วีณา นุกูลการ และ เพ็ญนภา เจริญกิจวิวัฒน์
ชาอู่หลง เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาเป็นระยะเวลานาน มีจุดเด่นตรงมีกลิ่นหอมละมุนชุ่มติดคอ รสชาติเข้มกว่าชาเขียวแต่ฝาดน้อยกว่าชาดำ ชาอู่หลงในไทยนั้นนิยมผลิตจากชากลุ่มพันธุ์จีน นำมาผ่านกระบวนการกึ่งหมัก ทำให้มีรสชาติ สี กลิ่น แตกต่างจากชาชนิดอื่นๆ จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีรายงานการศึกษาถึงผลดีต่อร่างกายหลายด้าน เช่น พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของหลายโรค ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการสะสมและควบคุมปริมาณไขมันในเลือด ต้านอาการอักเสบและบวม เป็นต้น และจากการที่กรรมวิธีการผลิตชาอู่หลงที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมัก ทำให้เกิดสารสำคัญที่เรียกว่า Oolong Tea polymerized-polyphenols หรือ OTPPs ซึ่งพบได้มากในชาอู่หลง นอกเหนือจากคาเฟอีน และสารกลุ่มคาเทชินที่พบเช่นกันในชาเขียว และชาดำ สำหรับ OTPPs เป็นกลุ่มสารโพลีฟีนอลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสารกลุ่มคาทิชินส์อันเนื่องมาจากกระบวนการกึ่งหมักของใบชา โดยมีเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดสและความร้อนจากกระบวนการผลิตชาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อการลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย รวมทั้งส่งผลต่อสี กลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวของชาอู่หลง โดยปริมาณสารจะแตกต่างกันตามระดับของกระบวนการหมัก มักพบอยู่ในช่วง 8-85% ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ได้แก่ไดเมอร์ริกคาเทชินส์ เช่น Oolonghomobisflavan A และ B สารกลุ่มทีเอฟลาวิน (Theaflavins) และ ทีอะรูบิจิน (Thearubigins) ดังแสดงตามรูป
โครงสร้างของสารโพลีฟีนอลที่เกิดการพอลิเมอร์ไรเซชั่น (Oolong Tea polymerized-polyphenols ,OTPP) ที่พบมากในชาอู่หลง
ในปัจจุบัน มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ OTPPs ในด้านการควบคุมระดับไขมันในร่างกาย พบว่า OTPPs สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการดูดซึมไขมันที่ลำไส้เล็ก นอกจากนี้มีรายงานว่าเมื่อดื่มชาอู่หลงที่อุดมด้วยสาร OTPPs หลังรับประทานอาหารช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ และยังมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน โดยมีรายงานพบว่าสามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า
ดังนั้น ชาอู่หลงซึ่งอุดมไปด้วยสารกลุ่ม OTPPs นั้นจึงเป็นเครื่องดื่มที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่มีไขมันสะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในโลหิตสูง ตามมาได้อีกด้วย
References :
Hara Y., Moriguchi S., Kusumoto A., Nakai M., Toyoda-Ono Y., and Segawa T. (2004). Suppressive effects of oolong tea polyphenol-enriched oolong tea on post prandial serum triglyceride elevation. Japanese Pharmacology and Therapeutics (in Japanese), 32: 335-342.
Hsu T-F., Kusumoto A., Abe K., Hosoda K., Kiso Y., Wang M-F. and Yamamoto S. (2006). Polyphenol-enriched oolong tea increases fecal lipid excretion, Europeon Journal of Clinical Nutrition, 60: 1330-1336.
Komatsu T., Nakamori M., Komatsu K., Hosoda K., Okamura M., Toyama K. et.al.(2003). Oolong tea increases energy metabolism in Japanese females. Journal of Investigative Medicine, 50: 170-175.
Nakai M, Fukui Y, Asami S, Toyoda-Ono Y, Iwashita T, Shibata H et.al. (2005b). Inhibitory effects of oolong tea polyphenols on pancreatic lipase in vitro. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 53: 4593-4598.