“ลำพูน” เป็นเมืองเก่าแก่แห่งล้านนาที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เราสามารถเรียนรู้ประวัติความเป็นมาและประวัติศาสตร์ศิลป์ของลำพูนกันได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำพูน ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่าที่พบในลำพูน แต่สำหรับใครที่อยากชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ชมบ้านเก่าและภาพเก่าๆ ของคนลำพูนในอดีต ก็ต้องมาที่ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง” ที่ตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินั่นเอง
สถานที่ตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง” เดิมเป็นคุ้มเก่าของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้า ตัวบ้านสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 ในสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนบัดนี้คุ้มเก่าหลังนี้ก็มีอายุถึง 101 ปีแล้ว
ปัจจุบันคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน โดยมีส่วนจัดแสดงเฉพาะชั้นล่างเท่านั้น โดยห้องทางปีกซ้ายของตัวอาคารเป็นห้องจัดแสดงภาพถ่ายและประวัติของคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์นับตั้งแต่อดีต ทำให้เราได้รู้ประวัติของคุ้มหลังนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติท่านเจ้าของคุ้ม คือเจ้าราชสัมพันธวงษ์ (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) บุตรของเจ้าน้อยมหาวงศ์ ส่วนชายาของท่านคือเจ้าหญิงส่องหล้า เป็นธิดาของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 และเป็นน้องสาวของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 โดยในห้องนี้ก็จัดแสดงภาพเก่าของท่านเจ้าของวังและคุ้มแห่งนี้ไว้ด้วย
นอกจากนั้นยังทราบถึงลักษณะสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ซึ่งเป็นเรือนสรไน (เรือนที่มีการประดับบริเวณยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคาด้วยแท่งไม้กลมกลึง ส่วนปลายยอดจำหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่) 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนประกอบด้วยไม้สัก หลังคาจั่วผสมปั้นหยา
เจ้าบ้านและทายาทได้ครอบครองคุ้มหลังนี้สืบต่อมา จนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในลำพูนได้รวบรวมเงินเพื่อซื้อที่ดินและตัวอาคารเพื่อใช้สถานที่เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อ “โรงเรียนหวุ่นเจิ้ง” จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมงคลวิทยา” เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนตามแบบกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อโรงเรียนได้ย้ายสถานที่ออกไปก็มีผู้มาขอเช่าเปิดเป็นร้านอาหาร เช่าทำเป็นสถานที่จัดทำรายการสถานีวิทยุ อสมท ลำพูน จนกระทั่งทางเทศบาลเมืองลำพูนได้เห็นถึงความสำคัญและต้องการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรม อีกทั้งต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เมืองลำพูน “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง” จึงได้เริ่มต้นขึ้นและเปิดให้เข้าชมกันตั้งแต่ปี 2550
ได้รู้ถึงประวัติของตัวบ้านและที่มาของพิพิธภัณฑ์กันแล้ว คราวนี้มาชมห้องทางปีกด้านขวาของตัวบ้านที่จัดแสดงภาพถ่ายเมืองลำพูนในอดีต ห้องนี้จัดแสดงทั้งแผนผังเมืองลำพูนในอดีต และภาพเก่าของเมืองลำพูน เช่น ภาพวัดพระธาตุหริภุญไชยในสมัยก่อน ภาพวิหารหลวงหลังเก่าของวัดพระธาตุฯ ภาพความเสียหายเมื่อวิหารหลวงหลังเก่าถูกพายุพัดพังเสียหายทั้งหลัง และภาพวิถีชีวิตคนเมืองลำพูนในอดีต เป็นต้น
นอกจากนั้นยังจะได้รู้จักกับสาวงามของเมืองลำพูนอย่างคุณคำแหว้น ไชยถวิล ที่ได้รับตำแหน่งนางสาวลำพูนเป็นคนแรกจากการประกวดสาวงามเมืองลำพูนเมื่อปี 2473 และคุณสุชีลา ศรีสมบูรณ์ สาวงามชาวลำพูนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยเมื่อปี 2497
ในบริเวณนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ จัดแสดงให้ชม ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นแบบโบราณแบบที่ใช้น้ำมันก๊าด กล้องถ่ายรูป วิทยุแบบเก่า เตารีดแบบใช้ถ่าน ฯลฯ ที่น่าสนใจคือตู้เก็บสะสมสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีสลากแบบเก่าตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่ยังราคาคู่ละ 10 บาท มาจนถึงสลากยุคปัจจุบัน
ส่วนด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะมีการจำลองเอาโรงภาพยนตร์ “หริภุญชัยรามา” โรงหนังเก่าแก่ของเมืองลำพูนที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้วมาจัดจำลองไว้ให้ชม โดยเก้าอี้ในโรงหนังก็เป็นเก้าอี้จากโรงหนังหริภุญชัยรามาจริงๆ แถมยังมีเครื่องฉายหนังแบบเก่าที่ยังใช้งานได้จริงให้ชมกันด้วย บริเวณฝาผนังยังติดโปสเตอร์หนังเก่าช่วยเสริมบรรยากาศย้อนยุคเข้าไปอีก นอกจากนั้นด้านหลังนี้ก็ยังจำลองบรรยากาศของห้องเรียนที่สมัยก่อนอาคารหลังนี้เคยใช้เป็นโรงเรียน และมีป้ายเก่าแก่ของโรงแรมศรีลำพูน ทำให้ได้บรรยากาศเก่าๆ ของลำพูนในอดีตไม่มากก็น้อย
“พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง” เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ในเมืองลำพูนที่น่าสนใจ ทั้งสถาปัตยกรรมของตัวอาคารและเรื่องราวต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ หากมีโอกาสแวะมาลำพูนก็ไม่ควรพลาดชมสักครั้งหนึ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง" ตั้งอยู่บนถนนวังซ้าย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลำพูน เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามโทร. 0-5351-1500
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com