โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
วันหยุด“พักร้อน”คือวันปรารถนาของคนทำงานโดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือนที่หลายคนทำงานหนักหัวเป็นเกลียวตัวเป็นน็อต
เมื่อถึงวันหยุดพักร้อน คนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่ต่างๆใกล้ ไกล ตามที่ใจตนต้องการ
เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ ท่องเที่ยวทำโลกร้อน
คนจำนวนมากยังไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังท่องเที่ยวพักร้อนอยู่นั้น ด้านหนึ่งเรากลับเป็นตัวช่วยหนุนส่งให้โลกของเราสะสมความร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ประเด็นเรื่องโลกร้อนนี้จะมีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ใครหลายๆคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อีกทั้งยังมองว่าเป็นปัญหาเรื่องโลกร้อนหลักๆแล้วมาจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็มาจากภาคการขนส่งคมนาคมขนาดใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่าในภาคการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยจากรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละปีจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเฉลี่ยประมาณ 5 %
เมื่อการท่องเที่ยวมีส่วนต่อการทำให้โลกร้อน จึงเกิดกิจกรรม“การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”หรือ “Low Carbon Tourism” ขึ้น ซึ่งบ้านเราทาง“องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (องค์การมหาชน)หรือ อพท. ได้ชูให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยมีแนวคิดหลักว่า แม้การท่องเที่ยวจะมีส่วนทำให้โลกร้อน แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การปฏิเสธการท่องเที่ยว แต่มีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการ
พร้อมกันนี้ อพท.ยังได้คัดสรรให้ “เกาะหมาก” ในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ตราด เป็นพื้นที่ต้นแบบของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ Low Carbon Destination เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การเป็น Green Island ในระดับสากล
เกาะหมาก ต้นแบบโลว์ คาร์บอน
เหตุที่เกาะหมากได้รับเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบโลว์คาร์บอน เพราะเป็นเกาะที่มีขนาดเหมาะสม มีธรรมชาติสมบูรณ์ ที่สำคัญคือชาวบ้าน ชาวชุมชน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดย อพท.ได้เข้ามาสนับสนุน สร้างความเข้าใจ และนำองค์ความรู้มาให้กับชุมชน เช่น การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ การทำเมนูอาหารพื้นบ้านที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญและทีมงานด้านพลังงานทดแทนไปแนะนำชาวบ้านเพื่อให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรม
ธานินทร์ สุทธิธนกูล รองประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก เจ้าของเกาะหมากซีฟู้ดเล่าให้ผมฟังว่า ในระยะแรกชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ มองไม่ออก แต่เมื่อทำให้ชาวบ้านรับรู้ว่า กิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติอยู่ สามารถทำให้โลว์คาร์บอนได้ โดยไม่ต้องสร้างหรือทำความเข้าใจในสิ่งใหม่
สำหรับธานินทร์เขาเป็นหนึ่งในบุคคลแรกๆของเกาะหมากที่นำเรื่องของโลว์คาร์บอนมาใช้ร่วมกับวิถีประจำวัน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งจากพลังงานแสงอาทิตย์(พลังงานทดแทนจากโซลาเซลล์) ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 10-15% ต่อเดือน นอกจากนี้ธานินทร์ยังนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆมารีไซเคิลกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นำแบตเตอรี่เก่า หลอดไฟเก่ามาใช้ใหม่ ทำไฟฉายจากกล่องยาชาร์ตด้วยโซลาเซลล์แผงเล็กที่เป็นงานทำมือไอเดียสุดเฉียบ เป็นต้น
นับเป็นวิถีแบบโลว์ คาร์บอน ที่ผู้ใช้นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังรับรู้ได้ในคุณค่าและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรงอีกด้วย
เกาะหมาก มากเสน่ห์
