โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ป่าส่วนใหญ่ในบ้านเราอาจดูไม่น่าพิสมัยเมื่อยามหน้าร้อน แต่นั่นไม่ใช่กับป่าที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง” แห่งจังหวัดเลย
เพราะเมื่ออากาศบนยอดภูหลวงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนแบบไร้รอยต่อ เหล่า กล้วยไม้ ดอกไม้ บุปผานานาพันธุ์ แห่งคิมหันต์ฤดูต่างก็พากันผลิบานออกดอกสะพรั่ง แต้มสีสันความงามให้กับภูหลวง ชนิดที่ใครซึ่งเป็นผู้นิยม ชื่นชอบ รักถนอมบุปผา ควรจะหาโอกาสขึ้นไปเที่ยวป่าภูหลวงในช่วงหน้าร้อนดูแล้วจะรู้ว่า การได้พบดอกไม้ กล้วยไม้หายาก บานสะพรั่งให้เห็นกับตาจะจะตามธรรมชาตินั้นมันน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน
ตามรอยเท้าไดโนเสาร์อันซีน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูหลวง” มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอภูหลวง ภูเรือ และด่านซ้าย
ภูหลวงมีความหมายว่า ภูเขาที่สูงใหญ่ หรือภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน มีระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร บนยอดภูหลวงมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
ภูหลวงได้ชื่อว่าเป็นมรกตอีสาน อุดมไปด้วยสัตว์ป่า แมกไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ นับเป็นอีกหนึ่งผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และน่าทึ่งมากของเมืองไทย สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี
สำหรับในช่วงต้นหน้าร้อนนี้ อย่างที่หลายๆคนรู้กันดีว่าโลกเราทุกวันนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอุณหภูมิผันแปร วันที่ผมขึ้นไปเที่ยวภูหลวง จู่ๆอุณหภูมิก็ลดฮวบลง แถมมีลมพัดแรงระยับเปรียบได้กับทะเลมีมรสุม ทำให้บนยอดภูหลวงหนาวยะเยือกถึงขนาดอุณหภูมิลดต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสในช่วงใกล้รุ่ง
อย่างไรก็ดีนี่หาใช่อุปสรรคในการเที่ยวของผมแต่อย่างใด ดีเสียอีกได้หนีอากาศร้อนระยับที่เมืองกรุงมาเจออากาศหนาวบนยอดภูหลวง ซึ่งพี่เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่าในช่วงที่ผมขึ้นไปเป็นช่วงที่หนาวที่สุดของต้นปีนี้ หนาวกว่าช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาเสียอีก
สำหรับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพันธุ์ไม้บนภูหลวง ทางเขตรักษาพันธุ์ฯได้เปิดหน่วยโคกนกกระบา(1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ให้เป็นพื้นที่หลักสำหรับการท่องเที่ยว มีทั้งเส้นทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกล โดยเส้นทางหลักที่ผมไปเดินในทริปนี้เป็นเส้นทางผาเตลิ่น ที่นอกจากจะมีดอกไม้ กล้วยไม้สวยๆงามให้ชมแล้ว ยังมีไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ นั่นก็คือ “รอยเท้าไดโนเสาร์” ซึ่งจุดที่พบรอยเท้าเจ้ากะปอมยักษ์อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 4 กม.
