xs
xsm
sm
md
lg

“ทะเลน้อย” เสน่ห์เพียบ – “ควายน้ำ” น่ารัก น่าลุ้น/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ทะเลบัวแดง ที่ทะเลน้อย
แม้จะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของภาคใต้แต่ที่นี่กลับมีชื่อเรียกขานไปในทางตรงกันข้าม นั่นก็คือ “ทะเลน้อย”

ทะเลน้อย ตั้งอยู่ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา และ นครศรีธรรมราช ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดิน ทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด ป่าพรุ นาข้าว ป่าดิบชื้น และพื้นน้ำที่มีประมาณ 17,500 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 281,250 ไร่

ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ทั้งระบบนิเวศ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ พรรณพืช โดยเฉพาะนกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ทะเลน้อยเป็นหนึ่งในแหล่งดูนกที่สำคัญของเมืองไทย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลน้อย ทำให้พื้นที่ “พรุควนขี้เสี้ยน” ของทะเลน้อยได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “แรมซาร์ ไซด์” (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2541

ทะเลน้อยมีจุดเด่นสำคัญ คือ “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” ที่ถือเป็นไฮไลต์ทางการท่องเที่ยวอันโดดเด่นของพัทลุง และเป็นไฮไลต์ในการล่องใต้ไปเที่ยวพัทลุงของผมในทริปนี้
ยามเช้าที่คลองปากประ
พระอาทิตย์ขึ้นแสนงามเหนือ “คลองปากประ”

การไปเที่ยวทะเลน้อยของผมในครั้งนี้ ผมเลือกพักใกล้ๆกับทะเลน้อยเพื่อสะดวกต่อการเที่ยวชม โดยโปรแกรมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนเช้ามืดไก่ยังไม่ทันโห่ ที่ “คลองปากประ” บ้านปากประ ต.พนางตุง จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าอันสวยงาม ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานหาดใหญ่(รับผิดชอบพื้นที่สงขลา พัทลุง) ผลักดันให้เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญเคียงคู่ทะเลน้อย
พระอาทิตย์ขึ้นเหนือน่านน้ำคลองปากประ
คลองปากประ เป็นคลองที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เคยเป็นประตูสู่เมืองชัยบุรีเมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันเป็นคลองแห่งวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน มีสายน้ำเชื่อมโยงกับทะเลน้อย สามารถล่องเรือไป-มา หาสู่กันได้ โดยเช้ามืดวันนี้เรามีนัดกับพระอาทิตย์บนสะพานข้ามคลองปากประเพื่อบันทึกภาพพระอาทิตย์ขึ้นเหนือลำคลองท่ามกลาง ภาพวิถีชีวิตการยกยอ ซึ่งเป็น “ยอยักษ์” อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้
คนหนึ่งคอย คนหนึ่งยก
ยอยักษ์แม้มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักมา แต่ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้รอกมาเป็นเครื่องมือยกยอ ก็ทำให้แม้แต่เด็ก(ในพื้นที่) สามารถยกยอยักษ์นี้ได้ โดยชาวบ้านจะหย่อนยอยักษ์ลงในน้ำประมาณ 5 นาทีแล้วจึงยกขึ้นมา

เท่าที่ผมเห็นในวันนั้นยอส่วนใหญ่ที่ยกขึ้นมาจะมีกุ้ง ปลา ติดขึ้นมาทั้งเล็ก-ใหญ่(แต่ส่วนใหญ่จะตัวเล็ก) จากนั้นชาวบ้านก็จะนำอุปกรณ์คล้ายกระชอนต่อไม้ยาวไปช้อนปลาในยอขึ้นมา แล้วหย่อนยอลงไปในน้ำเพื่อทำแบบเดิมจนกว่าจะได้ปลาเป็นที่พึงพอใจ
ยกยอกลางแสงตะวันเบิกฟ้า
ความที่ลำคลองปากประเต็มไปด้วยยอยักษ์ตั้งแต่ในลำคลองไล่เรียงไปจนถึงปากทะเลสาบที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ลอยโผล่ขึ้นมาเหนือน่านน้ำได้อย่างชัดเจน นั้นจึงทำให้ในเกือบทุกๆเช้า มีช่างภาพ นักท่องเที่ยว มาเฝ้ารอบันทึกภาพพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางยอยักษ์เหนือน่านน้ำคลองปากประกันเป็นจำนวนมาก

นับเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม มากไปด้วยภาพวิถีชีวิต และองค์ประกอบอันลงตัว ซึ่งในวันท้องฟ้า อากาศ เป็นใจ ที่นี่สามารถสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในทะเลน้อย
ล่องเรือ แลนก ชมบัว ทะเลน้อย

หลังพระอาทิตย์ค่อยๆโผล่ดวงกลมแดงขึ้นเหนือน่านน้ำ แสงแดดเริ่มเพิ่มความร้อนแรงขึ้น ผมกับคณะไม่รีรอ เดินหน้าเข้าสู่โปรแกรมท่องเที่ยวต่อไปกับการล่องเรือชมทะเลน้อย ซึ่งเรานั่งเรือเช่าแถวๆคลองปากประ ไปชมภาพวิถีการยกยออีกครั้งในมุมมองที่แตกต่างจากมุมมองบนสะพาน จากนั้นนายท้ายได้พาเรือล่องไปตามสายน้ำชมทิวทัศน์รอบข้าง แล้วมุ่งหน้าเข้าเขตอุทยานนกน้ำทะเลน้อย
สยายปีก
ในเส้นทางสายนี้ ผมได้เห็นนกจำนวนมาก หลากหลายชนิด ทั้งแบบมาเป็นฝูง เป็นคู่ หรือมาแบบศิลปินเดี่ยว ซึ่งจากเอกสารนำเที่ยวของ ททท. ระบุว่า ทะเลน้อยมีนกน้ำไม่ต่ำกว่า 150 ชนิด(ขณะที่บ้างข้อมูลระบุว่ามีมากถึง กว่า 287 ชนิด) มีปริมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว ทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพ โดย นกที่หาชมได้ไม่ยากก็มี นกยาง นกกาน้ำ นกอีโก้ง นกเป็ดผี นกเป็ดแดง นกนางนวล นกนางแอ่น นกเป็ดคับแค นกกระสา อีกา เหยี่ยว เป็นต้น
เหินบิน
ขณะที่นกหายาก นกใกล้สูญพันธุ์ในถิ่นทะเลน้อยก็มี นกกาบบัว นกกระสานวล นกช้อนหอย นกฟิพฟุท นกปากซ่อมพง นกอ้ายงั่ว เป็นต้น ซึ่งนกต่างเหล่านี้สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือไปชมพวกมันได้เป็นอย่างดี แล้วเจ้านกพวกนี้ดูเหมือนว่ามันจะคุ้นชินกับคน คุ้นชินกับเสียงเรือ หากไม่เข้าใกล้มาก มันก็จะไม่หนีไปไหน
นกอีโก้ง
นกหลายตัวเดินนวยนาดในแอ่งน้ำ บ้างเกาะอยู่บนต้นไม้ คาคบ หลายตัวเกาะอยู่บนหลักในลำน้ำ หลายตัวเดินสอดส่ายสายตาหาเหยื่อ หลากตัวเกาะอยู่บนกอหญ้า กอผักตบ กอบัว หลายตัวบินเกาะบนหลังควายที่มาหากินแถวนั้น หลายตัวบินอวดโฉมอย่างสง่า สวยงาม นับเป็นภาพของวิถีแห่งนกที่มีให้ชมกันอย่างจุใจ
ทางใคร ทางมัน
นอกจากนกแล้ว ทะเลน้อยยังมีสิ่งน่าสนใจอันโดดเด่นอีกอย่างนั่นก็คือ “ทะเลบัวแดง” หรือ “ทะเลบัวสาย” พันธุ์บัวที่มีขึ้นอยู่มากที่สุดในทะแห่งนี้ โดยในช่วงเช้าเหล่าบัวสายจะพาออกดอกสีแดงสดบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำในบริเวณที่มีบัวชนิดนี้ขึ้นอยู่ ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันความงามคู่ทะเลน้อยที่อยู่คู่กันมาแต่ช้าแต่นาน

