xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมจักรศิลาทวารวดีสมบูรณ์สุดในไทย ของดีที่ “พิพิธภัณฑ์อู่ทอง”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

เมืองไทยเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์เยอะมากติดอันดับต้นๆของโลก เพราะนอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์ของราชการ ของกรมศิลป์แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์เอกชน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ส่วนตัว พิพิธภัณฑ์ตามวัดต่างๆ สารพัด

แต่น่าแปลกที่คนไทยกลับไม่นิยมเข้าพิพิธภัณฑ์ ทั้งๆที่บ้านเรามีพิพิธภัณฑ์ดีๆ พิพิธภัณฑ์น่าสนใจมากมาย แถมราคาค่าเข้าชมในหลายๆพิพิธภัณฑ์นั้นก็ถูกแสนถูก ถูกกว่ากาแฟแบรนด์ดังแก้วหนึ่งเสียอีก

สำหรับหนึ่งในพิพิธภัณฑ์น่าสนใจที่ผมเพิ่งได้เข้าไปเที่ยวชมมาเมื่อเร็วๆนี้ก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” ที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ภาพการขุดค้นเมืองโบราณอู่ทองในอดีต
พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทอง เป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุและแหล่งเรียนรู้อารยธรรมทวารวดีชั้นดี ที่มีความเชื่อมโยงกับ “เมืองโบราณอู่ทอง” หนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองไทยที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภออู่ทอง

รู้จักเมืองโบราณอู่ทอง

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า ดินแดนที่เป็นเมืองโบราณอู่ทองนั้นเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มายาวนานตั้งแต่ราว 3,000-2,500 ปีก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ โดยมีการค้นพบหลักฐานจำพวกขวานหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กปั่นด้าย ฉมวก หอก อาวุธโบราณ และเครื่องใช้ไม้สอยโลหะอื่นๆอีกมากมาย
แผนที่สมัยทวารวดีแสดงให้เป็นว่าอู่ทองเคยเป็นเมืองชายฝั่งติดทะเล
หลังจากนั้นชุมชนได้เติบโต เริ่มทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติจนพัฒนาเป็นเมืองท่าชายฝั่ง เพราะดั้งเดิมที่เป็นชุมชนชายฝั่งริมทะเล มีเรือสินค้าของชาวต่างชาติแวะเวียนเข้าออก โดยในราวพุทธศตวรรษที่ 5 ขึ้นไปเมืองอู่ทองมีบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญ(หากดูในแผนที่โบราณที่จะพบว่า อู่ทองเป็นเมืองติดทะเล ส่วนกรุงเทพฯ อยุธยา สมัยนั้นยังไม่เกิด เพราะผืนแผ่นดินบริเวณนี้ยังเป็นทะเลอยู่เลย)

ราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 วัฒนธรรมอินเดียที่รุ่งโรจน์ในยุคนั้นได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิปรากฏอย่างชัดเจนในอู่ทอง มีการค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนา การใช้ภาษาและตัวอักษรแบบ “ปัลลวะ” เป็นต้น

วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาจากภายนอกได้มาผสมผสานกับวัฒนธรรมภายในของท้องถิ่น เกิดเป็น “วัฒนธรรมทวารวดี” ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุควัฒนธรรมสมัยแรกสุดของเมืองไทย มีหลักฐานการสร้างตัวเมืองเป็นผังรูปวงรี กว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
ผังเมืองโบราณอู่ทองเป็นรูปวงรี
เมืองอู่ทองยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ในฐานะเมืองท่า ศูนย์กลางการค้า โดยนักวิชาการบางคนเชื่อว่าเมืองอู่ทองมีความสำคัญมากถึงขนาดเคยเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของอาณาจักทวารวดีเลยทีเดียว เพราะมีการค้นพบเหรียญเงินจำนวนหลายเหรียญจารึกคำว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” ที่แปลว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” หรือแปลว่า “การบุณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี” ที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงต่อข้อสันนิษฐานว่าเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีน่าจะอยู่ที่เมืองอู่ทอง