เส้นทางเดินป่าผาเตลิ่นเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่ง โดยตั้งแต่เช้าตรู่ผมได้ไปสัมผัสกับส่วนหนึ่งของเส้นทางสายนี้มาบ้างแล้ว กับการเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ “ผาช้างผ่าน” ที่นอกจากจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงกลมแดงลอยเด่นขึ้นเหนือเมฆ ท่ามกลางองค์ประกอบของขุนเขาแมกไม้แล้ว บริเวณนี้ยังมีดอกกุหลาบแดง สร้อยระย้า และเอื้องตาเหินบานให้ชมกันเพียบเลย
จากนั้นผมกลับมายังที่ทำการหน่วยฯ เพื่อตุนพลังแบบจัดเต็มกับ ข้าวต้มร้อนๆกับไข่ลวก เสร็จแล้วจัดเตรียมเสบียง ข้าวเที่ยง น้ำดื่ม หลังจากนั้นเมื่อเคารพธงชาติแล้วผมกับเพื่อนๆก็ได้ฤกษ์ออกเดินป่าตามรอยกะปอมยักษ์ โดยมีลุง“บรรฑิต คำมานิตย์” เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเดินป่าภูหลวงมากว่า 20 ปี มาเป็นผู้นำเที่ยวในครั้งนี้
ลุงบรรฑิตไม่พูดพล่ามทำเพลง อธิบายในเบื้องต้นทันทีว่า ป่าที่เราเดินอยู่นี้เรียกป่าดิบเขาประเภทป่าแคระ คือเป็นป่าบนยอดเขาที่มีต้นไม้เตี้ยๆเพราะลมแรง ก่อนจะออกเดินนำพาไปดูดอก “สิงโตใบพาย” ที่ออกดอกตามโขดหิน จากนั้นลุงบรรฑิตก็พาเดินไป ชมดอกไม้ กล้วยไม้ในระหว่างทางที่ออกดอกบานสะพรั่งไปอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบแดง(Rhododendron simsii) กุหลาบขาว(Rhododendron lyi) ที่ออกดอกบานชูช่อสีขาวนวล สำเภางาม ตะขาบขาว น้ำเต้าฤาษี ส้มแปะ บานอ้า สร้อยระย้า ก็อกมองพืชประเภทกาฝาก และโดยเฉพาะกับเอื้องตาเหินที่มีให้ชมกันเพียบ ทั้งตามต้นไม้ ตามซอกหิน ถือเป็นหนึ่งในดาวเด่นของดอกไม้ประจำฤดูร้อนบนภูหลวง
ในระหว่างทางนอกจากดอกไม้ กล้วยไม้แล้ว ตามพื้นดินในบางช่วง ยังมีขี้ช้างกองเบ้อเริ่มปรากฏให้เห็น ทั้งกองเก่า กองใหม่ ซึ่งใครเห็นขี้ช้างแล้วก็ไม่ควรขี้ตามช้างอย่างเด็ดขาด
สำหรับเส้นทางเดินป่าเส้นนี้เป็นทางราบเดินสบาย แถมวันนั้นอากาศเย็นมีลมพักโกรกตลอด ทำให้ไม่ร้อนเดินป่าได้ฉลุยทีเดียว
นอกจากดอกไม้ กล้วยไม้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูหลวงยามหน้าร้อนที่มีให้ชมกันเกือบตลอด 2 ข้างทางแล้ว ในเส้นทางสายนี้ก่อนจะถึงจุดรอยเท้าไดโนเสาร์ มีจุดชมวิวเด่นๆให้ไปยืนชมความงามกัน 2 จุด
จุดแรกคือ “ผาสมเด็จ” จากจุดนี้เมื่อมองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขา(ทางฝั่งซ้าย)ทอดยาว มีแนวชั้นหินเผยเป็นชั้นๆดังแนวกำแพงธรรมชาติ เบื้องล่างเป็นทิวทัศน์ของท้องทุ่งนา มีขุนเขา(ที่มองไกลๆเห็นลูกเล็กๆ) 2 ลูกเป็นจุดรวมสายตาคือ ผาบ่าว(ลูกเล็ก)และผาสาว(ลูกใหญ่กว่า) ลุงบรรฑิตบอกกับผมว่า เหตุที่ผาบ่าวนั้นลูกเล็กประมาณครึ่งของผาสาว เพราะเจ้าบ่าวมัวแต่เสียเวลาไปทำให้ผาให้เจ้าสาวนั่นเอง
บริเวณผาสมเด็จแห่งนี้ยังมีลานหินให้ยืนถ่ายภาพ บางมุมมีดอกกุหลาบแดงบานสะพรั่ง นอกจากนี้ที่นี่ยังมีสัญญาณเน็ตให้เช็คอินกันอีกด้วย
เลยจากผาสมเด็จไปอีกประมาณ 1.5 กม. เป็น “ผาเตลิ่น” อีกหนึ่งหน้าผาไฮไลท์ของภูหลวง
ผาเตลิ่น เป็นภาษาถิ่น เตลิ่นหมายถึงลาดลื่น เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะของหน้าผาที่เป็นแนวผาทอดยาวลงมาเป็นชั้นๆคล้ายขั้นบันได
