xs
xsm
sm
md
lg

เปิดอาณาจักรหมื่นล้าน “กลุ่มสามารถ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” เปิดใจครบรอบ 58 ปีกลุ่มสามารถ รายได้ปีนี้แตะ 3 หมื่นล้านบาท ผ่านการเติบโต 4 กลุ่มธุรกิจหลัก พร้อมจัดนิทรรศการ “เรื่องเล่า...จากวันวาน 81 ปี เชิดชัย วิไลลักษณ์” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย และสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต จนกว่าจะมาเป็นกลุ่มบริษัทสามารถในทุกวันนี้

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้กลุ่มสามารถตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูงที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการที่ประกาศออกไปก็ต้องมีเหตุผลและความมั่นใจ อย่างในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และมัลติมีเดีย “ไอ-โมบาย” ในช่วงไตรมาส 1 ก็ถือว่าอยู่ในจุดที่กลับมาอยู่ในตลาด สามารถทำยอดได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ จากการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในตระกูล IQ ที่ปัจจุบันของไม่พอขาย นำเข้ามาเท่าไหร่ก็ส่งไปขายหมด

อีกเหตุผลหนึ่งคือการยกฐานะจากที่ขายโทรศัพท์โลว์เอนด์ราคาเฉลี่ย 1-2 พันบาท มาขายเฉลี่ยที่ระดับราคา 3-4 พันบาท และยังมีสมาร์ทโฟนเครื่องที่แพงสุดก็อยู่ในระดับ 8 พันบาทก็ยังทำยอดได้ดี แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีการยอมรับแบรนด์คนไทยด้วยกันสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการขยายไปตลาดต่างประเทศ อย่างพม่า ลาว กัมพูชา ที่เฉลี่ยจำหน่ายได้เดือนละ 4-5 หมื่นเครื่อง และเห็นแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

“กลุ่มไอ-โมบายจะกลับมาโดดเด่นในปีนี้จากที่ซบเซามา 2-3 ปี ซึ่งจะเห็นได้จากกลางปีนี้ที่เชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะบูมขึ้นอีก เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายรายหลักอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรู ก็จะเปิดให้บริการ 3G ความถี่ 2.1 GHz และเมื่อเกิดการโอนย้ายลูกค้าจากระบบเดิมมาใช้ 3G ก็ต้องมีการเปลี่ยนมือถือ และเชื่อว่าตลาดมือถือในอีก 2 ปีข้างหน้าจะยังไปได้ดีอยู่”

นายวัฒน์ชัยกล่าวต่อว่า เมื่อไอ-โมบายกลับมาได้รับการยอมรับแล้วปีนี้ก็จะเห็นการเติบโตค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับในฝั่งของคอนเทนต์ เมื่อจอใหญ่ขึ้น เร็วขึ้น ก็จะใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอนเทนต์ได้มากขึ้นตามไปด้วย ก็ถือเป็นโอกาสของ BUG ที่จะเข้ามาเสริมในจุดดังกล่าว ไม่นับรวมกับการเป็น MVNO 3G TOT ที่คาดว่าจะสรุปสัญญาใหม่เสร็จในเร็ววันนี้ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้ให้สูงขึ้น

ส่วนสายธุรกิจไอซีที โซลูชัน ก็จะมีการขยายงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งจากโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ โครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที โครงการ USO ของ กสทช. ที่กำลังจะเปิดประมูล และการพัฒนาของท่าอากาศยานไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งราชการ และรัฐวิสาหกิจก็มีการลงทุนทางด้านไอทีสูง ทำให้มีงบประมาณสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน จึงถือเป็นโอกาสที่จะขยายในส่วนนี้เพิ่ม

ขณะที่ในสายธุรกิจยูทิลิตี และทรานสปอร์เตชัน ก็จะมีบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ซึ่งได้เข้าไปซื้อกิจการจากบริษัท เทด้า จำกัด เพื่อมาประกอบธุรกิจด้านงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า สายส่งต่างๆ น่าจะเริ่มเห็นผลกำไรจากกลุ่มอินฟราสตรักเจอร์ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยิ่งการลงทุนของภาครัฐเกี่ยวกับอินฟราตรักเจอร์งบ 2 ล้านล้านบาท ก็ยิ่งจะทำให้มีความต้องการโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย

อีกหนึ่งจุดสำคัญคือ การเปิดประมูลดิจิตอลทีวี ก็จะส่งผลต่อเนื่องมายังกลุ่มบริษัท สามารถ ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงข่าย การจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอล (เซตทอปบ็อกซ์) ซึ่งก็มีการยื่นขอนำเข้าและเตรียมความพร้อมในการจำหน่ายกล่องสัญญาณแล้ว โดยนำประสบการณ์จากการจำหน่ายจานดาวเทียมที่เป็นเจ้าตลาดอยู่มารักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ ส่วนการทำช่องรายการ ถ้าจะทำก็จะอยู่ในรูปแบบการร่วมทุนมากกว่า เพราะกลุ่มสามารถไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านโปรดักชัน ทำให้เน้นไปที่การจำหน่ายเซตทอปบ็อกซ์เป็นหลัก

“ธุรกิจเสาอากาศ และจานดาวเทียม ที่จะกลายเป็นกล่องทีวีดิจิตอล ถือว่าเป็นสินค้าที่กลุ่มสามารถเริ่มจำหน่ายมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทำให้ต้องกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่มีการผลัดเปลี่ยนเทคโนโลยีพอดี”