นอกจากเมืองท่า เมืองหลวงแล้ว อู่ทองยังเป็นดินแดนศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งสุวรรณภูมิ และเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาเดินทางเข้ามาประดิษฐานเป็นแห่งแรกของเมืองไทย โดยมีข้อสันนิษฐานว่า “พระโสณะ”เถระและ“พระอุตตระ”เถระ 2 ผู้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ(หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี) ได้เข้ามาสร้างวัดพุทธแห่งแรกขึ้นในเมืองอู่ทอง
ยอดเขาทำเทียม(ในปัจจุบัน)ที่เชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดวัดแห่งแรกในเมืองไทย
สำหรับจุดสร้างวัดพุทธแห่งแรกที่เป็นวัดแห่งแรกของไทยอยู่บนยอดเขาของ “วัดเขาทำเทียม” ในปัจจุบัน ซึ่งมีการค้นพบร่องรอยการใช้เพิงผาถ้ำบนยอดเขาเป็นที่พำนักของพระอัครสาวกทั้ง 2 และค้นพบโบราณวัตถุเป็นก้อนหินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี” ที่หมายถึงภูเขาแห่งดอกไม้ และค้นพบธรรมจักรศิลาที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทยที่วัดแห่งนี้เช่นกัน (ศิลปวัตถุทั้ง 2 ชิ้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง)

เมืองอู่ทองดำรงความเจริญรุ่งเรืองอยู่นับร้อยปี ก่อนจะโรยร้างไป ซึ่งปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานใน 3 แนวทางถึงการเสื่อมสลายของเมืองอู่ทอง ดังนี้
หินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี” ที่ขุดพบที่วัดเขาทำเทียม
-สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองเกิดโรคระบาด จึงมีการทิ้งเมืองไทยสร้างพระนครศรีอยุธยา

-ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียอาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าเกิดน้ำท่วมจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำพัง ชาวเมืองจึงทิ้งบ้านเมืองไป แต่ไม่ได้ทิ้งร้าง หากแต่ยังมีชุมชนอาศัยอยู่เรื่อยมา

-ข้อสันนิษฐานจากลักษณะภูมิประเทศว่า เมืองอู่ทองเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เกิดการทับถมของโคลนตะกอนจากแม่น้ำสายต่างๆ จนกลายเป็นแผ่นดิน ปิดเส้นทางสัญจรทางทะเล ส่งผลให้ความเป็นเมืองท่าชายฝั่งของอู่ทองหมดไป

แม้การเสื่อมสลายของเมืองโบราณอู่ทองไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เมืองโบราณอู่ทองในฐานะแอ่งอารยธรรมทวารวดียังคงมีความสำคัญนับจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้
พิพิธภัณฑ์อู่ทองแหล่งรวมศิลปะยุคทวารวดีที่น่าสนใจ
ย้อนอดีต สู่ปัจจุบัน เพื่ออนาคต ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทอง

สำหรับจุดศึกษา เรียนรู้ ปูพื้น เรื่องราวในยุคสมัยทวารวดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทยนั้นก็คือที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” หรือเรียกที่สั้นๆว่า “พิพิธภัณฑ์อู่ทอง”

พิพิธภัณฑ์อู่ทอง เป็นแหล่งจัดแสดงอารยธรรมทวารวดีและศิลปวัตถุสำคัญๆมากมาย ด้วยเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ มีการจัดแสดงเกี่ยวบ้านเรือนชนเผ่าไว้ในส่วนที่เป็นกลางแจ้ง ส่วนภายในแบ่งพื้นที่การจัดแสดงเป็น 2 อาคารหลัก คือ อาคารจัดแสดงหมายเลข 1 และหมายเลข 2
ประติมากรรมดินเผารูปพระภิกษุอุ้มบาตร โบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่เก่าแกที่สุดในเมืองไทย
อาคารจัดแสดงหมายเลข 1 แบ่งเป็น 2 ห้องจัดแสดง

ห้องแรก ห้องจัดแสดง “บรรพชนคนอู่ทอง” จัดแสดงพัฒนาการเมืองอู่ทองตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจึงถึงยุคทวารวดี มีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ จารึกแผ่นทองแดงเหรียญกษาปณ์โรมัน เงินตราโบราณ พระพุทธรูปสำริด เครื่องประดับทองคำ ลูกปัดแบบต่างๆ และสิ่งของสำคัญคือ ประติมากรรมดินเผารูปพระภิกษุอุ้มบาตร ศิลปะอินเดียแบบอมารวดี(ศิลปะก่อนยุคทวารวดี) ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการค้นพบโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่เก่าแกที่สุดในเมืองไทย

อ้อ!?! สำหรับการชมศิลปวัตถุต่างๆในพิพิธภัณฑ์อู่ทองนั้น ทางเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บอกกับผมว่า ถ้าชิ้นไหนเป็นของสำคัญจะมีการเติมจุดแดงไว้ที่แผ่นป้ายบอกชื่อและอายุของชิ้นงาน
เครื่องปั้นดินเผาโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ส่วนห้องที่สอง เป็นห้องจัดแสดง “อู่ทองศรีทวารวดี” จัดแสดงเกี่ยวกับเมืองอู่ทองในฐานะเมืองสำคัญของยุคทวารวดี มีสิ่งน่าสนใจได้แก่ พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ เหรียญกษาปณ์โรมัน สิงโตสำริด ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนโบราณ งานดินเผารูปหัวคน