ผาเตลิ่นเป็นจุดชมวิวชั้นดีเหมือนผาสมเด็จ บางมุมมีกุหลาบแดงออกดอกบานสะพรั่งเหมือนผาสมเด็จ แต่มีความต่างกันตรงที่ผาเตลิ่นมีชะง่อนหินบนแนวสันริมผาให้นั่ง ยืน แอ๊คท่ากันหลายจุด นับเป็นเสน่ห์แห่งภูผาของภูหลวงที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้ดีทีเดียว
จากผาเตลิ่นเดินไปอีกประมาณ 700 เมตร จะพบกับ “รอยเท้าไดโนเสาร์” ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินป่าในทริปนี้
รอยเท้าไดโนเสาร์ที่นี่ เท่าที่มีการสำรวจพบ พบว่ามีอยู่ประมาณ 15 รอย เป็นรอยเท้าที่ถูกระบุว่าเป็นการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ครั้งแรกในเมืองไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2528 (ย้ำว่าเป็นการค้นพบรอยเท้า ไม่ใช่การค้นพบโครงกระดูกหรือซากฟอสซิลอื่นๆที่มีการค้นพบมาก่อนหน้านั้น)
ในจำนวนรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มนี้ มีรอยไฮไลท์คือรอยไดโนเสาร์อันซีนไทยแลนด์ ที่มีรอยลึกและชัดเจน มีนิ้ว 3 นิ้วคล้ายรอยเท้านก ที่ปลายของแต่ละนิ้วมีร่องรอยเล็บแหลมคม นักวิชาการระบุว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ “คาร์โนซอร์” ที่มีความสูงประมาณ 1.8 เมตร เดินเร็วประมาณ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง(เร็วเป็น 2 เท่าของคนเดิน) มีอายุประมาณ 100-140 ล้านปี
นักท่องเที่ยวที่มาเจอกับรอยเท้าเจ้ากะปอมยักษ์ตัวนี้ หลายๆคนนิยมนำเท้าของตัวเองมาเทียบเพื่อวัดขนาด เป็นการวัดรอยเท้าของคนกับไดโนเสาร์ เท่านั้นยังไม่พอ บางคนลงทุนถึงขนาดนำใบหน้าของตัวเองไปเทียบขนาดกับรอยเท้าไดโนเสาร์เลยทีเดียว
ภูหลวง ดินแดนมหัศจรรย์พันธุ์ไม้
นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเตลิ่น ชมดอกไม้ กล้วยไม้ ชมวิวริมผา และสัมผัสกับรอยเท้าไดโนเสาร์อันซีนแล้ว บนภูหลวงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอันโดดเด่น ได้แก่
-เส้นทางไป“แปกดำ”(6.5 กม.) ระหว่างทางผ่าน “ลานสุริยัน”(1,870 เมตร) เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ มีหินรูปร่างแปลกตามากหลาย ตามโขดหินมีกล้วยไม้จำนวนมากให้เลือกชม เช่น เอื้องตาเหิน เอื้องลีลา รองเท้านารีอินทนนท์ ส่วนแปกดำเป็นป่าสนสามใบที่ขึ้นเรียงราย มีลักษณะพิเศษลำต้นของลำต้นเป็นสีดำหมด
-เส้นทางไป “โคกพรหมจรรย์” (2.5 กม.) เส้นทางนี้เพื่อนผมหลายๆคน มันชอบชื่อนี้มาก บางคนฟังแล้วหูผึ่ง บางคนฟังแล้วไอ คุกๆๆ โคกพรหมจรรย์ ทำไมถึงชื่อนี้? นั่นเป็นเพราะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนต้นกุหลาบขาวในบริเวณนี้จะออกดอกสีขาวบานสะพรั่งขาวสะอาดไปทั่วทั้งเนิน กลายเป็นที่มาของชื่อ “โคกพรหมจรรย์”
-เส้นทางเดินใกล้ๆที่ทำการหน่วยฯ มี “โคกนกกระบา” เป็นไฮไลท์ โคกนกกระบา” เป็นหินทรายที่ถูกสายลม ฝน แดด กัดกร่อน เกิดเป็นก้อนหินรูปร่างประหลาดคล้าย“นกกระบา” นอนกกไข่อยู่กับพื้น โดยเจ้านกกระบานี้เป็นชื่อภาษาถิ่น ของ “นกตบยุง” ซึ่งเป็นนกกลางคืนชนิดหนึ่ง
