xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “ปราสาทพระวิหาร” จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สู่พื้นที่แห่งความขัดแย้ง(ที่ยังไม่สิ้นสุด)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทัศนียภาพปราสาทพระวิหาร ณ ยอดเขาพระวิหาร (ภาพ : google earth)
ผลการตัดสินของศาลโลกไม่เป็นบวกต่อประเทศไทยอีกครั้ง หลังไทยเคยถูกศาลโลกตัดสินให้เสียตัวปราสาทเขาพระวิหารไปในปี พ.ศ. 2505

มาวันนี้ศาลโลกนอกจากจะตัดสินยืนความตามคำพิพากษาในปี 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอแล้ว ยังระบุให้เขตอธิปไตยของกัมพูชาครอบคลุมถึงชะง่อนผา แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงภูมะเขือ พร้อมให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร แล้ว 2 ชาติต้องไปตกลงแผนปกป้องมรดกโลกภายใต้การดูแลของยูเนสโก

ทั้งนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ หรือว่าจะนำปราสาทพระวิหารไปโยงกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำประเทศโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน
บันไดหน้าจุดเริ่มต้นทางขึ้นสู่บรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ (ภาพ : google earth)
สำหรับตัว “ปราสาทพระวิหาร” เป็นหนึ่งในหลายปราสาทหิน ที่เป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรขอม ตั้งอยู่ที่ปลายสุดของแผ่นดินที่ราบสูงโคราช บนยอดเขาพระวิหาร เทือกเขาพนมดงรัก ที่ตั้งแห่งนี้รู้จักกันในนาม “พนมพระวิหาร” ซึ่งหมายถึงบรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของดินแดนที่ราบสูงโคราชที่ถูกเรียกว่าแผ่นดินเขมรสูง โดยที่ราบเบื้องล่างของภูเขาแห่งนี้เป็นดินแดนที่รู้จักกันในนามแผ่นดินเขมรต่ำ

โดยปราสาทพระวิหารแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในหลายรัชสมัยของกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งปกครองอาณาจักรในช่วงปี พ.ศ. 1345-1388 และมีการต่อเติมสร้างส่วนต่างๆ ของปราสาทเรื่อยมาจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1581 ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จากนั้นมีการสร้างต่อเติมปรับปรุงระเบียงคด ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งปกครองราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 1656-1693 หลังจากรัชสมัยของพระองค์ปราสาทพระวิหารก็ไม่ได้มีการสร้างอะไรเพิ่มเติม
ทางเดินขึ้นสู่โคปุระชั้นที่ 2
ปราสาทพระวิหาร ถูกสร้างขึ้นด้วยศิลาทรายซึ่งสกัดจากบริเวณเทือกเขาพนมดงรักอันเป็นที่ตั้งและจากวัสดุก่อสร้างอื่น อาทิ อิฐเผาและไดทะมะป้วกซึ่งมีลักษณะเป็นดินเหนียวคล้ายหิน โดยมีศิลปะในการสร้างเป็นศิลปะเขมรสมัยปาปวน

