xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว “อู่ทอง” ท่องทริปธรรม...แดนดินถิ่นทวารวดี มีวัดแห่งแรกในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ภาพการขุดค้นซากเมืองโบราณอู่ทอง(ภาพ : พิพิธภัณฑ์อู่ทอง)
อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในอำเภอสำคัญของเมืองไทย

ที่นี่มี“เมืองโบราณอู่ทอง” ที่เป็นต้นกำเนิดประวัติศาสตร์และอารยธรรมแห่งสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังเป็นเมืองท่า เมืองศูนย์กลางการค้าของอาณาจักรทวารวดี รวมไปถึงเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาเดินทางเข้าประดิษฐานเป็นแห่งแรกของเมืองไทย

ด้วยความสำคัญในหลายด้าน ล่าสุดทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สคท.) และเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ได้ร่วมมือกันจัดโครงการ “ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ขุนเขา 1 ศาลเจ้า”(เส้นทางไหว้พระออมบุญ 5 ขุนเขา 1 ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทัวร์ธรรมะกับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
สำหรับใครที่อยากรู้จักกับเมืองโบราณอู่ทองอย่างละเอียด อยากรู้ว่าเมืองนี้มีความสำคัญอย่างไร ผมขอแนะนำให้ไปปูพื้นเมืองอู่ทองและอาณาจักทวารวดีกันที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง” ที่จัดแสดงเรื่องราวของอารยธรรมทวารวดีและศิลปวัตถุสำคัญๆ มากมาย ด้วยเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ รูปปั้น เทวรูป ภาชนะ เครื่องใช้ เหรียญ เครื่องประดับ ตุ๊กตาดินเผาโบราณ รวมไปถึงธรรมจักรศิลาสมัยทวารวดีที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย และ ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์น่าสนใจ และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงอันโดดเด่นของโครงการนี้ (รายละเอียดของพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง จะนำเสนอในโอกาสต่อไป)
ภายในศาลเจ้าพ่อพระยาจักร
ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง เป็นจุดเริ่มแรกในทริปท่องธรรมของผมในครั้งนี้ นั่นก็คือ “ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร” ที่ภายในประดิษฐาน “เจ้าพ่อพระยาจักร” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอู่ทอง

เจ้าพ่อพระยาจักร เป็นเทวรูปสมัยทวารวดี มีลักษณะคล้ายรูปพระวิษณุแบบเก่าสวมหมวก มีบันทึกเล่าว่า ชาวอู่ทองในอดีตได้ค้นพบองค์เทวรูปเจ้าพ่อบริเวณริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นบูชา พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารศาลเจ้าให้ในปี พ.ศ. 2400 ก่อนที่จะพัฒนาปรับปรุงมาเป็นศาลเจ้าอันสวยงามตั้งเด่นสง่าอยู่ใจกลางเมืองอู่ทองดังปัจจุบัน
เทวรูปเจ้าพ่อพระยาจักร
เจ้าพ่อพระยาจักร เป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของชาวอู่ทอง มีเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ของท่าน เล่าขานกันมามากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ชาวอู่ทองประสบเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ส่งผลให้ร้านค้ารอบๆ ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรถูกไฟไหม้วอดวาย แต่น่าแปลกที่ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรกลับไม่ได้รับอันตรายใดๆจากเปลวไฟ เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนัก

ด้วยกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพระยาจักรทำให้แต่ละวันมีคนเดินทางมาบนบานศาลกล่าวท่านเป็นจำนวนมาก โดยมีความเชื่อว่าการไหว้เจ้าพ่อพระยาจักรจะช่วยให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง อีกทั้งยังทำให้อยู่เย็นเป็นสุข เสริมมงคลชีวิต
พระพุทธรูปจำลองพระถ้ำเสือ
จากนั้นผมออกเดินทางลงไปทางตอนใต้ของอู่ทองยัง “วัดเขาถ้ำเสือ” พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ ถิ่นกำเนิดกรุ “พระถ้ำเสือ” หนึ่งในพระเครื่องชื่อก้องของเมืองไทย ที่ทางวัดได้ทำพระพุทธรูปถ้ำเสือ (จำลอง) องค์โตสีทองไว้ให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชา ซึ่งเชื่อว่าการไหว้พระถ้ำเสือ จะมีบุญบารมี มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผู้คนเคารพนับถือ ชีวิตรุ่งโรจน์