-เส้นทางดูดอกไม้บริเวณที่ทำการหน่วยฯ เหมาะสำหรับคนขี้เกียจเดินหรือไม่อยากเดิน แต่เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจมาก เพราะมันเต็มไปด้วย “ดอกกุหลาบแดง” (Rhododendron simsii) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ภูหลวงจะบานสะพรั่งสีแดงสดใสไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ดอกไม้น่าสนใจอีกมากหลายให้ เดินก้มๆ เงยๆ ด้อมๆ มองๆ สอดส่ายสายตาชื่นชมในความงามกันอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น เอื้องตาเหิน สร้อยระย้า เอื้องแววมยุรา
ขณะที่บริเวณหลังห้องน้ำแถวที่ทำการฯนั้นก็ไม่ควรมองข้าม เพราะตามต้นไม้ มีกล้วยไม้หายากเกาะลำต้น ให้ชมกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น รองเท้านารีอินทนนท์(บานนอกฤดูกาล) รองเท้านารีปีกแมลงปอหรือรองเท้านารีสุขะกุล(บานนอกฤดูกาล) สิงโตสยาม และเอื้องสำเภางาม เป็นต้น
นับเป็นจุดที่หลายคนคาดไม่ถึงจริงๆ ซึ่งการชมกล้วยไม้ ดอกไม้ป่า บนภูหลวงสำหรับบางคนแล้ว นอกจากมันจะเบ่งบานสวยงามปรากฏทางสายตาแล้ว มันยังเบ่งบานไปถึงจิตใจอีกด้วย
*****************************************
จังหวัดเลย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเลย ได้บรรจุให้กิจกรรมท่องเที่ยวชมกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์บนภูหลวง เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของปฏิทินท่องเที่ยวประจำเดือนมีนาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เที่ยวทั้งปี...เที่ยวที่เลย”
การเดินทางจากจังหวัดเลย ไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ภูหลวง ออกเดินทางจาก อ. เมือง จ.เลย ไปตามเส้นทางสายจังหวัดเลย - อ.ภูเรือ ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตรถึงบ้านสานตมแล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านสานตมอีก18 กิโลเมตรจะถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
การเดินทางจากรุงเทพฯ ไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มี 2 เส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ-จังหวัดสระบุรี-อำเภอสีคิ้ว-จังหวัดชัยภูมิ-อำเภอภูเขียว-อำเภอชุมแพ-อำเภอภูกระดึง-อำเภอวังสะพุง-จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 560 กม.
เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-จังหวัดสระบุรี-จังหวัดเพชรบูรณ์-อำเภอหล่มสัก-อำเภอหล่มเก่า-อำเภอด่านซ้าย-อำเภอภูเรือ-จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 530 กม. สำหรับเส้นทางที่ 2 ถ้าเข้าไม่ถึงตัวจังหวัดเลย เมื่อเดินทางผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ ใช้ระยะทาง 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านตาสมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
การขอใช้สถานที่และบ้านพัก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 25 วันทำการ ยื่นได้ที่ฝ่ายบ้านพักสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มการใช้สถานที่และบ้านพักแล้วกรอกแบบฟอร์ม แฟ็กซ์ไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เบอร์ 042-801955 หรือส่งอีเมลล์ที่ pl_011@hotmail.com แล้วโทร.แจ้งที่หน่วยฯตามเบอร์ติดต่อด้านล่าง
กรณีนักท่องเที่ยว ถ้าไป-กลับ ซื้อตั๋วได้ที่ศูนย์บริการนักศึกษาธรรมชาติด่านตรวจที่ 1 โดยการเข้าเดินป่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางทุกครั้ง
