“ปลาร้า” เป็นภูมิปัญญาอาหารไทย(และในประเทศแถบอุษาคเนย์)ที่ใครหลายๆคนคงเคยลิ้มลองมาไม่มากก็น้อย ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญในบ้านเรานั้นอยู่ที่ภาคอีสาน
ส่วน “ปลาดุกร้า” เป็นภูมิปัญญาอาหารไทยอันโดดเด่นที่มีผลิตกันในบางจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบทะเลน้อย ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุงนั้น ถือเป็นแหล่งผลิตปลาดุกร้าสำคัญ และมีชื่อเสียงไม่น้อย
ปลาดุกร้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารของชาวใต้ที่มีมาแต่โบราณ นับ 100 ปี โดยเดิมนั้นชาวบ้านจะนำปลาดุกธรรมชาติจากทะเลน้อยมาทำเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันปลาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปลาดุกร้าจะเป็นปลาดุกเลี้ยง เนื่องจากปลาในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของท้องตลาด
ปลาดุกร้ามีลักษณะคล้ายปลาเค็ม แต่มีรสชาติเฉพาะตัวที่แตกต่างคือ มีรสเค็มปนหวานและมีกลิ่นหมัก เมื่อนำไปทอดหรือย่างปลาดุกร้าจะมีกลิ่นหอมชวนกิน ยิ่งบีบมะนาว กินกับเครื่องเคียงอย่างพริก หอม ซอย จะยิ่งเพิ่มรสชาติของปลาดุกร้าให้อร่อยยิ่งขึ้น
สำหรับการทำปลาดุกร้า แต่ละพื้นที่จะมีกระบวนการผลิตหลักๆคล้ายกัน แตกต่างในรายละเอียด ส่วนผสม รวมถึงสูตรการผลิตที่เป็นสูตรใครสูตรมัน โดยวิธีทำ ขั้นตอนหลักๆในการทำปลาดุกร้า เริ่มจาก การคัดปลาดุกสด ขนาดตัวเหมาะสม มาตัดหัว เอาเครื่องใน ไส้ และไขมันในช่องท้องออก ล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ตัวแห้งหมาดๆ จากนั้นผสมเกลือ น้ำตาล ตามสัดส่วนสูตรใครสูตรมัน คลุกตัวปลาและยัดใส่ท้องปลา แล้วนำไปหมักในโอ่งหรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแดด หรือมีกลิ่นรสตามต้องการ แล้วจึงนำไปบริโภคหรือนำไปใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย
ปลาดุกร้าสามารถหาซื้อ หากินได้ทั่วไปในพัทลุง ขณะที่บริเวณทะเลน้อยจะมีจุดหลักที่ขายปลาดุกร้าอยู่ที่ร้านขายของฝากของที่ระลึกหน้าจุดลงเรือท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หรือร้านขายของฝากเชิงสะพาน “สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา”(สะพานไสกิ้ง-บ้านหัวป่า) ฝั่ง อ.ระโนด จ.สงขลา
ปัจจุบันปลาดุกร้านอกจากจะเป็นอาหาร ของฝากขึ้นชื่อของทะเลน้อยแล้ว ยังเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งความอร่อยที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจและโดดเด่นไม่น้อยเลย