จากวัดถ้ำเสือ ผมเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือสู่“วัดเขาทำเทียม” ที่ปัจจุบันกำลังมีโครงการสร้าง “สมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง” ที่เป็นพระพุทธรูปแกะสลัก (นูนสูง) บนหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่หากดำเนินการแล้วเสร็จ วัดนี้จะโด่งดังทางการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
พระพุทธรูปยืนบริเวณจุดชมวิว เขาทำเทียม
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันนี้วัดเขาทำเทียมก็ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาก เพราะนี่เป็นวัดที่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดแห่งแรกของเมืองไทย โดยหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี พระโมคคัลลีบุรติสสะเถระได้ทำการสังคายนาพุทธศาสนา (ครั้งที่ 3) ที่มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยได้ส่งพระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ
ธรรมจักรศิลาที่ขุดค้นพบบริเวณวัดเขาทำเทียม จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
สำหรับสถานที่ที่สันนิษฐานว่าพระอัครสาวกทั้งสองได้เดินทางเข้ามาสร้างเป็นวัดแห่งแรกคือ บนยอดเขาของวัดเขาทำเทียม (ในปัจจุบัน) เนื่องเพราะมีการค้นพบร่องรอยการใช้เพิงผาถ้ำบนยอดเขาเป็นที่พำนักของพระอัครสาวกทั้งสอง และค้นพบโบราณวัตถุเป็นก้อนหินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี” ที่หมายถึงภูเขาแห่งดอกไม้ และค้นพบธรรมจักรศิลาที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทยที่วัดแห่งนี้ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น) ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ข้อสันนิษฐาน (ของนักโบราณคดีสายหนึ่ง) ว่า ที่นี่น่าจะเป็นสถานที่ก่อกำเนิดวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกของเมืองไทย
เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์วัดเขาทำเทียม
วัดเขาทำเทียม มาจากชื่อวัดเขาเทียมสวรรค์ ที่เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำว่า เขาถ้ำเทียมสวรรค์ ภายในวัด บนยอดเขาที่เป็นจุดชมวิวชั้นดี มีสิ่งน่าสนใจ ได้แก่ โบสถ์โบราณเก่าแก่สมัยอยุธยา ที่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์แบบมหาอุตต์แห่งเดียวในสุพรรณ(ก่อนที่กรมศิลป์จะบูรณะมาเป็นอย่างปัจจุบัน) มีเพิงผาถ้ำที่พำนักของพระอัครสาวก บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เสมาหินโบราณ พระพุทธรูปยืนองค์โตบริเวณจุดชมวิว และเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ (โบราณสถานหมายเลข 12) ที่ได้รับการบูรณะเป็นสีขาวเด่น มีความเชื่อว่าใครที่มาสักการะเจดีย์องค์นี้แล้วจะได้อานิสงส์สูงส่ง เป็นมงคลชัยแก่ชีวิต
วัดเขาพระ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเส้นทางลำดับต่อไปอยู่ที่ “วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “วัดเขาพระ