อ้อ!?! แต่บัวสายเหลานี้มันจะบาน เฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น พอเข้าช่วงสายมันก็จะหุบ เห็นเพียงดอกตูมให้จินตนาการเท่านั้น ส่วนใครที่เห็นบัวสายแล้วเกิดนึกอยากกินสายบัวจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิสายบัว หรือแกงส้มไหลบัว ก็สามารถหากินเมนูพื้นบ้านเหล่านี้ได้ตามร้านอาหารบริเวณแถบทะเลน้อย
สีสันแห่งทะเลน้อย
นอกจากบัวสายแล้ว ในทะเลน้อยยังมี บัวหลวง บัวบา บัวเผือน รวมไปถึงพืชพันธุ์น่าสนใจ อื่นๆ อาทิ ผักตบชวา จอก แหน สาหร่ายต่างๆ กระจูด กง ย่านลิเภา กก และเสม็ดที่ยืนต้นตระหง่านอยู่ในพื้นที่ป่าบก เป็นต้น

นับเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติที่ต่างพึ่งพาอาศัยกัน สร้างสรรค์ให้ทะเลน้อยคงไว้ซึ่งความหลากหลาย
อยู่บนบกเรียกควายบก
“ควายน้ำ” ภูมิปัญญาควายไทย

นอกจากนก บัว ภาพทิวทัศน์อันสวยงามแล้ว ทะเลน้อยยังมีไฮไลต์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ขึ้นชื่อลือชาอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ควายน้ำ

ควายน้ำ อันที่จริงก็เป็นควายบ้าน ควายเลี้ยงทั่วๆไปของชาวบ้าน ไม่ได้เป็นสัตว์ต่างสายพันธุ์อย่าง แมวกับแมวน้ำ หากแต่ควายน้ำเป็นควายเลี้ยงในพื้นที่ ที่เจ้าควายพวกนี้มันสามารถปรับตัวไปตามแหล่งอาหารของมัน คือเมื่อน้ำในทะเลสาบทะเลน้อยลดต่ำไปจนถึงแห้งขอดในบางช่วง จนมีสันดอนพื้นดินโผล่ มีทุ่งหญ้าขึ้น เจ้าควายพวกนี้มันก็จะขึ้นมาและเล็มหญ้ากินบนบก แต่เมื่อยามหน้าน้ำ ทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูง ท่วมทุ่งหญ้า ท่วมแหล่งหากินของควาย เจ้าควายพวกนี้มันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน โดยมันจะพร้อมใจกันลงไปหากินภายในน้ำทำให้คนเรียกมันว่า "ควายน้ำ"
อยู่ในน้ำเรียกควายน้ำ
ไม่เพียงเท่านั้นควายที่นี่ยังเก่งมากในเรื่องการว่ายน้ำ ดำน้ำ ควายแต่ละฝูงสามารถหากินได้ทั้งบนบกและในน้ำ พวกมันสามารถว่ายน้ำได้อึดนาน เพื่อเปลี่ยนจุดหากินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง โดยมีจ่าฝูงนำทางและรองจ่าฝูงปิดท้าย นับเป็นภาพควาย(ว่าย)น้ำหากินที่ดูแล้วช่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นภูมิปัญญาควายไทย ที่ใครหลายๆคนควรหยุดดูถูกควาย หยุดด่าว่า “ไอ้ควาย”!!! เพราะควายนั้นเป็น สัตว์รู้คุณ สัตว์ที่ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเรามาช้านาน
หากินในน้ำเป็นฝูง
นับได้ว่าควายเป็นสัตว์ทรงคุณค่า ที่มีคุณประโยชน์กว่านักการเมืองหลายๆคนที่โกงบ้านกินเมือง ขายชาติขายแผ่นดินในบ้านเราเยอะเลย