ในห้องนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญที่ตั้งเด่นสะดุดตาคือ “ธรรมจักรศิลา” พร้อมแท่นและเสา ซึ่งถูกค้นพบที่บนยอดเขาทำเทียมกับหินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี
ธรรมจักรศิลาทวารวดีที่สมบูร์ที่สุดในเมืองไทย
ธรรมจักรศิลาชุดนี้ เป็นศิลปะทวารวดีมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (1,300-1,400 ปีมาแล้ว) เป็นธรรมจักรศิลาทรงกลม ฉลุซี่ล้อโปร่ง ที่ฐานสลักลวดลายกลีบบัวบาน ขอบธรรมจักรสลักลายสี่เหลี่ยมเปียกปูนสลับวงกลมเรียงเป็นแถว มีเสาตั้งเป็นแท่งหินรูป 8 เหลี่ยม หัวเสาสลักลวดลายพวงอุบะ มีแท่นรองธรรมจักรเป็นรูป 4 เหลี่ยม นับเป็นธรรมจักรศิลาที่สวยงามสมส่วนยิ่งนัก ซึ่งธรรมจักรศิลาชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นธรรมจักรศิลาสมัยทวารวดีที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย
ธรรมจักรศิลาครบชุดทั้งองค์ธรรมจักร ฐาน และเสาแท่ง 8 เหลี่ยม
ไปดูสิ่งน่าสนใจในอาคารจัดแสดงหมายเลข 2 กันบ้าง

อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 ต่างจากอาคารหมายเลข 1 ตรงที่มุ่งเน้นการให้ข้อมูลและใช้เทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ ผสม แสง สี เสียง มีการสร้างเรื่องราว ข้าวของส่วนใหญ่เป็นการจำลองทำขึ้นมา ขณะที่การจัดแสดงในอาคารหมายเลข 1 เป็นการมุ่งนำเสนอศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นของจริงให้คนได้มาสัมผัสกัน

อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 มี 2 ชั้น โดยห้องจัดแสดงชั้นบนส่วนที่ 1 เป็นห้อง “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” ขณะที่การจัดแสดงส่วนที่ 2 ขอชั้นบนเป็น ห้อง “สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ”
แสดงเส้นทางการเดินเรือ การค้า
มาดูห้องจัดแสดงชั้นล่างของอาคารจัดแสดงหมายเลข 2 กันบ้าง เป็นห้อง “อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา” จัดแสดงให้เห็นถึงผังเมืองโบราณอู่ทองด้วยเทคนิคสมัยใหม่ มี แสง สี เสียง ครบ พร้อมกันนี้ยังมีการชูไฮไลท์คือธรรมจักรศิลามาทำเป็นเรื่องราว แสดงเห็นถึงชาวบ้านในยุคนั้นสร้างทำ ธรรมจักรศิลา รวมถึงจำลองร่องการขุดค้นพบมาให้ชม
การนำธรรมจักรมาจัดแสดงบอกร่องรอยการขุดค้นและโยงไปถึงวิถีชีวิตในอดีต
และนั่นก็เป็นสิ่งน่าสนใจต่างๆในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่นับเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวในยุคทวารวดีเพิ่มเติมมาอีกมากโข ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ดูตั้งใจกันดี ทำงานกันด้วยใจรักด้วยอยากให้ความรู้กับประชาชน

ส่วนที่เป็นปัญหาเหมือนๆกันกับพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศก็คือ การขาดงบประมาณ ขาดการสนใจจากภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราก็ยังคงหนีไม่พ้นจากวังวนเดิมๆ นั่นพลอยทำให้คนที่ตั้งใจดูแลพิพิธภัณฑ์ ตั้งใจทำพิพิธภัณฑ์ดีๆ เขาอดรู้สึกน้อยใจไม่ได้ เพราะผมมักได้ยินคนทำพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บ่นถึงปัญหาเหล่านี้ให้ฟังอยู่เสมอ
***********************************************************

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” หรือ พิพิธภัณฑ์อู่ทอง ตั้งอยู่ติดกับที่ว่าการอำเภออู่ทอง ริมถนนมาลัยแมน(สุพรรณบุรี-อู่ทอง) หมายเลข 321 ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีประมาณ 40 กม. เปิดทำการทุกวันพุธ-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์(หยุดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 9.00-16.00 น. ค่าบริการเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆเข้าชมฟรี ภายในพิพิธภัณฑ์สามารถถ่ายรูปได้ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-3555-1021,0-3555-1040

หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงประวัติศาสตร์อารยธรรมทวารวดีจากเอกสารและข้อมูลของพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น