“วันนี้เสม็ดเริ่มดีขึ้นแล้ว” เป็นภาพสวยหรูที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. สร้างขึ้นผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด “Better Samed:เราไปเที่ยวเสม็ดกันเถอะ” โดยเนื้อหาหลักๆ ของโฆษณาชุดนี้บอกไว้ว่า 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เกาะเสม็ดเริ่มดีขึ้นแล้ว น้ำใสเหมือนเดิม อาหารทะเลกินได้ เหลือแต่ความเชื่อมั่นของคนไทยที่ยังไม่เหมือนเดิม
และในโฆษณาดังกล่าวก็ยังบอกไว้ว่า กลุ่ม ปตท. ยังคงดูและธรรมชาติและผู้คนอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่ว??...
ภาพจากโฆษณาชุดนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับไปยังเกาะเสม็ด แต่ก็ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ ปตท. ทำนั้นเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดีพอหรือยัง บ้างก็ว่าโฆษณาชุดนี้ทำขึ้นเพื่อสร้างภาพให้กับกลุ่ม ปตท. แต่ยังคงหมกเม็ดปัญหาเอาไว้อยู่
แต่ที่สำคัญคือ เกิดคำถามที่ว่ากว่า 2 เดือนหลังวิกฤติน้ำมันรั่ว เสม็ดดีขึ้นแล้วจริงหรือ? ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วได้รับการชดเชยเพียงพอแล้วหรือยัง?
สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ญาตา สบายเรื่อย ผู้ประกอบการที่พักบ้านระฆัง (เบลล์เฮาส์ รีสอร์ท) บนอ่าววงเดือน กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าวว่า ภายหลังจากมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกค้าที่เข้ามาพักที่รีสอร์ทก็มีน้อยลง โดยเทียบเคียงตัวเลขผู้เข้าพักในเดือนเดียวกันเมื่อปี 2555 ก็พบว่ามีจำนวนลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของทางรีสอร์ท และผู้ประกอบการที่พักบนเกาะเสม็ดก็ได้รับผลกระทบแบบนี้เหมือนกันทุกแห่ง
“เรื่องการชดเชย ปตท. เขาก็มีการชดเชยเป็นเงินก้อนให้สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละรายจะได้เงินไม่เท่ากัน เพราะว่าต้องคำนวณรายได้จากห้องพักที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละเดือน แต่ละรีสอร์ทก็จะทำตัวเลขสรุปผลไปให้คณะกรรมการที่ ปตท. ตั้งขึ้นมา จากนั้นทาง ปตท. จะคิดยอดรายได้เพียงร้อยละ 80 จากที่เราส่งไป เพราะสถิติของ ททท. บอกว่าที่พักบนเกาะจะมีคนเข้าพักแค่ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้เข้าพักครบเต็มจำนวนห้อง ส่วนจำนวนเงินจริงที่รีสอร์ทจะได้ชดเชยมาคือร้อยละ 30 ของรายได้เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเงินที่ช่วยเหลือเราได้ส่วนหนึ่ง”
แต่สำหรับเงินชดเชยก้อนนี้ ญาตา กล่าวเสริมว่า ทาง ปตท. ได้จ่ายเงินชดเชยมาให้แล้ว แต่เป็นเงินชดเชยสำหรับเดือนสิงหาคมเท่านั้น ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ดคิดว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะแม้เหตุการณ์จะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในเดือนกันยายน-ตุลาคม เหตุการณ์ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวแม้จะมีเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการต่างๆ จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้ โดยมีการลงชื่อผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ทำหนังสือเพื่ออุทธรณ์ขอเพิ่มเงินชดเชยอีก 2 เดือน ซึ่งจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผู้ว่าฯ ก็จะต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการเยียวยาของ ปตท. ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
“นอกจากเงินชดเชยแล้ว ปตท. ก็มีการจองบูธในงานท่องเที่ยวให้ไปออกได้ฟรี บางรีสอร์ทก็ยินดีไป แต่บางรีสอร์ทก็ไม่พร้อม อย่างของเราเองก็ไม่ได้ไปเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ถึงจะไม่ต้องจ่ายค่าบูธก็ตาม อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงจะไปออกบูธแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีลูกค้าเข้ามาจองแน่นอนหรือเปล่า”
“ส่วนเรื่องของที่พักต่างๆ บนเกาะเสม็ด ปตท. ก็มีการจองห้องพักไว้ให้กรุ๊ปทัวร์ของตัวเองมาพัก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะไปตามรีสอร์ทใหญ่ๆ ส่วนรีสอร์ทเล็กๆ หลายแห่งจะไม่ได้รับการช่วยเหลือในจุดนี้ จริงๆ ก็ถือว่าไม่ได้ช่วยทุกที่อย่างเท่าเทียมกันเท่าไหร่นัก”
ในส่วนของทรัพยากรทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว ก็ยังมีการเก็บข้อมูลเพื่อทำการสำรวจถึงความเสียหายอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การลดน้อยลงของกุ้งหอยปูปลา และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ในบริเวณนั้น โดย จตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ยืนยันว่า หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ชาวประมงเรือเล็กเดือดร้อนกันถ้วนหน้า สัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละครั้งน้อยลงอย่างมาก หรือใครที่บอกว่าชายหาดขาวใสเหมือนเดิมแล้ว แต่ถ้าลองขุดทรายลงไปดูก็จะยังเห็นคราบน้ำมันเหลืออยู่ ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท. แล้ว ที่บอกว่าเสม็ดไม่มีปัญหาอะไร ชาวประมงเชื่อในสิ่งที่เห็นจริงๆ มากกว่า
นอกจากนี้ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านฯ ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายยังบอกอีกว่า หลังจากผ่านมา 2 เดือน ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดก็ยังคงเดือดร้อน บางคนยังไม่ได้ค่าชดเชยอะไร ส่วนคนที่ได้ก็ได้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งที่เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งบนเกาะ หาดแม่รำพึง หาดบ้านเพ หาดแม่พิมพ์ ไปจนตลอดแนวชายฝั่ง อยากให้ผู้ก่อมลพิษยอมรับกับปัญหาที่ยังคงมีอยู่และมาพูดคุยกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เป็นความจริงที่สวนทางกับภาพสวยๆจากปตท.ที่ออกมาโฆษณาสร้างภาพดีๆ ให้กับตัวเอง แต่แท้ที่จริงแล้วผลกระทบที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการได้รับนั้นยังถูกซุกไว้ และทำเป็นเหมือนว่าเรื่องนี้ได้คลี่คลายไปแล้ว และหน่วยงานของรัฐที่ควรจะเป็นตัวแทนเรียกร้องการชดเชยให้กับชาวบ้าน ก็ทำให้เรื่องนี้เงียบหายไปราวกับคลื่นกระทบฝั่งที่มองไม่เห็นความหวังอะไรเลย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com