สำหรับผู้สนใจเที่ยวชมดอกไม้บนภูหลวงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โทร.0-4280-1955 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในจังหวัดเลย เชื่อมโยงกับภูหลวงได้ที่ ททท.เลย โทร. 0-4281-2812
ป่าส่วนใหญ่ในบ้านเราอาจดูไม่น่าพิสมัยเมื่อยามหน้าร้อน แต่นั่นไม่ใช่กับป่าที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง” แห่งจังหวัดเลย
เพราะเมื่ออากาศบนยอดภูหลวงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนแบบไร้รอยต่อ เหล่า กล้วยไม้ ดอกไม้ บุปผานานาพันธุ์ แห่งคิมหันต์ฤดูต่างก็พากันผลิบานออกดอกสะพรั่ง แต้มสีสันความงามให้กับภูหลวง ชนิดที่ใครซึ่งเป็นผู้นิยม ชื่นชอบ รักถนอมบุปผา ควรจะหาโอกาสขึ้นไปเที่ยวป่าภูหลวงในช่วงหน้าร้อนดูแล้วจะรู้ว่า การได้พบดอกไม้ กล้วยไม้หายาก บานสะพรั่งให้เห็นกับตาจะจะตามธรรมชาตินั้นมันน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน
ตามรอยเท้าไดโนเสาร์อันซีน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูหลวง” มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอภูหลวง ภูเรือ และด่านซ้าย
ภูหลวงมีความหมายว่า ภูเขาที่สูงใหญ่ หรือภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน มีระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร บนยอดภูหลวงมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
ภูหลวงได้ชื่อว่าเป็นมรกตอีสาน อุดมไปด้วยสัตว์ป่า แมกไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ นับเป็นอีกหนึ่งผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และน่าทึ่งมากของเมืองไทย สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี
สำหรับในช่วงต้นหน้าร้อนนี้ อย่างที่หลายๆคนรู้กันดีว่าโลกเราทุกวันนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอุณหภูมิผันแปร วันที่ผมขึ้นไปเที่ยวภูหลวง จู่ๆอุณหภูมิก็ลดฮวบลง แถมมีลมพัดแรงระยับเปรียบได้กับทะเลมีมรสุม ทำให้บนยอดภูหลวงหนาวยะเยือกถึงขนาดอุณหภูมิลดต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสในช่วงใกล้รุ่ง
อย่างไรก็ดีนี่หาใช่อุปสรรคในการเที่ยวของผมแต่อย่างใด ดีเสียอีกได้หนีอากาศร้อนระยับที่เมืองกรุงมาเจออากาศหนาวบนยอดภูหลวง ซึ่งพี่เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่าในช่วงที่ผมขึ้นไปเป็นช่วงที่หนาวที่สุดของต้นปีนี้ หนาวกว่าช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาเสียอีก
สำหรับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพันธุ์ไม้บนภูหลวง ทางเขตรักษาพันธุ์ฯได้เปิดหน่วยโคกนกกระบา(1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ให้เป็นพื้นที่หลักสำหรับการท่องเที่ยว มีทั้งเส้นทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกล โดยเส้นทางหลักที่ผมไปเดินในทริปนี้เป็นเส้นทางผาเตลิ่น ที่นอกจากจะมีดอกไม้ กล้วยไม้สวยๆงามให้ชมแล้ว ยังมีไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ นั่นก็คือ “รอยเท้าไดโนเสาร์” ซึ่งจุดที่พบรอยเท้าเจ้ากะปอมยักษ์อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 4 กม.