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นของทะเลน้อย ซึ่งแม้ผมจะเว้นว่างจากการไปเยือนทะเลน้อยมาหลายปี แต่การกลับไปคราวนี้ก็ยังคงไม่ผิดหวัง เพราะทะเลน้อยยังคงมีเสน่ห์อันมากหลายให้สัมผัสทัศนากัน
ควายน้ำเดินทางเปลี่ยนจุดหากิน
อย่างไรก็ดีการกลับมาเที่ยวทะเลคราวนี้ ผมพบว่าพื้นที่รอบๆทะเลน้อยเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร โดยเฉพาะกับร้านอาหารและที่พักนักท่องเที่ยว แสดงถึงการเติบโตและไปได้สวยของภาคการท่องเที่ยวที่นี่

แต่ในการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว หลายๆคนได้แสดงความห่วงใยว่า ทางภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องกาวิธีควบคุม ไม่ให้เคยอาคารสิ่งปลูกสร้างเพิ่มมากขึ้นจนเลยเถิด ไปบดบังทัศนียภาพความงดงามของทะเลน้อย รวมถึงเกิดทัศนะอุจาดขึ้นที่นี่
ภูมิปัญญาควายไทย ปรับเปลี่ยนมาหากิน เดินทางในน้ำ
ขณะที่ภาคการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนก็ต้องให้ผู้ที่มีประสบการณ์เข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยง บริหารจัดการ วางระบบ เพื่อไม่ให้ชุมชนแตกแยกกันในเรื่องของผลประโยชน์ เพราะผู้นำชุมชน(บางคน)ที่นั่น บ่นให้ผมฟังว่า เริ่มมีชาวบ้านขัดแย้งกันบ้างแล้วจากเรื่องของผลประโยชน์ มีการแย่งชิงนักท่องเที่ยว ตัดราคาค่าเรือกัน ซึ่งนี่ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนบางอย่างที่ไม่ควรชะล่าใจด้วยประการทั้งปวง

***********************************************************
จับจอง
ทะเลน้อย ตั้งอยู่เหนือทะเลสาบสงขลาในเขต ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บริเวณรอบอุทยานนกน้ำทะเลน้อย มีที่พัก ร้านอาหาร ให้บริการ นอกจากนี้ในพื้นที่ชุมชนริมทะเลน้อยยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน วิถีชีวิต ที่บ้านทะเลน้อย พาสัมผัสกับการทำกระจูด และปลาดุกร้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากกลับไปได้

ทะเลน้อยสามารถเที่ยวชมได้ทั้งปี โดยในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. จะมีปริมาณดอกบัวแดงเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดพัทลุงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลน้อยในชื่องาน “อัยยะ..ล่องเรือ แลนกทะเลน้อย” ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-15 พ.ค. 2556 โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล่องเรือชมทะเลน้อยจะอยู่ในช่วงเช้ากับเย็นเนื่องจากแดดไม่ร้อน ขณะที่การชมทะเลบัวแดงนั้นอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 06.00 -10.00 น. ส่วนการล่องเรือชมควายน้ำนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะ โดยในช่วงน้ำหลากประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. จะสามารถพบเห็นควายออกหากินในน้ำ หรือควายว่ายน้ำได้เป็นจำนวนมากกว่าช่วงน้ำน้อย

สำหรับผู้สนใจสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดพัทลุงเชื่อมโยงกับทะเลน้อย สามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ (รับผิดชอบพื้นที่สงขลา พัทลุง) โทร. 0-7424-3747,0-7423-8518,0-7423-1055
กำลังโหลดความคิดเห็น