ในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี จะมีประเพณีหนึ่งที่ชาวไทยทั่วประเทศให้ความสำคัญ นั่นก็คือประเพณีลอยกระทง ที่ไม่ว่าจะภาคกลาง เหนือ อีสาน หรือใต้ ก็ล้วนจัดกิจกรรมในวันลอยกระทงขึ้นทั้งสิ้น
ประเพณีการลอยกระทงของประเทศไทยนั้นมีมาแต่โบราณ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม เช่น ประเพณียี่เป็ง ทางภาคเหนือ ลอยกระทงสาย ที่ จ.ตาก หรือลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่ จ.สุโขทัย
และในจังหวัดราชบุรีเอง ก็มีประเพณีลอยกระทงพื้นบ้านอย่าง “กระทงสาย” เป็นประเพณีตามแบบอย่างของชาวมอญที่สืบทอดกันมา เป็นการประดิษฐ์กระทงขึ้นมาจากกระดาษ ที่คิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มาลอยกันที่แถบลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณย่าน อ.บ้านโป่ง ถึง อ.โพธาราม
สำหรับการทำกระทงกระอาษ มีความเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดทำกระทงกระดาษ คือ หลวงพ่ออุตตมะ แห่งวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เนื่องจากในแต่ละปีนั้นจะต้องใช้ใบตองเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอกับลูกศิษย์ที่เดินทางไปทำบุญที่วัด ซึ่งการหาใบตองให้ได้จำนวนมากก็เป็นไปได้ยาก ประกอบกับที่หลวงพ่อเห็นว่าชนชาวมอญนั้นมีภูมิปัญญาที่สามารถตัดและพับกระดาษได้หลายรูปแบบ จึงให้ชาวมอญนำภูมิปัญญาที่มีอยู่มาใช้ในการทำกระทง เพื่อความประหยัด และได้กระทงจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
ในเวลาต่อมากระทงสายก็เริ่มเข้ามาสู่ชุมชนลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณ อ.บ้านโป่ง โดยเริ่มมาจาก พระครูวรธรรมพิทักษ์ (หลวงพ่อลม) อดีตเจ้าอาวาสวัดม่วง (เหนือ) อ.บ้านโป่ง ที่ได้นำกระทงกระดาษมาลอยในงานลอยกระทงของวัด เนื่องจากเป็นชุมชนชาวมอญเช่นเดียวกับที่สังขละบุรี
ในการลอยกระทงกระดาษของชาวบ้านโป่ง จะนัดเวลามาลอยพร้อมๆ กัน เช่น นัดลอยกันในช่วงหัวค่ำ โดยวัดทางต้นน้ำก็จะลอยพร้อมๆกันลงมา พอมาถึงวัดม่วง(เหนือ) ทางวัดก็จะปล่อยกระทงให้ลอยพร้อมๆกัน ดูงดงามยิ่งใหญ่ และเป็นที่มาของคำว่า “กระทงสาย” ที่มีกระทงลอยเป็นเส้นสายสวยงาม
แต่สำหรับที่ อ.โพธาราม นั้นมีความแตกต่างออกไปจากเดิม คือ ใช้ถาดเป็นอุปกรณ์ในการลอยกระทงด้วย ซึ่งเรียกกันว่า “กระทงสาย (ลอยถาด)” การลอยกระทงสาย (ลอยถาด) เป็นการเริ่มจากการนำเอากระทงสายมาใช้งานวัด เพื่อให้เกิดเป็นสีสัน โดยเริ่มลอยที่วัดไทรอารีรักษ์ เป็นวัดมอญวัดเดียวที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องกันมาในลุ่มน้ำแม่กลอง แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในสมัยก่อนหลวงพ่ออุตตมะ อาจจะไม่ได้ใช้ถาด แต่ใช้มือลอย แต่เมื่อมาถึงวัดม่วง (เหนือ) ก็เกิดการพัฒนาขึ้นมาอีก โดยใช้ถาดสังกะสีที่ทุดวัดมีอยู่ นำมาใส่กระทงกระดาษที่พับแล้วลงไปในถาด ซึ่งเวลาลอยใช้วิธีก็กดถาดลงในน้ำ แล้วดึงถาดออกทางด้านล่าง เมื่อนำประเพณีดังกล่าวมาใช้ที่โพธาราม ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า กระทงสาย (ลอยถาด)
ขั้นตอนการทำกระทงสาย (ลอยถาด) เริ่มจากตัดกระดาษโปสเตอร์สีต่างๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส จากนั้น พับ จับมุม กลับด้าน ยกกลีบ ก็จะได้ตัวกระทง จากนั้นก็จะทำ “ตีนกา” เพื่อใช้จุดไฟ ทำจากเชือกกระสอบ 3 เส้น นำมาฟั่นรวมกันแล้วตัดเป็นท่อนๆ จากนั้นก็ดึงปลายด้านหนึ่งออกมาเป็นสามขาแล้ววางในกระทง ส่วนน้ำมันที่ใส่ในกระทงเพื่อเป็นเชื้อเพลิง จะใช้น้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้ว เทลงในกระทง ส่วนขั้นตอนการลอย ก็จะนำกระทงที่เตรียมไว้มาวางเรียงกันในถาดสังกะสี นำลงไปลอยน้ำโดยกดถาดลงไปในน้ำ แล้วดึงถาดออกจากด้านล่าง กระทงก็จะลอยตามน้ำไปเป็นสาย
