมีความสวยงามแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะมันดูมีน้ำมีนวล มีความเลื่อม มันวาว อีกทั้งยังมีความเหนียวไม่แตกง่าย จึงเป็นที่ต้องการของนักสะสม นักเล่นของเก่า นักเล่นลูกปัด นั่นจึงทำให้ลูกปัดอู่ทองมีราคาสูงกว่าที่อื่นๆตั้งแต่ 3 -10 เท่าเลยทีเดียว
ลูกปัดอู่ทองหลากหลายรูปแบบ
สำหรับจุดหลักในการชมลูกปัดอู่ทองของนักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปในอำเภออู่ทองนั้นก็คือที่ ”พิพิธภัณฑถานแห่งชาติ อู่ทอง” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งรวบรวมลูกปัดแห่งใหญ่ของเมืองไทยนับเป็นร้อยๆเส้น ลูกปัดที่นี่เป็นลูกปัดอู่ทองที่ได้มาจากการขุดค้นพบ การขุดแต่งทางโบราณคดี การบริจาค และการรับซื้อจากชาวบ้าน นักสะสม มีทั้งที่เป็น หิน แก้ว หิน จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
ส่วนจัดแสดงลูกปัดในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
-ลูกปัดหินคาร์เนเลียน อะเกต สมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 - 3,500 ปีที่แล้ว เช่น สร้อยลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้มแดง สร้อยลูกปัดหินอะเกตรูปทรงต่างๆ

-ลูกปัดหินสีมีค่าและลูกปัดแก้ว ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ – ทวารวดี มีอายุราว 1,500 – 2,500 ที่แล้ว เช่น ลูกปัดหินแก้วผลึก ลูกปัดควอตซ์ ลูกปัดหินคาร์เนเลียนกับโกเมน
ลูกปัดหลากหลายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
-ลูกปัดแก้วอินโดแปซิฟิก สมัยทวารวดี อายุราว 1,400 – 1,500 ปีที่แล้ว เช่น ลูกปัดแก้วอินโดแปซิฟิกสีฟ้า น้ำเงิน มีสองเส้นทรงหลอดยาวเรียกว่า “ก้านผักบุ้ง” สร้อยลูกปัดแก้วสีเดียว เป็นต้น

-ลูกปัดทองคำ ลูกปัดหิน และเครื่องประดับ เช่น สายสร้อย จี้ แหวน ที่ทำจากโลหะต่างๆ โดยมีไฮไลท์ที่ทางพิพิธภัณฑ์ภูมิใจนำเสนอ คือ ลูกปัดทองคำพร้อมจี้ทองคำฝังพลอยอันเหลืองอร่ามสวยงาม
ลูกปัดทองคำ
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับลูกปัด เช่น หัวเสาโบราณแกะสลักเป็นรูปสร้อยสังวาลร้อยลูกปัด รูปบุคคลที่มีสายสร้อย ต่างหูลูกปัดประดับตกแต่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทองที่ถือเป็นอีกหนึ่งแหลงรวมศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าที่น่าสนใจยิ่งของเมืองไทย
รูปบุคคลที่มีสายสร้อยแสดงถึงการนิยมในลูกปัดของคนโบราณ
วิถีลูกปัด วิถีอู่ทอง

ลูกปัดในความรับรู้ของคนทั่วไปคือเครื่องประดับอันสวยงาม แต่คนสมัยโบราณยังให้คุณค่าและความหมายของลูกปัดที่กว้างไกลกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องรางของขลัง, สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม,เป็นของมีค่าใช้แลกเปลี่ยนเสมือนเงินตรา,เป็นสินค้าของสะสม, เป็นเครื่องหมายบอกอำนาจ-ใครมีลูกปัดมากมีอำนาจมาก เป็นเครื่องประดับแสดงฐานะ ชนชั้นทางสังคม-ลูกปัดมีการแบ่งระดับของมันในตัวจากความหายากและความสวยงามของวัสดุ
ลูกปัดนอกจากเป็นเครื่องประดับแล้วยังมีคุณค่าในอีกหลากหลายด้าน
สำหรับลูกปัดอู่ทองนั้นถือว่ามีความผูกพันกับชาวเมืองอูทองไม่น้อย ซึ่ง “นิธิศักดิ์(สมศักดิ์)-จิราพัทธ์ อภินันท์ธนากร” สองสามี-ภรรยา แห่ง“ร้านเจนภักดี”ร้านทำลูกปัดเจ้าดังบนถนนปากทางเข้าเขาพระ เล่าให้ฟังว่า คนอู่ทองสมัยก่อนจะนิยมสวมลูกปัดเป็นเครื่องประดับกันเป็นจำนวนมาก ทั้งสายสร้อย กำไล
จิราพัทธ์ อภินันท์ธนากร กับลูกปัดที่สะสม
“มาวันนี้แม้จะไม่เป็นที่นิยมเท่าเมื่อก่อน แต่คนอู่ทองส่วนหนึ่งก็ยังนิยมกันอยู่ คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นก็ยังใส่กันอยู่ ดูได้จากคนในอู่ทองที่มาให้ทางร้าน(เจนภักดี)ทำลูกปัด ซึ่งมีทั้งคนที่มาซื้อลูกปัดที่ร้าน หรือนำลูกปัดที่เก็บสะสมมาให้ทางร้านออกแบบตกแต่งให้ใหม่”

นิธิศักดิ์ช่างทำทอง ทำลูกปัดมือดีแห่งอู่ทองเล่าให้ฟัง พร้อมกับเชิญชวนให้ดูลูกปัดสีอำพันทองอันสวยงาม ซึ่งเขาบอกว่า มีเพียงหนึ่งเดียวในสุพรรณ
ลูกปัดอู่ทองผูกพันกับวิถีชาวอู่ทองมาแต่ช้านาน
ขณะที่จิราพัทธ์ที่สวมใส่ลูกปัดสีสวยอยู่บนคอกล่าวว่า ชาวอู่ทองหลายคนมีความเชื่อว่าถ้าสวมลูกปัดอู่ทองจะช่วยเพิ่มความโชคดี ความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต แต่เรื่องนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครจะเชื่อไม่เชื่อก็สุดแท้แต่

ลูกปัดอู่ทอง เชื่อมอดีต-ปัจจุบัน

ด้วยคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดอู่ทอง ทาง “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือ อพท. ที่ได้คัดสรรเมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด “เมืองสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิม” ได้จัดทำหนังสือ “อู่ทองหลักฐานพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัด” เพื่อเป็นที่แหล่งอ้างอิงข้อมูลและเป็นคู่มือสำหรับผู้สนใจ
ลูกปัดสีอำพันทองที่หาไม่ได้ง่ายๆในเมืองไทย
นอกจากนี้ทางอพท.ยังได้นำเรื่องราวของลูกปัดมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยว เรียนรู้ เพื่อให้เกิดการมอง“ย้อนอดีต” เชื่อมโยงสู่ “ปัจจุบัน” พร้อมให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญอดีตอันรุ่งโรจน์ของอู่ทอง เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังชูลูกปัดเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อให้คนในพื้นที่นำไปต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าของที่ระลึกต่อไป

และนี่ก็คือเสน่ห์มนต์ขลังของศิลปวัตถุที่อยู่เหนือกาลเวลานามว่า “ลูกปัดอู่ทอง

สิ่งเล็กๆที่มีคุณค่ามากมายเกินตัว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น