วัดเขาพระมีของดีหลากหลายให้เที่ยวชม (9 มหามงคล) ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพ “พระเจ้าอู่ทอง”, ”หลวงพ่อพระหยก” สีขาวสวยจากพม่า, “หลวงพ่อเปี้ยน-หลวงพ่อบุญ” รูปเคารพของ 2 เกจิชื่อดัง, “เจ้าพ่อจักรนารายณ์” รูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ที่สันนิษฐานว่ามีความเชื่อมโยงกับเจ้าพ่อพระยาจักร
หลวงพ่อสังฆ์
“รอยพระพุทธบาทจำลอง” ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนยอดเขา,“บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์” ,“ถ้ำขุนแผน-นางพิม” กับตำนานความเชื่อจากวรรณคดีชื่อก้องเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน, “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” ที่ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้น่าสนใจมากหลาย และ “หลวงพ่อสังฆ์สรรเพชญ์” พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่สันนิษฐานว่าองค์ดั้งเดิมสร้างมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ก่อนจะมาบูรณะกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อสังฆ์สรรเพชญ์ หรือ หลวงพ่อสังฆ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอู่ทองที่มีความเชื่อว่าใครได้มาสักการะ ท่านจะช่วยบำบัดรักษาโรคภัยที่เจ็บป่วย (ให้ปิดทององค์พระบริเวณที่เจ็บป่วย)
วัดเขากำแพง
ไปกันต่อที่ “วัดเขากำแพง” วัดแห่งนี้มียอดเขาที่เชื่อว่าเคยเป็นปากปล่องภูเขาไฟเมื่อครั้งในอดีต ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจมากหลาย ได้แก่ ไซยักษ์ (เครื่องมือจับปลาพื้นบ้าน) กลองยักษ์ ฆ้องยักษ์ น้ำพุศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพเปาบุ้นจิ้น หลวงพ่อสังกัจจายน์บนเชิงเขา รูปเคารพหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อสุพรรณ พระบรมธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา และ “สมเด็จพระปุศยมุนีศรีสุพรรณมงคล” หรือ “หลวงปู่ขาว” ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถงานพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่ก่อสร้างอย่างสมส่วนสวยงาม
หลวงปู่ขาว
หลวงปู่ขาว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแกะสลักจากหินหยก (ก้อนเดียวหนัก 18 ตัน) จากเชียงราย พระพักตร์ของท่านนั้นอิ่มเอิบดูอ่อนวัยเหมือนเณรน้อยอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา ดูแล้วอิ่มเอมใจ ซึ่งเชื่อว่าใครที่มาไหว้หลวงปู่ขาวแล้ว จะมีรักใคร่กลมเกลียว ครอบครัวอบอุ่น อยู่เย็นเป็นสุข ทำธุรกิจก็ก้าวไกล ทำการค้ารุ่งเรือง
มณฑปพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก
มาถึงวัดสุดท้ายที่ตั้งอยู่บริเวณเหนือสุดในเส้นทางของโครงการนี้กับ “วัดเขาดีสลัก

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาดีสลัก มี “รอยพระพุทธบาท” (จำลอง) ประดิษฐานในมณฑปพระพุทธบาทอันสวยงาม บนเขาที่มองลงไปสามารถเห็นวิวทิวทัศน์เบื้องล่างได้อย่างสวยงาม
รอยพระพุทธบาทนูนต่ำ
รอยพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลักนั้น มีความแปลกตรงที่เป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ ยกสูงขึ้นมาเล็กน้อย (ปกติรอยพระพุทธบาทส่วนใหญ่จะลึกบุ๋มเข้าไป) ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองไทย ใครที่มาสักการะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีความเชื่อว่า จะได้รับอานิสงส์ เป็นมงคลต่อชีวิต มีความสำเร็จก้าวไกล เพิ่มพูนบารมี
ภายในถ้ำที่มีพ่อปู่พระฤาษีพรหมนิมิตและพระถ้ำเสือให้เคารพสักการะ
นอกจากนี้ที่ใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาทยังมีเส้นทางเดินสู่ถ้ำเสือ ภายในประดิษฐานพระถ้ำเสือ (จำลอง) และรูปเคารพ “พ่อปู่พระฤาษีพรหมนิมิต” ให้ผู้สนใจได้เข้าถ้ำไปสักการบูชากัน

นั่นก็คือเสน่ห์แห่งเมืองอู่ทองในเส้นทางทริปท่องธรรม ที่แม้บางครั้งการออกทัวร์ธรรมะ ไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ความรู้สึกอิ่มเอม สุขใจ มาจากข้างใน นี่แหละคืออานิสงส์อันสูงล้ำ

*****************************************
แผนที่แสดงตำแหน่งจุดไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
การเดินทางสู่ อ.อู่ทอง จากกรุงเทพฯ เส้นทางที่สะดวกคือ เส้นทางหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) ถึงสุพรรณบุรี (ประมาณ 70 กม.) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมาลัยแมน (321) ผ่านหอนาฬิกาและสี่แยกไฟแดง ขับตามถนนมาลัยแมนก็จะถึง อ.อู่ทอง (ระยะทางจากสุพรรณฯ ถึง อ.อู่ทอง ประมาณ 40 กม.)

หรือจากกรุงเทพฯ ไปทางนครปฐม แล้วใช้เส้นทางถนนมาลัยแมน ตรงไปยัง อ.อู่ทอง ประมาณ 75 กม.

สำหรับผู้สนใจเที่ยวในเส้นทางไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ขุนเขา 1 ศาลเจ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง โทร.0-3555-2997
กำลังโหลดความคิดเห็น