วัตถุประสงค์ของการสร้างปราสาทพระวิหารนั้น ตามข้อความในศิลาจารึกกล่าวไว้ว่าเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดของศาสนา ซึ่งมีความสอดคล้องกับการออกแบบการสร้างปราสาทพระวิหารแห่งนี้ การที่กษัตริย์ขอมได้สถาปนาพระศิวะเป็นใหญ่ ซึ่งเรื่องราวปรากฏในปกรณัมของศาสนาฮินดูก็กล่าวว่า พระศิวะทรงประทับอยู่ยอดบนสุดของเทือกเขาไกรลาส เขาพระวิหารแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นไต่ระดับไปจนถึงยอดเขาพระวิหาร อันสื่อถึงยอดสูงสุดของเขาไกรลาส เพื่อเป็นที่สักการะองค์พระศิวะ
มุขทิศโคปุระชั้นที่ 2 จำหลักลวดลายที่โดดเด่นที่สุด เรื่องพระนารายณ์ตอนกูรมาวตาร หรือตอนกวนเกษียรสมุทร
ตัวปราสาทพระวิหารมีความยาว 800 เมตรตามแนวเหนือใต้โดยมีทางขึ้นเริ่มต้นตั้งแต่ฝั่งประเทศไทยในเขตตำบลบงมะลู อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตัวปราสาทถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนทอดตัวยาวทิศเหนือจดใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาวถึงยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ระหว่างทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้นจะมีโคปุระหรือซุ้มประตูคั่นอยู่ 5 ชั้น เริ่มต้นจากส่วนบันไดหน้าด้านทิศเหนือมุ่งขึ้นสู่ยอดเขาทางทิศใต้ จนไปสุดที่ลานนาคราชเป็นลานปูแผ่นหินขนาดใหญ่ที่ขอบลาน มีพนักนาคราชหิน 7 เศียร ตัวนาคทอดยาวมีลักษณะเป็นรูปงูธรรมดา ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียก “งูชวง”
ทางเดินสู่ โคปุระชั้นที่ 3 (ภาพ : เว็บไซต์ flickr)
ต่อจากนั้นเป็นบันไดสู่โคปุระชั้นที่ 1 รูปทรงของโคปุระชั้นนี้เป็นศาลาจัตุรมุขไม่มีผนัง ประตูด้านทิศตะวันออกมีขั้นบันไดที่ใช้เป็นเส้นทางขึ้นลงสู่ดินแดนเขมรต่ำ เบื้องล่างเขาพระวิหารเรียกกันว่า “ถนนบันไดหัก” ถัดจากโคปุระชั้น 1 ก็จะเป็นทางเดินมุ่งสู่โคปุระชั้นที่ 2 ซึ่งระหว่างทางเดินนั้นจะมีเสานางเรียง เรียงรายอยู่สองข้างทางโคปุระชั้นที่ 2 นี้เป็นศาลาจัตุรมุขไม่มีผนังคล้ายกับชั้นที่ 1 แต่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งมุขโคปุระด้านทิศใต้นี้เป็นมุขที่จำหลักลวดลายที่โดดเด่นที่สุด โดยมีหน้าบันจำลักเรื่องพระนารายณ์ ตอน กูรมาวตาร หรือตอน กวนเกษียรสมุทร ในส่วนทับหลังเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ และยังเป็นทางเดินไปสู่โคปุระชั้นที่ 3
โคปุระชั้นที่ 3
โคปุระชั้นที่ 3 ลักษณะเป็นศาลาจัตุรมุขทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด ถูกขนาบด้วยห้องสองห้องซึ่งมีประตูเข้าออกทางด้านข้าง ถัดจากนั้นก็จะเป็นทางเดินสู่โคปุระชั้นที่4 ในชั้นนี้ตัวอาคารถูกออกแบบเป็นศาลาจัตุรมุขเหมือนชั้นอื่นๆแต่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อให้มีความสอดคล้องกับตัวปราสาทประธานที่มีขนาดเล็กมากปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ชำรุดมากกว่าชั้นอื่นๆลวดลายสลักนั้นเป็นศิลปะในสมัยปาปวนทั้งหมดโดยมีสิ่งสำคัญคือจารึกที่กรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือและเป็นจารึกที่สำคัญที่สุดที่มีการกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
แนวระเบียงคด (ภาพ : google earth)
โคปุระชั้นที่ 5 นั้นเป็นแนวระเบียงคดโดดเป็นระเบียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบตัวปราสาทประธานเอาไว้ ผนังด้านนอกนั้นสร้างเป็นแบบทึบแต่ด้านในนั้นโปร่ง มีการเจาะเป็นช่องๆ คล้ายหน้าต่าง มีประตูทางเข้าด้านเดียวในทิศเหนือ ศิลปะที่สลักไว้นั้นเป็นวลดลายในสมัยปาปวน ภายในวงล้อมของระเบียงคดนั้นเป็นที่ตั้งขององค์ปราสาทประธาน ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับปราสาทอื่นๆ และปัจจุบันปราสาทได้พังทลายลงหมดคงเหลือแต่มณฑปเท่านั้น ปราสาทประธานได้มีจารึกกล่าวถึงชื่อปราสาทพระวิหารแห่งนี้ว่า “ภวาลัย”

ถัดจากปราสาทองค์ประธาน ด้านหลังระเบียงคดด้านทิศใต้เป็นชะง่อนผาสูงชัน มีชื่อเรียกว่าเป้ยตาดี ในจุดนี้เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพเข้าไปในแผ่นดินเขมรต่ำได้อย่างกว้างไกล และหากมองขึ้นมาจากแผ่นดินด้านล่างก็จะเห็นปราสาทพระวิหารเปรียบประดุจปราสาทอยู่บนสวรรค์
ทัศนียภาพดินแดนเขมรต่ำ มุมมองจากเป้ยตาดี (ภาพ : google earth)
ปราสาทพระวิหารนั้นถูกออกแบบและสร้างสรรค์มาด้วยความวิจิตรแห่งศิลปะขอม แต่ถึงตัวปราสาทจะถูกสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวรแต่กาลเวลาที่ล่วงเลยก็ทำให้ปราสาทพระวิหารแห่งนี้ถูกลืมเลือนไปในบางช่วงบางเวลา หลังจากที่อาณาจักรอยุธยาถูกสถาปนาสู่ความรุ่งเรือง ยุคทองแห่งอาณาจักรขอมก็เสื่อมถอยลง จึงเป็นเหตุให้ปราสาทพระวิหารถูกทิ้งไว้เบื้องหลังและทรุดโทรมพังทลายตามกาลเวลา

กระทั่งปี พ.ศ. 2442 สมัยรัตนโกสินทร์ ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้จึงถูกค้นพบโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคม ดินแดนเขมรซึ่งเคยเป็นประเทศราชของสยามจึงตกเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ผลพวงของความกระหายและความละโมบโลภมากในการล่าอาณานิคมครั้งนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาบานปลาย นำไปสู่ความขัดแย้งในการเสนอสิทธิครอบครองซึ่งได้ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวหาใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงแห่งปราสาทพระวิหาร แต่ถึงเหตุการณ์จะเป็นเช่นไรปราสาทพระวิหารแห่งนี้ตั้งตระหง่านยืนยงตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น