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าถ้ามีการเปลี่ยนไปใช้งานดิจิตอลทีวีจริงก็จะต้องมีการจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลไม่ต่ำกว่า 20 ล้านกล่อง โดยกลุ่มสามารถตั้งเป้าจำหน่ายไว้ 5-10 ล้านกล่อง หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 30-40%

โดยรวมแล้วรายได้ 3 หมื่นล้านบาทของกลุ่มในปีนี้ จะแบ่งเป็นมาจากสาย ICT Solutions นำโดยบริษัท สามารถเทลคอม 1.5 หมื่นล้านบาท Mobile Multi-media โดย บริษัท สามารถไอ-โมบาย 1.1 ล้านบาท สายธุรกิจ Related Businesses จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ และบริษัท สามารถวิศวกรรม 2,400 ล้านบาท และสุดท้ายสายธุรกิจ Utility Services อีก 1,655 ล้านบาท

***81 ปี เชิดชัย วิไลลักษณ์

เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปี เชิดชัย วิไลลักษณ์ กลุ่มบริษัทสามารถจึงได้โอกาสจัดงานนิทรรศการ “เรื่องเล่า...จากวันวาน 81 ปี เชิดชัย วิไลลักษณ์” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย และสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต จนกว่าจะมาเป็นกลุ่มบริษัทสามารถในทุกวันนี้

โดยภายในนิทรรศการดังกล่าว จะเริ่มตั้งแต่การนำ “เก้าอี้” มาเป็นสัญลักษณ์แทนช่วงชีวิต ตั้งแต่เก้าอี้ไม้ตัวเล็กๆ แสดงถึงจุดเริ่มต้นของนายช่าง เก้าอี้ไม้เก่าๆ ในยุคก่อร่างสร้างตัวที่ร้านซ่อมนาฬิกา เก้าอี้นักธุรกิจ ในยุคที่เริ่มต้นผลิตเสาอากาศและจานดาวเทียม มาจนถึง เก้าอี้เถ้าแก่ใหญ่ ที่สะท้อนถึงความมั่นคงของธุรกิจ จนถึงการส่งต่อเก้าอี้ให้แก่รุ่นลูก

ในงานจะมีการนำของใช้ในอดีตที่มีความหมายมาจัดแสดง อย่างเช่น หัวแร้งบัดกรี ตะเกียงเจ้าพายุ พัดลม วิทยุโบราณ โทรทัศน์ขาวดำ รวมถึงเครื่องออกแบบเสาอากาศเครื่องแรกของประเทศไทย และการจัดแสดงวิวัฒนาการของเสาอากาศโทรทัศน์ ตั้งแต่เสาหูกระต่าย เสาอากาศอะลูมิเนียมทรงสามเหลี่ยม เสาอากาศรุ่น 2CK จนถึงเสาทีวีดิจิตอลในยุคปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ภายในนิทรรศการยังมีพื้นที่ของส่วน SAMART HALL of Fame เป็นสถานที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่มบริษัทสามารถ มาจนถึง 58 ปีในปี 2556 นี้ รวมถึงการแสดงเทคโนโลยีรอบด้าน ซึ่งเป็น 4 สายธุรกิจหลักของกลุ่มสามารถในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม นิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นที่ชั้นลอย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก ถนน แจ้งวัฒนะ เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ (หยุดวันนักขัตฤกษ์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0-2502-6000 ต่อ 8341

***ย้อนอดีต 58 ปี กลุ่มสามารถ

พ.ศ. 2498 ก่อตั้ง “ร้านสามารถ” ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเปิดตัวช่อง 4 บางขุนพรหม

พ.ศ. 2525 นายเชิดชัยประดิษฐ์จานรับสัญญาณดาวเทียมฝีมือคนไทย ตรงกับงานฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2536 บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น แปรสภาพเป็นมหาชน ปีเดียวกับที่ดาวเทียมไทยคม 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2540 กลุ่มบริษัทสามารถปรับทิศทางธุรกิจครั้งใหญ่หลังฟองสบู่แตก

พ.ศ. 2548 บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับพระราชทานตราตั้ง (ครุฑ)

พ.ศ. 2554 เป็นผู้วางระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ให้แก่ทีโอที

***เก็บตกรายได้กลุ่มบริษัทสามารถย้อนหลัง 5 ปี

- ปี 2552 รายได้ 17,305 ล้านบาท
- ปี 2553 รายได้ 16,226 ล้านบาท
- ปี 2554 รายได้ 19,964 ล้านบาท
- ปี 2555 รายได้ 17,099 ล้านบาท
- ปี 2556 ตั้งเป้ารายได้ 30,000 ล้านบาท
วัฒน์ชัยโพสต์ท่าบริเวณพื้นที่ส่วน SAMART HALL of Fame
แท็บเล็ตตระกูล idea หนึ่งในสินค้ามัลติมีเดียจาก ไอ-โมบาย ของสามารถ
เชิดชัย วิไลลักษณ์
ของใช้ในอดีตของ เชิดชัย วิไลลักษณ์ ที่มีความหมาย ถูกนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ เรื่องเล่า...จากวันวาน 81 ปี เชิดชัย วิไลลักษณ์
พัฒนาการสัญลักษณ์กลุ่มสามารถ
กำลังโหลดความคิดเห็น