“ย่านข้าวสาร” หรือ “ตรอกข้าวสาร” ถือเป็นอีกหนึ่งย่านที่มีความคึกคักและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติ ย่านข้าวสารแห่งนี้เป็นจุดศูนย์รวมที่รวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้อย่างมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ ร้านอาหารหลากรสชาติ สินค้านานาชนิด อีกทั้งบรรยากาศยามค่ำคืนที่คึกครื้นก็ถือเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ของย่านแห่งนี้
ก่อนที่จะมาเป็นย่านข้าวสารที่คึกคักนั้น ย่านแห่งนี้เป็นย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งใช้เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร โดยเป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร จึงเรียกย่านี้ว่า ”ตรอกข้าวสาร” ในเวลาต่อมาเมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี และเข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และในระยะหลังเริ่มมีชาวต่างชาติมาเยือนเป็นระยะ จึงได้กลายเป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแบบแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยจนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นย่าน บันเทิงยามราตรีที่ได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
หากมีโอกาสมาเยือนแล้วนั้น ก็จะพบกับบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมายหลายเชื้อชาติ มีร้านขายสินค้าต่างๆมากมายหลายชนชาติให้ได้เลือกชมหรือเลือกซื้อ โดยเฉพาะในยามราตรีนั้น ย่านแห่งนี้จะคึกคักมากเป็นพิเศษ อีกทั้งในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ของไทยเรานั้น ย่านแห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งย่านที่ได้รับความนิยมในการมาเล่นน้ำในวันสงกรานต์ของทุกๆ ปี บรรยากาศในช่วงเทศกาลนี้จะคึกคักและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่มารวมตัวกันในช่วงเทศกาลนี้
นอกจากจะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ ย่านข้าวสารแห่งนี้ยังเป็นจุดศูนย์รวมอาหารหลากรสชาติและหลายเชื้อชาติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารชาติไทยเราเอง อย่างเช่น “ผัดไทย” ก็ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นอาหารยอดฮิตของย่านแห่งนี้ไปแล้ว หรือจะเป็นอาหารชาติอื่นๆก็มีให้เลือกสรรมากมาย อาทิ เคบับ พิซซ่า ซูชิ ให้ได้ลองลิ้มชิมรส อีกทั้งใน “ซอยรามบุตรี” ริมรั้ววัดชนะสงครามที่อยู่ในละแวกเดียวกันนั้น ก็ยังเป็นที่ตั้งของร้านค้าร้านอาหารอีกมากมาย นับได้ว่าหากใครที่กำลังอยากชิมอาหารนานาชาติแล้ว ถ้าได้มาย่านนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง (คลิกอ่านเรื่องกินย่านข้าวสาร)
ไม่เพียงเท่านั้น ย่านข้าวสารแห่งนี้ก็ไม่ได้มีแต่มุมที่คึกคักและคราคร่ำไปด้วยผู้คนเสมอไป ในละแวกใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของวัดชนะสงครามฯ และวัดบวรนิเวศวิหารฯ มุมสงบใจกลางย่านคึกคักอีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยม ของนักท่องเที่ยวหลายๆคนที่ต้องการชมสถาปัตยกรรมที่สวยงามในด้านศาสนาของไทย
“วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ย่านข้าวสารฝั่งถนนจักรพงษ์ ติดกับซอยรามบุตรี วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง ซึ่งเดิมเรียกว่าวัดกลางนา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราช มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม และทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ และต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง
พระประธานในพระอุโบสถมีนามว่า “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดา อนาวรญาณ” หรือชาวบ้านเรียกอย่างสามัญว่า “หลวงพ่อปู่” มีความเชื่อว่าหากใครได้มาสักการะแล้วจะทำให้มีชัยเหนืออุปสรรคทั้งปวง วัดชนะสงครามฯ แห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดทั้ง9 ของเส้นทางไหว้พระ 9 วัดรอบกรุงฯ
“วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร” ตั้งอยู่เยื้องมาทางฝั่งย่านบางลำพู สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้มีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกและเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และหลวงพ่อโต ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์กะไหล่ทอง เจดีย์กลมขนาดใหญ่ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 หุ้มกระเบื้องสีทอง ภายในบรรจุพระพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ตั้งของพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 4 วัดบวรนิเวศฯ แห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดทั้ง9 ของเส้นทางไหว้พระ 9 วัดรอบกรุงฯ ด้วยเช่นกัน
หากใครที่กำลังมองหาที่เที่ยวที่มีทั้งความคึกคักพร้อมกับความหลากหลายแล้ว “ย่านข้าวสาร” ก็คงไม่ทำให้ผิดหวังหากได้มีโอกาสมาเยือน
**********************************************************************************************************************
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 3,6,9,17,30,33,43,64,65,127,516
ทางเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าพระอาทิตย์และเดินเข้าทางซอยราม บุตรี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com