เกาะหมากเป็นเกาะเป็นอันดับสามของหมู่เกาะช้าง รองจากเกาะช้างและเกาะกูด ตั้งอยู่ช่วงกลางระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด บนเกาะมีอ่าวน่าสนใจ เช่น “อ่าวนิด”เป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ “อ่าวสนใหญ่” เป็นอ่าวโค้งยาวน่ายล “อ่าวโล่ง” ที่รอบข้างร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยสวนยางพารา ในหลายๆหาดหลายๆอ่าว จะมีการสร้างสะพานเทียบเรือ(ของที่พัก)ทอดยาว ถือเป็นจุดถ่ายรูปและเสน่ห์อันโดดเด่นของเกาะแห่งนี้
บนเกาะหมากยังมี “วัดเกาะหมาก” เป็นวัดหนึ่งเดียวประจำเกาะที่ยังคงไว้ด้วยสงบ ใกล้ๆกับวัดเป็น “พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณร้าน“เกาะหมากซีฟู้ด” ที่คุณธานินทร์เจ้าของร้านได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่น่าสนใจมาจัดแสดงให้แก่ผู้สนใจได้เข้าชมกันฟรี
ความที่เกาะหมากเป็นเกาะระหว่างกลางของหมู่เกาะช้าง และรอบข้างแวดล้อมไปด้วยเกาะหลากหลาย เกาะหมากจึงเป็นดังจุดเชื่อมไปยังเกาะอื่นๆเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดำน้ำดูประติมากรรมช้างใต้ทะเล, ดำน้ำดูปะการังเกาะยักษ์ เกาะรัง,ท่องซาฟารีกลางทะเล ชมฝูงกวางจำนวนมากบนเกาะกระดาด เป็นต้น
ขณะที่บนเกาะนั้น ทางอพท. ได้เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบโลว์ คาร์บอน คือ การปั่นจักรยานเที่ยวเกาะและการพายเรือคายักชมทะเล ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมปลอดมลพิษช่วยคาร์บอนแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพเพราะได้ออกกำลังกายไปในตัว
และด้วยเสน่ห์ในความสงบเป็นส่วนตัว มีธรรมชาติอันพิสุทธิ์สวยงาม เกาะหมากในวันนี้จึงเริ่มเป็นที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บนเกาะเริ่มมีการสร้างที่พักหลากหลายรูปแบบ และราคาให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เกาะหมากจะต้องมีการบริการจัดการที่ดี มีทิศทางชัดเจน และพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีระบบ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกาะหมากมีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ถูกธุรกิจท่องเที่ยวโจมตีจนเสียศูนย์ดังเช่นเกาะท่องเที่ยวหลายๆเกาะในบ้านเรา
วันหยุด“พักร้อน”คือวันปรารถนาของคนทำงานโดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือนที่หลายคนทำงานหนักหัวเป็นเกลียวตัวเป็นน็อต
เมื่อถึงวันหยุดพักร้อน คนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่ต่างๆใกล้ ไกล ตามที่ใจตนต้องการ
เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ ท่องเที่ยวทำโลกร้อน
คนจำนวนมากยังไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังท่องเที่ยวพักร้อนอยู่นั้น ด้านหนึ่งเรากลับเป็นตัวช่วยหนุนส่งให้โลกของเราสะสมความร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ประเด็นเรื่องโลกร้อนนี้จะมีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ใครหลายๆคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อีกทั้งยังมองว่าเป็นปัญหาเรื่องโลกร้อนหลักๆแล้วมาจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็มาจากภาคการขนส่งคมนาคมขนาดใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่าในภาคการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยจากรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละปีจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเฉลี่ยประมาณ 5 %
เมื่อการท่องเที่ยวมีส่วนต่อการทำให้โลกร้อน จึงเกิดกิจกรรม“การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”หรือ “Low Carbon Tourism” ขึ้น ซึ่งบ้านเราทาง“องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (องค์การมหาชน)หรือ อพท. ได้ชูให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยมีแนวคิดหลักว่า แม้การท่องเที่ยวจะมีส่วนทำให้โลกร้อน แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การปฏิเสธการท่องเที่ยว แต่มีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการ
พร้อมกันนี้ อพท.ยังได้คัดสรรให้ “เกาะหมาก” ในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ตราด เป็นพื้นที่ต้นแบบของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ Low Carbon Destination เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การเป็น Green Island ในระดับสากล