เส้นทางเดินป่าผาเตลิ่นเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่ง โดยตั้งแต่เช้าตรู่ผมได้ไปสัมผัสกับส่วนหนึ่งของเส้นทางสายนี้มาบ้างแล้ว กับการเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ “ผาช้างผ่าน” ที่นอกจากจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงกลมแดงลอยเด่นขึ้นเหนือเมฆ ท่ามกลางองค์ประกอบของขุนเขาแมกไม้แล้ว บริเวณนี้ยังมีดอกกุหลาบแดง สร้อยระย้า และเอื้องตาเหินบานให้ชมกันเพียบเลย
จากนั้นผมกลับมายังที่ทำการหน่วยฯ เพื่อตุนพลังแบบจัดเต็มกับ ข้าวต้มร้อนๆกับไข่ลวก เสร็จแล้วจัดเตรียมเสบียง ข้าวเที่ยง น้ำดื่ม หลังจากนั้นเมื่อเคารพธงชาติแล้วผมกับเพื่อนๆก็ได้ฤกษ์ออกเดินป่าตามรอยกะปอมยักษ์ โดยมีลุง“บรรฑิต คำมานิตย์” เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเดินป่าภูหลวงมากว่า 20 ปี มาเป็นผู้นำเที่ยวในครั้งนี้
ลุงบรรฑิตไม่พูดพล่ามทำเพลง อธิบายในเบื้องต้นทันทีว่า ป่าที่เราเดินอยู่นี้เรียกป่าดิบเขาประเภทป่าแคระ คือเป็นป่าบนยอดเขาที่มีต้นไม้เตี้ยๆเพราะลมแรง ก่อนจะออกเดินนำพาไปดูดอก “สิงโตใบพาย” ที่ออกดอกตามโขดหิน จากนั้นลุงบรรฑิตก็พาเดินไป ชมดอกไม้ กล้วยไม้ในระหว่างทางที่ออกดอกบานสะพรั่งไปอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบแดง(Rhododendron simsii) กุหลาบขาว(Rhododendron lyi) ที่ออกดอกบานชูช่อสีขาวนวล สำเภางาม ตะขาบขาว น้ำเต้าฤาษี ส้มแปะ บานอ้า สร้อยระย้า ก็อกมองพืชประเภทกาฝาก และโดยเฉพาะกับเอื้องตาเหินที่มีให้ชมกันเพียบ ทั้งตามต้นไม้ ตามซอกหิน ถือเป็นหนึ่งในดาวเด่นของดอกไม้ประจำฤดูร้อนบนภูหลวง
ในระหว่างทางนอกจากดอกไม้ กล้วยไม้แล้ว ตามพื้นดินในบางช่วง ยังมีขี้ช้างกองเบ้อเริ่มปรากฏให้เห็น ทั้งกองเก่า กองใหม่ ซึ่งใครเห็นขี้ช้างแล้วก็ไม่ควรขี้ตามช้างอย่างเด็ดขาด
สำหรับเส้นทางเดินป่าเส้นนี้เป็นทางราบเดินสบาย แถมวันนั้นอากาศเย็นมีลมพักโกรกตลอด ทำให้ไม่ร้อนเดินป่าได้ฉลุยทีเดียว
นอกจากดอกไม้ กล้วยไม้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูหลวงยามหน้าร้อนที่มีให้ชมกันเกือบตลอด 2 ข้างทางแล้ว ในเส้นทางสายนี้ก่อนจะถึงจุดรอยเท้าไดโนเสาร์ มีจุดชมวิวเด่นๆให้ไปยืนชมความงามกัน 2 จุด
จุดแรกคือ “ผาสมเด็จ” จากจุดนี้เมื่อมองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขา(ทางฝั่งซ้าย)ทอดยาว มีแนวชั้นหินเผยเป็นชั้นๆดังแนวกำแพงธรรมชาติ เบื้องล่างเป็นทิวทัศน์ของท้องทุ่งนา มีขุนเขา(ที่มองไกลๆเห็นลูกเล็กๆ) 2 ลูกเป็นจุดรวมสายตาคือ ผาบ่าว(ลูกเล็ก)และผาสาว(ลูกใหญ่กว่า) ลุงบรรฑิตบอกกับผมว่า เหตุที่ผาบ่าวนั้นลูกเล็กประมาณครึ่งของผาสาว เพราะเจ้าบ่าวมัวแต่เสียเวลาไปทำให้ผาให้เจ้าสาวนั่นเอง
บริเวณผาสมเด็จแห่งนี้ยังมีลานหินให้ยืนถ่ายภาพ บางมุมมีดอกกุหลาบแดงบานสะพรั่ง นอกจากนี้ที่นี่ยังมีสัญญาณเน็ตให้เช็คอินกันอีกด้วย
เลยจากผาสมเด็จไปอีกประมาณ 1.5 กม. เป็น “ผาเตลิ่น” อีกหนึ่งหน้าผาไฮไลท์ของภูหลวง
ผาเตลิ่น เป็นภาษาถิ่น เตลิ่นหมายถึงลาดลื่น เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะของหน้าผาที่เป็นแนวผาทอดยาวลงมาเป็นชั้นๆคล้ายขั้นบันได