นอกจากนี้แล้วกระทงกระดาษที่ประดิษฐ์ขึ้นจะไม่ติดไฟ เนื่องจากกระดาษที่ใช้เป็นกระดาษโปสเตอร์ ซึ่งมีพื้นผิวที่มันและตึง กว่าน้ำจะซึมเข้ากระดาษไปได้ก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง และสาเหตุที่กระทงกระดาษไม่จมน้ำก็เพราะใช้ตีนกาสามขาจุด จะทำให้มีการดูดน้ำมันขึ้นมา และจุดไฟได้จนกว่าน้ำมันจะหมด ในช่วงเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งการทำกระทงกระดาษเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าเหลือเชื่อ ทั้งสะดวก ทำง่าย และไม่สิ้นเปลืองอีกด้วย
ที่วัดไทรอารีรักษ์ ยังมีความพิเศษอีกสองอย่าง คือ จุดประทีปรอบโบสถ์ และ ตามประทีปรอบวิหาร การจุดประทีปรอบโบสถ์นั้น เป็นคติความเชื่อของชาวมอญ ที่จุดเพื่อบูชาพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ และเพื่อความสว่างไสวรุ่งโรจน์ของชีวิต โดยที่วัดไทรฯ ได้ทำประเพณีนี้สืบต่อกันมาหลายสิบปีแล้ว
โดยทางวัดจะเตรียมสายสวรรค์ หรือเป็นเศษใยผ้าที่คนมาบริจาค นำมาชุบน้ำมันเตรียมใส่ถ้วยดินเผาเล็กๆ ไว้ให้ ชาวบ้านจะหยิบไปที่โบสถ์ บริเวณด้านในกำแพงแก้ว ที่จะมีแผ่นไม้กระดานตีวางเป็นแนวไว้รอบโบสถ์ สูงประมาณขนาดเอว แล้วบนแผ่นไม้กระดานก็จะตั้งภาชนะรองรับไว้ สมัยก่อนจะใช้เป็นกระป๋องบ้าง เป็นจานสังกะสีบ้าง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้จานดินเผา ที่คล้ายๆ กับจานรองกระถางต้นไม้ วางคู่กับตะเกียงน้ำมันก๊าด เวลาจุดก็จะหยิบสายสวรรค์ไปจุดไฟที่ตะเกียงแล้ววางลงบนจานดินเผา ก็จะเห็นเป็นแสงสว่างเรืองรองรอบโบสถ์
ส่วนการตามประทีปรอบโบสถ์นั้นได้ริเริ่มการตามประทีปในวัดนี้ขึ้นมา ซึ่งเห็นจากที่ชาวมอญจะบูชาศาสนสถานต่างๆ ด้วยการตามประทีป และส่งต่อประเพณีนี้มาถึงแถบล้านนา ที่วัดไทรฯ ก็นับว่าเป็นวัดมอญเช่นกัน จึงนำประเพณีนี้มาปฏิบัติ เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่อยู่ในวิหารของวัดไทรฯ และเพื่อความเป็นสิริมงคล สิงเสริมโชคชะตาให้รุ่งโรจน์สว่างไสวเหมือนประทีปยามค่ำคืน
การตามประทีปคือ การบูชารอยพระพุทธบาทที่อยู่ในวิหาร ด้วยการวางประทีปไว้รอบๆ วิหาร ตัวประทีปแบบเดิมจะทำด้วยผาง เป็นจานดินอันเล็กๆ แต่ผางของเรามีทั้งแบบเดิม และมีที่ทำเป็นโอ่งดินเผาอันเล็ก ซึ่งก็ใช้โอ่งที่ปั้นกันในพื้นที่
ปัจจุบันสิ่งที่ทำกันตอนมาลอยกระทงที่วัดไทรฯ คือเริ่มจากจุดประทีปรอบโบสถ์เพื่อบูชาพระพุทธรูป จากนั้นก็จะตามประทีปรอบๆ วิหาร ปิดท้ายด้วยการลอยกระทงสาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในวัด และเป็นการสืบทอดประเพณีงดงามของชาวมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง
งาน “กระทงสาย (ลอยถาด)” ในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน ณ วัดไทรอารีรักษ์ ถ.โชคชัย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งนอกจากจะได้มาจุดประทีปรอบโบสถ์ ตามประทีปรอบวิหาร แล้วยังสามารถมาร่วมงานลอยกระทงสายมอญ ได้ที่วัดบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พร้อมชมการประกวดหนุน้อยนพมาศ การแสดงมหรสพต่างๆ พร้อมทั้งซึมซับวิถีชาวบ้าน และร่วมสืบสานประเพณีดั้งเดิม ให้คงอยู่คู่กับลำน้ำแม่กลองต่อไป