เกาะหมาก ต้นแบบโลว์ คาร์บอน
เหตุที่เกาะหมากได้รับเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบโลว์คาร์บอน เพราะเป็นเกาะที่มีขนาดเหมาะสม มีธรรมชาติสมบูรณ์ ที่สำคัญคือชาวบ้าน ชาวชุมชน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดย อพท.ได้เข้ามาสนับสนุน สร้างความเข้าใจ และนำองค์ความรู้มาให้กับชุมชน เช่น การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ การทำเมนูอาหารพื้นบ้านที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญและทีมงานด้านพลังงานทดแทนไปแนะนำชาวบ้านเพื่อให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรม
ธานินทร์ สุทธิธนกูล รองประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก เจ้าของเกาะหมากซีฟู้ดเล่าให้ผมฟังว่า ในระยะแรกชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ มองไม่ออก แต่เมื่อทำให้ชาวบ้านรับรู้ว่า กิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติอยู่ สามารถทำให้โลว์คาร์บอนได้ โดยไม่ต้องสร้างหรือทำความเข้าใจในสิ่งใหม่
สำหรับธานินทร์เขาเป็นหนึ่งในบุคคลแรกๆของเกาะหมากที่นำเรื่องของโลว์คาร์บอนมาใช้ร่วมกับวิถีประจำวัน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งจากพลังงานแสงอาทิตย์(พลังงานทดแทนจากโซลาเซลล์) ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 10-15% ต่อเดือน นอกจากนี้ธานินทร์ยังนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆมารีไซเคิลกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นำแบตเตอรี่เก่า หลอดไฟเก่ามาใช้ใหม่ ทำไฟฉายจากกล่องยาชาร์ตด้วยโซลาเซลล์แผงเล็กที่เป็นงานทำมือไอเดียสุดเฉียบ เป็นต้น
นับเป็นวิถีแบบโลว์ คาร์บอน ที่ผู้ใช้นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังรับรู้ได้ในคุณค่าและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรงอีกด้วย
เกาะหมาก มากเสน่ห์
เกาะหมากเป็นเกาะเป็นอันดับสามของหมู่เกาะช้าง รองจากเกาะช้างและเกาะกูด ตั้งอยู่ช่วงกลางระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด บนเกาะมีอ่าวน่าสนใจ เช่น “อ่าวนิด”เป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ “อ่าวสนใหญ่” เป็นอ่าวโค้งยาวน่ายล “อ่าวโล่ง” ที่รอบข้างร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยสวนยางพารา ในหลายๆหาดหลายๆอ่าว จะมีการสร้างสะพานเทียบเรือ(ของที่พัก)ทอดยาว ถือเป็นจุดถ่ายรูปและเสน่ห์อันโดดเด่นของเกาะแห่งนี้
บนเกาะหมากยังมี “วัดเกาะหมาก” เป็นวัดหนึ่งเดียวประจำเกาะที่ยังคงไว้ด้วยสงบ ใกล้ๆกับวัดเป็น “พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณร้าน“เกาะหมากซีฟู้ด” ที่คุณธานินทร์เจ้าของร้านได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่น่าสนใจมาจัดแสดงให้แก่ผู้สนใจได้เข้าชมกันฟรี
ความที่เกาะหมากเป็นเกาะระหว่างกลางของหมู่เกาะช้าง และรอบข้างแวดล้อมไปด้วยเกาะหลากหลาย เกาะหมากจึงเป็นดังจุดเชื่อมไปยังเกาะอื่นๆเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดำน้ำดูประติมากรรมช้างใต้ทะเล, ดำน้ำดูปะการังเกาะยักษ์ เกาะรัง,ท่องซาฟารีกลางทะเล ชมฝูงกวางจำนวนมากบนเกาะกระดาด เป็นต้น
ขณะที่บนเกาะนั้น ทางอพท. ได้เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบโลว์ คาร์บอน คือ การปั่นจักรยานเที่ยวเกาะและการพายเรือคายักชมทะเล ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมปลอดมลพิษช่วยคาร์บอนแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพเพราะได้ออกกำลังกายไปในตัว
และด้วยเสน่ห์ในความสงบเป็นส่วนตัว มีธรรมชาติอันพิสุทธิ์สวยงาม เกาะหมากในวันนี้จึงเริ่มเป็นที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บนเกาะเริ่มมีการสร้างที่พักหลากหลายรูปแบบ และราคาให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เกาะหมากจะต้องมีการบริการจัดการที่ดี มีทิศทางชัดเจน และพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีระบบ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกาะหมากมีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ถูกธุรกิจท่องเที่ยวโจมตีจนเสียศูนย์ดังเช่นเกาะท่องเที่ยวหลายๆเกาะในบ้านเรา