ผาเตลิ่นเป็นจุดชมวิวชั้นดีเหมือนผาสมเด็จ บางมุมมีกุหลาบแดงออกดอกบานสะพรั่งเหมือนผาสมเด็จ แต่มีความต่างกันตรงที่ผาเตลิ่นมีชะง่อนหินบนแนวสันริมผาให้นั่ง ยืน แอ๊คท่ากันหลายจุด นับเป็นเสน่ห์แห่งภูผาของภูหลวงที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้ดีทีเดียว
จากผาเตลิ่นเดินไปอีกประมาณ 700 เมตร จะพบกับ “รอยเท้าไดโนเสาร์” ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินป่าในทริปนี้
รอยเท้าไดโนเสาร์ที่นี่ เท่าที่มีการสำรวจพบ พบว่ามีอยู่ประมาณ 15 รอย เป็นรอยเท้าที่ถูกระบุว่าเป็นการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ครั้งแรกในเมืองไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2528 (ย้ำว่าเป็นการค้นพบรอยเท้า ไม่ใช่การค้นพบโครงกระดูกหรือซากฟอสซิลอื่นๆที่มีการค้นพบมาก่อนหน้านั้น)
ในจำนวนรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มนี้ มีรอยไฮไลท์คือรอยไดโนเสาร์อันซีนไทยแลนด์ ที่มีรอยลึกและชัดเจน มีนิ้ว 3 นิ้วคล้ายรอยเท้านก ที่ปลายของแต่ละนิ้วมีร่องรอยเล็บแหลมคม นักวิชาการระบุว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ “คาร์โนซอร์” ที่มีความสูงประมาณ 1.8 เมตร เดินเร็วประมาณ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง(เร็วเป็น 2 เท่าของคนเดิน) มีอายุประมาณ 100-140 ล้านปี
นักท่องเที่ยวที่มาเจอกับรอยเท้าเจ้ากะปอมยักษ์ตัวนี้ หลายๆคนนิยมนำเท้าของตัวเองมาเทียบเพื่อวัดขนาด เป็นการวัดรอยเท้าของคนกับไดโนเสาร์ เท่านั้นยังไม่พอ บางคนลงทุนถึงขนาดนำใบหน้าของตัวเองไปเทียบขนาดกับรอยเท้าไดโนเสาร์เลยทีเดียว
ภูหลวง ดินแดนมหัศจรรย์พันธุ์ไม้
นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเตลิ่น ชมดอกไม้ กล้วยไม้ ชมวิวริมผา และสัมผัสกับรอยเท้าไดโนเสาร์อันซีนแล้ว บนภูหลวงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอันโดดเด่น ได้แก่
-เส้นทางไป“แปกดำ”(6.5 กม.) ระหว่างทางผ่าน “ลานสุริยัน”(1,870 เมตร) เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ มีหินรูปร่างแปลกตามากหลาย ตามโขดหินมีกล้วยไม้จำนวนมากให้เลือกชม เช่น เอื้องตาเหิน เอื้องลีลา รองเท้านารีอินทนนท์ ส่วนแปกดำเป็นป่าสนสามใบที่ขึ้นเรียงราย มีลักษณะพิเศษลำต้นของลำต้นเป็นสีดำหมด
-เส้นทางไป “โคกพรหมจรรย์” (2.5 กม.) เส้นทางนี้เพื่อนผมหลายๆคน มันชอบชื่อนี้มาก บางคนฟังแล้วหูผึ่ง บางคนฟังแล้วไอ คุกๆๆ โคกพรหมจรรย์ ทำไมถึงชื่อนี้? นั่นเป็นเพราะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนต้นกุหลาบขาวในบริเวณนี้จะออกดอกสีขาวบานสะพรั่งขาวสะอาดไปทั่วทั้งเนิน กลายเป็นที่มาของชื่อ “โคกพรหมจรรย์”
-เส้นทางเดินใกล้ๆที่ทำการหน่วยฯ มี “โคกนกกระบา” เป็นไฮไลท์ โคกนกกระบา” เป็นหินทรายที่ถูกสายลม ฝน แดด กัดกร่อน เกิดเป็นก้อนหินรูปร่างประหลาดคล้าย“นกกระบา” นอนกกไข่อยู่กับพื้น โดยเจ้านกกระบานี้เป็นชื่อภาษาถิ่น ของ “นกตบยุง” ซึ่งเป็นนกกลางคืนชนิดหนึ่ง
-เส้นทางดูดอกไม้บริเวณที่ทำการหน่วยฯ เหมาะสำหรับคนขี้เกียจเดินหรือไม่อยากเดิน แต่เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจมาก เพราะมันเต็มไปด้วย “ดอกกุหลาบแดง” (Rhododendron simsii) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ภูหลวงจะบานสะพรั่งสีแดงสดใสไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ดอกไม้น่าสนใจอีกมากหลายให้ เดินก้มๆ เงยๆ ด้อมๆ มองๆ สอดส่ายสายตาชื่นชมในความงามกันอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น เอื้องตาเหิน สร้อยระย้า เอื้องแววมยุรา
ขณะที่บริเวณหลังห้องน้ำแถวที่ทำการฯนั้นก็ไม่ควรมองข้าม เพราะตามต้นไม้ มีกล้วยไม้หายากเกาะลำต้น ให้ชมกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น รองเท้านารีอินทนนท์(บานนอกฤดูกาล) รองเท้านารีปีกแมลงปอหรือรองเท้านารีสุขะกุล(บานนอกฤดูกาล) สิงโตสยาม และเอื้องสำเภางาม เป็นต้น
นับเป็นจุดที่หลายคนคาดไม่ถึงจริงๆ ซึ่งการชมกล้วยไม้ ดอกไม้ป่า บนภูหลวงสำหรับบางคนแล้ว นอกจากมันจะเบ่งบานสวยงามปรากฏทางสายตาแล้ว มันยังเบ่งบานไปถึงจิตใจอีกด้วย
*****************************************
จังหวัดเลย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเลย ได้บรรจุให้กิจกรรมท่องเที่ยวชมกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์บนภูหลวง เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของปฏิทินท่องเที่ยวประจำเดือนมีนาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เที่ยวทั้งปี...เที่ยวที่เลย”
การเดินทางจากจังหวัดเลย ไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ภูหลวง ออกเดินทางจาก อ. เมือง จ.เลย ไปตามเส้นทางสายจังหวัดเลย - อ.ภูเรือ ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตรถึงบ้านสานตมแล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านสานตมอีก18 กิโลเมตรจะถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
การเดินทางจากรุงเทพฯ ไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มี 2 เส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ-จังหวัดสระบุรี-อำเภอสีคิ้ว-จังหวัดชัยภูมิ-อำเภอภูเขียว-อำเภอชุมแพ-อำเภอภูกระดึง-อำเภอวังสะพุง-จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 560 กม.
เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-จังหวัดสระบุรี-จังหวัดเพชรบูรณ์-อำเภอหล่มสัก-อำเภอหล่มเก่า-อำเภอด่านซ้าย-อำเภอภูเรือ-จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 530 กม. สำหรับเส้นทางที่ 2 ถ้าเข้าไม่ถึงตัวจังหวัดเลย เมื่อเดินทางผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ ใช้ระยะทาง 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านตาสมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
การขอใช้สถานที่และบ้านพัก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 25 วันทำการ ยื่นได้ที่ฝ่ายบ้านพักสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มการใช้สถานที่และบ้านพักแล้วกรอกแบบฟอร์ม แฟ็กซ์ไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เบอร์ 042-801955 หรือส่งอีเมลล์ที่ pl_011@hotmail.com แล้วโทร.แจ้งที่หน่วยฯตามเบอร์ติดต่อด้านล่าง
กรณีนักท่องเที่ยว ถ้าไป-กลับ ซื้อตั๋วได้ที่ศูนย์บริการนักศึกษาธรรมชาติด่านตรวจที่ 1 โดยการเข้าเดินป่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางทุกครั้ง
สำหรับผู้สนใจเที่ยวชมดอกไม้บนภูหลวงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โทร.0-4280-1955 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในจังหวัดเลย เชื่อมโยงกับภูหลวงได้ที่ ททท.เลย โทร. 0-4281-2812